xs
xsm
sm
md
lg

เปิดตำนาน “กรุงชิง” ค่ายใหญ่คอมมิวนิสต์ไทย! นาวิกโยธินยกพลขึ้นยึดพบข้อกังขา ใครส่งอาวุธให้!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



“กรุงชิง” ศูนย์บัญชาการใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์ไทย มีกำลังทหารหลักและอาวุธยุทโธปกรณ์พรั่งพร้อม ยืนหยัดท้าทายอำนาจรัฐได้หลายปี ถึงกับประกาศว่าจะยึดเมืองเสียเมื่อไหร่ก็ย่อมได้ ฝ่ายรัฐจะเข้าปราบปรามก็ลำบาก เพราะตั้งอยู่บนภูเขาสูงเหมาะแก่การตั้งรับ จึงได้แต่เฝ้าสังเกตการณ์ทุกด้าน จนเกิดความสงสัยว่าคนเหล่านี้เอาอาวุธมาจากไหน จึงมีกระสุนปืน ระเบิด และปืนทันสมัยใช้ไม่ขาดมือมาเป็นปีๆ จะว่าส่งมาโดยพรรคคอมิวนิสต์จีนผ่านทางเขมรหรือลาว ก็ไม่น่าจะผ่านเข้ามาได้ แม้จะขนมาทางอากาศทิ้งร่มลงมาก็ไม่อาจฝ่าแนวป้องกันของกองทัพอากาศ จนเมื่อกองพันนาวิกโยธินยกพลขึ้นเขาเข้ายึด ก็พบว่าลังกระสุนเหล่านั้นล้วนแต่มีเครื่องหมายของหน่วยงานรัฐทั้งนั้น แม้เจ้าหน้าที่ของรัฐจะชี้แจงว่าเป็นของที่ผู้ก่อการร้ายยึดมาจากการโจมตีสถานีตำรวจและชุดคุ้มครองหมู่บ้าน ก็ไม่น่าจะฟังขึ้น

“กรุงชิง” เป็นชื่อของที่ราบบนเทือกเขาหลวง อยู่เหนือระดับน้ำทะเลราว ๓๕๐ เมตร ตั้งอยู่ในพื้นที่ของ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ทอดยาวไปถึงเขต อ.เวียงสระ และ อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี ล้อมรอบด้วยภูเขา ๕ ลูก มีพื้นที่ราว ๑๐๐,๐๐๐ ไร่ มองจากยอดเขาเหมือนอ่าวในทะเล ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า “อ่าวกรุงชิง”

ภูมิประเทศของกรุงชิงเป็นป่าทึบ มีฝนตกชุกตลอดปี จึงเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารหลายสาย ที่ได้ชื่อนี้ว่ากันว่าเพราะมี “ต้นชิง” ซึ่งเป็นปาล์มพันธุ์หนึ่งขึ้นอยู่มาก แต่ก็เชื่อกันว่าเคยมีคนอยู่มาก่อน ขุดพบโบราณวัตถุและกระดูกมนุษย์โบราณอยู่ในถ้ำ ตำนานเมืองนครศรีธรรมราชกล่าวว่า ในสมัยพระยาศรีธรรมาโศกราชเป็นเจ้าเมือง ได้ส่งคนไปตั้งหมู่บ้านที่ป่ากรุงชิง เพื่อหาหวายทำเชือกคล้องช้างและทำแส้ม้า แต่เนื่องจากพื้นที่เป็นป่าดงดิบและหนทางทุรกันดาร ชุกชุมด้วยสัตว์ร้าย จึงได้ปล่อยให้เป็นหมู่บ้านร้างไป
พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งเริ่มขยายลงภาคใต้โดยตั้งคณะกรรมการประจำภาคขึ้นในปี ๒๔๘๔ เพื่อปลุกระดมมวลชนเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์และฝึกอาวุธ มีคนภาคใต้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์จำนวนมาก แต่ไม่ใช่เพราะเลื่อมใสในลัทธิ หากเกิดจากการถูกข่มเหงไม่ได้รับความเป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะฝ่ายปกครองและตำรวจที่ชอบใช้อำนาจบาตรใหญ่ จึงเป็นการผลักชาวบ้านให้เข้าป่าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์

ในปี ๒๕๐๙ พรรคคอมมิวนิสต์ได้เริ่มขึ้นไปยึดครองพื้นที่กรุงชิง โดยมีชาวบ้านให้การสนับสนุน ต่อมาก็มีคนคับแค้นใจทยอยเข้าไปสมทบขึ้นเรื่อยๆ ในปี ๒๕๑๙ หลังจากเหตุการณ์ “๖ ตุลามหาโหด” นักศึกษาได้เข้าป่ากันมาก ค่ายกรุงชิงได้ต้อนรับนักศึกษากลุ่มนี้กว่า ๑๐๐ คน ค่ายกรุงชิงที่มั่นฝึกอาวุธจึงกลายเป็นกองบัญชาการของภาคใต้ และส่งกำลังเข้าโจมตีสถานที่ราชการหลายแห่ง เช่น เผาสถานีตำรวจ อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช และ สน.กิ่ง อ.นาเดิม จ.สุราษฎร์ธานี โจมตีฐานปฏิบัติการชุดคุ้มครองหมู่บ้านหลายแห่ง ทั้งในวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๑๙ ยังยกขบวนใหญ่ ๒๐๐ คนเข้าโจมตีค่ายฝึกอาสารักษาดินแดน ซึ่งตั้งอยู่ในโรงเรียนบ้านสองแพรก ห่างจากที่ว่าการอำเภอท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราชประมาณ ๕ กม. ทำให้ครูฝึกที่เป็นทหารและราษฎรเสียชีวิต ๑๒ คน ยึดอาวุธไปได้ ๑๒๐ กระบอก พร้อมเผาอาคารที่พักวอดไป ๒ หลัง ทำให้ ผกค.กรุงชิงเหิมเกริมหนัก ประกาศให้หมู่ ๔ ถึงหมู่ ๕ ของบ้านพิตำเป็นเขตปลอดอำนาจรัฐ

ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่รัฐก็ใช้วิธีปราบปรามอย่างหนักและสุ่มสี่สุ่มห้า ทารุณกรรมผู้ที่สงสัยว่าจะเป็นผู้ก่อการร้ายโดยถีบตกจากเฮลิคอปเตอร์บ้าง ฆ่าแล้วเผาใน “ถังแดง” จนเป็นคดีอื้อฉาว ซึ่งเท่ากับขับไสให้ผู้คนขึ้นเขาไปอยู่ที่กรุงชิงมากขึ้น

ขณะนั้นพรรคคอมมิวนิสต์ปฏิบัติการในภาคใต้หลายจังหวัด ทำให้กำลังของกองทัพภาคที่ ๔ ที่ต้องกระจายกันออกหลายพื้นที่จนขาดกำลังพล ในปี ๒๕๒๐ กองทัพบกจึงขอกองทัพเรือให้ส่งหน่วยนาวิกโยธินมาช่วยปราบปรามค่ายกรุงชิง และหลังจากที่กองพันนาวิกโยธินในการบังคับบัญชาของ นาวาโทศุภนิตย์ จูฑะพุทธิ ได้เข้ามาสำรวจด้านการข่าวและลาดตระเวนแล้ว ก็ให้ชาวบ้านหมู่ ๕ ของ ต.นบพิตำซึ่งเป็นหมู่บ้านใหญ่มี ๗๐ ครัวเรือนที่อยู่บนเขาทางเข้ากรุงชิงอพยพออกไปอยู่ในที่ทางการจัดให้ ตอนนี้ก็มีการแบ่งฝ่ายกันอีก ส่วนหนึ่งอพยพไปกับทางราชการ อีกฝ่ายขึ้นเขาไปร่วมกับสหาย ส่วนฝ่ายสหายก็เตรียมรับมือด้วยการฝังกับระเบิดไว้ทั่วทางขึ้น
 
ในวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๒๐ นาวิกโยธินจึงยกพลขึ้นเขาเข้าตีค่ายกรุงชิงโดยมีทหารบกและ ตชด.เข้าร่วมเสริมเพียงหน่วยละ ๑ หมวด พร้อมกองกำลังทางอากาศ ใช้เวลาเพียง ๓ สัปดาห์ ถึงวันที่ ๑๕ เมษายนค่ายกรุงชิงที่มั่นอันเข้มแข็งที่สุดของพรรคคอมมิวนิสต์ในภาคใต้ก็แตก พบว่าไม่ใช่ค่ายธรรมดา มีอาคารพักถึง ๘๑ หลัง ยุ้งเก็บข้าวเปลือก ๔ หลัง โรงงานยาสูบ ๒ หลัง โรงเลื่อย ๒ หลัง และไร่ผักขนาดใหญ่ ต่างบาดเจ็บล้มตายด้วยกันทั้งสองฝ่าย ฝ่ายสหายถูกจับ ๑๒๔ คน และมอบตัว ๕๒ แต่ส่วนใหญ่พร้อมอาวุธได้กระจายกันไปหลบซ่อนอยู่ในป่ารอบค่ายและปฏิบัติการลอบโจมตีต่อ กรุงชิงจึงยังไม่สงบ หน่วยนาวิกโยธินยังต้องอยู่รักษาความปลอดภัยให้ประชาชนถึง ๔ ปี ๗ เดือน
เหตุการณ์ที่กรุงชิงและการก่อการร้ายทั่วประเทศไทยสงบลงได้ หลังจากที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งที่ ๖๖/๒๕๒๓ วางแนวทางปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติต่อผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์หรือผู้หลงผิด ที่ขอเข้ามอบตัวและที่จับได้ให้ปฏิบัติอย่างเพื่อนร่วมชาติ ไม่มีการดำเนินคดีย้อนหลัง ยกเว้นบางคนที่มีคดีอาญาร้ายแรง เพื่อให้กลับมามีชีวิตใหม่ในสังคม

คำสั่งนี้เป็นแนวความคิดของพลเอกเปรมมาตั้งแต่เป็นพลตรี ดำรงตำแหน่งรองแม่ทัพภาคที่ ๒ ซึ่งต้องเผชิญกับการแย่งชิงมวลชนกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และเห็นว่าวิธีปราบปรามอย่างเดียวไม่น่าจะได้ผล เพราะชาวบ้านไม่ไว้ใจเจ้าหน้าที่ จำเป็นต้องใช้วิธีต่อสู้ทางความคิด ดึงเอาประชาชนมาอยู่กับฝ่ายรัฐ เมื่อได้เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีจึงได้นำความคิดนี้มาใช้ ทำให้ประชาชนที่เข้าป่าไปจับปืนกับพรรคคอมมิวนิสต์ออกจากป่ามาเป็นผู้ร่วมพัฒนาประเทศไทย เป็นการปิดฉากกองกำลังติดอาวุธคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย และทำให้ทฤษฎีโดมิโนที่จะทำให้เอเซียตะวันออกเฉียงใต้เป็นคอมมินิสต์ทั้งหมดต้องล้มไปด้วย

เมื่อวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๒๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ได้เสด็จโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งไปยังหน่วยรบที่บ้านในถุ้ง ต.ท่าศาลา อ.ท่าศาลา น.ท.ศุภนิตย์ จูฑะพุทธิ ผบ.หน่วยรบได้กราบทูลเกี่ยวกับสถานการณ์ทั่วไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีกระแสพระราชดำรัสกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารและฝ่ายปกครองกับฝ่ายชลประทาน ให้เริ่มพิจารณาวางโครงการสำรวจทำเลสำหรับสร้างอ่างเก็บน้ำและระบบส่งน้ำให้ลุ่มน้ำคลองกรุงชิงและคลองกลาย สำหรับใช้ในการอุปโภคบริโภค และทำนาทำสวนในพื้นที่ ๑๐,๐๐๐ ไร่ได้ตลอดปี และเสด็จต่อไปยังบ้านปากลง ต.นบพิตำ พระราชทานถุงของขวัญและยารักษาโรค พร้อมวิทยุและเครื่องเล่นเทปแก่เรือเอกเบญจะ จันทรประภา ผบ.กองร้อย ในการนี้ได้มีกระแสพระราชดำรัสกับเจ้าหน้าที่เรื่องราษฎรขาดแคลนที่ทำกิน จากนั้นได้พระราชทานสิ่งของแก่ครูโรงเรียนบ้านปากลง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้คณะแพทย์ที่ตามเสด็จทำการตรวจรักษาและแจกจ่ายยาให้ราษฎรด้วย

นี่ก็เป็นประเทศไทยที่ไม่เหมือนใคร เมื่อมีความขัดแย้งจนเกิดการจับอาวุธเข้าประหัตประหารกัน การจบลงไม่ใช่เพราะฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดชนะ แต่เป็นการเปิดโอกาสให้คนกลับใจ ตระหนักถึงชีวิตที่สงบสุขในแผ่นดินอันอุดมสมบูรณ์ ใต้พระบารมีของพระมหากษัตริย์ที่ทรงนำประชาชนสร้างประเทศนี้ขึ้นมาจนเป็นปึกแผ่น ร่มเย็นเป็นสุขที่ไม่น้อยหน้าใครในโลก




กำลังโหลดความคิดเห็น