เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๓๗๕ หนังสือพิมพ์ “นิวยอร์กซัน” ที่ออกในเมืองแมนฮัตตัน สหรัฐอเมริกา ได้สร้างความตื่นตะลึงให้คนอ่าน โดยเริ่มลงบทความการค้นพบทางดาราศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ อ้างว่า เซอร์ จอห์น เฮอร์เซล นักคณิตศาสตร์และดาราศาสตร์ชาวอังกฤษ ไปส่องกล้องโทรทัศน์ขนาดมหึมาดูดวงจันทร์ที่แหลมกู๊ดโฮป พบสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดเกิดขึ้น ทำให้หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า จึงลงบทความเรื่องนี้ติดต่อกันถึง ๖ ตอน
บทความดังกล่าวได้บรรยายว่า ได้พบสิ่งมีชีวิตบนดวงจันทร์ นอกจากมีมหาสมุทร ชายหาด ต้นไม้ และเทวสถาน มีอารยธรรมเกิดขึ้นแล้ว ยังมีสัตว์ อย่าง แพะ วัวไบซัน หนูยักษ์บีเวอร์ ยูนิคอร์นซึ่งเป็นสัตว์ในตำนานของกรีก และสิ่งมีชีวิตคล้ายมนุษย์ แต่มีปีกเหมือนค้างคาว สามารถบินได้ พร้อมกับเขียนภาพที่เห็นจากกล้องนี้มาประกอบเรื่อง
เมื่อมีคนตื่นเต้นข่าวนี้มาก ต่างก็สนใจติดตามหลักฐานของเรื่องมากขึ้น เดอะซันเลยต้องจบลงด้วยการอ้างว่า เนื่องจากเลนส์มหึมาที่ใช้ดูดวงจันทร์จนเห็นทะลุปรุโปร่งนี้ พอเจอแสงอาทิตย์เข้า เลนส์ก็รวมแสงทำให้เกิดไฟไหม้หอสังเกตการณ์จนมอดไปหมด
ถึงแม้ต่อมาคนจำนวนมากจะรู้ว่าข่าวนี้เป็นเรื่อง “แหกตา” แต่ยอดขายของ นสพ.เดอะซันก็ยังครองอันดับสูงตลอดมาเพราะข่าวนี้ แสดงว่าคนเราแม้จะรู้ว่าเป็นข่าวปลอม ข่าวเท็จ ก็ยังสนใจมากกว่าข่าวจริง
นี่เป็นข่าวลวงหรือข่าวปลอมเมื่อ ๑๙๐ ปีก่อน เดี๋ยวนี้มนุษย์ฉลาดขึ้นแต่ก่อนมาก ข่าวประเภทนี้น่าจะหมดยุคไปได้แล้ว เพราะหลอกคนฉลาดไม่ได้ แต่กลับตรงกันข้าม โดยเฉพาะในสื่อออนไลน์ที่สื่อสารกันได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวางในขณะนี้ กลับเกลื่อนไปด้วยข่าวลวง ข่าวปลอม ที่สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นการล้อเลียน เสียดสี หรือเพื่อสร้างอิทธิพลทางความคิดความเชื่อ และเป็นการสร้างรายได้ จนเห็นอยู่เป็นประจำและทำกันเป็นขบวนการ
ได้อ่านบทความพิเศษเรื่อง “Fake News ข่าวลวง ข่าวปลอม” ของ มานิจ สุขสมจิตร นักหนังสือพิมพ์อาวุโส ซึ่งผู้เขียนได้นำเสนอต่อที่ประชุมราชบัณฑิตและภาคีสมาชิก สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง ราชบัณฑิตสภา เมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๖๔ ได้กล่าวถึงข่าวลวง ข่าวปลอมที่แพร่ระบาดอยู่ในสื่อออนไลน์อย่างยากต่อการแยกแยะ ส่งผลกระทบต่อบุคคลในด้านความคิด ความเชื่อ อารมณ์ และความรู้สึก ที่น่าวิตกคือ ข่าวลวง ข่าวปลอม แพร่ได้เร็วและกว้างขวางกว่าข่าวจริงถึง ๑๐๐ เท่า อาจจะเป็นเพราะน่าตื่นเต้นเร้าใจกว่า
ในบทความนี้ยังได้นำข่าวลวง ข่าวปลอมทั้งของไทยและต่างประเทศมากล่าวไว้หลายเรื่อง อย่างเช่น
ระหว่างวันที่ ๑๖ มกราคม ถึง ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๓ ที่มีการเริ่มระบาดของโควิด ๑๙ นั้น พบข่าวลวงมากกว่า ๑๙,๐๐๘ ข้อความ ทั้งช่วงก่อนและหลังมีมาตรการปิดเมือง ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจที่ผิดพลาด อันอาจเป็นผลเสียต่อชีวิต
หรือภาพที่ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูตินถือพระพุทธรูป แล้วบอกว่า ประธานาธิบดีรัสเซียเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธแล้ว ความจริงเป็นภาพทหารเรือคนหนึ่งถือพระพุทธรูป แต่เปลี่ยนเอาปูตินมาแทนทหารเรือ เจตนาสร้างข่าวปลอมขึ้นอย่างชัดเจน
ข่าวที่ประเทศอิตาลีกำหนดในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ความเป็นจริงแค่รับรองว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาหนึ่งในบรรดาศาสนาทั้งหลายที่มีผู้นับถือเท่านั้น
คราวที่มี “ข่าวเสือดำ” โด่งดัง ก็มีภาพรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติยกมือไหว้ผู้ต้องหาซึ่งเป็นเศรษฐีใหญ่อย่างนอบน้อม แล้วบรรยายภาพว่า “งานนี้รอดแหง๋ๆ” ทำให้มีการก่นด่าตำรวจกันอย่างถล่มทลาย แต่ต่อมาก็มีคลิปวิดิโอให้เห็นชัดเจนว่า เป็นการรับไหว้ตามปกติธรรมดาของคนไทยเท่านั้น
นอกจากนั้น ในสื่อออนไลน์ยังเนืองแน่นไปด้วยโฆษณาชวนเชื่อ ชวนให้เสียเงินมากมาย อย่างไฟฉายชนิดหนึ่งกระบอกสั้นๆ แต่อธิบายสรรพคุณราวกับส่องไปถึงดาวอังคาร หรือกระทะทำอาหารจากเกาหลียี่ห้อหนึ่ง บอกว่าไม่มีขายในประเทศผู้ผลิต ส่งมาให้คนไทยใช้โดยเฉพาะ ทำอะไรก็น่ากินไปทุกอย่างเหมือนอาหารทิพย์
ส่วนในอเมริกาที่อ้างว่าเป็นแบบอย่างประชาธิปไตย พยายามจะให้ทั้งโลกเป็นแบบตัว ก็สร้างแบบอย่างที่ดีงามไว้ไม่ใช่ย่อย เป็นที่เปิดเผยว่า ในการชิงชัยระหว่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ กับ นางฮิลลารี คลินตัน ทรัมป์เห็นว่าแม้จะหาเสียงด้วยการพูดจริงบ้างเท็จบ้างคะแนนก็ยังเป็นรองนางฮิลารี อีกทั้งสื่อหลักที่จ้างไว้เชียร์ คนก็ไม่ค่อยเชื่อถือแล้ว จึงใช้นักสร้างข่าวปลอมรายหนึ่ง มีชื่อว่า นายคาเมรอน แฮร์ริส เป็นบัณฑิตด้านรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ ไปซื้อเวปไซต์เก่าๆที่ไม่ได้ใช้งานแล้วมาสร้างข่าว fake news ปล่อยข่าวแรกว่าเป็นข่าวด่วน พบบัตรลงคะแนนปลอมให้ฮิลลารีหลายแสนใบในโกดังเก็บของที่รัฐโอไฮโอ พร้อมอุปโลกน์ช่างรับจ้างทั่วไปรายหนึ่งเป็นผู้เข้าไปพบ มีภาพประกอบคนยืนอยู่ข้างกล่องใส่บัตรเลือกตั้งด้วย แต่ความจริงเอาภาพนี้มาจากหนังสือพิมพ์ที่เมืองเบอร์มิงแฮมของอังกฤษ คนละเรื่องกันเลย สร้างข่าวเท็จกระหึ่มไปทั่ว แม้วันรุ่งขึ้น กกต.รัฐโอไฮโอจะรีบเข้าไปตรวจโกดังแล้วปฏิเสธว่าข่าวนี้ไม่มีความจริง ก็สายไปแล้ว มีคนเชื่อเป็นจำนวนมาก
แม้ในครั้งที่ประธานาธิบดีทรัมป์แพ้โจ ไบเดน ในวันที่ไบเดนสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง ทรัมป์ก็ไม่ยอมไปร่วมตามประเพณี ไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ มีเอกสารที่ประทับตราประธานาธิบดี มีลายมือปลอมของทรัมป์แพร่ไปตามสื่อทั่วโลก มีข้อความบรรทัดเดียวว่า “โจ คุณก็รู้ว่าผมชนะ” เป็นทำนองว่าแพ้เพราะถูกโกง เป็นข่าวปลอมบันลือโลกอีกชื้นหนึ่ง
นี่คือการเมืองแบบอเมริกัน
ข่าวปลอมได้ส่งผลกระทบต่อผู้คนและสังคมมากขึ้นในระยะ ๒-๓ ปีที่ผ่านมา เนื่องด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และอินเทอร์เน็ตทำให้การสร้างข่าวปลอมทำได้ง่าย เผยแพร่ได้รวดเร็ว และมีผู้คอยรับสารอยู่ตลอดเวลา นักวิจัยจาก MIT (สถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา) พบว่า ข่าวปลอมสามารถแพร่กระจายได้รวดเร็วกว่าข่าวจริงถึง ๑๐๐ เท่า
ส่วนในประเทศไทย ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ของ อสมท. พบว่า ตลอดปี ๒๕๕๙ สามารถเก็บข้อมูลได้ว่า มีข่าวปลอมกว่า ๓๐๐ หัวข้อ แต่ละหัวข้อมีการไลค์และแชร์บนเฟซบุ๊กรวมกันอยู่ในหลักแสน
จากการสำรวจของ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. พบว่า ในปี ๒๕๖๑ คนไทยใช้งานอินเทอร์เน็ตเฉลี่ยสูงถึงวันละ ๑๐ ชั่วโมง ๕ นาที และเชื่อถือข้อมูลที่ได้รับทางโซเชียลมีเดียร้อยละ ๔๐ นับเป็นตัวเลขที่สูงสุดในภูมิภาค นอกจากนี้ยังพบว่า กลุ่มผู้อ่านที่ค่อนข้างสูงอายุเป็นกลุ่มที่แชร์ข่าวปลอมมากที่สุด เพราะคนกลุ่มนี้เพิ่งจะเข้าสู่โลกอินเทอร์เน็ตตอนอายุมากแล้ว ไม่ทันยุคทันสมัย ขาดความรู้เท่าทันสื่อและเทคโนโลยีดิจิทัล ไม่คิดว่าภาพ เสียง และวิดีโอสมัยนี้ตัดต่อให้ดูเสมือนจริงได้ และเชื่อโดยสนิทใจว่าข่าวทุกข่าวที่นำเสนอได้ผ่านการกลั่นกรองมาแล้ว โดยไม่ทันคิดว่าจะมีผู้ไม่หวังดีสร้างข่าวปลอมขึ้นเพื่อหลอกลวง
ที่น่าห่วงอย่างยิ่งในเรื่องข่าวลวง ข่าวปลอมก็คือ เยาวชนของไทยเข้าถึงโลกออนไลน์เร็วเกินไป จากการสำรวจของมูลนิธิสื่อสร้างสุขภาวะเด็กและเยาวชน ร่วมกับนักวิชาการจากสถาบัน บัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ พบว่านักเรียนมัธยมศึกษาของไทยเปิดรับสื่อออนไลน์ถึงวันละ ๖-๘ ชั่วโมง ใช้เพื่อการศึกษา ๖๑ % เพื่อเล่นเกม ติดต่อสื่อสารกับผู้อื่น ๓๙ % และผู้ปกครองส่วนใหญ่อนุญาตให้บุตรหลานใช้โทรศัพท์มือถือตั้งแต่อายุ ๒-๓ ขวบเท่านั้น ผลการศึกษาของ OECD (The Organisation for Economic Co-operation and Development) ได้ประเมินสมรรถภาพของนักเรียนอายุ ๑๕ ปี จาก ๗๗ ประเทศทั่วโลก พบว่า ความสามารถในการรับมือกับ fake news ของเด็กไทยอยู่ในลำดับที่ต่ำมาก เป็นลำดับที่ ๗๖ โดยมีเด็กอินโดนีเซียรั้งท้าย ส่วนความสามารถเด็กในการรับมือกับ fake news ประเทศที่อยู่ในลำดับต้นๆ ได้แก่ สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และเดนมาร์ก
นี่คือเรื่องน่าเป็นห่วงของข่าวลวง ข่าวปลอม