xs
xsm
sm
md
lg

สู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืนของ “ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย” ‘เพียงจิต ศรีประสาธน์’ หัวเรือฝ่ายทรัพยากรบุคคลและบรรษัทสัมพันธ์ เผยค่านิยมองค์กรตัวช่วยขับเคลื่อนธุรกิจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นการร่วมธุรกิจระหว่างบริษัทซันโทรี่กับเป๊บซี่โค ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2561 ปัจจุบันดำเนินธุรกิจมาเป็นระยะเวลามากกว่า 4 ปี

โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทางบริษัทได้ดำเนินธุรกิจประสบความสำเร็จอย่างมาก หนึ่งในนั้นก็ด้วยกลยุทธ์ในการบริหารคนในองค์กร รวมทั้งการมีวัฒนธรรมองค์กรที่ทันสมัยและยั่งยืน ซึ่งนำทัพโดย คุณเพียงจิต ศรีประสาธน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายทรัพยากรบุคคลและบรรษัทสัมพันธ์ บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ “SPBT”

คุณเพียงจิต ศรีประสาธน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายทรัพยากรบุคคลและบรรษัทสัมพันธ์ บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด
“เราไม่ต้องการประสบความสำเร็จในการดูแลธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่เราต้องดูแลพนักงาน ดูแลสังคม รวมถึงสิ่งแวดล้อมด้วย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายทรัพยากรบุคคลและบรรษัทสัมพันธ์ “SPBT” ตอกย้ำถึงความสำเร็จตลอดระยะเวลากว่า 4 ปี ที่ผ่านมาว่า ไม่เพียงแต่ธุรกิจที่ต้องเติบโตเพียงเท่านั้น แต่การปรับวัฒนธรรมองค์กรให้สอดคล้องกับธุรกิจก็เป็นสิ่งสำคัญ”

“2 ปีที่ผ่านมา เกิดสถานการณ์โควิด เป็นช่วงที่ท้าทายมากในการดำเนินธุรกิจ เราได้นึกถึงหลักบรรษัทภิบาลในการดูแลพนักงาน ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เราดูแลพนักงานในเรื่องสวัสดิการ จัดเตรียมวัคซีน โดยซื้อวัคซีนให้กับพนักงานทุกคน ทั้งพนักงานประจำและพนักงาน outsource แม้กระทั่งพนักงานขนส่งที่เข้ามาส่งของ จัดซื้อทั้งหมด 10,000 โดส ซึ่งเราต้องการให้ความเชื่อมั่น มั่นใจ และทุกคนเกิดความปลอดภัย เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ของทางบริษัทส่งมอบถึงมือผู้บริโภคด้วยความปลอดภัย โดยใช้งบประมาณเป็นจำนวนกว่า 35 ล้านบาท หลังจากวัคซีน 2 เข็มแล้ว ยังมีการซื้อวัคซีนเข็มที่ 3 ใช้งบประมาณกว่า 5 ล้านบาท รวมถึงการตรวจ RT-PCR การแจกหน้ากากอนามัย การแจก ATK สัปดาห์ละ 1 ครั้ง การจัดเตรียมอาหารราคาถูกลงให้กับพนักงานในโรงงาน 2 มื้อ เป็นต้น โดยเราดูแลให้กับพนักงานทั้งหมด”

“นอกจากนี้แล้วยังมีโครงการ CSR ต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น การจัดทำโครงการ ‘น้อนบู้บี้ช่วยพี่หมอ’ ที่ได้ช่วยเหลือทั้งสังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กัน, การส่งมอบผลิตภัณฑ์น้ำดื่มอควาฟิน่าและ แบรนด์ซุปไก่ฯ ให้กับโรงพยาบาลสนามทั่วประเทศ, ช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ด้วยการมอบเงินบริจาคกว่า 3 ล้านบาทและสินค้าเครื่องดื่มแก่โรงพยาบาล 4 แห่งที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ได้แก่ โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลศิริราช และสถาบันบำราศนราดูร, ร่วมสนับสนุนภารกิจสู้วิกฤตโควิด-19 ของบุคลากรทางการแพทย์ โดยการส่งมอบเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว 2,000 เครื่อง ชุดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) 600 ชุด น้ำดื่มบรรจุขวดอควาฟิน่า 201,900 ขวด และขนมขบเคี้ยวเลย์ 210 ลัง รวมมูลค่าประมาณ 4 ล้านบาท ให้แก่โรงพยาบาลสนาม 59 แห่ง ใน 16 จังหวัด เป็นต้น ซึ่งเป็นการตอกย้ำการดำเนินธุรกิจที่ไม่ได้ส่งผลเฉพาะการทำธุรกิจ แต่เรายังให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยส่งต่อกลับไปให้กับสังคมที่เราอยู่ด้วย”




“ทั้งนี้ทั้งนั้นการขับเคลื่อนธุรกิจดังกล่าวจะไม่สามารถบรรลุตามเป้าหมายได้เลย หากพนักงานไม่ให้ความร่วมมือ ประพฤติปฏิบัติ และดำรงค่านิยมขององค์กร (Suntory Leadership Spirit) ทั้ง 5 ข้อ ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ และเป็นส่วนช่วยผลักดันให้บรรษัทบรรลุวิสัยทัศน์ กลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายทรัพยากรบุคคลและบรรษัทสัมพันธ์ SPBT กล่าว

โดยค่านิยมขององค์กร (Suntory Leadership Spirit) 5 ข้อ ของบริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด เกิดขึ้นและเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม เมื่อต้นปี พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา ในรูปแบบการจัดทำโปสเตอร์ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ การจัดเวิร์คช้อป การเทรนนิ่ง มีการทำ Pre-Survey Post-Survey เพื่อให้พนักงานได้เข้าใจค่านิยมขององค์กรทั้ง 5 ข้อ ตรงกัน

ทักษะผู้นำของซันโทรี่ (Suntory Leadership Spirit) 5 ข้อ มีดังนี้



1. Yatte Minahare การมีจิตวิญญาณของผู้กล้าลงมือทำ ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มุ่งมั่น และไม่เคยยอมแพ้ มีพลังที่จะขับเคลื่อนและทุ่มเท คิดทำสิ่งใหม่ ๆ เพื่อส่งมอบผลลัพธ์ที่มีคุณค่าและสร้างสรรค์ รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมผ่านการทดลอง ด้วยการลงมือปฏิบัติและเรียนรู้จากความสำเร็จและความล้มเหลวไปพร้อมกัน

“สิ่งที่เราต้องการเห็นจากพนักงานคือ ความกล้าลงมือปฏิบัติเลยโดยไม่รอช้า ไม่ลังเล เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว ตลอดจนการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ คิดวิเคราะห์หาวิธีการ หาแนวทางแก้ไขปัญหาในเชิงสร้างสรรค์ รวมถึงการเรียนรู้จากความผิดพลาด มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ดียิ่งขึ้น”

2. มุ่งเน้นหลักการ Gemba Gemba Focused
คือ การยึดมั่นปฏิบัติตามหลักการ Gemba เพื่อให้เข้าถึงและเข้าใจความต้องการของผู้บริโภค (consumer) ลูกค้า (customer) และ เพื่อนร่วมงาน (colleague) อย่างแท้จริง รวมทั้งแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ในการสร้างสรรค์ พัฒนา และส่งมอบสิ่งที่มีคุณค่าให้แก่พวกเขา

“ในฐานะที่เราเป็นผู้บริหาร ถ้าเราทำงานอยู่แค่ในออฟฟิศ เราจะไม่รู้ปัญหาหน้างานเลยถ้าเราไม่เคยลงไปพบปะพนักงาน การที่เราลงหน้างานจะได้เห็น ได้พูดคุย ได้เข้าใจว่าพนักงานต้องการอะไร ไม่ว่าในเชิงผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ผลิตภัณฑ์ขาดหรือเปล่าในเชิงการผลิต และความต้องการของพนักงานว่าทำอย่างไร จะให้พนักงานเกิดความรักความผูกพันธ์และทำงานร่วมกับเรา เพราะว่าถ้ามีคนเข้าออกตลอดเวลา ธุรกิจก็ไม่สามารถดำเนินได้อย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นสิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญ”

“เราได้ไปเยี่ยมชมร้านค้าซึ่งจะได้เห็นว่าพนักงานของเราเสิร์ฟความต้องการของลูกค้าได้มากน้อยแค่ไหน การลงพื้นที่ทำให้ได้เห็นการทำงานในทุก ๆ ส่วน ซึ่งขณะที่เราอยู่ในส่วนนี้ เราต้องซัพพอร์ตอะไรยังไงบ้าง เพื่อเข้าไปถึงจะได้เห็นความต้องการทั้งผู้บริโภค ลูกค้า และพนักงาน เช่น ผู้บริโภคชอบผลิตภัณฑ์ตัวไหน ตัวไหนขายดี ตัวไหนมีสต็อก ตัวไหนขาดสต็อก เดินตามร้านค้าร้านอาหารก็จะทำให้เราเข้าใจ ซึ่งตรงนี้จะเป็นมุมหนึ่งที่ทำให้ได้คิด ได้หาช่องทางโอกาสใหม่ ๆ ซึ่งถ้าเรานั่งอยู่ในออฟฟิศอย่างเดียว เราอาจจะไม่ได้ทราบเลย ดังนั้นในทุกเดือนผู้บริหารจะลงไปที่โรงงานเพื่อสัมผัสกับพนักงานในฝ่ายการผลิตว่าเขาต้องการอะไรบ้าง”

3. Better Together ร่วมมือร่วมใจเพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จร่วมกัน
ปฏิบัติงานด้วยความร่วมมือกับบุคคลอื่นทั้งที่อยู่ในแผนกเดียวกันและต่างแผนก เพื่อสนับสนุนให้เกิดมุมมองที่แตกต่างและมีความหลากหลาย รวมถึงสร้างให้เกิดวัฒนธรรมการยอมรับความแตกต่าง ตลอดจนการทำงานโดยไม่คำนึงถึงลำดับขั้นที่กำหนดไว้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานโดยรวมของทีมให้ดียิ่งขึ้น

“เราจะทำยังไงให้พนักงานของเราทำงานร่วมกัน เราเน้นการทำงานร่วมกันเป็นทีม ทุกคนจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ตัวแทนของทุกฟังก์ชั่นจะต้องเข้ามาร่วมกิจกรรมของบริษัท ตรงนี้เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย Diversity and Inclusion (D&I) ซึ่งเป็นการระดมสมอง หารือ สร้างสรรค์ความหลากหลายให้เราได้เห็นความแตกต่าง ซึ่งความแตกต่างจะนำมาซึ่งสิ่งใหม่ ๆ ไอเดียใหม่ ๆ และทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม อีกทั้งยังเป็นการสร้างบรรยากาศในการทำงาน สร้างบรรยากาศในการดำเนินกิจกรรม สร้างบรรยากาศในการดำเนินธุรกิจ เพื่อสนับสนุนความสำเร็จร่วมกัน”


4. มุ่งสู่อนาคต Future Oriented คาดการณ์ความเป็นไปได้ต่าง ๆ ในอนาคต และเปิดรับมุมมองใหม่ ๆ สร้างสมดุลให้เกิดขึ้นระหว่างการสร้างความสำเร็จ ความต้องการระยะสั้นและมุมมองในระยะยาว ตลอดจนการพัฒนาแผนงานที่เหมาะสมตามวิสัยทัศน์ของซันโทรี่ เป๊ปซี่โค “Growing for Good” เติบโตอย่างยั่งยืน

“พนักงานทุกคนมีความมุ่งมั่น ผลักดัน ให้ธุรกิจสอดคล้องกับความต้องการของตลาดในอนาคต เป็นไปตามเป้าหมายขององค์กร ยกตัวอย่าง เช่น ดูความต้องการของผู้บริโภคในอนาคตว่าเขาต้องการอะไร เพื่อที่เราจะได้รังสรรค์และนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ที่ไม่ใช่แค่วันนี้เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงอนาคตด้วย”

“ในทุก ๆ ปีเราจะทำการเซ็ตกลยุทธ์องค์กร ซึ่งกลยุทธ์องค์กรจะบาลานซ์ทั้งระยะสั้นและระยะยาว เราจะเน้นการเติบโตจากภายใน (Organic Growth) เราจะไม่เน้นว่าพรุ่งนี้ประสบความสำเร็จ แต่อาจจะไม่ตอบสนองในระยะยาว เพราะฉะนั้นเวลาเราคิดการทำกลยุทธ์ไม่ว่าจะเป็น course function ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของการขาย การตลาด การเงิน การผลิต และพนักงาน เราจะคิดเสมอว่าจะตอบโจทย์เฉพาะระยะสั้น หรือตอบโจทย์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ที่เราเรียกว่า Organic Growth และ Sustainable Growth ซึ่งพนักงานที่จะมาทำงานร่วมกับเราต้องมีความมุ่งมั่นและสามารถประพฤติปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งไม่ใช่แค่คิดแล้ว ปฏิบัติแล้ว แต่เรายังมีการอัปเดต ทบทวนกลยุทธ์ต่าง ๆ ด้วยว่าตอบสนองกับความต้องการหรือไม่ด้วย”

5. มุ่งมั่นสู่การเติบโต Commitment to Growth
มุ่งมั่นที่จะพัฒนาตนเองและบุคคลอื่นให้มีความเจริญก้าวหน้า เติบโตแบบองค์รวมในระยะยาว ตลอดจนสร้างความสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัว และความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายองค์กร

“เพราะทุกคนมีความมุ่งมั่นที่จะประสบความสำเร็จ และความก้าวหน้าทางอาชีพ ไม่ใช่ธุรกิจจะประสบความสำเร็จได้อย่างเดียวแต่พนักงานก็ต้องเติบโต ทุกคนต้องพัฒนาศักยภาพ ทั้งเพื่อนร่วมงานและทุกภาคส่วนเพื่อเติบโตขึ้นไปร่วมกัน ซึ่งเป็นความมุ่งมั่นของพนักงานทุกคน ทุกคนสามารถให้ไอเดีย ให้คำแนะนำเพื่อนร่วมงาน เพื่อความสำเร็จร่วมกันในอนาคต”

“อีกทั้งเรายังเน้นการสร้างความสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัว และความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ที่ผ่านมาเรามี Flex schedule เวลาการเข้าทำงานเฉลี่ยอยู่ที่ 10.00-16.00 น. มี Flex Friday โดยวันศุกร์ครึ่งวันหลังพนักงานสามารถใช้เวลาไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ มี Flex place ที่ก่อนหน้านี้มีการ Work from Home ซึ่งตอนนี้เราก็กำลังศึกษาเรื่อง Hybrid Working Place อยู่ เป็นต้น”

“ทักษะผู้นำของซันโทรี่ (Suntory Leadership Spirit) 5 ข้อ ที่กล่าวมานี้ ถือเป็นความท้าทายอย่างมาก เพราะหน้าที่ของเรา คือ ทำยังไงให้พนักงาน 1,000 คน เข้าใจ และเป็นไปได้ในอนาคต ถ้าเราสามารถนำวัฒนธรรมนี้ไปใช้กับคนที่ทำงานให้เราแต่ไม่ได้เป็นพนักงานในองค์กรของเราได้ด้วย มันจะยิ่งส่งผลดีมาก ๆ” คุณเพียงจิต กล่าวด้วยรอยยิ้ม


แม้จะทำงานมาไม่ต่ำกว่า 25 ปี แต่ในฐานะหัวเรือฝ่ายทรัพยากรบุคคลและบรรษัทสัมพันธ์ ก็ยอมรับว่า สิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้ค่อนข้างท้าทาย เพราะการดูแลคนเป็นทักษะอีกอย่างหนึ่งที่ต้องคิดแทนได้ว่าพนักงานในองค์กรเขาคิดอย่างไร

“ความท้าทายในการบริหารคน ณ วันนี้ คือ เราจะทำยังไงให้พนักงานเห็นคุณค่าในสิ่งที่บริษัทได้ลงทุนและได้ให้สัญญาว่าจะดูแลเขาเป็นอย่างดี ซึ่งต้องบอกว่าเราประสบความสำเร็จอย่างมากทีเดียวค่ะ โดยอัตราการว่าจ้างงานของบริษัทจากการสำรวจ ในระยะเวลาที่เปิดบริษัทมา 4 ปี เฉลี่ยอยู่ที่ 88-91 % ถือว่าค่อนข้างสูงเลยทีเดียว ขณะเดียวกันอัตราการลาออกถ้าเทียบกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุปโภคบริโภค ของเราจะอยู่ที่ 5-6% ถือว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำเมื่อเทียบกับตลาด แม้ว่าปีนี้อาจจะสูงขึ้นกว่าทุกปี แต่ก็ยังถือว่าต่ำกว่าตลาดอยู่ค่ะ”

เหตุใดที่ทำให้อัตราการลาออกของพนักงานเป็นตัวเลขที่ต่ำ? เราโยนคำถามให้หัวเรือฝ่ายทรัพยากรบุคคลและบรรษัทสัมพันธ์

“เพราะความรักความผูกพันธ์ของพนักงานที่มีต่อองค์กรค่อนข้างสูง”
คุณเพียงจิตตอบอย่างรวดเร็ว

“หลัก ๆ เลย คือ หนึ่ง ผู้บริหารทุกคนและเพื่อนพนักงานรับฟังความคิดเห็น เราเปิดกว้าง เวลาทำงานเราไม่ได้ยึดความคิดของใครคนใดคนหนึ่ง เราจะมี town hall ที่ให้พนักงาน 1,000 คน สามารถแสดงความคิดเห็น และให้ข้อเสนอแนะกับบริษัทฯ ได้ โดยเป็นการสื่อสารสองทาง (Two – Way Communication) ซึ่งต้องบอกว่าองค์กรเรามีความหลากหลายของพนักงานนะคะ เราจะบาลานซ์ทั้งผู้หญิงผู้ชาย ซึ่งเมื่อเรามีความหลากหลายทั้งเพศ อายุ การที่เราได้ระดมสมองเราจะเห็นมุมมองที่ต่างกันออกไป”

“สอง เราเป็นบริษัทแรกเลยที่ซื้อวัคซีนให้ทั้งพนักงานประจำและ subcontract ด้วย ซึ่งเขารู้สึกภูมิใจที่เราดูแลสังคม ขณะเดียวกันเราก็มีโครงการ CSR ที่ทำให้เขารู้สึกว่าเราแคร์โลกที่อยู่ ไม่ใช่แค่ทำธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่เรายังส่งต่อกลับไปให้กับสังคมที่เราอยู่ด้วย”

“ที่ผ่านมาเราไม่มีการปรับลดคน มีแต่เพิ่มคนตลอดเวลา อย่างครึ่งปีแรกเราเสนอคนข้างนอกให้มาร่วมงานกับเรา ตัวเลขที่ตอบรับกลับมาจะอยู่ที่ 93-94% ถือว่าสูงทีเดียว หรือคนที่เคยลาออกไปแล้วอยากกลับมาทำงานด้วย เพราะเขาบอกว่าบริษัทเราดูแลคนดีจริง ๆ หลายคนที่ออกไปอยากกลับมา เพราะที่นี่คือความอบอุ่น ที่นี่เหมือนมาบ้านหลังที่สอง พนักงานอยากได้อะไรถ้าเป็นไปได้ ถ้าเหมาะสมเราก็จะทำให้ เท่าที่เราจะให้ได้ค่ะ”


มองว่าค่านิยมองค์กรทั้ง 5 ข้อนี้ จะตอบโจทย์หรือทำให้เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างไร?

“เราต้องการคนที่กล้าลงมือทำ ไม่ลังเล มีความคิดสร้างสรรค์ มีการศึกษาหาข้อมูล เข้าใจความต้องการของผู้บริโภค ลูกค้า และเพื่อนร่วมงาน สามารถทำงานเป็นทีมได้ พัฒนาตัวเองตลอดเวลาและพัฒนาเพื่อนร่วมงานไปด้วย”

“สิ่งที่เราทำวันนี้เราต้องตั้งคำถามกับตัวเองเหมือนกันนะคะว่า สิ่งนี้จะตอบโจทย์เป้าหมายในอนาคตหรือเปล่า ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคและลูกค้าในอนาคตหรือเปล่า แต่เรามองว่าพนักงานในองค์กรของเราแม้ว่าวันนี้เขาจะเติบโตในองค์กร แต่ต่อไปในอนาคต เราคิดว่าบุคลากรของเราก็จะเป็นที่ต้องการของตลาดเหมือนกัน”

“ต้องบอกว่าส่วนตัวชอบมาก ๆ กับค่านิยมองค์กร (Suntory Leadership Spirit) 5 ข้อ ที่ทางบริษัทแม่คิดขึ้นมา และได้เปิดตัวออกมา เพราะเป็นสิ่งที่ทันสมัย ซึ่งไม่ใช่แค่ตอบสนอง ณ ปัจจุบัน แต่ยังสามารถตอบสนองความต้องการในอนาคตได้อีกด้วย ซึ่งทั้ง 5 ข้อนี้สามารถนำไปใช้ได้เรื่อย ๆ ใช้ได้ตลอดค่ะ”


กำลังโหลดความคิดเห็น