โดย ผศ.นพ.เทิดภูมิ เบญญากร
"หากร่างกายเปรียบเสมือนบ้าน เส้นเลือดก็เปรียบเสมือนท่อส่งน้ำไปหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ ของบ้านให้ทำงานได้อย่างปกติ"
ศัลยแพทย์หลอดเลือด (vascular surgeon) หรือหมอเส้นเลือด มีหน้าที่เปรียบเสมือนช่างประปาที่ทำให้เลือดไหลเวียนในร่างกายอย่างสะดวกไม่ติดขัด ทุกอวัยวะได้รับออกซิเจนเต็มที่ และทำหน้าที่ได้เต็มประสิทธิภาพ
ศัลยแพทย์หลอดเลือดรักษาอะไรบ้าง...หลายท่านคงมีความสงสัยว่า หมอเส้นเลือดทำหน้าที่อะไรบ้าง ในบทความนี้จะขอกล่าวถึงหน้าที่ และโรคที่หมอเส้นเลือดรับผิดชอบเป็น 6 กลุ่มหลัก ดังนี้
1. โรคหลอดเลือดแดงโป่งพอง (Aneurysm)
โรคหลอดเลือดโป่งพอง คือมีการขยายขนาด 1.5 เท่าของหลอดเลือดปกติ พบได้บ่อยในหลอดเลือดแดงใหญ่ในช่องท้อง (Abdominal aorta) กว่า 80% ของผู้ป่วยโรคนี้จะไม่มีอาการ ที่เหลืออาจทำให้มีอาการปวดท้อง และการฉีกขาดของผนังหลอดเลือด ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีทำให้มีการเสียชีวิตได้ การรักษาทำได้โดยการผ่าตัดเปิด (open surgical repair) หรือการใช้หลอดเลือดค้ำยัน (Endovascular aneurysm repair, EVAR)
2. โรคหลอดเลือดแดงตีบตัน (Peripheral arterial disease, PAD)
สาเหตุเกิดจากการสะสมของแคลเซียมที่ผนังหลอดเลือด อาการเริ่มต้นจากมีอาการปวดเมื่อยน่องขณะเดิน (Claudication) ปวดขาขณะนอนหลับ (Rest pain) และในรายที่มีอาการรุนแรงจะมาด้วยแผลเรื้อรังที่ขา (leg ulcer) พบว่าโรคเบาหวานจะทำให้การตีบตันของหลอดเลือดรุนแรงขึ้น การรักษาทำได้โดยการผ่าตัด bypass หรือทำการถ่างขยายด้วยบอลลูน และขดลวด (Endovascular treatment)
3. กลุ่มโรคหลอดเลือดดำ (Venous disease)
โรคทางหลอดเลือดดำ หรือเส้นเลือดขอด (varicose vein) อาการแสดงจะเริ่มตั้งแต่ เส้นเลือดขอดขนาดเล็ก (telangiectasia) เส้นเลือดขอดขนาดใหญ่ (varicose vein) ขาบวม ผิวหนังที่ข้อเท้าสีคล้ำ (hyperpigmentation) แข็งหนา (lipodermatosclerosis) และเมื่อมีอาการมากขึ้นจะทำให้มีแผลเรื้อรังที่ข้อเท้า (chronic venous ulcer) การรักษามีหลายวิธี เช่น กินยา ฉีดยาสลายเส้นเลือดขอด (sclerotherapy) การผ่าตัดแบบเปิด หรือใส่สายสวน (endovenous treatment) นอกจากโรคเส้นเลือดขอดแล้ว หมอเส้นเลือดยังรักษาโรคหลอดเลือดดำอุดตัน (Deep vein thrombosis) หรือโรคใหม่ล่าสุด คือโรคเส้นเลือดขอดในอุ้งเชิงกราน (Pelvic venous disorders) อีกด้วย
4. การทำหลอดเลือดเพื่อการฟอกเลือด (Vascular access)
การฟอกเลือดในผู้ป่วยโรคไตวาย มีความจำเป็นต้องทำผ่าตัดทำทางเดินของเลือดเพื่อส่งเลือดเข้าสู่เครื่องฟอกไต งานของศัลยแพทย์หลอดเลือดมีตั้งแต่ การใส่สายฟอกชั่วคราว (Double lumen catheter) การใส่สายกึ่งถาวร (Tunnel-cuff catheter) การทำเส้นฟอกไตถาวร (Arteriovenous fistula creation) และรวมถึงการปลูกถ่ายไต
5. โรคหลอดเลือดเลี้ยงสมอง (Cerebrovascular disease)
โรคหลอดเลือดสมองอุดตัน หรือสโตรก (Stroke) นับว่าเป็นงานส่วนหนึ่งของหมอหลอดเลือดที่มีหน้าที่ลอกผนังหลอดเลือดบริเวณคอที่มีความหนาออก หรือใส่ขดลวดเทียม เพื่อเป็นทางเดินเลือดที่สมบูรณ์หล่อเลี้ยงสมองเพื่อลดอัตราการเป็นซ้ำของโรคสโตรก
6. งานด้านอื่น
นอกจากงานในกลุ่มหลักที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว หมอหลอดเลือดจะมีหน้าที่ช่วยเหลือแพทย์แผนกอื่นในการดูแลผู้ป่วย เช่นการใส่กระเปาะให้ยาเคมีบำบัด (port insertion for chemotherapy) ในผู้ป่วยมะเร็ง การรับปรึกษาแพทย์แผนกอื่นในกรณีที่มีการบาดเจ็บของหลอดเลือดในการผ่าตัด (Intraoperative consultation)
จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะเห็นว่าหน้าที่ของหมอหลอดเลือดจะมีความครอบคลุมในทุกระบบและมีหน้าที่ช่วยเหลือแพทย์หลายแผนกในการดูแลรักษาผู้ป่วย กล่าวมาถึงตอนนี้แล้วหลายท่านจะรู้จักหน้าที่ของหมอหลอดเลือดมากขึ้น