xs
xsm
sm
md
lg

ล่าชื่อจี้กระทรวงศึกษาฯ "นักเรียนไม่ใช่คอนเทนต์ติ๊กต็อก" หลังครูแพร่คลิปเรียกไลก์เกลื่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หมอโอ๋ แอดมินเพจ "เลี้ยงลูกนอกบ้าน" ล่ารายชื่อถึงกระทรวงศึกษาธิการ ออกกฎคุ้มครองสิทธิเด็ก ไม่ให้ครูหรือบุคลากรทางการศึกษาใช้เด็กมาผลิตคอนเทนต์ หลังพบคลิปครูพาเด็กไปกล้อนผม คลิปเด็กร้องไห้เมื่อเขียนการ์ดวันแม่ คลิปเด็กกรีดร้องเพราะไม่อยากมาโรงเรียน ชี้ "นักเรียนไม่ใช่คอนเทนต์" ละเมิดสิทธิเด็ก

วันนี้ (22 ส.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร หรือ หมอโอ๋ แพทย์ด้านกุมารเวช แอดมินเพจ "เลี้ยงลูกนอกบ้าน" ได้เปิดแคมเปญรณรงค์ผ่านเว็บไซต์ CHANGE.ORG ในหัวข้อ"กระทรวงศึกษาต้องปกป้อง #นักเรียนไม่ใช่คอนเทนต์ #TikTok" จำนวน 5,000 รายชื่อ เพื่อเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการออกกฎคุ้มครองสิทธิเด็ก ไม่ให้ครูหรือบุคลากรทางการศึกษาใช้เด็กมาผลิตคอนเทนต์ โดยเฉพาะในกรณีที่ทำให้เด็กเกิดความอับอาย หรือในรูปแบบอื่นๆ ที่ละเมิดสิทธิของเด็ก

หลังพบว่ามีครูหรือบุคลากรทางการศึกษาบางคนเผยแพร่คลิปเกี่ยวกับเด็กลงในติ๊กต็อก เช่น คลิปครูพาเด็กไปกล้อนผม คลิปเด็กร้องไห้เมื่อเขียนการ์ดวันแม่ คลิปเด็กกรีดร้องเพราะไม่อยากมาโรงเรียน ฯลฯ เพื่อเรียกยอดไลก์ โดยที่เด็กนักเรียนไม่ได้ยินยอม และเป็นการกลั่นแกล้งกันบนโซเชียลฯ ส่งผลเสียมากมายเกี่้ยวกับตัวเด็ก เป็นการละเมิดสิทธิเด็ก ซึ่งขัดกับหลักข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ล่าสุดมีผู้ลงชื่อแล้วประมาณ 2,700 ราย สำหรับเนื้อหารณรงค์มีดังนี้

"คลิปครูพาเด็กไปกล้อนผม คลิปเด็กร้องไห้เมื่อเขียนการ์ดวันแม่ คลิปเด็กกรีดร้องเพราะไม่อยากมาโรงเรียน…

หลายครั้งแล้วที่โลกออนไลน์และสื่อแชร์คอนเทนต์เกี่ยวกับเด็กๆ ซึ่งแม้หลายคนจะมองว่าตลก น่าสงสาร หรือน่าเอ็นดู แต่เรากลับลืมคำถามสำคัญ ว่า เด็กๆ… ได้อะไรจากสิ่งเหล่านี้?

หลายคอนเทนต์ที่ถูกโพสต์เพื่อเรียกยอดไลก์เกิดขึ้นโดยที่เด็กๆ ไม่ได้ยินยอม ไม่รู้ตัว ไม่เข้าใจ ไม่ได้สนุกด้วย หรือปฏิเสธไม่ได้ เพราะกระทำโดยผู้มีอำนาจในโรงเรียน บางเรื่องเป็นการ Social bullying ทำให้เด็กอับอาย make fun หรือแกล้งเด็กจนเด็กหวาดกลัว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลเสียมากมายต่อตัวเด็ก และเป็นการละเมิดสิทธิเด็ก ซึ่งขัดกับหลักข้อมูลส่วนบุคคล PDPA

ประเด็นหนึ่งที่น่ากังวลในตอนนี้ คือคลิปไวรัลเหล่านี้มาจาก “ครู” ผู้ซึ่งมีหน้าที่พิทักษ์สิทธิของเด็กเสียเอง ทั้งๆ ที่โรงเรียนควรเป็นพื้นที่ปลอดภัย เป็นที่ที่ทำให้เด็กเข้าใจเรื่องการเคารพสิทธิผู้อื่น แต่กลับกลายเป็นว่าเด็กๆ ถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างคอนเทนต์ให้ครู ซึ่งกรณีแบบนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้นไม่ว่าจะเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ความไม่ระวังของครู หรือเพราะกระทรวงไม่มีกฎที่ห้ามครูทำอย่างนี้กับเด็กโดยชัดเจน

ผู้ตั้งแคมเปญเชื่อว่าเด็กๆ หลายคนคงรู้สึกไม่ดี เพราะอะไรที่ลงไปในโลกออนไลน์ “มันจะอยู่ที่นั่นตลอดไป” ส่วนผู้ปกครองหลายคนก็คงไม่อยากให้ใครมาถ่ายรูป อัดคลิปลูก ไปใช้ล้อเลียนเพื่อความสนุกสนาน หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว แต่เพราะความรู้สึกที่ว่า ครูมีอำนาจเหนือกว่า อาจทำให้เด็กหรือผู้ปกครองบางท่านไม่กล้าปฏิเสธ รวมถึงไม่กล้าว่ากล่าวอะไร

#หมอโอ๋เพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน จึงอยากชวนทุกคนร่วมกันเรียกร้องไปที่กระทรวงศึกษาธิการ ให้ออกกฎคุ้มครองสิทธิเด็ก ไม่ให้ครูหรือบุคลากรทางการศึกษาใช้เด็กมาผลิตคอนเทนต์ โดยเฉพาะในกรณีที่ทำให้เด็กเกิดความอับอาย หรือในรูปแบบอื่นๆ ที่ละเมิดสิทธิของเด็กเอง โดยทางกระทรวงฯ ควรมีหน้าที่สร้างความเข้าใจ และออกกฎ กติกา เพื่อทำให้ไม่เกิดการเลียนแบบกันอยู่ซ้ำๆ

ขอสังคมช่วยกันส่งเสียงและร่วมประกาศจุดยืนว่า Social bullying และการละเมิดสิทธิเด็กในโรงเรียนที่เกิดขึ้นโดยคุณครู เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ เรื่องนี้จะได้เป็นแนวทางที่สังคมจะได้เรียนรู้กันต่อไป รวมถึงเด็กและผู้ปกครองจะได้มีแนวทางในการดูแลสิทธิของตัวเองได้อย่างไร"

ด้านผู้ที่มาลงชื่อต่างแสดงความคิดเห็นในเชิงเห็นด้วย ความเห็นที่น่าสนใจ เช่น

"อดีตเคยเจอครูทำแบบนี้กับนักเรียนหลายๆ คน รู้สึกฝังใจและเกลียดครูที่ใช้อำนาจกดขี่โดยที่เด็กไม่มีสิทธิ์มีเสียง ถามจริงว่ามันจะทำให้เราเรียนเก่งขึ้นไหม มีแต่บาดแผลในใจที่ติดมาตลอดชีวิต"

"ครูควรเป็นคนที่คำนึงถึงสิทธิเด็กมากที่สุด ครูควรเป็นคนที่เข้าใจที่สุดว่า เด็กให้ consent (ให้ความยินยอม) ไม่ได้ ครูควรเป็นคนที่ตระหนักที่สุดว่า ยอด like อันตรายต่อวัยของเขา"

"ครูควรตระหนักว่าเด็กควรได้รับการปกป้องจากการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลให้เป็นเรื่องปกติ"

"ไม่ควรมีคอนเทนต์ที่ทำให้เด็กอับอาย ล้อเลียน คนเป็นพ่อแม่บางทีก็รับไม่ได้"

"นักเรียนอยากมีอิสรเสรีได้ทำในสิ่งที่ชอบ และได้มีความมั่นใจ คนเราก็อยากมั่นใจในตัวเองก่อนออกจากบ้านทั้งนั้น และการเอานักเรียนมาลงโซเชียลต่างๆ นานา มันไม่ได้เป็นผลดีเสมอไป คนที่ลงอาจจะไม่ได้คิดอะไร แต่ได้ถามเด็กก่อนหรือเปล่าว่าเด็กอยากไหม ถ้าเด็กเห็นแล้วมีข้อความแย่ๆ มันก็จะกระทบกระเทือนจิตใจ เพราะฉะนั้นถึงจะเป็นเด็กก็ต้องให้เกียรติ"

"ครูไม่มีสิทธิ์ถ่ายรูปเด็กนักเรียน ทำคอนเทนต์ขายยอดไลก์"

"มีกฎหมาย PDPA แต่ครูทั่วประเทศถ่ายคลิปนักเรียนมาสร้างคอนเทนต์"

"เด็กไม่ใช่คอนเทนต์เรียกไลก์ของครูหรือของใคร เลิกเอาเด็กมาหากินซะที"

"ไม่เคารพสิทธิส่วนบุคคลของเด็ก เห็นแล้วเดือดร้อนแทนผู้ปกครอง ครูควรทำหน้าที่ของครู ไม่ใช่นำเด็กมาเป็นคอนเทนต์ส่วนบุคคล"

"การถ่ายคลิปหรือรูปนักเรียนแล้วเผยแพร่ลงโซเชียลโดยที่เจ้าตัวไม่ยินยอมเป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง"

"ไม่เห็นประโยชน์ใดๆ จากการกระทำดังกล่าว และเมื่อเจ้าของคอนเทนต์เป็นที่ติดตามก็เท่ากับครูหรือเจ้าหน้าที่นั้นๆ หากินบนความทุกข์ของนักเรียน นักเรียนไม่ใช่นักแสดงดรามาและไม่ใช่ตัวตลก"

"สิทธิความเป็นส่วนตัว​ของเด็กควรได้รับการปกป้องจากผู้ใหญ่ ไม่ควรนำเด็กมาใช้เป็นกระแสเพื่อสร้างตัวตนของผู้ใหญ่เองโดยไม่ไตร่ตรอง​ถึงความเหมาะสม และความปลอดภัย​ของตัวเด็ก"

"ไม่มีใครควรถูกละเมิดสิทธิ โดยเฉพาะเด็กซึ่งเขาไม่สามารถปกป้องสิทธิของตนเองได้"




กำลังโหลดความคิดเห็น