xs
xsm
sm
md
lg

“กรุงชิง” วันนี้ไม่เหมือนวันนั้น เป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม! มีน้ำตกพิมพ์ลงในธนบัตรใบละ ๑,๐๐๐!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



เมื่อ “กรุงชิง” กลับคืนสู่ความสงบสุข ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์หมดไป ผู้บุกรุกรายใหม่ก็เข้ามา ป่าที่อุดมสมบูรณ์จนแดดส่องไม่ถึงพื้น อุดมสมบูรณ์จนผักกูด ผักชะเอม เพียงยอดเดียวก็อวบใหญ่จนกินอิ่ม บรรดาสหายมีรายได้จากการขายน้ำผึ้ง ก็กลับเตียนเป็นทุ่งโล่ง เช่นเดียวกับสองข้างทางถนนพิษณุโลก-หล่มสัก ที่รถถังยังเคยถูกยิงหมอบอยู่กลางถนน แต่เมื่อคอมมิวนิสต์หมดไปผู้ตัดไม้ทำลายป่าก็เข้ามา บริเวณอ่าวกรุงชิงวันนี้จึงไม่เหมือนวันนั้น กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม มีรีสอร์ทและโฮมสเตย์เกิดขึ้นโดยรอบ พร้อมกับมีบริการนำเที่ยวขึ้นชมกรุงชิงแดนสวรรค์

ความบริสุทธิ์ของธรรมชาติที่ยังคงเหลืออยู่ ไม่ว่าจะเป็น น้ำตก ถ้ำ เกาะแก่งในลำน้ำ ทะเลหมอก น้ำพุร้อน เส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติ ล้วนเป็นเสน่ห์ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ขึ้นไปชม และยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์สมัยพรรคคอมมิวนิสต์ยึดครอง
ไฮไลต์ของการท่องเที่ยวกรุงชิงก็คือ “น้ำตกกรุงชิง” น้ำตกที่สวยงามแห่งหนึ่งของประเทศไทย เป็นน้ำตกขนาดใหญ่เกิดจากคลองกรุงชิงที่ไหลผ่านโขดเขาลงมา มีถึง ๗ ชั้น เส้นทางเข้าชมเริ่มต้นจากประตูสู่เส้นทางธรรมชาติ ผ่านป่าดิบชื้นที่ร่มครึ้มไปด้วยพืชพรรณนานาชนิดที่แปลกตา รวมทั้งร่องรอยประวัติศาสตร์เกี่ยวกับพรรคคอมมิวนิสต์สมัยที่ยึดครองเป็นกองบัญชาการของภาคใต้ มีป้ายบอกตลอดทาง เช่น มหาสดำ ดงชก หลุมขวาก บันไดสามชั้น ศาลาประตูชัย หลุมพอยักษ์ ถ้ำประตูชัย สนามบาสเกตบอล ป่าชิง ฯลฯ ระหว่างทางจะได้พบนกที่หาดูยากหลายชนิด เช่น นกคอสามสี นกเงือกหัวหงอก นกเขียวปากงุ้ม นกกางเขนน้ำหลังแดง เป็นต้น

น้ำตกกรุงชิงมีทั้งหมด ๗ ชั้นคือ หนานมัดแพ หนานฝนแสนห่า หนานปลิว หนานจน หนานโจน หนานต้นตอ และหนานวังเรือบิน ชั้นที่สวยที่สุดก็คือชั้นที่ ๒ หนานฝนแสนห่า สายน้ำแยกออกเป็น ๒ สายไหลลงมากระทบกับโขดหินเกิดเป็นละอองคล้ายห่าฝน แตกต่างจากน้ำตกทั่วไป เคยถูกนำภาพไปพิมพ์ลงในธนบัติใบละ ๑,๐๐๐ บาทเมื่อปี ๒๕๓๕
ส่วนถ้ำเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวก็คือ “ถ้ำหงส์” อยู่ที่บ้านพิตำ หมู่ ๓ อำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นถ้ำที่มีหินงอกหินย้อยลักษณะแปลกตา และมีค้างคาวเป็นจำนวนมาก มีน้ำตกอยู่ในถ้ำถึง ๕ ชั้นก่อนจะไหลลงใต้ดินไปสู่ลำธารภายนอก การชมถ้ำต้องเดินลุยน้ำไปมีระยะทางประมาณ ๓๐๐ เมตร ถึงสวยยังไงก็ไม่เหมาะเข้าไปในฤดูฝน เพราะอาจจะเป็นเหมือนหมูป่าที่ถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอนได้

เหตุที่ถ้ำนี้มีชื่อว่าถ้ำหงส์ เล่ากันว่ามีพรานป่าเข้าไปพบหงส์อยู่ในถ้ำ ในถ้ำนี้มีห้องอยู่หลายห้อง ห้องหนึ่งเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวเพราะมีชื่อแปลกว่า “เป็ดย่าง” เนื่องจากมีหินรูปร่างเหมือนเป็ด เมื่อกระทบกับสายน้ำจึงเป็นมันวาว เหมือนหนังเป็ดย่าง จินตนาบรรเจิดจริงๆ คงจะหิวตอนเข้าถ้ำ

สำหรับการล่องแก่งนั้น ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อบต.กรุงชิง ได้จัดขึ้นในลำน้ำคลองกลาย ซึ่งเกิดจากผืนป่าต้นน้ำบนเขตป่ากรุงชิง ในอุทยานแห่งชาติเขาหลวงและอุทยานแห่งชาติเขานัน โดยใช้เรือยางและเรือคายัค ผ่านเส้นทางธรรมชาติ ๒ ระยะ คือ จากปากคลองพิตำถึงลานหินดาน เป็นระยะทาง ๒.๕ กม. ใช้เวลา ๑.๓๐ ชม. และจากปากคลองพิตำถึงบ้านทุ่งใน ระยะทาง ๖ กม. ใช้เวลา ๓ ชั่วโมง เส้นทางไม่โลดโผนนัก ผ่านป่าดงดิบ ๒ ข้างทาง และสามารถล่องแก่งได้ตลอดปี แต่ช่วงพฤศจิกายน-ธันวาคมน้ำจะใสและอากาศเย็นสบาย

หลังจากล่องแก่งหรือเดินป่ามาเมื่อยล้าแล้ว กรุงชิงก็ยังมีบ่อน้ำพุร้อนให้นอนแช่ผ่อนคลายความเมื่อย บ่อน้ำร้อนกรุงชิงอยู่ในสำนักสงฆ์บ่อน้ำร้อนวนาราม ตำบลกรุงชิง มีอุณภูมิของน้ำประมาณ ๕๕ องศาเซลเซียส และมีกลิ่นกำมะถัน มีชุมชนกลุ่มบ่อน้ำร้อนกรุงชิงเพื่อการท่องเที่ยวเป็นผู้ดูแล เพื่อพัฒนาและแปลงมูลค่าให้เกิดแก่ชุมชน มีบริการแช่ตัวแช่เท้าโดยทางกลุ่มจะผสมน้ำธรรมดากับน้ำจากบ่อน้ำร้อนเพื่อให้อุณภูมิพอเหมาะ พร้อมทั้งบริการเครื่องดื่มสมุนไพร

รายการสำคัญของการท่องเที่ยวกรุงชิงอีกอย่างที่ไม่น่าพลาด และมีนักท่องเที่ยวสนใจมากที่สุด ก็คือ ทะเลหมอกกรุงชิง หรือจุดชมวิวเขาเหล็ก ที่แตกต่างจากทะเลหมอกของภาคอื่นๆ เพราะสามารถจะชมได้ตลอดปี ทั้งนี้เพราะหมอกเกิดจากความอุดมสมบูรณ์ของป่าอุทยานแห่งชาติเขาหลวง และอุทยานแห่งชาติเขานัน การเดินทางขึ้นชมค่อนข้างจะลำบากหน่อย ทางชุมชนจึงได้จัดกลุ่มทะเลหมอกกรุงชิงขึ้น เพื่อบริการนักท่องเที่ยวขึ้นไปจิบกาแฟชมทะเลหมอกยามเช้า พร้อมเล่าเรื่องเกี่ยวกับประวัติของเขาเหล็กและกรุงชิงประดับความรู้แก่นักท่องเที่ยวที่สนใจ

กรุงชิง ในวันนี้จึงเป็นเหมือนแดนสวรรค์ของนักท่องเที่ยวและชาวบ้านที่อยู่โดยรอบ ไม่ใช่นรกที่ปราศจากความสุข อยู่กันด้วยความหวาดระแวงและเข่นฆ่ากันระหว่างคนไทยด้วยกันเอง อย่างในอดีตที่เป็นประวัติอันขมขื่นของประเทศไทย ซึ่งหวังว่าเป็นบทเรียนที่จะไม่เกิดขึ้นอีก






กำลังโหลดความคิดเห็น