วันอังคารที่ 23 สิงหาคม 2565 โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม ร่วมกับเมืองโคเงะ (Koge Town) จังหวัดฟุกุโอกะ (Fukuoka) ประเทศญี่ปุ่น ทำพิธีลงนามสัญญาความร่วมมือ โครงการโรงเรียนพี่น้อง (Sister Schools) เป็นปีที่ 7 โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริเดช สุชีวะ คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ รองศาสตราจารย์พัชรี วรจรัสรังสี ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม Mr. Tsubone Shusuke นายกเทศมนตรีเมืองโคเงะ และ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรินทร์ พงศ์ศุภสมิทธิ์ ผู้ริเริ่มโครงการ
โครงการโรงเรียนพี่น้อง หรือ Sister Schools ระหว่างเมืองโคเงะ จังหวัดฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น กับโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม เกิดขึ้นเมื่อเดือนมกราคม พุทธศักราช 2558 ภายใต้สมัยของท่านนายกเทศมนตรี ชูสุเกะ สึโบเนะ (Mr. Shusuke Tsubone) ร่วมกับศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรินทร์ พงศ์ศุภสมิทธิ์ ประธานชมรมไทย-ฟุกุโอกะ อดีตอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์จุฬาฯ โดยต้องการที่จะสานสัมพันธ์และพัฒนานักเรียนและเยาวชนของเมืองโคเงะ ร่วมกับโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม โดยในส่วนของโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม มีศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรินทร์ กรุณาเป็นผู้ให้คำแนะนำในการดำเนินโครงการนี้ ซึ่งในการดำเนินการโครงการมีนโยบายหลัก คือ
1. ให้นักเรียนของเมืองโคเงะได้มีโอกาสเรียนรู้ภาษาอังกฤษ กล้าสนทนาและสื่อสารอย่างสง่างาม โดยผ่านการเรียนรู้ร่วมกันกับนักเรียนโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม
2. ให้นักเรียนและเยาวชนของเมืองโคเงะ ได้นำประสบการณ์จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการพัฒนาการฝึกใช้ภาษาอังกฤษจากโครงการนี้ กลับไปพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง
ทั้งนี้ ได้มีการนำนักเรียน พร้อมด้วยนายกเทศมนตรี คณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายการศึกษา คณะครูจาก 4 โรงเรียนของเมืองโคเงะ ได้แก่ Toubaru Elementary School, Tomoeda Elementary School, Minami Yoshitomi Elementary School และ Nishi Yoshitomi School มาเยือนโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม และโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถมได้เดินทางไปเยือนเมืองโคเงะในเดือนตุลาคม พุทธศักราช 2560 เป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นการนำมาซึ่งการทำสัญญาลงนาม MOU เป็นครั้งแรกของโครงการนี้ในวันที่ 21 สิงหาคม 2560 โดยสัญญามีความผูกพันเป็นระยะเวลา 5 ปี โดยหวังว่าโครงการนี้จะทำให้นักเรียนของทั้ง 2 ประเทศได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ศึกษาวิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมอันงดงาม นับว่าเป็นโอกาสดียิ่งที่ผสานกลมกลืนกับความร่ำรวยวัฒนธรรมในสังคมชาวญี่ปุ่น
ปัจจุบันโครงการโรงเรียนพี่น้อง (Sister Schools) ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาเข้าสู่ปีที่ 7 แล้ว โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถมได้รับสัมพันธไมตรีที่ดีในเรื่องต่างๆ จากเมืองโคเงะเสมอมา เช่น ช่วงวิกฤตของภาวะมลพิษทางอากาศ ทางเมืองโคเงะได้จัดซื้อหน้ากากจำนวน 2,000 ชิ้นส่งมาให้ทางโรงเรียนสาธิตจุฬา ฯ ฝ่ายประถมเพื่อบรรเทาภาวะมลพิษที่เกิดขึ้น การแลกเปลี่ยนทางศิลปวัฒนธรรม การแลกเปลี่ยนนักเรียน รวมทั้งเรื่องอื่นๆ ที่ถือว่าเป็นการพัฒนาสายสัมพันธ์ระหว่าง เมืองโคเงะ กับโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม ในรูปแบบของพี่น้องอย่างชัดเจน