ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ทรงส่งพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการไปศึกษาที่ยุโรปจำนวนมาก คนหนุ่มเหล่านั้นเมื่อได้เห็นระบบการปกครองของยุโรป ก็ได้ร่วมกันกราบทูลถวายความเห็นอยากให้มีการปฏิรูปการปกครองของเราให้เป็นระบอบประชาธิปไตยทันสมัยขึ้นบ้าง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงรับฟัง และทรงปูพื้นฐานอย่างค่อยเป็นค่อยไปทีละน้อย
เริ่มแรกในวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๔๑๗ โปรดเกล้าฯให้ตั้งคณะที่ปรึกษาขึ้น ๒ คณะ คือ ที่ปรึกษาราชการในพระองค์ เรียกว่า Privy Council และที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน Council of State ทรงมีพระราชดำริให้ที่ปรึกษาทั้ง ๒ คณะนี้เป็นสถาบันทางการเมืองที่ทำหน้าที่สำคัญ ๒ ประการ คือ ให้มีอำนาจที่จะขัดขวางพระเจ้าแผ่นดินได้ในเรื่องที่มีพระราชดำริเป็นการไม่ยุติธรรม อันจะทำให้ราษฎรเดือดร้อน อีกประการหนึ่ง Council of State จะทำหน้าที่ถวายคำปรึกษาต่างๆที่จะเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง
นอกจากนี้ยังทรงปูพื้นฐานไปสู่ประชาธิปไตยด้วยการให้ประชาชนในหมู่บ้านเลือกตั้งคนในหมู่บ้านของตนขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่บ้าน แล้วให้ผู้ใหญ่บ้านเลือกตั้งกันเองเป็นกำนัน เป็นก้าวแรกของการเริ่มระบอบประชาธิปไตยภาคประชาชน
การเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านครั้งแรกได้เริ่มขึ้นในวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๔๓๕ ที่อำเภอบางปะอิน ซึ่งตอนนั้นยังมีชื่อว่าแขวงอุไทยน้อย ต่อมาเปลี่ยนเป็นอำเภอพระราชวัง ก่อนจะมาเป็นอำเภอบางปะอินในปัจจุบัน ผลการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านคนแรกได้แก่ ขุนวรกิจพิศาล (จำรัส รัตนกุล) ซึ่งเป็นผู้รักษาพระราชวังบางปะอินนั่นเอง ทั้งยังได้รับเลือกให้เป็นกำนัลคนแรกของประเทศไทยด้วย ผู้ใหญ่บ้านและกำนันคนแรกนี้ ปรากฏว่ามีความสามารถจนรุ่งโรจน์ถึงขั้นต่อมาได้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดและสมุหเทศาภิบาลมณฑล
ในปีแรกที่ได้เป็นกำนัน ขุนวรกิจพิศาลก็ได้รับโปรดเกล้าฯเลื่อนขึ้นเป็นหลวงราชภพน์บริหาร ตำแหน่งเจ้ากรมรักษาพระราชวังบางปะอิน และเมื่อมีการตั้งที่ว่าการอำเภอบางปะอินขึ้นที่ใกล้พระราชวังบางปะอิน กรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา เห็นว่าหลวงราชภพน์บริหารประจำอยู่ที่พระราชวังบางปะอินแล้ว ก็เลยให้รับตำแหน่งนายอำเภอไปอีกตำแหน่ง แม้เจ้าตัวไม่อยากจะรับกลัวว่างานมากไปจะทำได้ไม่ดี ต้องอ้อนวอนกันจึงยอมรับ แล้วก็ปรากฏว่างานทุกอย่างเรียบร้อย
ต่อมาในปี ๒๔๓๙ ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทองว่างลง กรมขุนมรุพงศ์ฯทรงเห็นว่าหลวงราชภพน์บริหารมีความสามารถยิ่งกว่าจะเป็นนายอำเภอ จึงกราบทูลขอไปรักษาการราชการจังหวัดอ่างทอง หลวงราชภพน์ฯก็ไม่อยากไปอีก แต่ก็ขัดรับสั่งไม่ได้ รั้งราชการอยู่ ๑ ปีมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ จึงโปรดเกล้าฯเลื่อนขึ้นเป็นพระยาวิเศษไชยชาญ ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง
พอถึงปี ๒๔๔๒ ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรีว่างลง จังหวัดราชบุรีนั้นเป็นที่ว่าการมณฑล ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดมีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยและผู้แทนสมุหเทศาภิบาลมณฑลด้วย ทรงพระราชดำริว่าพระยาวิเศษไชยชาญนั้นเป็นผู้สันทัดแบบแผนวิธีการปกครองที่ทรงตั้งขึ้นใหม่ จึงโปรดเกล้าฯให้ย้ายไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี และเลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็นพระยาอมรินทรฤาไชย
พระยาอมรินทรฤาไชยเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรีอยู่ ๖ ปี เจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศ บุนนาค) กราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลราชบุรีเพราะชราภาพ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯเลื่อนพระยาอมรินทรฤาไชยขึ้นเป็นสมุหเทศามณฑลราชบุรี
รับตำแหน่งใหม่มาได้ปีเศษ พระยาอมรินทรฤาไชยก็ปรารถว่ามณฑลราชบุรีเป็นมณฑลใหญ่เกินความสามารถของตัว ทำงานได้ไม่เหมือนเมื่อครั้งเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ จะขอย้ายไปสนองพระเดชพระคุณตามความสามารถ จึงโปรดเกล้าฯให้ย้ายไปเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลนครสวรรค์
พระยาอมรินทฤาไชยรับราชการที่มณฑลนครสวรรค์ ๖ ปีได้รับพระราชทานพานทองเครื่องยศ แต่เมื่อปลายรัชกาลเกิดป่วยเป็นโรคกระเพาะอาหาร ลาราชการไปรักษาอยู่ระยะหนึ่ง พอกลับมาทำงานก็ป่วยอีกเห็นว่าจะทำงานต่อไปไม่ไหว จึงกราบบังคมทูลลาออกจากราชการในปี ๒๔๕๒
ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ พระยาอมรินทรฤาไชยมีสุขภาพดีขึ้นจึงสมัครเข้าเป็นเสือป่า และมีหน้าที่ดูแลสมาชิกกองนอก ซึ่งเป็นพวกพ้นวัยฉกรรจ์ด้วยกัน ในปี ๒๔๖๒ เมื่อมีพระราชบัญญัติใช้นามสกุล ทรงพระกรุณาพระราชทานราชทินนามพระยาอมรินทรฤาไชยใหม่ เป็น “พระยารัตนกุลอดุลยภักดี” และเป็นต้นสกุล “รัตนกุล”
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ผู้ทรงเลือกขุนวรกิจพิศาลไปเป็นผู้รักษาพระราชวังบางปะอิน เล่าไว้ว่า
“ข้าพเจ้านึกไม่ได้ว่าเคยได้ยินผู้ใดนินทาว่าใส่ร้ายพระยารัตนกุลฯ ได้ยินแต่สรรเสริญทุกแห่ง ยังจำได้อยู่เรื่อง ๑ เมื่อแรกพระยารัตนกุลฯขึ้นไปเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลนครสวรรค์ ต่อมาไม่ช้าข้าพเจ้าขึ้นไปตรวจราชการหัวเมืองเหนือ ครั้งนั้นยังไม่มีทางรถไฟต้องไปทางเรือ พอเข้าเขตมณฑลนครสวรรค์ข้าพเจ้าไต่ถามพวกพ่อค้าราษฎรที่พบปะในรายทาง ว่าเทศาคนใหม่เป็นไงบ้าง พากันบอกว่ายังไม่รู้จักแต่ได้ยินว่าท่านเป็นคนใจดี ดังนี้โดยมาก ครั้นใกล้จะถึงเมืองนครสวรรค์ พบผู้ที่ได้รู้จักพระยารัตนกุลฯ พากันบอกว่าท่านใจดีไม่ถือตัว ใครมีทุกข์ร้อนจะไปมาหาสู่เมื่อไรก็ได้ ดังนี้ เมื่อไปถึงจวนเทศาข้าพเจ้าเห็นฆ้องแขวนอยู่ที่ประตูรั้วใบ ๑ มีหนังสือเขียนปิดป้ายไว้ว่า “ถ้าใครมีทุกข์ร้อนอยากจะพบข้าหลวงเทศาภิบาลเมื่อใดก็ได้ ถ้าเปนเวลาค่ำคืนปิดประตูบ้านแล้ว ให้ตีฆ้องใบนี้เป็นสำคัญ” ข้าพเจ้าเห็นเข้าก็เข้าใจว่า พระยารัตนกุลฯได้ความคิดมาแต่อ่านศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง ได้ถามว่ากลางคืนมีคนมาตีฆ้องบ่อยๆอยู่ฤา บอกว่าเปล่า ตั้งแต่แขวนฆ้องแล้วยังไม่มีใครมาตีเลยแม้แต่คนเดียว ถึงกลางวันก็มิใคร่มีใครไปรบกวนเท่าใด นึกดูก็ปหลาด เพียงแต่ทำให้เกิดอุ่นใจว่าจะหาผู้ใหญ่เมื่อใดหาได้ เท่านี้ก็มีผล”
วันที่ ๑๐ สิงหาคม กระทรวงมหาดไทยกำหนดให้เป็น “วันกำนันผู้ใหญ่บ้าน” จึงขอรำลึกถึงกำนันผู้ใหญ่บ้านคนแรก ที่เจริญรอยตามแบบอย่างพ่อขุนรามคำแหง ที่ให้ความอุ่นใจกับราษฎร เข้าร้องทุกข์ได้ทุกเวลา