คนที่รับรู้เรื่องราวของจังหวัดพิษณุโลกจะได้พบชื่อของ จ่านกร้อง และ จ่าการบุญ ด้วยความสงสัยว่าทั้ง ๒ ท่านนี้เป็นใคร จึงมีชื่อเป็นถนน โรงเรียน และยังมีอนุสาวรีย์ที่ยืนอยู่คู่กันที่โรงเรียนจ่านกร้อง โดยเฉพาะแฟนรายการ “ชิงช้าสวรรค์” จะรู้จักชื่อโรงเรียนจ่านกร้องเป็นอย่างดี เพราะเป็นแชมป์รายการนี้อยู่หลายสมัย
บทบาทของทั้งสองท่านปรากฏอยู่ใน “พงศาวดารเหนือ” ว่า
“แต่ชาติก่อนพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกเป็นภิกษุ ได้สร้างพระไตรปิฎกเมื่อศาสนาพระกกุสนธ์เจ้า ครั้นพระองค์เกิดมาตรัสรู้ในไตรปิฎกทั้งสาม พระองค์จึงรู้ในพระทัยว่า พระพุทธเจ้าเสด็จไปบิณฑบาตทางตะวันตกตะวันออก แล้วเสด็จไปอาศัยฉันจังหันใต้ต้นสมอ แลควรจะไปสร้างเมืองไว้ในสถานที่นั้น พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกคิดแล้วจึงมีพระราชโองการตรัสสั่ง จ่านกร้อง จ่าการบุญ ให้ทำเป็นพ่อค้าเกวียนไปด้วยคนละ ๕๐๐ เล่ม เต็มไปด้วยทุนทรัพย์ทั้งหลาย
จ่านกร้อง จ่าการบุญ รับพระราชโองการแล้วทูลลา พวกพาณิชพ่อค้าตามส่งแล้ว จ่านกร้อง จ่าการบุญ จึงมาจากเมืองเชียงแสน มาถึงเมืองน่าน แล้วก็มาเมืองลิหล่ม พักพลไหว้พระบาทธาตุพระพุทธเจ้า แล้วจึงข้ามแม่น้ำตรอมตนิม แล้วจึงข้ามแม่น้ำแก้วน้อย แล้วจึงถึงบ้านพราหมณ์ ที่พระพุทธเจ้าไปบิณฑบาตบ้านพราหมณ์ข้างตะวันออก ๑๕๐ เรือน ข้างตะวันตก ๑๐๐ เรือนมีเศษ
จ่านกร้อง จ่าการบุญ คิดอ่านกันว่า พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกเจ้าเราใช้เรามาที่นี้ ชะรอยจะเป็นปริศนามาแก่เราทั้งสองนี้แล้วมีอาญา ฐานที่นี้ก็เป็นอันราบคาบนักหนาทั้งสองฟาก มีบ้านพราหมณ์ก็อยู่ทั้งสองฟาก มาเราจะสร้างเมืองถวายแก่เจ้าเราเถิด
ครั้นเจ้าทั้งสองคิดกันแล้ว จ่านกร้องจึงให้พ่อค้าเกวียน ๕๐๐ เล่มข้ามไปข้างตะวันตกก็ตั้งทับประกับเกวียนไว้แล้ว จึงทำสารบาญชีชะพ่อพราหมณ์แลไพร่ของตนรวมกันเป็นคน ๑๐๐๐ ทำอิฐ จ่าการบุญทำบาญชีชะพ่อพราหมณ์แลไพร่ของตนรวมกันเป็นคน ๑๐๐๐ เท่ากัน ทำอิฐได้เปนอันมาก แล้วจึงให้หาชะพ่อพราหมณ์ อันเป็นผู้เถ้าผู้แก่ตามไสยศาสตร์ จึงให้ชะพ่อพราหมณ์กินบวชถือศีลเขนง ๗ วันแล้วสระเกล้า แล้วขึ้นโล้ถีบอัมพวายแก่พระอิศวรเป็นเจ้า จึงเอาพระอิศวรออกไปเลียบที่ตั้งเมือง จึงให้พราหมณ์ชักรอบทิศตั้งเมืองแล้ว จึงปันน่าที่ยาว ๕๐ เส้นสกัดสิบเส้นสิบวา ปันน่าที่ไว้แก่พราหมณ์จะได้เท่าใด ไทยจะได้เท่าใด ลาวจะได้เท่าใด ครั้นปันน่าที่แล้วพอได้ ณ วันพฤหัสบดี เดือนสาม ขึ้นค่ำหนึ่ง ปีฉลูฉศก เพลาเช้า ต้องกับเพลาเมื่อพระพุทธเจ้าฉันจังหันใต้ต้นสมอ
วันนั้นพระอุบาฬีเถรแลพระคิริมานนท์ก็นิพพานในที่นั้น แต่ก่อนก็เรียกว่าพนมสมอ บัดนี้ก็เรียกว่าเขาสมอแครง เขาบรรจุพระธาตุเจ้าทั้งสองไว้ในที่นั้น แลครั้นพระสงฆ์องค์ใดเข้ามาอยู่ที่นั้นก็ย่อมเรียกตามที่นั้นว่าเปนอรัญวาสี จ่านกร้องสร้างข้างตะวันตก จ่าการบุญสร้างข้างตะวันออกแข่งกัน ทำปีหนึ่งกับเจ็ดเดือนจึงแล้วรอบบ้านพราหมณ์ทั้งหลาย ทั้งคูก็รอบกัน หนทางเด็กเลี้ยงวัว ลูกชาวบ้านหริภุญไชยไปมาปั้นพระนอนเล่นทั้งสองฟาก เป็นประตูแปดอันตามอันดับกัน เจ้าทั้งสองจะให้ชื่อประตูก็ถามคนอันเปนผู้เถ้าผู้แก่ทั้งหลาย พราหมณ์ทั้งหลายจึงว่าทั้งสองสิเป็นมหาเสนา การทั้งนี้ตามแต่ปัญญาเจ้าทั้งสองเถิด สร้างเมืองปีหนึ่งกับ ๗ เดือนจึงแล้วดังนี้แล ครั้นจ่านกร้องจ่าการบุญทำเมืองแล้วทั้งสองฟาก ทั้งทวารบานประตูบริบูรณ์แล้ว จึงสั่งชีพ่อพราหมณ์ให้รักษาเมือง ครั้นได้ฤกษ์ดีจึงนำเอาเกวียนแลคน ๕๐๐ เล่ม ขึ้นไปสองเดือนจึงถึงเมืองเชียงแสนราชธานี จ่าทั้งสองเข้าไปถวายบังคม จ่าทั้งสองจึงกราบทูลพระกรุณาว่า พระองค์เจ้าใช้ตูเข้าไปถึงที่พระพุทธเจ้าฉันจังหันใต้ต้นสมอ สถานที่นั้นเป็นอันสนุกนักหนา ข้าพเจ้าชวนกับชะพ่อ พราหมณ์ทั้งหลายสร้างเมืองถวายแก่พระองค์เจ้าแล้ว
พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกยินดีนักหนา จึงมีพระราชโองการตรัสสั่งแก่เสนาอำมาตย์ ให้ชุมนุมท้าวพระยาทั้งหลาย พระองค์จึงให้จ่าทั้งสองไปก่อนเป็นทัพหน้า ท้าวพระยาทั้งหลายเป็นปีกซ้ายขวา เจ้าไกรสรราช เจ้าชาติสาคร พระราชโอรสทั้งสองเป็นกองรั้งหลังตามเสด็จพระราชบิดาพระราชมารดา ออกจากพระนคร ณ วันอาทิตย์ เดือนอ้าย แรมหกค่ำ เพลาเช้า ไปได้สองเดือนจึงถึง พระองค์ให้ตั้งทับพลับพลาทองริมน้ำ ไกลเมืองประมาณ ๑๐๐ เส้น สมเด็จพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกจึงให้ท้าวพระยาทั้งหลาย แลเจ้าไกรสรราช เจ้าชาติสาคร ตามเสด็จเข้าไปในเมือง แล้วจึงให้ชื่อเมือง จึงมีพระราชโองการตรัสถามชะพ่อพราหมณ์ว่าเราจะให้ชื่อเมืองอันใดดี พราหมณาจารย์จึงกราบทูลตอบพระราชโองการว่า พระองค์เจ้ามาถึงวันนี้ได้ยามพิศณุ พระองค์ได้ชื่อเมืองตามคำพราหมณ์ว่าเมืองพิศณุโลก ถ้าจะว่าตามพระพุทธเจ้ามาบิณฑบาต ก็ชื่อว่าโอฆบุรีตะวันออก ตะวันตกชื่อจันทบูร พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกจึงมีพระราชโองการตรัสสั่งท้าวพระยาทั้งหลายว่า เราชวนกันสร้างพระธาตุแลพระวิหารใหญ่ ตั้งพระวิหารทั้งสี่ทิศ ครั้นสร้างของพระยาแล้ว ต่างคนต่างก็สร้างคนละองค์”
จากนั้นพงศาวดารเหนือได้กล่าวต่อไปว่า พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกได้ทรงสร้างพระชินสีห์และพระชินราชขึ้น โดยมีเทวดามาช่วยหล่อพระชินราชจนสำเร็จ
แต่ในรายพระนามกษัตริย์ของเมืองเชียงแสน ไม่มีพระนามของพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก และหลักฐานทางโบราณคดีกล่าวว่า พระมหาธรรมราชา (ลิไทย) กษัตริย์ของกรุงสุโขทัย ซึ่งครองราชย์อยู่ช่วงปี พ.ศ. ๑๘๙๐-๑๙๑๑ เป็นผู้สร้างพระพุทธชินสีห์และพระพุทธชินราช และโปรดให้ย้ายเมืองสองแควจากบริเวณวัดจุฬามณีมาอยู่ที่ปัจจุบัน อีกทั้งพงศาวดารเหนือในเรื่องนี้ไม่ปรากฏอยู่ในหลักฐานทางประวัติศาสตร์อื่นๆ จึงถือว่าเรื่องนี้เป็นเพียงตำนาน