xs
xsm
sm
md
lg

ชีวิตคือการเรียนรู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุด ของ ดร.จิรนิติ หะวานนท์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หากกล่าวถึงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หลายท่านคงนึกถึงผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย ที่มีอำนาจในการวินิจฉัยข้อปัญหาและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งในปัจจุบันมีจำนวน 9 ท่าน และหนึ่งในนั้นก็คือ ดร.จิรนิติ หะวานนท์ ที่วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกัน ซึ่งในชีวิตที่ผ่านมาของท่านทั้งในด้านการศึกษา และหน้าที่ในการทำงาน ล้วนแต่เป็นการเรียนรู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุด ถือเป็นประสบการณ์ที่มีประโยชน์ สามารถเป็นตัวอย่างหรือแนวทางในการใช้ชีวิตของคนรุ่นหลังได้เป็นอย่างดี
ดร.จิรนิติ หะวานนท์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้กล่าวว่า “ผมเรียนจบประถมมัธยมที่โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ และศึกษาต่อที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับปริญญานิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) พร้อมกับได้รับเนติบัณฑิตไทย (ลำดับที่ 1 สมัย 28) จากสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา หลังจากนั้นได้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดล ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทด้านกฎหมายปกครอง ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และปริญญาเอกด้านกฎหมายวิธีพิจารณาความ เน้นมาทางอาญา จากมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ระหว่างศึกษาได้เดินทางเข้ามาทำปริญญานิพนธ์ที่ชุมชนแออัดคลองเตย หลังจากนั้นได้เริ่มต้นการทำงานเป็นผู้พิพากษามาตั้งแต่ปี 2525, เป็นเลขานุการศาลฎีกา, หัวหน้าคณะศาลอุทธรณ์, อธิบดีศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง และเรื่อยมา จนมารับตำแหน่งในปัจจุบันคือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในปี 2563


การที่ผมได้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดล ถือเป็นมงคลที่ยิ่งใหญ่ในชีวิต เพราะเป็นทุนที่มาจากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรโดยตรง อีกทั้งยังเป็นทุนของนักศึกษาปริญญาตรีที่มีเกียรติยศสูงสุด และที่ผ่านมาผมยังได้รับเกียรติให้เป็นกรรมการและเลขานุการในการคัดเลือกนักศึกษาในแผนกธรรมศาสตร์มาตั้งแต่ปี 2539 สำหรับการนำพระราชกรณียกิจมาปรับใช้ในการทำงานก็มีหลายอย่าง ทั้งพระวิสัยทัศน์การมองโลกในมุมบวก, การนำความรู้เข้ามาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศไทย และที่ผมประทับใจมากที่สุดคือพระวิสัยทัศน์ของท่าน ที่ทรงให้ทางสำนักพระราชวังมาขอความช่วยเหลือจากแผนกโสตทัศนศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในเรื่องเทคโนโลยีการถ่ายทำ มุมกล้องบรรยากาศในห้องเรียน และการเรียนการสอนต่างๆ ที่ต่อมาเรื่องนี้ได้พัฒนาต่อเนื่องจนกลายเป็น DLTV มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งในปัจจุบันเข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มทุกช่วงวัย โดยเฉพาะกลุ่มโรงเรียนขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ในชนบทห่างไกลกว่า 31,000 แห่ง ทำให้มีจำนวนครูและนักเรียนที่ได้รับโอกาสเพิ่มขึ้นกว่า 1,500,000 คน

ในโลกปัจจุบันเรากำลังเผชิญปัญหามากมาย หรือที่ทางสังคมศาสตร์เรียกว่าเป็นยุคปฏิวัติเทคโนโลยี หลายสิ่งได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เกิดปัญหาขึ้นในหลากรูปแบบ ประเทศไทยยังโชคดีที่ไม่เดือดร้อนมากนักเพราะมีทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่ยังเน้นผลผลิตทางการเกษตร และการไม่ทำอะไรที่ฟุ่มเฟือยจนเกินไป และท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทุกภาคส่วนได้มองเห็นความสำคัญของการศึกษา ซึ่งแต่เดิมเป็นแค่การเรียนรู้จากหนังสือ แต่ในปัจจุบันเป็นการเรียนรู้ในทุกเรื่อง ที่สำคัญต้องเรียนรู้ว่าโลกจะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างไรให้มีความสุข กลไกในการเรียนรู้นอกจากจะเรียนผ่านหนังสือหรือโลกออนไลน์แล้ว ควรจะเป็นการเรียนรู้แบบต่อเนื่อง เหมือนกับที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้ทรงแนะนำในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ให้กับศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นราธิวาส ฯลฯ

ดร.จิรนิติได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “ในชีวิตที่เหลืออยู่ของผม สิ่งที่อยากทำให้กับประเทศชาติก็คือการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญให้ดีที่สุด เพราะศาลรัฐธรรมนูญเมื่อได้ตัดสินอะไรลงไปแล้ว จะมีผลกระทบต่อสังคม ระบบการปกครองในภาพรวมของประเทศ ดังนั้นจึงต้องพยายามดูแลรัฐธรรมนูญ, กฎหมาย ให้มีความมั่นคงเข้มแข็ง เพื่อให้บ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อย และการพัฒนาจะเกิดขึ้นตามมา ซึ่งกฎหมายและความยุติธรรมเป็นเงื่อนไขที่สำคัญต่อเรื่องดังกล่าว เพราะการที่คนมาอยู่ร่วมกันเป็นจำนวนมาก เราจำเป็นต้องเสียสละเสรีภาพบางส่วน เพื่อจะอยู่ร่วมกับคนอื่นได้อย่างมีความสุขครับ








กำลังโหลดความคิดเห็น