xs
xsm
sm
md
lg

บริษัทไทยรุ่ง ฯ ปรับกลยุทธ์ดันธุรกิจโตไม่หยุด ก้าวสู่แผนงานปีที่ 55 สู่ตลาด EV และผู้ผลิตรถ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บริษัท ไทยรุ่งยูเนี่ยนคาร์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้นำรับผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ตัวถังรถ อะไหล่รถยนต์ ให้กับแบรนด์โตโยต้า,นิสสัน, อีซูซุ ปรับแผนรับสถานการณ์ความเปลี่ยนของธุรกิจจากผู้รับผลิต ขยายไลน์สู่ผู้ประกอบรถอเนกประสงค์ และ ผู้ผลิตประกอบรถยนต์ขายเองภายใต้แบรนด์ TRANSFORMER ประสบความสำเร็จอย่างสูงลูกค้าหน่วยงานราชการซื้อใช้งานเป็นรถทหาร รถวิทยุ เผยล่าสุดออกรถรุ่นใหม่ TR TRANSFORMER II จับตลาดผู้บริโภคซื้อใช้ขับขี่ในเมือง คาดสิ้นปียอดขายไม่ต่ำกว่า 250 คัน ด้านรายได้รวมปีนี้ เติบโตขึ้น 30%

นายสมพงษ์ เผอิญโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยรุ่งยูเนี่ยนคาร์ จำกัด (มหาชน)
นายสมพงษ์ เผอิญโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยรุ่งยูเนี่ยนคาร์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้นำรับผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ตัวถังรถ ให้กับแบรนด์ค่ายรถยนต์ชั้นนำต่าง ๆ อาทิ โตโยต้า,นิสสัน, อีซูซุ เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลากว่า 55 ปี ที่ผ่านมาของการดำเนินงาน บริษัทไม่เพียงแต่การเป็นผู้นำด้านรับผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ เท่านั้น แต่บริษัทยังมีประสบการณ์ในด้านการเป็นผู้เชี่ยวชาญรับจ้างต่อตัวถังรถกระบะ และ ผลิตอะไหล่ การดัดแปลงรถกระบะให้มีที่นั่งในห้องโดยสาร เพิ่มขึ้นสามารถตัดส่วนกระบะทำห้องโดยสารเพิ่มที่นั่งอีก 1 แถว กลายเป็นรถกระบะแบบ 2 ตอน 4 ประตู ขึ้น ที่ถือว่าครั้งแรกของประเทศไทยเมื่อปี 2522 โดยเรียกรถดัดแปลงรุ่นนี้ว่า “ดับเบิ้ล แค็บ”


นอกจากนี้บริษัทยังได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ผลิตรถยนต์ดัดแปลง สเตชั่นวากอน เครื่องยนต์อีซูซุ ภายใต้เครื่องหมายการค้า TR ตั้งแต่ปี 2522 และให้เป็นผู้ประกอบรถยนต์อเนกประสงค์ 7 ที่นั่งภายใต้ชื่อ TR Adventure ของบริษัท อีซูซุ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ปี 2543 เข้าไปประกอบรถอเนกประสงค์ 7 ที่นั่งภายใต้ชื่อ TR Xciter ให้กับบริษัท สยามนิสสันและปี 2550 บริษัท เชฟโรเล็ต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ก็เลือกให้บริษัทช่วยประกอบรถยนต์อเนกประสงค์ 7 ที่นั่ง ภายใต้ชื่อ TR Allroader


จนปัจจุบันบริษัทได้นำรถ Toyota Revo มาประกอบเป็นรถ TR TRANSFORMER II ถือว่าเป็นรถที่นำเปิดตัวมาจำหน่ายพิเศษ เนื่องในโอกาสครบรอบ 55 ปี ซึ่งเอกลักษณ์ของรถอเนกประสงค์ TR TRANSFORMER II ถูกออกแบบมาในลุคสปอร์ต เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการใช้งาน ไม่ว่าจะการขึ้นลง หรือแม้แต่การใช้งานในเมือง เพื่อจับกลุ่มผู้บริโภคตั้งแต่อายุ 35 ปี ขึ้นไปที่ต้องการทรถยนต์ขนาดใหญ่ ทนทาน แข็งแกร่ง มีฟังก์ชั่นการใช้งาน มีการออกแบบหน้าตารถยนต์ที่แตกต่างเฉพาะไม่เหมือนใคร


โดย รถอเนกประสงค์ TR TRANSFORMER ll ถือเป็นการต่อยอดมาจากความสำเร็จของ TRANSFORMER ขนาด 7-11 ที่นั่ง ที่ลูกค้ากลุ่มราชการ หน่วยงานต่าง ๆ ซื้อไปทำเป็นรถทหาร รถวิทยุ รถบัญชาการ และรถช่วยเหลือกรณีเกิดเหตุต่าง ๆ เช่น น้ำท่วม เพราะตัวรถมีโครงสร้างแข็งแกร่ง ทนทาน มีการออกแบบหน้าตาของตัวรถยนต์ที่แปลกใหม่ มีฟังก์
ชั่นการใช้สอยเหมาะการขับออกไปลุย ตามพื้นที่ต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ทำให้ผู้บริโภคทั่วไปที่รักและชื่นชอบรถอเนกประสงค์สไตล์ดังกล่าว ต้องการซื้อไปขับใช้ในชีวิตประจำวันในเมืองด้วย

บริษัทเล็งเห็นถึงช่องว่างทางการตลาดจึงได้ออกรถอเนกประสงค์ TR TRANSFORMER ll ดังกล่าวขึ้นมา คาดว่าสิ้นปี 2565 บริษัทตั้งเป้ายอดขายของรถอเนกประสงค์ทุกรุ่น ของแบรนด์ TRANSFORMER อยู่ที่ 250 คัน แบ่งเป็นสัดส่วนการจำหน่ายทั้งในตลาดต่างประเทศ อาทิ มาเลเซีย บังคลาเทศ และ ตลาดในประเทศ 50:50 เท่ากัน


นอกจากนี้บริษัทก็มีแผนออกรถอเนกประสงค์ แบรนด์ TRANSFORMER ที่เป็นรถหุ้มเกราะ ที่สามารถป้องกันแนวกระสุนที่ยิงเข้ามาได้ 100% ตัวรถมีน้ำหนักเบาลงกว่าเดิม 100 กิโลกรัม เป็นรถหุ้มเกราะที่บริษัทจะจับกลุ่มลูกค้าที่เป็นหน่วยราชการทหาร เท่านั้น ประกอบกับบริษัทจะขยายไปสู่การรับจ้างประกอบยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เช่น EV-Tuktuk, EV-minibus โดย EV-Tuktuk ปัจจุบันมีออเดอร์ 700 คัน สิ้นปีนี้จะมียอดขายเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 คัน นับเป็นการต่อยอดธุรกิจในการสร้างการเติบโตให้กับบริษัทฯ ไม่เพียงแต่การเป็นผู้นำรับผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ตัวถังรถ และ อะไหล่รถยนต์ อย่างเดียว เท่านั้น

เนื่องจาก EV เป็น Mega trend ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ บริษัทจึงมองว่า EV เป็นโอกาสหนึ่งในฐานะที่บริษัทเป็นผู้ผลิตตัวถังอยู่แล้ว ในการที่จะได้พันธมิตรหรือลูกค้าแบรนด์ใหม่ ๆ ที่จะเข้าสู่การผลิตรถยนต์ EV จำหน่ายกันมากขึ้น อีกทั้งรถยนต์ EV ชิ้นส่วนการผลิตทั้งหมดไม่ได้มีแค่ตัวถัง เท่านั้น ยังมีชิ้นส่วนอื่น ๆ เช่น เบาะนั่ง, ยางรถยนต์, พวงมาลัย ชิ้นส่วนเหล่านี้บริษัทก็รับผลิตให้กับค่ายรถยนต์ต่าง ๆ อยู่แล้ว


อย่างไรก็ดี ในส่วนของแผนงานของการเป็นผู้รับผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ตัวถังรถ และ อะไหล่รถยนต์ นายสมพงษ์ กล่าวเสริมว่า ขณะนี้บริษัทมีการขยายธุรกิจด้านนี้ไปสู่การเป็นผู้รับผลิตชิ้นส่วนให้กับรถขุดตัก, รถมอเตอร์ไซค์, รถ Big Bike เนื่องจากรถขุดตัก หรือ รถที่เป็นเครื่องจักรทางการเกษตรปัจจุบันยอดขายทางเกษตรปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ความต้องการเครื่องจักรทางการเกษตรมีมากขึ้น ล่าสุดบริษัทได้รับยืนยันคำสั่งซื้อรถหัวขุดตักรุ่นใหม่เพื่อส่งออกไปจำหน่ายที่ประเทศญี่ปุ่นแล้วในปีหน้า 2566


สำหรับผลประกอบการทั้งหมดบริษัทใน ปี 2565 มีอัตรา การฟื้นตัวขึ้นหลังจากเจอสถานการณ์โควิด 19 ที่ส่งผลให้อุตสาหกรรมยานยนต์ , การท่องเที่ยว หยุดชะงักไปโดยผลประกอบการในปี 2565 บริษัทมีแนวโน้มเติบโตไม่ต่ำกว่า 30% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้ 2,019.31 ล้านบาท ทั้งนี้คิดเป็นสัดส่วนงานด้านผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์, งานรับจ้างประกอบ 50 % , งานพ่นสีรถยนต์ การขยายตลาดชิ้นส่วนและตัวถังรถยนต์ 35 % และ การผลิตขายรถยนต์แบรนด์ TRANSFORMER คิดเป็น 7-8 % นายสมพงษ์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น