xs
xsm
sm
md
lg

"พล.อ.สมเจตน์" ชำแหละกฎหมายพรรคการเมืองทำประชาธิปไตยพัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"พล.อ.สมเจตน์" ชำแหละกฎหมายพรรคการเมือง ประชาชนไม่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง จับตาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญหรือไม่



วันที่ 30 ส.ค. 2565 พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ร่วมสนทนาในรายการ "คนเคาะข่าว" ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ช่อง "นิวส์วัน" ในหัวข้อ "ส.ว.แตะเบรก กม.พรรคการเมือง ก่อนประชาธิปไตยพัง"

พล.อ.สมเจตน์กล่าวถึงที่มาของกฎหมายพรรคการเมือง 2560 ว่า พฤศจิกายน 2556 มีการผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ตอนตี 3-4 จนเกิดการชุมนุมต่อต้านขึ้นมา ตอนนั้นรัฐสภาถูกกล่าวหาเป็นเผด็จการรัฐสภา ส่วนพรรคการเมืองเป็นพรรคของนายทุน เกิดการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปพรรคการเมืองให้เป็นพรรคของประชาชนอย่างแท้จริง กระทั่งเกิดการยึดอำนาจ ใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ในมาตรา 35 กำหนดว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญให้พรรคการเมืองสามารถดำเนินการโดยอิสระ ไม่ถูกครอบงำ นี่คือบทหลักเริ่มต้นของการปฏิรูปพรรคการเมือง จากนั้นก็มีการร่างรัฐธรรมนูญ 60 ขึ้นมา ก็นำบทหลักมาตรา 35 มาเป็นแนวทางในการร่าง

การปฏิรูปพรรคการเมือง ปรากฏในรัฐธรรมนูญ 3 มาตรา คือ มาตรา 45 ระบุว่าพรรคการเมืองสามารถดำเนินการโดยอิสระ และให้สมาชิกมีส่วนร่วม, มาตรา 90 การส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ ว่าจะส่งได้ต้องส่งแบบเขตก่อน แล้วต้องให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการเลือกบัญชีรายชื่ออย่างแท้จริง และสิ่งสำคัญมาตรา 258 พูดถึงเรื่องการปฏิรูปประเทศ ด้านการเมือง กำหนดให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายพรรค คัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างแท้จริงและเป็นรูปธรรม 3 มาตรานี้ถูกนำมายกร่างเป็นกฎหมายพรรคการเมือง และได้วางโครงสร้างของการปฏิรูปไว้

พอมาชั้นร่างแก้ไขกฎหมายพรรคการเมือง มีการเสนอแก้ไขเกินเลยไปกว่าการแก้รัฐธรรมนูญ ซ้ำร้ายล้วนแต่ทำลายโครงการปฏิรูปพรรคการเมืองทั้งสิ้น

ประเด็นแรกเดิมทีกำหนดให้สมาชิกพรรคการเมืองจ่ายค่าบำรุงพรรคปีละ 100 บาท และแบบตลอดชีพ 2,000 บาท แต่มาแก้ให้เหลือปีละ 20 บาท แบบตลอดชีพ 200 บาท ซึ่งมันอาจทำให้ง่ายต่อการจ่ายแทน สมาชิกพรรคไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ขัดต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ จึงยื่นเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณา

ประเด็นที่สอง ป้องกันไม่ให้คนมีมลทิน ทำผิดกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง จึงเอาคุณสมบัติผู้ที่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง ต้องไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุด แต่ไปแก้ไขเป็นต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เป็นการไปลดคุณสมบัติต้องห้าม ถือว่าขัดรัฐธรรมนูญ

ประเด็นที่สาม กฎหมายพรรคการเมืองกำหนดว่าจะต้องขยายสาขาย่อยพรรคการเมืองให้มาก เพื่อสมาชิกจะได้เพิ่มไปด้วยเป็นฐานเสียงพรรคการเมืองนั้น ในเขตเลือกตั้งไหนที่มีสมาชิก 100 คน ต้องตั้งตัวแทนพรรคประจำจังหวัดในเขตเลือกตั้งนั้น แล้วใครจะส่ง ส.ส.ในเขตเลือกตั้งไหน ตัวเองจะต้องมีตัวแทนพรรคการเมืองในเขตเลือกตั้งนั้น โดยสรุปถ้าจะส่ง ส.ส. 400 เขต ต้องมีสาขาพรรคการเมืองอย่างน้อย 4 สาขา แล้วต้องมีตัวแทนประจำจังหวัดอย่างน้อย 396 ตัวแทน ถึงส่งครบ แต่เขาก็ไปแก้ 1 จังหวัดมีแค่ 1 ตัวแทน

ประเด็นที่สี่ จากเดิม ส.ส.เขตต้องสมัครที่พรรคเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติ ถ้าสมัคร 5 คน ต้องส่งทั้ง 5 คนไปเขตเลือกตั้งนั้น แล้วให้สมาชิกเขตนั้นเป็นผู้เลือก แล้วส่งมาที่กรรมการสรรหาของพรรคการเมือง และต้องส่งอันดับ 1 เป็นผู้สมัคร เขาไปเปลี่ยนเป็นให้กรรมการสรรหาเลือก 1 คน แล้วส่งไปเขตเลือกตั้งเป็นผู้พิจารณาเห็นชอบหรือไม่ ทำเป็นแค่พิธีกรรม เหมือนมัดมือชกยัดใส่ให้

ประเด็นที่ห้า สิ่งที่เลวร้ายสุด เขาไปแก้บัญชีรายชื่อ เดิมพรรคส่ง 150 คน ลงไปที่เขตเลือกตั้ง ให้สมาชิกพรรคแต่ละคนเลือก 15 รายชื่อ พรรคก็เอามาเรียงตามลำดับ อำนาจในการจัดสรรลำดับบัญชีรายชื่ออยู่ที่สมาชิกพรรค เขาแก้เป็นให้พรรคส่ง 100 รายชื่อไปที่เขตเลือกตั้ง เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบแล้วส่งมาที่กรรมการบริหารพรรค ให้มีอำนาจจัดสรรบัญชีรายชื่อ


กำลังโหลดความคิดเห็น