xs
xsm
sm
md
lg

เย่ห์กรุ๊ปนำนวัตกรรม “drydye” ปลุกสิ่งทอเติบโตยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ณ ลานกิจกรรม อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา การกีฬาแห่งประเทศไทย(กกท.) ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่ากกท. ได้เป็นประธานในการแถลงข่าวเปิดตัวยูนิฟอร์มกีฬา “SAT กับการพัฒนากีฬาไทย ภายใต้นโยบาย BCG” โดยมี นายวุฒิพงศ์ เย่ ประธานกลุ่มธุรกิจเย่ห์กรุ๊ป นายภาวิต วยาจุต ผู้แทนจากสโมสรฟุตบอล ทรูแบงค็อกยูไนเต็ด นายสุเทพ วงค์รื่น ประธานสโมสรเกษตรศาสตร์ เอฟซี Mr. Matias Gaston Conde Mirasso กรรมการบริหารและหัวหน้าผู้ฝึกสอนสโมสรฟุตบอลสยามเอฟซี และคณะผู้บริหาร กกท. ร่วมงาน


ผู้ว่าการ กกท.กล่าวว่ายูนิฟอร์มใหม่ของ กกท. เป็นการร่วมมือกับบริษัท เย่ห์กรุ๊ป จำกัด เจ้าของนวัตกรรม “drydye” ที่สามารถย้อมผ้าโดยไม่ใช้น้ำ ถือเป็นนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตอบสนองกับนโยบาย BCG Model ที่ต้องการปลูกจิตสำนึกผู้มีส่วนร่วมทางการกีฬา อาทิ ผู้จัดหาวัสดุอุปกรณ์การกีฬา ผู้จัดการกีฬา และสาธารณชน ให้เกิดพฤติกรรมภายใน ได้แก่ “การมีน้ำใจนักกีฬา เพื่อรักษ์สิ่งแวดล้อม” เห็นความสำคัญและคุณค่าของทรัพยากรที่ใช้ในกิจกรรมกีฬา โดยสามารถนำทรัพยากรไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในการดำเนินกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม




กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้กำหนด นโยบายโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Bio – Circular – Green Economy: BCG Model) ซึ่งประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว มาเป็นแนวทางในการดำเนินโครงการ “การท่องเที่ยวและกีฬาสีขาว” เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและกีฬาของไทย และสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน


นายวุฒิพงศ์ เย่ ประธานกลุ่มธุรกิจเย่ห์กรุ๊ป กล่าวว่า วัตถุประสงค์ในการสนับสนุน กกท. คือแนวคิด BCG ของกกท.ที่ต้องการเป็น Circular และGreen Economy ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางธุรกิจของเย่ห์กรุ๊ป และ drydye ซึ่งเป็นนวัตกรรมแรกของโลกที่สามารถย้อมผ้าโดยไม่ต้องใช้น้ำเลย เป็นการประหยัดค่าพลังงาน ค่าสี ค่าเคมี ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่จำเป็นต้องบำบัดน้ำเสีย เพราะนวัตกรรมนี้ใช้คาร์บอนไดออกไซด์( CO2)ในการย้อมผ้าโดยสามารถรีไซเคิล CO2กลับมาใช้อีก ทั้งหมดนี้คือกระบวนการที่ภาคธุรกิจทำได้ ซึ่งตรงกับแนวนโยบาย SDGs หรือ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” ของสหประชาชาติ 17 เป้าหมายซึ่งมีเกี่ยวกับอุตสาหกรรมสิ่งทอ 7 ข้อซึ่งเราสามารถทำได้ อาทิ เรื่องน้ำ อากาศเสีย สิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ปี 2012


ในกิจกรรมกีฬาไทยตอนนี้เย่ห์กรุ๊ปและ drydye ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในThai Run ทั้งหลาย เช่น Park Run ของ TTB งาน KU Run ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ Chula Run ของจุฬาฯ หลังจากเติบโตในต่างประเทศโดยเข้าร่วมในกีฬาโอลิมปิกและงานวิ่งระดับโลก


ประธานเย่ห์กรุ๊ปกล่าวต่อว่า ธุรกิจของเย่ห์กรุ๊ปไม่ได้ทำแค่ชุดกีฬาซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุด แต่ยังผลิตชุดชั้นในสุภาพสตรีซึ่งเป็นตลาดที่เติบโตและไม่เคยหยุดนิ่ง โดยเฉพาะยุคปัจจุบันสุภาพสตรีจะคำนึงถึงผลิตภัณฑ์ที่สัมผัสกับผิวหนังในจุดซ่อนเร้นที่อาจเป็นอันตรายได้ ปัจจุบันนวัตกรรม drydye มีความร่วมมือกับแบรนด์ชุดชั้นในไทยเช่น ไทรอัมพ์ วาโก้ ซาบีน่า จินตนา รวมถึงแบรนด์ดังระดับโลกอย่าง มาร์คแอนด์สเปนเซอร์ และ วิคตอเรีย ซีเคร็ท ฯลฯ


นายวุฒิพงศ์กล่าวว่า อุตสาหกรรมสิ่งทอถูกมองว่าเป็น Sunset Industry มาโดยตลอด และยังเป็นที่รังเกียจของสังคมเพราะเดิมทำให้เกิดน้ำเสีย ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้อุตสาหกรรมสิ่งทอต้องย้ายฐานการผลิตออกจากไทย แต่หากศึกษาให้ละเอียดจะพบว่า อุตสาหกรรมสิ่งทอมีต้นทุนด้านแรงงานแค่ 15% อีก 85% คือวัตถุดิบ สีเคมี ดังนั้นถ้าเราสามารถรีไซเคิลกระบวนการผลิตได้ อุตสาหกรรมสิ่งทอจะไม่ใช่ Sunset จะสามารถพัฒนาต่อไปได้เรื่อยๆในการผลิตสินค้าคุณภาพด้วยต้นทุนที่แข่งขันได้

“ถ้าเราสู้กับ Sunset Industry ด้วยต้นทุนมีแต่ตาย แต่ถ้าสู้ด้วยนวัตกรรมเราสามารถจะควบคุมต้นทุนได้ เรามีเป้าหมายว่าจากปี 2025-2040 จะพยายามลดต้นทุนด้วยการลดการใช้น้ำให้เป็นศูนย์ภายในปี 2040” ประธานเย่ห์กรุ๊ปเจ้าของนวัตกรรม drydye กล่าวในที่สุด




กำลังโหลดความคิดเห็น