เด็กเล็กนั้นเหมือนกันหมดทุกชาติทุกภาษาคือชอบสำรวจ ชอบเล่นน้ำ แต่ด้วยประสบการณ์ชีวิตยังน้อย ขาดความระมัดระวังเรื่องภัยอันตราย ความสามารถในการทรงตัวยังไม่ดี จึงมักปรากฏข่าวเศร้าเมื่อ เด็กวัยเพียงไม่กี่ขวบเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางน้ำ
จากสถิติส่วนใหญ่อุบัติเหตุ 30% เกิดตามแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่นห้วย หนอง คลอง บึง ที่เด็กๆชอบชวนกันไปเล่นในพื้นที่ใกล้ที่อยู่อาศัย ในช่วงปิดเทอม หรือวันหยุด
การเสียชีวิตทางน้ำเป็นสาเหตุอันดับ 1 ของเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี มากกว่าการป่วยไข้ และอุบัติเหตุจากการจราจร เดิมมีเด็กจมน้ำเสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 1,500 คน แต่ค่อยๆลดลงในปี 2564 เหลือ 658 คน หรือวันละ 2 คน
ในปี 2565 นี้รัฐบาลประกาศเป้าหมายว่าเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ต้องลดเหตุจมน้ำเสียชีวิตลงเหลือ 200-250 คน
การจัดกิจกรรมสอนเด็กและเยาวชนให้ “ว่ายน้ำเพื่อชีวิต” โดยภาคเอกชนและหน่วยงานต่างๆมีความตื่นตัวมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ถือว่ามีส่วนช่วยลดจำนวนอุบัติเหตุและการเสียชีวิตของเด็กเล็กจากการจมน้ำได้ แต่ด้วยจำนวนสระว่ายน้ำที่ยังน้อย ยังกระจุกตัวอยู่ในเขตเมืองใหญ่ จึงมีความต้องการสระว่ายน้ำที่สามารถตอบสนองความต้องการของชุมชนที่แตกต่างกัน
ช่วง 2-3 ปีหลังจะพบว่าบางเทศบาลยอมลงทุนก่อสร้างสระขนาดใหญ่เพื่อลดปัญหาเด็กเสียชีวิตทางน้ำพร้อมๆกับการสร้างนักกีฬาว่ายน้ำ บางแห่งสร้างสระเพื่อกลุ่มผู้สูงอายุ ให้ได้ออกกำลังกายทางน้ำเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น เพื่อการสันทนาการรวมกลุ่มผู้สูงวัยตามแนวโน้มของสังคมไทยที่ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว
แต่สำหรับสระว่ายน้ำขนาดเล็กที่เพิ่งเปิดใช้เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 ที่โรงเรียนเทศบาลเทพกระษัตรีนั้น นางสาวสิริชรัสมิ์ ไตรรัตน์ นายกเทศมนตรีตำบลเทพกระษัตรี อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต หรือที่ชาวบ้านเรียก “นายกอิ๋ว” กล่าวถึงโรงเรียนเทศบาลเทพกระษัตรีที่มีเด็กอยู่ประมาณ 200 คนเศษว่า ถือเป็นโรงเรียนที่มีความทันสมัยพอสมควร มีห้องดนตรี ห้องคอมพิวเตอร์ มีครูสอนภาษาอังกฤษ สอนภาษาจีน จัดงบประมาณให้เต็มที่สำหรับการศึกษาของเด็กเพราะเด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า
นอกจากการให้การศึกษา เสริมสร้างความรู้ ได้ใช้สมองแล้ว การให้เด็กได้เล่นกีฬา มีกิจกรรมรวมหมู่ ออกกำลังกาย สร้างความแข็งแกร่งทางร่างกาย มีน้ำใจนักกีฬา รู้แพ้รู้ชนะรู้อภัย ห่างไกลและต่อต้านยาเสพติดก็เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่ทางเทศบาลต้องการดำเนินการเพื่อเด็กและเยาวชนในพื้นที่
สระว่ายน้ำของโรงเรียนที่เทศบาลลงทุนให้นั้นนายกอิ๋วบอกว่า เพื่อให้เด็กเทศบาลที่อยู่นอกเมือง ได้มีโอกาสทัดเทียมกับเด็กในเมือง มีประสบการณ์ใหม่ๆในชีวิต โดยเฉพาะเด็กในชั้นเตรียมอนุบาล และอนุบาล1-3 ควรได้เรียนว่ายน้ำโดยครูสอนว่ายน้ำที่จัดจ้างพิเศษ ฝึกสอนทักษะการว่ายน้ำที่ถูกต้องและรู้จักการเอาชีวิตรอดจากการจมน้ำให้สมกับการเป็น “เด็กเกาะภูเก็ต”
สิ่งที่ทางเทศบาลคำนึงถึงคือ “ความปลอดภัย” เช่น การลงสระว่ายน้ำของเด็กจะต้องมีครูสอนว่ายน้ำ ครูพี่เลี่ยง และครูประจำชั้นที่ต้องคอยดูแลอย่างไม่คลาดสายตา หรือเมื่อไม่ใช้จะต้องมีการปิดล็อกประตู มีระบบความปลอดภัยสำหรับโรงเรียน เป็นผ้าใบคลุมสระเมื่อไม่ใช้งานเพื่อป้องกันเด็กตกสระ หรือเด็กแอบลงเล่นเองโดยพลการ
ช่วงเริ่มแรกให้เด็กในโรงเรียนได้ใช้ก่อน ส่วนช่วงปิดเทอมจะเปิดโอกาสให้เด็กในชุมชนซึ่งมีอยู่ 9 ชุมชนในตำบล ประชากรประมาณ 9,000 คน ได้มีโอกาสเรียนว่ายน้ำและเล่นน้ำด้วย มีสถานที่ออกกำลังกายเพิ่มตามความต้องการของชุมชน
สระว่ายน้ำของโรงเรียนเทศบาลเทพกระษัตรีมีขนาดยาว 15 เมตร กว้าง 4 เมตร ลึก 1 เมตร โครงสร้างคอนกรีตผนังอัจฉริยะของ “เจ.ดี.พูลส์”ที่มีความแข็งแรง พื้นผิวสระไลเนอร์ที่ออกแบบและผลิตโดยทีมวิศวกรออสเตรเลียและเจ.ดี.พูลส์ สามารถตัดปัญหาการรั่วซึม ปลอดภัยจากปัญหากระเบื้องแตกร้าว หลุดร่อน มีสัมผัสที่อ่อนนุ่มไม่ลื่น เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับเด็กเล็ก ดูแลทำความสะอาดง่าย พื้นผิวป้องกันแบคทีเรีย ใช้งบก่อสร้างประมาณ 2 ล้านบาทเศษ
นายกอิ๋วกล่าวด้วยว่าปกติทางเทศบาลให้การส่งเสริมด้านกีฬาอยู่แล้ว เช่นกีฬาฟุตบอล ภายในพื้นที่มีชมรมสานฝันที่สร้างนักฟุตบอลของพื้นที่ เทศบาลให้งบสนับสนุนเดินทางไปแข่งขันในสถานที่ต่างๆในนามเทศบาลเทพกระษัตรี นอกจากนี้ยังมี “สภาเด็ก”เพื่อปลูกฝังการมีส่วนร่วมในสังคม มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เรียนรู้เรื่องประชาธิปไตย เรียนรู้เรื่องการปลูกป่า เก็บขยะ อนุรักษ์ธรรมชาติโดยเฉพาะท้องทะเลที่อยู่ใกล้ตัว ฯลฯ