คนจีนที่เข้ามาเป็นต้นตระกูลดังของเมืองไทยรายนี้ เป็นชาวฮกเกี้ยน มีชื่อว่า ซู้เจียง แซ่คอ เรียกกันว่า คอซู้เจียง อพยพเข้ามาเมืองไทยในสมัยรัชกาลที่ ๑ ขณะที่มีอายุ ๒๕ ปี และเข้ามาแบบหอบเสื่อผืนหมอนใบ เริ่มอาชีพด้วยการเป็นกรรมกรที่เกาะหมาก หรือเกาะปีนัง พอสะสมทุนได้บ้างก็มาค้าขายที่เมืองตะกั่วป่า เมืองสำคัญทางฝั่งทะเลอันดามัน
ปัจจุบันคืออำเภอตะกั่วป่าในจังหวัดพังงา ได้รับการอุปการะจากท้าวเทพสุนทร สตรีผู้ทำการค้าขายอยู่ในเมืองนั้น จนมีทุนมากขึ้นก็เห็นว่าตัวเมืองพังงามีทำเลค้าขายดีกว่าา จึงย้ายมาสร้างบ้านเป็นหลักแหล่งขึ้นที่ตลาดพังงา และได้แต่งงานกับสาวพังงา ร่ำรวยขึ้นจนต่อเรือกำปั่นออกตระเวนซื้อขายสินค้าในหัวเมืองย่านนั้นไปขายเกาะหมาก ครั้นเห็นสินค้าเหล่านั้นส่วนใหญ่เป็นดีบุก แต่ที่เมืองระนองยังมีการขุด การค้าดีบุกน้อย จึงคิดจะมาทำธุรกิจดีบุกที่เมืองระนอง เพราะคู่แข่งยังมีน้อย ต่อมาในรัชกาลที่ ๓ ได้ขึ้นมากรุงเทพฯ ยื่นขอเป็นเจ้าภาษีผูกอากรดีบุก และได้ย้ายครอบครัวมาอยู่เมืองระนอง ได้รับโปรดเกล้าฯให้มีบรรดาศักดิ์เป็น หลวงรัตนเศรษฐี ตำแหน่งนายอากรดีบุก และตั้งโรงถลุงแร่ดีบุกขึ้นที่เมืองตระ หรือกระบุรีในปัจจุบัน เมืองระนอง และเมืองตะโก หรือตะกั่วป่า
ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ตำแหน่งเจ้าเมืองระนองว่างลงและยังหาคนไว้วางใจไม่ได้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่า เมืองระนองอยู่ฝ่ายทะเลตะวันตก ล่อแหลมเขตแดนของอังกฤษ จะปล่อยให้ว่างเจ้าเมืองอยู่นานไม่ได้ หลวงรัตนเศรษฐีทำอากรดีบุกมาหลายปี ส่งเงินเข้าหลวงมิได้ขาดค้าง และเป็นผู้ใหญ่ที่อารีอารอบ กรมการเมืองระนองก็รักใคร่นับถือ พอจะเป็นเจ้าเมืองระงับทุกข์บำรุงสุขให้พลเมืองได้ จึงโปรดเกล้าฯเลื่อนบรรดาศักดิ์หลวงรัตนเศรษฐีเป็น พระรัตนเศรษฐี ผู้สำเร็จราชการเมืองระนอง
ตอนนั้นระนองยังขึ้นกับเมืองชุมพร อังกฤษที่ยึดครองพม่าได้กวดขันการปกครองพม่ามากขึ้นมาถึงเขตแดนที่ติดต่อกับไทย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงพระราชดำริว่า จะรักษาราชการชายแดนไม่สะดวกถ้าเมืองระนองขึ้นกับเมืองชุมพร จึงโปรดฯให้ยกฐานะเมืองระนองขึ้นเป็นเมืองจัตวา ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯเลื่อนพระรัตนเศรษฐีเป็น พระยารัตนเศรษฐี ตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองระนอง
ครั้นถึงรัชกาลที่ ๕ พระยารัตนเศรษฐีชราภาพแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯเลื่อนขึ้นเป็น พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี วางวางเมืองระนอง แล้วโปรดเกล้าฯตั้ง พระศรีโลหภูมิ บุตรชายคนที่ ๒ เป็นพระยารัตนเศรษฐี ผู้ว่าราชการเมืองระนองแทนบิดา
พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซู้เจียง) อยู่ในตำแหน่งจางวางเมืองระนองได้ ๕ ปี ๙ เดือนเศษก็ถึงอสัญกรรม ขณะอายุได้ ๘๖ ปี มีบุตรธิดา ๑๑ คน เป็นชาย ๖ หญิง ๕
บุตรชายทั้ง ๖ เข้ารับราชการมีตำแหน่งสูงทุกคน คือ
๑.คอซิมเจ่ง เป็น หลวงศรีโลหภูมิพิทักษ์ ผู้ช่วยราชการเมืองระนอง ในรัชกาลที่ ๔ แล้วถึงแก่กรรมในตำแหน่ง
๒.คอซิมก๊อง เป็นที่หลวงศรีโลหภูมิพิทักษ์ ตำแหน่งผู้ช่วยราชการเมืองระนองในรัชกาลที่ ๔ ถึงรัชชกาลที่ ๕ ได้เลื่อนขึ้นเป็นพระศรีโลหภูมิพิทักษ์ และเป็นพระยารัตนเศรษฐี ผู้ว่าราชการเมืองระนองแทนบิดา ต่อมาได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี สมุหเทศาภิบาลมณฑลชุมพร
๓.คอซิมจั๋ว เป็นหลวงศรีสมบัติ ผู้ช่วยราชการเมืองระนองในรัชชกาลที่ ๕ แล้วถึงแก่กรรม
๔.คอซิมขิม เป็นพระศรีโลหภูมิพิทักษ์ ผู้ช่วยราชการเมืองระนองในรัชชกาลที่ ๕ แล้วเป็นพระยาอัษฎงคตทิศรักษา ผู้ว่าราชการเมืองตระบุรี
๕.คอซิมเต็ก เป็นพระยาจรูญราชโภคากร ผู้ว่าราชการเมืองหลังสวนในรัชชกาลที่ ๕
๖.คอซิมบี๊ บุตรชายคนที่ ๖ เกิดจากภรรยาอีกคนเมื่อพระยารัตนเศรษฐี (คอซู้เจียง) ไปอยู่ที่เมืองระนอง พี่ชายคนที่ ๔ ได้นำถวายตัวเป็นมหาดเล็กในรัชชกาลที่ ๕ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นที่หลวงบริรักษโลหวิสัย ตำแหน่งผู้ช่วยราชการเมืองระนอง แล้วเลื่อนเป็นที่พระอัศดงคตทิศรักษาผู้ว่าราชการเมืองตระบุรี เมื่อยังเป็นหัวเมืองจัตวา ต่อมาได้เลื่อนเป็นพระยารัษฎานุประดิษฐมหิศรภักดี ผู้ว่าราชการเมืองตรัง แล้วเลื่อนขึ้นเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต
พระยารัษฎานุประดิษฐมหิศรภักดี (คอซิมบี๊) ก็คือผู้ที่สั่งพระสถลสถานพิทักษ์ (คอยู่เกียด) ผู้เป็นหลานและไปดูงานประเทศอินโดเนเซีย ให้ขโมยต้นกล้ายางที่อังกฤษขโมยเมล็ดจากบราซิลมาปลูกทดลองที่นั่น จนยางพารากลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย ชาวบ้านยุคนั้นเรียกกันว่า “ยางเทศา” และยกย่องพระยารัษฎาฯผู้นำมาเผยแพร่ว่าเป็น “บิดายางพาราไทย”
แต่ชีวิตของพระยารัษฎานุประดิษฐมหิศรภักดี และพระสถลสถานพิทักษ์ ผู้ที่ทำให้ยางพารากลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย ไม่ได้ยั่งยืนเหมือนยางพารา ต้องจบลงด้วยถูกฆาตกรรมอย่างที่ไม่มีใครคาดคิด
เหตุร้ายเกิดขึ้นราว ๑๑ นาฬิกาของวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๖ ขณะที่พระยารัษฎาฯกลับจากเดินทางไปปีนัง เมื่อเรือมาถึงท่าเรือจังหวัดตรัง มีคณะข้าราชการพร้อมด้วยพระสถลสถานพิทักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัด ไปต้อนรับ พอขึ้นจากท่าเรือมาเพียง ๔-๕ เมตร คนร้ายที่อยู่ในหมู่ผู้มาต้อนรับก็ก้าวออกไปลั่นกระสุนปืนพกเข้าใส่ทันที กระสุนนัดแรกถูกต้นแขนพระยารัษฎาฯทะลุไปถึงสะบัก พระสถลฯซึ่งเดินคู่กันมาก็ถลาเข้ามากันไว้ จึงถูกคนร้ายลั่นกระสุนใส่อีก ๒ นัด นัดหนึ่งถูกที่ขา อีกนัดถูกกลางหลัง พระยารัษฎาฯตะโกนขึ้นว่า
“ไอ้จัน อย่ายิง”
พอได้สติ บรรดาข้าราชการต่างก็กรูกันเข้าไปจับ แต่คนร้ายหนีไปได้ ซึ่งก็ไม่ได้หนีไปไหน ไปนั่งรอตำรวจอยู่ใกล้ๆนั้นเอง
“ไอ้จัน” ที่พระยารัษฎาฯตะโกนห้ามนี้ ชาวบ้านเรียกกันว่า “หมอจันทร์” เป็นหมอทหารเรือ มียศเรือเอก แต่ถูกออกจากราชการ และมีผู้นำมาฝากทำงานกับพระยารัษฎาฯในหน้าที่แพทย์ประจำจังหวัดตรัง พระยารัษฎาฯก็ให้การอุปการะเป็นอย่างดี จึงเป็นที่สงสัยกันว่า “ไอ้จัน” ยิงเพราะอะไร และยิงใครกันแน่
คนร้ายได้สารภาพกับศาลว่า ตนมีความแค้นที่ภรรยาได้อาศัยมากับเรือตรวจราชการของพระสถลฯ แต่ถูกไล่ให้ขึ้นที่เกาะปันหยีพร้อมกับลูก เมื่อตนทราบข่าวก็ขออนุญาตลางานไปรับ แต่พระสถลฯไม่อนุญาต จึงได้โทรเลขไปขออนุญาตพระยารัษฎาฯที่ปีนัง ก็ไม่ได้รับคำตอบอีก จึงแค้นเคืองต้องการยิงสั่งสอนที่แขน ไม่ต้องการชีวิตแต่อย่างใด แต่การกระทำอุกอาจไม่เกรงกลัวกฎหมายบ้านเมืองเช่นนี้ ทั้งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ได้ตัดสินให้ประหารชีวิตหมอจันทร์
พระยารัษฎาฯได้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลได้ ๔๕ วันก็ถึงแก่อนิจกรรม ส่วนพระสถลฯก็ถึงอนิจกรรมเช่นเดียวกันใน ๖๗ วันต่อมา แพทย์วินิจฉัยว่าพระยารัษฎาฯเสียชีวิตเพราะโรคประจำตัว แต่บาดแผลจากกระสุนปืนเพียงทำให้เสียชีวิตเร็วขึ้น ส่วนพระสถลฯนั้นเสียชีวิตเพราะกระสุนปืน
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชโทรเลขไปถึงหลวงบริรักษ์โลหวิสัย บุตรของพระยารัษฎานุประดิษฐ์ มีความว่า
“เรามีความเศร้าสลดอย่างยิ่ง ในอนิจกรรมของบิดาเจ้า ผู้ซึ่งเรายกย่องอย่างสูง ไม่เฉพาะที่เป็นข้าราชการเท่านั้น แต่ยังเป็นเพื่อนผู้หนึ่ง ซึ่งเราย่อมสลดใจที่ต้องสูญเสียไปเช่นนั้น จงรับความเศร้าสลดและเห็นใจอย่างจริงจังจากเราด้วย”
ส่วนสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชนุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้ส่งโทรเลขไปถึงหลวงบริรักษ์โลหวิสัย เช่นเดียวกันว่า
“ฉันได้ทราบข่าวด้วยความเสียใจอย่างยิ่งในอนิจกรรมของบิดาที่รักของเธอ ซึ่งเป็นการสูญเสียข้าราชการของบ้านเมืองอย่างไม่อาจหาตัวแทนได้ ทั้งเป็นการสูญเสียนักบริหารผู้สามารถ และผู้เป็นมิตรมาเป็นเวลาช้านาน ความสนิทสนมในบิดาของเธอ ย่อมทำให้ฉันพลอยเห็นอกเห็นใจครอบครัวของเธอด้วย ซึ่งขอได้รับความเสียใจอย่างแท้จริงจากฉัน”
เมื่อมีการใช้พระราชบัญญัตินามสกุล พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานนามสกุลให้แก่อำมาตย์เอก พระยารัตนเศรษฐี (ยู่หงี) ผู้ว่าราชการเมืองระนอง ซึ่งเป็นหลานของพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซู้เจียง) ว่า ณ ระนอง