ดร.มานะ นิมิตมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เห็นด้วยกับเจตนารมณ์ของผู้ว่าฯ กทม. ห้าม ขรก.กินฟรี-รับของกำนัลพ่อค้าประชาชน ชี้พ่อค้า-แม่ค้าก็เป็นตัวกำหนดด้วยว่ามาตรการนี้จะสำเร็จมากน้อยแค่ไหน
จากกรณี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นำผู้บริหาร กทม.ประกาศเจตนารมณ์พร้อมแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านการทุจริตร่วมกับ ACT กำหนด 5 แนวทางทำงานร่วมกัน “รื้อโครงการใบอนุญาตยิ้ม-กรุงเทพธนาคม ต้องเข้าร่วม CAC-สั่งห้ามเจ้าหน้าที่และผู้บริหารทุกระดับ รับเลี้ยง ห้ามกินฟรี ห้ามรับของขวัญของกำนัล-รพ.ในสังกัด กทม. ประกาศ/ให้สัตยาบรรณ ไม่รับค่าคอมมิชชันยาและเวชภัณฑ์จากผู้ขาย” เปิดเมนู “กรุงเทพโปร่งใส” ใน Traffy Fondue ให้ประชาชนมีส่วนร่วมแจ้งเหตุ
อย่างไรก็ตาม วันนี้ (15 ส.ค.) ดร.มานะ นิมิตมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้ออกมาโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว "Mana Nimitmongkol" เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว เห็นด้วยกับเจตนารมณ์ของผู้ว่าฯ กทม. โดยได้ระบุข้อความว่า
"ได้เวลากำจัดพวกชอบกินฟรี
กล้ามาก..การที่ผู้ว่าฯ กทม.ออกประกาศแบบเข้มข้น ห้ามข้าราชการรับเลี้ยงรับกินฟรี ห้ามรับของขวัญของกำนัลจากพ่อค้าและชาวบ้าน เพราะไม่มีทางเป็นจริงได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่นี่คือก้าวสำคัญที่พิสูจน์ถึงบทบาทของ “ผู้นำ..กับการปราบโกง” ที่ทุกองค์กรทำได้และต้องทำ หากยังต้องการพูดกับประชาชนได้เต็มปากว่า ตนเกลียดคอร์รัปชัน เหตุที่บอกว่าเข้มข้น เพราะมีหลายข้อจริงจังและตรงจุดกว่าที่ทำกันทั่วไปตามกระทรวง รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชนและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ จนต่างก็ล้มเหลวในการป้องกันคอร์รัปชัน กล่าวคือ
1. นอกจากกำหนดว่า ข้าราชการต้องไม่แสวงหาผลประโยชน์จากการปฏิบัติหน้าที่ ต้องไม่ให้ ไม่รับของขวัญของกำนัล ยังเจาะจงอีกว่า “ห้ามรับเลี้ยงรับกินฟรีจากพ่อค้าประชาชน” เพราะที่ผ่านมามีการเลี้ยงดูปูเสื่อกันตามภัตตาคาร ผับ บาร์ สนามกอล์ฟ เซาน่าและอาบอบนวด
2. กำหนดให้ “ผู้บังคับบัญชา” ต้องทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีและรับผิดชอบมิให้เกิดคอร์รัปชันในหน่วยงานของตน เป็นวิธีที่ถูกต้องในการป้องกันคอร์รัปชันที่ต้นตอ คือ “ปัญหาเกิดที่ไหนก็แก้ที่นั่น” และเรื่องนี้เป็นไปตามมติ ครม.เมื่อเดือนมีนาคม 2561 แต่หลังจากนั้นก็เงียบหายไป
3. ประกาศนี้ไม่มีการชี้ช่องข้อยกเว้น เช่น การให้หรือรับของในช่วงเทศกาล หรือรับได้หากมูลค่าไม่เกิน 3 พันบาทตามเงื่อนไข ป.ป.ช.
4. เผยแพร่เป็นภาษาไทยและอังกฤษพร้อมกัน โดยหวังว่านอกจากข้าราชการและคน กทม.รับรู้แล้ว สื่อมวลชนต่างชาติและชาวต่างชาติทั้งนักธุรกิจ ผู้อยู่อาศัย นักท่องเที่ยว ยังได้รับรู้ไปพร้อมกัน ทุกคนจึงรู้สิทธิและปกป้องตนเองจากพฤติกรรมชั่วของคนคดโกงได้ (น่าแปลกใจว่า การสื่อสารสองภาษาเช่นนี้ ทำไมหน่วยงานอื่นๆ ไม่ค่อยทำกัน แม้เรื่องสำคัญก็รอให้กระทรวงการต่างประเทศช่วยสื่อสารให้)
การควบคุมให้ข้าราชการและนักการเมืองทำหน้าที่โดยไม่เห็นแก่ได้ ไม่เบียดเบียนคนอื่นเช่นนี้ คือนโยบาย No Gift Policy ที่นานาชาติยอมรับและภาคเอกชนชั้นนำของไทยปฏิบัติอยู่ มีกำหนดในแผนปฏิรูปประเทศด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน แต่ไม่เคยมีผู้นำของหน่วยงานใดใส่ใจจริงจังมาก่อน
แน่นอนว่า เมื่อทุกคนปฏิบัติหน้าที่ตรงไปตรงมาย่อมเกิดประโยชน์ต่อบ้านเมือง ประชาชนสบายใจ ไม่มีภาระเรื่องส่วยสินบน สังคมเป็นธรรม ส่งผลดีต่อภาพลักษณ์และทัศนคติต่อประเทศไทย ช่วยยกระดับคะแนนดัชนีคอร์รัปชัน (CPI) และการประเมินความพึงพอใจอื่นๆ ให้ดีขึ้น “ผู้นำ” ที่มีวิสัยทัศน์ กล้า ชัดเจนและรู้จักใช้เครื่องมือที่เหมาะสม ไม่ยึดติดอยู่ในกรอบกฎระเบียบราชการและธรรมเนียมปฏิบัติที่ชักช้าล้าสมัย จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการต่อต้านคอร์รัปชัน
สุดท้าย มาตรการนี้จะสำเร็จมากน้อย จึงขึ้นอยู่กับว่าพ่อค้าประชาชนจะทำอย่างไรเมื่อพบเห็นข้าราชการและนักการเมืองทำผิด จะตามน้ำหรือต่อต้านร้องเรียนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง..ต้องเลือกทำสิ่งที่ถูกต้องแล้วครับ
ดร.มานะ นิมิตรมงคล"