xs
xsm
sm
md
lg

“นางเสือง” แม่คนแรกที่ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์! พ่อขุนรามคำแหงทรงประกาศ “แม่กู”!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



โดยทั่วไปแล้วมักจะไม่มีการกล่าวถึงพระนามของพระมเหสีหรือพระนามพระราชชนนีของพระมหากษัตริย์ กล่าวถึงแต่พระนามพระราชบิดาที่ถ่ายทอดพระราชบัลลังก์มาเท่านั้น เพิ่งจะมากล่าวกันทุกรัชกาลในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี่เอง แต่ในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ทรงประกาศไว้ชัดแจ้งว่า

“พ่อกูชื่อศรีอินทราทิตย์ แม่กูชื่อนางเสือง พี่กูชื่อบานเมือง ตูพี่น้องท้องเดียวห้าคน ผู้ชายสาม ผู้หญิงสอง พี่เผือผู้อ้ายตายจากเผือเตียมแต่ยังเล็ก...”

“นางเสือง” จึงเป็นสตรีคนแรกที่ถูกจารึกพระนามไว้ในประวัติศาสตร์ แม้พระนางจะเป็นพระราชินีพระองค์แรกของไทย และมีพระราชโอรสเป็นกษัตริย์ถึง ๒ พระองค์ คือ พ่อขุนบานเมือง และ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช แต่ในศิลาจารึกซึ่งเป็นสำนวนไทยแท้ในสมัยสุโขทัย ก็บันทึกพระนามของพระนางเป็น “นาง” เท่านั้น
 
ในประวัติศาสตร์การสถาปนาราชอาณาจักรสุโขทัย ก็ไม่ได้กล่าวถึงพระนาง กล่าวแต่เพียงว่า เมื่อพ่อขุนศรีนาวนำถม ผู้ปกครองเมืองสุโขทัยสวรรคต ขอมสมาดโขญลำพงได้เข้ายึดเมืองสุโขทัย พ่อขุนบางกลางหาว ผู้ครองเมืองบางยาง ได้แจ้งให้พ่อขุนผาเมือง พระสหายที่เป็นโอรสของพ่อขุนศรีนาวนำถม และเป็นพระสวามีของนางสิขรเทวี ราชธิดากษัตริย์ขอม ซึ่งไปครองเมืองราดให้ทราบข่าว แล้วรวมกำลังกันขับไล่ขอมสมาดโขลญลำพง พ่อขุนผาเมืองยึดได้เมืองสุโขทัย พ่อขุนบางกลางหาวยึดได้เมืองศรีสัชนาลัย พ่อขุนผาเมืองได้แสดงน้ำใจตอบแทนพระสหายที่ช่วยกอบกู้ราชธานี โดยยกเมืองสุโขทัยให้ครอบครอง ทั้งยังมอบสิ่งมีค่าอีก ๒ สิ่งเสริมเกียรติพระสหาย คือ พระขรรค์ชัยศรีและพระนามศรีอินทรปตินทราทิตย์ ที่ได้รับพระราชทานจากพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ส่วนตัวเองไปครองเมืองศรีสัชนาลัย ซึ่งเป็นเมืองรอง

นอกจากจะไม่ได้กล่าวพระนามนางเสืองในตอนนี้แล้ว พระนามของพระนางยังไม่ได้ถูกกล่าวถึงในที่อื่นอีก นอกจากที่พ่อขุนรามคำแหงทรงจารึกไว้เท่านั้น จึงไม่ปรากฏว่าพระนางเป็นใคร มาจากไหน สันนิษฐานกันแต่ว่าพระนางเป็นพระธิดาของพ่อขุนศรีนาวนำถม และเป็นพระพี่นางของพ่อขุนผาเมือง
 
เมื่อครั้งที่กระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับมูลนิธิศาลาเฉลิมกรุงและมูลนิธินักแสดงอาวุโส ได้ร่วมกันจัดแสดงละครอิงประวัติศาสตร์เรื่อง “นางเสือง” เนื่องในโอกาสมหามงคลวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๕ พรรษาพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ๕ ธันวาคม ๒๕๕๕ และเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรม อาจารย์สมภพ จันทรประภา ผู้ประพันธ์บท ได้สันนิษฐานเรื่องราวของนางเสืองว่าน่าจะอยู่เบื้องหลังของการกอบกู้กรุงสุโขทัยครั้งนี้ด้วย จึงผูกเป็นเรื่องราวไว้ว่า ขณะเมื่อขอมสบาดโขลญลำพงยึดเมืองสุโขทัยนั้น นางเสืองก็อยู่กับพระบิดา จึงได้หนีออกจากเมืองไปพึ่งพ่อขุนบางกลางหาวที่เมืองบางยาง ซึ่งอยู่แถวอำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลกในปัจจุบัน ส่วนพระอนุชา คือพ่อขุนผาเมืองอยู่เมืองราด ไกลออกไปแถวเมืองศรีเทพในจังหวัดอุตรดิตถ์ เล่าเรื่องที่เห็นคนไทยถูกขอมข่มเหงรังแก จึงไปชวนพ่อขุนผาเมืองให้มาร่วมกันตีเอาเมืองสุโขทัยคืน แม้นางสิขรเทวีพยายามทัดทานก็ไม่ฟัง เมื่อตีเมืองสุโขทัยได้ พ่อขุนผาเมืองซึ่งเป็นพระราชบุตรเขยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ เห็นว่าตัวเองไม่สมควรจะขึ้นครองเมือง จึงได้ยกเมืองให้กับพ่อขุนบางกลางหาว แล้วให้เสกสมรสกับนางเสือง พระพี่นาง พร้อมยกพระนามศรีอินทรบดินทราทิตย์ที่ได้รับพระราชทานจากพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ให้เพื่อใช้เป็นยันต์กันขอม จากที่ประวัติศาสตร์บันทึกไว้แค่ “แม่กูชื่อนางเสือง” เท่านั้น

ในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ของกรุงสุโขทัยซึ่งเป็นมรดกโลกทางความทรงจำ มีข้อความตอนหนึ่งจารึกว่า

“เบื้องหัวนอนเมืองสุโขทัยนี้ มีกุฎีพิหารปู่ครูอยู่ มีสรีดภงส มีป่าพร้าว ป่าลาง มีป่าม่วง ป่าขาม มีน้ำโคก มีพระขพุงผี เทวดาในเขาอันนั้น เป็นใหญ่กว่าทุกผีในเมืองนี้ ขุนผู้ใดถือเมืองสุโขทัยนี้แล้ ไหว้ดีพลีถูก เมืองนี้เที่ยง เมืองนี้ดี ผิไหว้บ่ถูก ผีในเขาอันบ่คุ้ม บ่เกรง เมืองนี้หาย”

เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๕๕ จอมพลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ ได้เสด็จไปสำรวจเมืองสุโขทัย ทรงบุกป่าไปที่เขาเล็กๆลูกหนึ่งสูงประมาณ ๓๐ เมตร ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของกรุงสุโขทัย ห่างตัวเมืองออกไปประมาณ ๑๕ กม. ได้พบเทวรูปองค์หนึ่งทำด้วยหินสีเขียว สูงประมาณ ๑.๓๐ เมตร เป็นรูปผู้หญิงไม่สวมเสื้อ ใบหน้าลักษณะเป็นรูปไข่ดูเป็นคนแก่ บนศีรษะมีกรวยซ้อนขึ้นไป ๔ ชั้น มีเครื่องประดับห้อยอยู่ที่ใบหูทั้ง ๒ ข้างและรัดอยู่ที่ข้อมือกับต้นแขนที่ห้อยลงมาแนบกายทั้ง ๒ ข้าง นุ่งผ้ากรอมเท้า ห้อยชายซ้อนลงมา ๓ ชั้น ทรงเชื่อว่าเทวรูปนี้เป็น “เทวดาในเขาอันนั้น เป็นใหญ่กว่าทุกผีในเมืองนี้” ซึ่งเรียกว่า “พระขพุงผี” ทรงดำริว่าหากปล่อยทิ้งไว้คงสูญหาย จึงโปรดให้ให้นำไปเก็บรักษาไว้ที่ศาลากลางจังหวัดสุโขทัย
ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๙๖ เมื่อมีการบูรณะตกแต่งจังหวัดสุโขทัยครั้งใหญ่ จึงได้สร้างศาลขึ้นแล้วอัญเชิญเทวรูปที่สมเด็จฯเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถทรงพบนี้ มาประดิษฐานไว้ในศาล เมื่อชาวเมืองสุโขทัยมาเคารพกราบไหว้ได้เห็นใบหน้าของเทวรูป ก็พากันเรียกว่า “แม่ย่า” ด้วยเชื่อว่าเป็น “นางเสือง” และภูเขาที่พบเทวรูปก็เรียกกันว่า “เขาแม่ย่า” ไปด้วย

“นางเสือง” นอกจากจะเป็นสตรีไทยคนแรกที่ถูกจารึกชื่อไว้ในประวัติศาสตร์แล้ว จึงเป็น “แม่” คนแรกที่มหาราชพระองค์แรกของไทยประกาศพระนามไว้ว่าเป็น “แม่กู”




กำลังโหลดความคิดเห็น