ความคืบหน้าการดูแลเสือโคร่งชราที่ชื่อว่า "ลายแทง" ที่ศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก จังหวัดสุพรรณบุรี พบว่าอาการยังทรงตัวและทรุดตัวสลับกัน ด้านสัตวแพทย์ทำการรักษาตามอาการร่วมกับการทำกายภาพบำบัดมาตลอดระยะเวลา 5 เดือน
วันนี้ (20 ส.ค.) นายอนันต์ ศรีผุดผ่อง หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวากและศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยเกี่ยวกับอาการของเสือโคร่งเพศผู้ที่ชื่อว่า "ลายแทง" อายุ 19 ปี 5 เดือน ว่า จากการประเมินอาการของสัตวแพทย์เสือโคร่ง มีอาการทรงตัวและทรุดตัวสลับกันเป็นระยะๆ ตลอดระยะเวลาการรักษา 5 เดือนที่ผ่านมา สัตวแพทย์ทำการรักษาแบบพยุงอาการและรักษาตามอาการ ร่วมกับการทำกายภาพบำบัดเพื่อคุณภาพชีวิตสัตว์ในการดูแล
จากการดูแลรักษา เสือโคร่งกินอาหารได้วันละ 2-3 กิโลกรัม กินอาหารกระป๋องสำหรับโรคไต เริ่มลดน้อยลงจากเดิม กินน้ำวันละ 3 ลิตร และให้สารน้ำเข้าใต้ผิวหนัง และเข้าหลอดเลือดดำ ขาหลังทั้ง 2 ข้างขยับได้ ขาหน้าขยับได้เล็กน้อย มีอาการเกร็งตัวในบางช่วงเมื่อเข้าทำการรักษา แต่ยังไม่สามารถลุกนั่งหรือยืนได้ เจ้าหน้าที่ทำการพลิกตัวทุก 3 ชั่วโมง มีการตรวจเลือดทุก 7-14 วัน เพื่อตรวจเช็คค่าเม็ดเลือดและค่าเคมีในเลือด ให้กินยารักษาโรคไต ยาบำรุงตับ วิตามินรวมบำรุง ทุกวัน และให้กรดอะมิโนที่จำเป็นสำหรับร่างกาย สำหรับสภาวะโรคไต เข้าทางหลอดเลือดดำ
สำหรับสัตวแพทย์ที่ดูแลรักษา ประกอบด้วย สพ.ญ.กนกวรรณ ตรุยานนท์ นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) สพ.ญ.ณฐนน ปานเพ็ชร นายสัตวแพทย์ประจำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวากและศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวากทสพ.ญ.ธชพรรณ ลีลาพตะ และ สพ.ญ.กัญญ์ศิริ ฟักทอง นายสัตวแพทย์ประจำกลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า เป็นต้น
ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ เสือโคร่งลายแทง เป็นเสือชรา มีอาการป่วยกระทันหันตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ. ที่ผ่านมา แม้จะทำการรักษาเบื้องต้นแต่ก็ไม่สามารถลุกขึ้นเองได้ อีกทั้งพบว่า ค่าไตและค่าตับสูงผิดปกติ เม็ดเลือดขาวสูง เม็ดเลือดแดงต่ำ ทีมสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ได้ทำการรักษาตามอาการ พบว่าอาการคงที่ ไม่ทรุดหนักไปกว่าเดิม แต่ก็ยังไม่สามารถลุกนั่งหรือยืนได้ด้วยตัวเอง
สัตวแพทย์จึงตัดสินใจทำการรักษาด้วยศาสตร์การแพทย์ทางเลือก คือการฝังเข็ม ร่วมกับการกายภาพบำบัด โดยได้ทำการฝังเข็มรักษาพร้อมทั้งกระตุ้นไฟฟ้าผ่านเข็มที่ทำการฝังตามจุดต่างๆที่สำคัญของร่างกายสัตว์ป่วย และทำการใช้คลื่นอัลตร้าซาวน์ ในการลดปวด ลดอักเสบ ของกล้ามเนื้อและทำการกระตุ้นไฟฟ้าตามมัดกล้ามเนื้อโดยหวังผลเรื่องชะลอกล้ามเนื้อลีบ ซึ่งกล้ามเนื้อมีผลต่อการเคลื่อนไหวของตัวสัตว์
การรักษาดังกล่าวถือเป็นครั้งแรกของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ได้นำเอาศาสตร์การแพทย์ทางเลือกด้วยการฝังเข็มกระตุ้นไฟฟ้ามารักษาเสือโคร่งชราดังกล่าว โดยพบว่าสามารถขยับขาได้มากขึ้น อาการเกร็งกล้ามเนื้อขาหน้าและขาหลังลดลง ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถลุกนั่งได้เอง แต่บางช่วงสามารถลุกนั่งได้ ยังไม่สามารถยืนและเดินได้