สงครามโลกครั้งที่ ๒ เริ่มขึ้นเมื่อเยอรมันบุกโปแลนด์ในปี ๒๔๘๒ แต่รบกันในยุโรปเท่านั้น จนวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ ญี่ปุ่นจึงเปิดฉากถล่มฐานทัพเรือของสหรัฐอเมริกาที่ฮาวายโดยไม่ให้รู้ตัว พร้อมกับส่งทหารยกพลขึ้นบกตลอดชายฝั่งของอ่าวไทย อ้างว่าจะขอเดินทัพไปตีมลายูและพม่าของอังกฤษ เป็นการเปิดฉาก “สงครามมหาเอเชียบูรพา”
ต่อมาในวันที่ ๒๑ ธันวาคม จากการบีบของญี่ปุ่นและเกลี้ยกล่อมจากเยอรมัน ไทยจึงต้องลงนามเป็นพันธมิตรร่วมรบกับญี่ปุ่น จากนั้นในวันที่ ๒๕ มกราคมก็เข้าถึงขั้นลงนามเป็นพันธมิตรกับฝ่ายอักษะอย่างเต็มตัว ตัดความสัมพันธ์กับฝ่ายสัมพันธมิตรทั้งหมด
ตอนนั้นทหารญี่ปุ่นเกลื่อนเมืองไทย และขนอาวุธเข้าไปพม่าจะบุกต่อไปอินเดีย ในวันที่ ๙ มกราคม ๒๔๘๕ อเมริกาจึงส่งฝูงบินเข้ามาทิ้งระเบิดในกรุงเทพฯเพื่อตัดเส้นทางลำเลียงของญี่ปุ่น ในวันที่ ๒๕ มกราคมไทยจึงประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาและเกรทบริเตน เป็นผลให้อังกฤษและประเทศเครือจักรภพอังกฤษประกาศสงครามตอบไทย แต่สหรัฐอเมริกาไม่ประกาศตอบ ซึ่ง ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน ประกาศไม่รับคำสั่งจากรัฐบาลไทย ไม่ยอมยื่นคำประกาศสงครามของรัฐบาลไทยต่อรัฐบาลสหรัฐ อีกทั้งยังรับตำแหน่งหัวหน้าขบวนการเสรีไทยในต่างประเทศ ประสานงานกับขบวนการเสรีไทยในประเทศซึ่งมี ปรีดี พนมยงค์ ผู้อยู่ในตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์รัชกาลที่ ๘ เป็นหัวหน้า และประสานงานอยู่กับสหรัฐอเมริกา
สงครามดำเนินมาจนถึงปี ๒๔๘๘ ในวันที่ ๑๕ สิงหาคมสมเด็จพระมหาจักรพรรดิฮิโระฮิโตะจึงมีพระราชดำรัสยอมแพ้หลังที่ถูกสหรัฐอเมริกาถล่มด้วยระเบิดปรมาณู ๒ ลูก ในวันที่ ๑๖ สิงหาคมนั้นไทยจึงประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีตวามว่า
ประกาศสันติภาพ
ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
(ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ ๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๗)
ปรีดี พนมยงค์
โดยที่ประเทศไทยได้เคยถือนโยบายอันแน่วแน่ที่จะรักษาความเป็นกลางอย่างเคร่งครัดและจะต่อสู้การรุกรานของต่างประเทศทุกวิถีทาง ดังปรากฏเห็นได้ชัดจากการที่ได้มีกฎหมายกำหนดหน้าที่คนไทยในเวลารบเมื่อพุทธศักราช ๒๔๘๔ อยู่แล้วนั้น ความจำนงอันแน่วแน่ดังกล่าวนี้ได้แสดงให้เห็นประจักษ์แล้ว ในเมื่อญี่ปุ่นได้ยาตราทัพเข้าในดินแดนประเทศไทยในวันที่ ๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๔ โดยได้มีการต่อสู้การรุกรานทุกแห่ง และทหาร ตำรวจ ประชาชน พลเมืองได้เสียชีวิตไปในการนี้เป็นอันมาก
เหตุการณ์อันปรากฏเป็นสักขีพยานนี้ ได้แสดงให้เห็นอย่างแจ่มแจ้งว่า การประกาศสงครามเมื่อวันที่ ๒๕มกราคม พุทธศักราช ๒๔๘๕ ต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา ตลอดทั้งการกระทำทั้งหลายซึ่งเป็นปรปักษ์ต่อสหประชาชาตินั้น เป็นการกระทำอันผิดจากเจตจำนงของประชาชนชาวไทย และฝ่าฝืนขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายบ้านเมือง ประชาชนชาวไทยทั้งภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งอยู่นฐานะที่จะช่วยเหลือสนับสนุนสหประชาชาติผู้รักที่จะให้มีสันติภาพในโลกนี้ ได้กระทำการทุกวิถีทางที่จะช่วยเหลือสหประชาชาติ ดังที่สหประชาชาติส่วนมากย่อมทราบอยู่แล้ว ทั้งนี้ เป็นการแสดงเจตจำนงของประชาชนชาวไทยอีกครั้งหนึ่ง ที่ไม่เห็นด้วยต่อการประกาศสงคราม และการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อสหประชาชาติดังกล่าวมาแล้ว
บัดนี้ ประเทศญี่ปุ่นได้ยอมปฏิบัติตามคำประกาศของสหรัฐอเมริกา บริเตนใหญ่ จีน และสหภาพโซเวียต ซึ่งได้กระทำ ณ นครปอตสดัมแล้ว สันติภาพจึงกลับคืนมาสู่ประเทศไทย อันเป็นความประสงค์ของประชาชนชาวไทย
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงขอประกาศโดยเปิดเผยแทนประชาชนชาวไทยว่า การประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่ เป็นโมฆะไม่ผูกพันประชาชนชาวไทย ในส่วนที่เกี่ยวกับสหประชาชาติ ประเทศไทยได้ตัดสินใจที่จะให้กลับคืนมาซึ่งสัมพันธไมตรีอันดีอันเคยมีมากับสหประชาชาติในการสถาปนาเสถียรภาพในโลกนี้
บรรดาดินแดนซึ่งญี่ปุ่นได้มอบให้ไทยครอบครอง คือรัฐกลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี ปะริด เชียงตุง และเมืองพานนั้น ประเทศไทยไม่มีความปรารถนาที่จะได้ดินแดนเหล่านี้ และพร้อมที่จะจัดการเพื่อส่งมอบในเมื่อบริเตนใหญ่พร้อมที่จะรับมอบไป
ส่วนบรรดาบทกฎหมายอื่น ๆ ใด อันมีผลเป็นปฏิปักษ์ต่อสหรัฐอเมริกา บริเตนใหญ่และเครือจักรวรรดิ ก็จะได้พิจารณายกเลิกไปในภายหน้า บรรดาความเสียหายอย่างใด ๆ จากกฎหมายเหล่านั้น ก็จะได้รับชดใช้โดยธรรม
ในที่สุดนี้ ขอให้ประชาชนชาวไทยทั้งหลาย ตลอดจนชนต่างด้าวซึ่งอยู่ในราชอาณาจักรไทย จงตั้งอยู่ในความสงบ และไม่กระทำการใด ๆ อันจะเป็นการก่อกวนความสงบเรียบร้อย พึงยึดมั่นในอุดมคติ ซึ่งได้วางไว้ในข้อตกลงของสหประชาชาติ ณ นครซานฟานซิสโก
ประกาศ ณ วันที่ ๑๖ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๘ เป็นปีที่ ๑๒ ในรัชกาลปัจจุบัน
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ทวี บุณยเกตุ
รัฐมนตรี
หลังจากนั้นคำว่า “ไซมิส ทอล์ค” ก็ดังกระหึ่ม มีความหมายว่าเป็นคำพูดที่เชื่อถือไม่ได้ ประกาศสงครามกับเขาแล้วก็บอกว่าเป็น “โมฆะ” เพราะไม่เต็มใจประกาศ วันหนึ่งพูดไว้อย่างหนึ่ง อีกวันมาพูดอีกอย่างหนึ่ง แต่สถานการณ์ที่ผ่านมาก็อธิบายได้ว่า ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น
เหตุการณ์ครั้งนั้นประเทศไทยดูจะเสียชื่อไปมากจาก “ไซมิส ทอล์ค” แต่ในวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๑๕ “ไซมิส ทอล์ค” กลับมีความหมายอีกอย่าง หมายถึงคำพูดที่มีเสน่ห์ มีเหตุผลที่น่าฟัง โน้มน้าวจิตใจได้ดี
เหตุการณ์ครั้งหลังนี้ ประเทศไทยไทยตกเป็นข่าวกระหึ่มโลก เมื่อมีขบวนการ “กันยายนทมิฬ” หรือ “แบลกเซปเทมเบอร์” ซึ่งเป็นขบวนการก่อการร้ายของชาวปาเลสไตน์ บุกเข้ายึดสถานทูตอิสราเอลในกรุงเทพฯ จับเจ้าหน้าที่สถานทูตเป็นตัวประกัน ตอนนั้นโลกเพิ่งช็อกกับปฏิบัติการของขบวนการนี้ ที่บุกเข้ายึดหมู่บ้านโอลิมปิกที่เมืองมิวนิค เยอรมัน ปฏิบัติการจบลงด้วยโศกนาฏกรรมที่กลุ่มขบวนการและตัวประกันต้องจบชีวิตทั้งหมดด้วยระเบิด ทั่วโลกจึงพุ่งความสนใจติดตามข่าวจากกรุงเทพฯด้วยใจระทึก และคาดกันว่าต้องจบในทำนองเดียวกันแน่ แต่เรื่องกลับตรงกันข้าม
พลอากาศเอกทวี จุลละทรัพย์ เสนาธิการทหารและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีประสบการณ์ในเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่เมืองมิวนิคมาแล้ว กับพลตรีชาติชาย ชุณหวัณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ขออนุญาตจากจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี เข้าไปเจรจากับกลุ่มขบวนการในสถานทูตอิสราเอล โดยมีเอกอัครราชทูตอียิปต์เข้าไปช่วยด้วย เสธ.ทวีได้อ้างเหตุผลในการเจรจาว่า ในวันนี้เขาจะสังเกตเห็นคนไทยไม่ได้แต่งกายด้วยสีดำเลย เพราะเป็นวันมงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาเจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ขึ้นเป็นมกุฎราชกุมาร คนไทยจึงแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีสดใส เพื่อไม่ให้เป็นลางร้ายต่อวันอันเป็นมงคลนี้ หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการบอกว่า เขาไม่ทราบมาก่อนเลยว่าวันนี้เป็นวันสำคัญของชาวไทย จึงมีความเสียใจมาก แต่เมื่อได้ดำเนินการไปแล้วก็ต้องพยายามอย่างถึงที่สุดให้สำเร็จ อย่างไรก็ตามหลังการเจรจาอันยาวนาน และแสดงความเป็นมิตรอย่างจริงใจของฝ่ายไทยที่นำข้าวหมกไก่ของโปรดไปให้ในยามหิว เรื่องนี้เลยจบลงอย่างที่ไม่มีใครคาดคิด หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการบอกว่า เขาได้ปรึกษาหารือกันแล้ว รู้สึกเห็นใจพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช รวมทั้งรัฐบาลและประชาชนคนไทยมาก จึงขอเลิกปฏิบัติการ
ทางการไทยได้จัดเครื่องบินไทยอินเตอร์เที่ยวบินพิเศษพากลุ่มขบวนการไปส่งบ้าน โดยมี เสธ.ทวีและพล.ต.ชาติชายขอเป็นตัวประกันความปลอดภัย เมื่อเครื่องบินเที่ยวนี้ลงแวะเติมน้ำมันที่สนามบินไหนผู้คนที่ติดตามข่าวก็ไปรอดูกันแน่นสนามบิน และเมื่อ เสธ.ทวีเดินลงจากเครื่อง คนเหล่านั้นก็นึกว่าเป็นหัวหน้าผู้ก่อการร้าย เลยต้องกวักมือเรียกหัวหน้าขบวนการให้ออกมาโชว์ตัว ทำให้คนทั้งหลายงงไปตามกันในการปฏิบัติต่อกันของผู้ก่อการร้ายกับตัวประกัน
นสพ.นิวยอร์คไทยเขียนบทวิจารณ์เรื่องนี้ในชื่อ “แฮปปี้เอนดิ้งบางกอก” คนทั่วโลกต่างยกย่องการดำเนินทางการทูตของไทย บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “ประเทศไทยเป็นประเทศของผู้รักสันติภาพและสุภาพ”
ครั้งนี้ “ไซมิส ทอล์ค” หมายถึงคำพูดที่มีเสน่ห์ มีเหตุผลที่น่าฟัง โน้มน้าวจิตใจได้ดี สยบความรุนแรงที่สร้างความสยดสยองทั่วโลกมาแล้วลงได้
นางรุธ ฮาดาซ ภรรยาเลขานุการสถานทูตอิสราเอล ซึ่งตกอยู่ในวิกฤติการณ์ร้ายครั้งนี้ด้วย ถือแก้วเหล้าเต้นรำอย่างเริงร่าที่รอดตายอย่างไม่คาดฝัน กล่าวว่า “ฉันเพิ่งรู้เดี๋ยวนี้เองว่า การมีชีวิตอยู่นั้นมีความสุขเพียงใด หากไม่มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งประเทศไทยแล้ว เราก็คงไม่ได้รอดชีวิตกันแน่”
นางโกลดาร์ แมร์ นายกรัฐมนตรีของอิสราเอล ซึ่งนั่งติดตามข่าวจากกรุงเทพฯตลอด ๑๙ ชั่วโมงโดยไม่ลุกไปไหน ได้ให้สัมภาษณ์นักข่าวเอพีว่า
“ข้าพเจ้าต้องการขอบคุณรัฐบาลไทยที่ช่วยเหลือด้วยความจริงจังและมีประสิทธิภาพยิ่ง เรารู้สึกซาบซึ้งและขอบคุณรัฐบาลไทยอย่างที่สุด ต่อทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้กระทำลงไป”
แล้วนางก็ยกแก้วบรั่นดีขึ้นดื่มฉลองชัย
เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นบทพิสูจน์อีกครั้งว่า ประเทศไทยเป็นดินแดนที่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง เป็นดินแดนแห่งสันติสุขซึ่งไม่มีที่ใดในโลกเหมือน และมีความเป็นไทยๆที่ใครๆไม่มี