xs
xsm
sm
md
lg

เพื่อนร่วมงานเผยความดี "นพ.วรวิทย์" ผอ.รพ.อุ้มผาง ชี้เหมาะสมรางวัลแพทย์ดีเด่นปี 65

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โซเชียลฯ ร่วมยินดี! นพ.วรวิทย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง รับรางวัลแพทย์ดีเด่นประจำปี 2565 ด้านเพจดังเผยเรื่องราวอีกมุม ซึ่งเป็นคุณงามความดีที่ นพ.วรวิทย์ได้ให้ความช่วยเหลือชาวเขา เด็ก ที่ขาดแคลนและขาดความรู้ในการเข้าถึงสาธารณสุข และความดีอีกมาก ที่ทำให้เหมาะสมกับรางวัลแพทย์ดีเด่น

วันนี้ (22 ส.ค.) เพจ "เรื่องเล่าหมอชายแดน" ได้โพสต์เรื่องราวที่ชาวเน็ตต่างร่วมแสดงความยินดี โดยระบุว่า "ทางแพทยสภาได้ประกาศว่า พี่ตุ่ย นายแพทย์ วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง จังหวัดตาก ได้รับรางวัลแพทย์ดีเด่นของแพทยสภาประจำปี 2565 ไม่ว่าจะเป็นคนไข้ ชาวบ้าน หรือหมอด้วยกันทุกคนจะต้องบอกว่าเหมาะสมมากๆ จริงๆ พี่ตุ่ยก็เหมาะสมกับรางวัลคนดีคนเสียสละทุกรางวัลบนโลกนี้นั่นแหละ ตอนฉันเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลอุ้มผางมีหน่วยงานหนึ่งจะมอบรางวัลแพทย์ดีเด่นให้แกซ้ำอีกในปีถัดกัน (คือปีก่อนหน้าได้มา 1 รางวัล) แกบอกว่าขอไม่รับเพราะยังมีหมอท่านอื่นที่ทุ่มเทที่เขาควรได้เหมือนกัน เท่าที่รู้จักแกมาแกไม่เคยยึดติดกับรางวัลอะไรเลยนะ

ความดี ความเสียสละของพี่ตุ่ยมันเป็นสิ่งที่ทุกคนสัมผัสได้ เพราะพี่ตุ่ยทำมันจนผนวกเป็นนิสัย ไม่ต้องพยายาม แกก็พยายามสั่งสอนน้องๆ ทุกคนด้วยการทำให้ดูและสอนเชิงธรรมะ ให้เรามีทัศนคติในการปฏิบัติหน้าที่เป็นหมอได้อย่างดี ให้เรารักคนไข้โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ ชนชั้นหรือข้อจำกัดใดๆ ให้นึกถึงแต่ประโยชน์ของคนไข้เท่านั้น

ยังมีความดีปลีกย่อยที่ฉันสังเกตได้ รับรู้ได้แต่อาจจะยังไม่มีการเผยแพร่ เช่น
- พี่ตุ่ยใช้เงินเดือนของตัวเองส่งเด็กเรียน ทั้งบุตรหลานเจ้าหน้าที่ เด็กชาวเขาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ พอจบออกมาก็มาเป็นพยาบาล เป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อช่วยชาวบ้าน
บางปีพี่แกส่งเรียนเกือบ 30 คน ส่วนการใช้ชีวิตส่วนตัวแกประหยัดมากซื้อเสื้อผ้าของใช้ฟุ่มเฟือยน้อยมากจริงๆ
- พี่ตุ่ยเสียภาษีทุกบาททุกสตางค์โดยไม่ลดหย่อน ฉันเคยจะสอนแกซื้อกองทุนมาลดหย่อน แกบอกว่าช่างมันเถอะเบียร์เอ็งไม่ต้องสอนพี่ ภาษีมันก็ไปช่วยบริหารประเทศ ..โวะ พูดแล้วโมโห 55
- พี่ตุ่ยให้โรงครัวทำอาหารเลี้ยงคนไข้และญาติทุกคนเติมได้ไม่อั้น ผ้าห่มก็หามาให้ใช้อย่างเพียงพอ คนไข้จะเอากลับไปก็ไม่ว่า แกบอกว่าที่บ้านคงจะหนาวและไม่มีสักผืน บางปีผ้าห่มหายเป็นพันๆ
- พี่ตุ่ยทำเรื่องสร้าง สสช.คล้ายๆ รพ.สต.แต่เล็กกว่าตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลมากๆ ไว้ดูแลคนไข้ก่อนส่งมาโรงพยาบาล
ส่ง ตชด.ไปเรียนรู้เกี่ยวกับงานสาธารณสุขเพื่อไปประจำที่นั่น
- พี่ตุ่ยริเริ่มการขึ้นทะเบียนและให้การรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาสถานะทางสิทธิ (stateless) คือคนชาวเขาที่นี่เขาไม่ค่อยมีความรู้เรื่องกฎหมาย อยู่กันมานานโดยไม่มีบัตรประชาชนทำให้เข้าไม่ถึงบริการจากรัฐ เราก็ขึ้นทะเบียนเป็นบัตร ท99 เพื่อให้คนไข้มาใช้บริการได้เหมือนคนไทยทั่วไปและรอพิสูจน์สัญชาติตามลำดับ
- พี่ตุ่ยแกชอบเรื่องวิศวกรรมมาก แกสามารถไปดูแลงานก่อสร้าง เครื่องปั่นไฟ ไปป์ไลน์ ปั๊มน้ำ สร้างตึก ผลิตน้ำมันชีวภาพ ผลิตขาเทียม ทุกโรงพยาบาลในจังหวัดตากอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย แกรู้ทุกเรื่องอย่างเชี่ยวชาญลึกซึ้งจริงๆ
- พี่ตุ่ยพัฒนาโรงพยาบาลชุมชนห่างไกลให้เป็นที่รู้จัก มีโครงการบริจาคยาเหลือใช้ มีเครื่องมือเครื่องใช้ล้ำนำสมัยมากๆ บางอย่าง รพ.แม่สอดยังไม่มีด้วยซ้ำ มีมูลนิธิโรงพยาบาลอุ้มผางเพื่อช่วยเหลือคนไข้ อาทิ การส่งต่อผู้ป่วยไปรักษาที่อื่น 
ความดีของแกมีอีกเยอะเมาท์เท่าไหร่ก็ไม่หมด

แกเคยบอกว่าชาวบ้านที่นี่อยู่มาก่อนที่โรงพยาบาลจะมาตั้งด้วยซ้ำ วิถีชีวิตของเขาไม่ได้ด้อยโอกาส การที่มีเราคือมาช่วยให้เขาเข้าถึงบริการเร็วขึ้น มีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้น ชาวบ้านเรียกแกว่า ตะล่าผ่าโด้ แปลว่าหมอใหญ่ แกก็คงอยู่ที่อุ้มผางจนเกษียณ ถือว่าเป็นตำนานของอุ้มผาง และเป็นหมอดีเด่นตลอดกาลในใจของทุกคน"




กำลังโหลดความคิดเห็น