xs
xsm
sm
md
lg

ถึงคิวเส้นสุขสวัสดิ์ปิดเบี่ยงจราจร 30 ส.ค.นี้ ขุดสำรวจสาธารณูปโภคสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้รับเหมาโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงเตรียมปิดเบี่ยงถนนสุขสวัสดิ์ 1 เลน 24 ชั่วโมง เพื่อสำรวจสาธารณูปโภค 30 ส.ค. ถึง 18 ก.ย.นี้ รวม 4 จุด ทยอยปิดทีละจุด ก่อนก่อสร้างทางวิ่งและสถานียกระดับ หวั่นรถที่มาจากพระประแดง-พระราม 2 เจอคอขวด ขณะที่สมาคมนักข่าวฯ กำลังเล็งหาที่ทำการชั่วคราวระหว่างก่อสร้าง

วันนี้ (25 ส.ค.) รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แจ้งว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) สัญญาที่ 5 ช่วงดาวคะนอง-ครุใน แจ้งปิดเบี่ยงการจราจรชั่วคราว ช่องทางด้านขวาสุดชิดเกาะกลาง บนถนนสุขสวัสดิ์ ฝั่งขาเข้า บริเวณซอยสุขสวัสดิ์ 12-16 ระยะทางประมาณ 100 เมตรต่อจุด เพื่องานสำรวจสาธารณูปโภค โดย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่วันที่ 30 ส.ค. ถึง 18 ก.ย. 2565 ตั้งแต่เวลา 22.00 น.เป็นต้นไป ตลอด 24 ชั่วโมง มีผลให้ช่องจราจรฝั่งขาเข้าเหลือ 3 ช่องทาง ส่วนฝั่งขาออกมี 4 ช่องทางตามปกติ

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า สำหรับการปิดเบี่ยงจราจรจะเริ่มทำทีละจุด จุดละ 5 วัน ได้แก่ จุดที่ 1 ปากซอยสุขสวัสดิ์ 12, จุดที่ 2 ระหว่างโรงเรียนสิริอักษรธนบุรี ถึงธนาคารกรุงเทพ สาขาสุขสวัสดิ์, จุดที่ 3 ปากซอยสุขสวัสดิ์ 14 และจุดที่ 4 หน้าสถานีบริการน้ำมันเชลล์ ปากซอยสุขสวัสดิ์ 16 คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการจราจรบนถนนสุขสวัสดิ์ ขาเข้า ในชั่วโมงเร่งด่วน เนื่องจากรถที่มาจากบางปะกอก และพระประแดง กับรถที่มาจากถนนพระรามที่ 2 มาบรรจบกันที่สามแยกบางปะแก้ว เพื่อมุ่งหน้าไปยังแยกมไหสวรรย์ เมื่อช่องจราจรถูกบีบเหลือ 3 ช่องจราจร จะส่งผลกระทบให้เกิดคอขวดและรถมากเคลื่อนตัวช้าได้ สำหรับเส้นทางเลี่ยงการก่อสร้างรถไฟฟ้าบนถนนสุขสวัสดิ์ พบว่ามีเพียงถนนราษฎร์บูรณะ ต่อเนื่องถนนเจริญนครเท่านั้น


สำหรับถนนสุขสวัสดิ์ กรมทางหลวงปรับปรุงครั้งล่าสุดเมื่อปี 2561 เพื่อรองรับการจัดกิจกรรมปั่นจักรยาน “Bike อุ่นไอรัก” โดยปรับปรุงผิวทางด้วยแอสฟัลติกคอนกรีต พร้อมตีเส้นจราจรใหม่ ยาวไปถึงสามแยกพระประแดง จ.สมุทรปราการ สำหรับการก่อสร้างช่วงดาวคะนองถึงครุใน จะเป็นรูปแบบทางวิ่งยกระดับขนานกับเกาะกลางถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน และถนนสุขสวัสดิ์ พร้อมก่อสร้างสถานียกระดับ 7 สถานี ได้แก่ สถานีดาวคะนอง สถานีบางปะแก้ว สถานีบางปะกอก สถานีสะพานพระราม 9 สถานีราษฎร์บูรณะ สถานีพระประแดง และสถานีครุใน ซึ่งอาจจะมีการปิดช่องจราจรเพิ่มเติมเพื่อก่อสร้างทางวิ่งและสถานียกระดับ ก่อนที่จะคืนผิวจราจรเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ เช่นเดียวกับโครงการรถไฟฟ้าในช่วงที่ผ่านมา

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า ผู้รับจ้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ได้เริ่มเข้าพื้นที่สำรวจทางโบราณคดี และขุดสำรวจสาธารณูปโภคใต้ดินหลายจุด เช่น ถนนสามเสน ถนนพระสุเมรุ โดยได้ประชาสัมพันธ์ผ่านเฟซบุ๊ก "โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ" และไลน์ @mrtpurpleline เพื่อสื่อสารกับประชาชนที่อยู่ในแนวเส้นทางโครงการ รวมถึงบุคคลทั่วไปที่ต้องการรับข้อมูลข่าวสารประชาสัมพันธ์โครงการไปบ้างแล้ว

อีกด้านหนึ่งมีรายงานว่า สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยได้ประชุมคณะกรรมการเมื่อวันก่อน เพื่อหารือในการย้ายที่ทำการชั่วคราวของสมาคมฯ และองค์กรวิชาชีพสื่อในอาคารทั้งหมด เนื่องจากที่ตั้งของสมาคมฯ อยู่แนวเส้นทางโครงการ และด้านหน้าที่ทำการสมาคมฯ จะเป็นทางขึ้น-ลง และปล่องระบายอากาศของสถานีวชิรพยาบาล ซึ่งเป็นสถานีใต้ดิน ซึ่งสัญญาที่ 1 ช่วงเตาปูน-หอสมุดแห่งชาติ จะก่อสร้างโดยกิจการร่วมค้า CKST-PL JOINT VENTURE ประกอบด้วย บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาหาสถานที่ชั่วคราวเพื่อใช้เป็นที่ทำการสมาคมฯ โดยมีระยะเวลาในการเช่าไม่ต่ำกว่า 1 ปี

สำหรับโครงการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 23.6 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน 13.6 กิโลเมตร 10 สถานี และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ 10 กิโลเมตร 7 สถานี มีแนวเส้นทางเริ่มต้นจากสถานีเตาปูน ลอดใต้กรมสรรพาวุธทหารบก เข้าสู่ถนนทหาร ผ่านแยกเกียกกาย เข้าสู่ถนนสามเสน ผ่านอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ โรงเรียนราชินีบน กรมชลประทาน โรงพยาบาลวชิรพยาบาล หอสมุดแห่งชาติ คลองบางลำพู เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนพระสุเมรุ ผ่านวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ถนนราชดำเนินกลาง แยกผ่านฟ้าลีลาศ เข้าสู่ถนนมหาไชย ผ่านวัดราชนัดดารามวรวิหาร เข้าสู่ถนนจักรเพชร ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระปกเกล้า

เข้าสู่ถนนประชาธิปก ผ่านสี่แยกบ้านแขก ลอดใต้วงเวียนใหญ่ เข้าสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ผ่านโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า ลอดใต้แยกมไหสวรรย์ หลังจากนั้นแนวเส้นทางจะเปลี่ยนเป็นโครงสร้างยกระดับ วิ่งไปตามกลางถนนสุขสวัสดิ์ ผ่านแยกดาวคะนอง ข้ามสะพานข้ามแยกพระราม 2 ผ่านแยกประชาอุทิศ ข้ามทางพิเศษเฉลิมมหานคร สะพานภูมิพล 1 ผ่านสามแยกพระประแดง และสิ้นสุดที่ ต.ครุใน อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ พร้อมโรงจอดรถไฟฟ้าริมถนนกาญจนาภิเษก ข้างด่านเก็บค่าผ่านทางบางพลี-สุขสวัสดิ์ มีอาคารจอดแล้วจร 2 แห่ง ได้แก่ สถานีบางปะกอก และสถานีราษฎร์บูรณะ

การก่อสร้างแบ่งออกเป็น 6 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 ช่วงเตาปูน-หอสมุดแห่งชาติ วงเงิน 19,430 ล้านบาท ก่อสร้างโดย กิจการร่วมค้าซีเคเอสที-พีแอล (ช.การช่าง และซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น) สัญญาที่ 2 ช่วงหอสมุดแห่งชาติ-ผ่านฟ้าฯ วงเงิน 15,878 ล้านบาท ก่อสร้างโดย กิจการร่วมค้าซีเคเอสที-พีแอล, สัญญาที่ 3 ช่วงผ่านฟ้าฯ-สะพานพุทธ วงเงิน 15,109 ล้านบาท ก่อสร้างโดย กิจการร่วมค้าไอทีดี-เอ็นดับบลิวอาร์ เอ็มอาร์ที (อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ และเนาวรัตน์พัฒนาการ)

สัญญาที่ 4 ช่วงสะพานพุทธ-ดาวคะนอง วงเงิน 14,982 ล้านบาท ก่อสร้างโดย บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน), สัญญาที่ 5 ช่วงดาวคะนอง-ครุใน วงเงิน 13,094.80 ล้านบาท ก่อสร้างโดย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และสัญญาที่ 6 งานออกแบบและก่อสร้างระบบรางตลอดแนวเส้นทางโครงการ วงเงิน 3,589 ล้านบาท ก่อสร้างโดย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ลงนามในสัญญาเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2565 ระยะเวลา 2,005 วัน คาดว่าจะเปิดให้บริการแก่ประชาชนได้ภายในปี 2570
กำลังโหลดความคิดเห็น