กรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น ถือได้ว่าเป็นแผ่นดินอินเตอร์ มีชาวต่างชาติต่างภาษาทั้งยุโรปและเอเชียเข้ามาเดินกันขวักไขว่ แต่คนยุโรปนั้นมักจะมาอย่างวางอำนาจบาตรใหญ่หวังจะยึดครองประเทศไทยกันทั้งนั้น ด้วยเหตุเป็นแหล่งอุดมสมบูรณ์ด้วยสินค้าที่เป็นผลิตผลจากป่า เช่น นอแรด งาช้าง เขากวาง หนังสัตว์ต่างๆ และพืชสมุนไพรเช่นไม้หอม เครื่องเทศเช่นพริกไทย ลูกกระวาน เร่ว คลั่ง ยางรัก ยางสน กำยาน เป็นต้น อีกทั้งยังเป็นที่รวมของสินค้าจากดินแดนที่อยู่ลึกเข้าไปถึงล้านนา ลาว และเขมร
ฝรั่งชาติแรกที่เข้ามาก็คือโปรตุเกส เมื่อมายึดเมืองมะละกาได้แล้ว โปรตุเกสก็ได้ส่งทูตเข้ามาในปี พ.ศ.๒๐๕๔ ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ และยังนำทูตของกรุงศรีอยุธยาไปเฝ้าพระเจ้ากรุงโปรตุเกสด้วย ต่อมาทำสนธิสัญญาอนุญาตให้โปรตุเกสเข้ามาค้าขายในกรุงศรีอยุธยาได้ ในปี พ.ศ.๒๐๘๑ สมเด็จพระไชยราชาธิราชทำสงครามครั้งแรกกับพม่า ปรากฏว่ามีชาวโปรตุเกสซึ่งเข้ามาค้าขาย ๑๓๐ คนอาสาเอาปืนไฟไปช่วยรบถึง ๑๒๐ คน เมื่อได้ชัยชนะกลับมาจึงพระราชทานที่ดินให้ตั้งบ้านเรือน ทั้งทรงอนุญาตให้สร้างวัดสอนศาสนาได้ จึงเริ่มมีโบสถ์คริสต์ศาสนาขึ้นในเมืองไทยเป็นครั้งแรก ในระยะนั้นโปรตุเกสครองการค้าในกรุงศรีอยุธยาได้ทั้งหมด
สเปนซึ่งเป็นเจ้าทะเลในยุคนั้น เป็นอีกชาติหนึ่งที่แผ่อิทธิพลเข้ามาในย่านตะวันออก เมื่อยึดฟิลิปปินส์ได้สเปนก็คืบเข้ามาที่เขมร หวังจะให้เป็นแหล่งที่สองของการแพร่ศาสนาและการค้า ส่วนเขมรก็หวังจะให้สเปนช่วยคุ้มครองให้พ้นภัยจากไทย แต่เมื่อเกิดศึกพระยาละแวกในสมัยสมเด็จพระนเรศวร เขมรขอความช่วยเหลือจากสเปน แต่สเปนกำลังไปตีเกาะโมลุกะ ไม่สามารถช่วยเขมรได้ ทำให้พระยาละแวกถูกประหาร และคนสำคัญของสเปนในเขมรยังถูกกวาดต้อนมาด้วย
ต่อมาใน พ.ศ.๒๑๔๑ สเปนได้ส่งทูตมาเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา ได้รับอนุญาตให้ตั้งสถานีการค้า แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จนักเพราะถูกกีดกันจากโปรตุเกส อีกทั้งใน พ.ศ.๒๑๖๗ พ่อค้าสเปนคนหนึ่งนำเรือมากรุงศรีอยุธยาแล้วเกิดกระทบกระทั่งกับเรือฮอลันดาในแม่น้ำเจ้าพระยา ฝ่ายสเปนยึดเรือฮอลันดาได้ พระเจ้าทรงธรรมรับสั่งให้สเปนคืนเรือให้ฮอลันดา แต่ฝ่ายสเปนไม่ยอมปฏิบัติตามรับสั่ง กองเรือของกรุงศรีอยุธยาจึงเข้าบังคับจนเกิดการต่อสู้กัน ฝ่ายสเปนเสียชีวิตหลายคนที่เหลือถูกจับ เรือซึ่งเป็นเรือหลวงถูกยึด สเปนที่ฟิลิปปินส์ก็ไม่มีกำลังพอจะมาช่วยได้ จึงได้แต่ส่งคณะทูตมาเจรจาขอคนและเรือกลับไป ความสัมพันธ์ของกรุงศรีอยุธยากับสเปนจึงไม่ราบรื่น
ชาติตะวันตกอีกรายที่แผ่อิทธิพลเข้ามาในย่านตะวันออกจนโปรตุเกสอ่อนกำลังลงก็คือฮอลันดา และส่งทูตเข้ามากรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนเรศวร ต่อมาในสมัยพระเจ้าทรงธรรมได้รับพระราชทานที่ดินให้ตั้งสถานีการค้าขึ้นที่ปากคลองบางปลากด ใกล้ปากน้ำเจ้าพระยา ให้ชื่อว่า “นิวอัมสเตอร์ดัม”
ในสมัยพระเจ้าปราสาททองได้ให้สิทธิ์แก่บริษัทฮอลันดาที่จะค้าขายได้ทั่วราชอาณาจักร และค้าขายกับราษฎรได้โดยตรง ฮอลันดาจึงต้องการผูกขาดการค้าแต่ผู้เดียวและกีดกันไม่ให้มีใครค้าแข่ง แต่เมื่อเรือไทยนำสินค้าไปขายที่ญี่ปุ่น ฮอลันดาซึ่งผูกขาดการค้าที่ญี่ปุ่นเหมือนกันก็ไม่พอใจ ส่งเรือรบ ๒ ลำมาปิดอ่าวไทย ลำหนึ่งปิดอ่าวตะนาวศรี อีกลำปิดอ่าวที่สัตหีบ และให้จับเรือที่กลับมาจากไปค้ากับญี่ปุ่น เรือของสมเด็จพระนารายณ์ก็โดนจับด้วยหลายลำ ห้ามใครค้าแข่งแล้วยังยื่นข้อเรียกร้องไม่ให้คนฮอลันดาต้องขึ้นศาลไทย
การปิดอ่าวและการมีสิทธิสภาพนอกอาณาเขต จึงเริ่มมีในไทยเป็นครั้งแรกโดยฮอลันดา ทำให้สมเด็จพระนารายณ์มหาราชต้องทรงหาทางคานอำนาจของฮอลันดา
ส่วนพ่อค้าอังกฤษเข้ามากรุงศรีอยุธยาตั้งแต่ พ.ศ.๒๑๕๕ ถวายพระราชสาสน์ของพระเจ้าเจมส์ที่ ๑ ต่อพระเจ้าทรงธรรม ได้รับพระราชทานบ้านหลังหนึ่งให้เป็นสถานีการค้า แต่การค้าของอังกฤษก็ไม่ประสบผลสำเร็จเพราะถูกกีดกันจากโปรตุเกสและฮอลันดา จนต้องปิดสถานีการค้าไปใน พ.ศ.๒๑๖๙
ต่อมาใน พ.ศ.๒๒๐๔ บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษซึ่งไปเปิดกิจการอยู่ในเขมรประสบวิกฤติการณ์ เพราะเขมรถูกญวนยึดและปล้นบริษัทอังกฤษ พ่อค้าอังกฤษจึงหนีลงเรือมายังกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนารายณ์ทรงให้การต้อนรับอย่างดี หวังจะให้อังกฤษมาคานอำนาจฮอลันดา เจ้าพระยาวิชเยนทร์ซึ่งเคยเป็นกลาสีเรืออังกฤษมาก่อนได้เกลี้ยกล่อมพ่อค้าอังกฤษ ๒ คน คือ ริชาร์ด เบอนาบี กับ แซมมูเอล ไวท์ ให้ลาออกมารับราชการไทย แล้วตั้งให้ไปเป็นเจ้าเมืองมะริดคนหนึ่ง อีกคนเป็นเจ้าท่า คุมท่าเรือ
ส่วนบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษมาตั้งในกรุงศรีอยุธยาได้อีกครั้งก็ขาดทุนเหมือนเดิม แต่คู่แข่งไม่ใช่ฮอลันดาและโปรตุเกส กลับเป็นเจ้าพระยาวิชเยนทร์ส่งเสริมให้เอกชนเข้ามาค้าแข่ง บริษัทอินเดียตะวันออกจึงเรียกร้องค่าเสียหายจากสมเด็จพระนารายณ์ พร้อมทั้งขู่ว่าถ้าไม่ปฏิบัติตามคำร้องจะจัดการด้วยเรือปืน และไม่ขู่เฉยๆแต่ยังส่งเรือรบ ๓ ลำไปเมืองมะริด สั่งคนอังกฤษที่รับราชการไทยซึ่งมีถึง ๒๕ ให้คนลาออกทั้งหมด พร้อมทั้งส่งทหารขึ้นยึดป้อมปราการ ยึดเรือสำเภาที่จอดอยู่ทุกลำ เจ้าเมืองมะริดเป็นคนอังกฤษอยู่แล้วเลยไม่ขัดวาง พระยาตะนาวศรีเจ้าเมืองที่อยู่ใกล้กันซึ่งเป็นคนไทย จึงรีบส่งข่าวมายังกรุงศรีอยุธยา และเห็นถ้ารอคำสั่งก็คงไม่ทันการ จึงยกกำลังจากเมืองตะนาวศรีมาจัดการกับพวกอังกฤษที่ยึดเมืองมะริดในคืนนั้น ฝ่ายอังกฤษไม่คิดว่าจะมีใครกล้าสู้เลยตายไปเป็นจำนวนมาก ที่หนีตายก็วิ่งลงเรือชักใบไป แต่ก็หนีไปได้เพียง ๒ ลำ อีกลำถูกฝ่ายไทยยึดได้ สมเด็จพระนารายณ์จึงทรงประกาศสงครามกับอังกฤษในวันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๒๓๐ แต่รัฐบาลอังกฤษถือว่าเป็นการประกาศสงครามกับบริษัทอิสต์อินเดียของอังกฤษ ไม่ใช่การประกาศสงครามกับประเทศอังกฤษ แต่ก็ทำให้ความสัมพันธ์ของไทยกับอังกฤษขาดหายไปหลายร้อยปี
นี่เป็นประวัติศาสตร์ไม่โด่งดัง ที่เรือรบอังกฤษต้องหนีคนสู้ อีกลำหนีไม่ทันถูกยึด
สรุปว่าทั้งโปรตุเกส สเปน ฮอลันดา อังกฤษ จบไม่สวยกันทั้งนั้น แต่ขณะเดียวกันการค้ากับคนตะวันออกด้วยกันอย่าง จีน ญี่ปุ่น เปอร์เซีย กลับไม่มีปัญหา ทั้งนี้ก็เพราะการมาของชาวตะวันตกนั้นไม่ได้มุ่งแต่เรื่องการค้า แต่ยังมุ่งที่จะเผยแพร่ศาสนาและหวังจะยึดครอง โดยเฉพาะเมืองมะริดและบางกอกที่เป็นเมืองท่า ทุกชาติก็มีเรือปืนที่มีอานุภาพเหนือไทยทั้งนั้น จึงเป็นงานยากที่สมเด็จพระนารายณ์จะทรงดำเนินนโยบายถ่วงดุลอำนาจพาประเทศชาติให้รอดพ้น
ขณะนั้นมีบาทหลวงฝรั่งเศสคณะหนึ่งจะเดินทางไปเผยแพร่ศาสนาที่จีน แต่จีนกำลังมีปัญหาภายในประเทศจึงแวะพักเมืองไทยก่อน และเห็นว่าสมเด็จพระนารายณ์ไม่กีดกันศาสนา ทั้งคนไทยก็มีความเอื้ออารีไม่รังเกียจฝรั่งเหมือนคนจีน จึงรายงานไปถึงพระสันตะปาปาและพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ พระสันตปาปาทรงเห็นชอบด้วยกับการที่จะเผยแพร่ศาสนาในกรุงศรีอยุธยา จึงแต่งตั้ง บิชอฟ เบรีธ ให้เป็นสังฆราชของศาสนาคริสต์ประจำกรุงศรีอยุธยาและประเทศใกล้เคียง ส่วนพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ก็ส่งพระราชสาสน์พร้อมเครื่องราชบรรณาการมาถวายเปิดสัมพันธไมตรี
สมเด็จพระนารายณ์ทรงยินดีที่พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ยื่นไมตรีมาถึงพระองค์ จึงทรงรับสั่งกับสังฆราชว่าจะสร้างวัดให้ ทำให้สังฆราชและบาทหลวงทั้งหลายเข้าใจว่าสมเด็จพระนารายณ์เลื่อมใสคริสต์ศาสนา เพราะไม่เคยมีกษัตริย์ของศาสนาอื่นพระองค์ใดสร้างวัดคริสต์ให้แบบนี้ จึงพยายามทำให้สมเด็จพระนารายณ์พอพระราชหฤทัยยิ่งขึ้น โดยเปิดโรงเรียนสอนภาษาและวิชาศิลปศาสตร์แบบยุโรป รวมทั้งสร้างโรงพยาบาลและป้อมวิชเยนทร์ที่บางกอก สมเด็จพระนารายณ์ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้พ่อค้าฝรั่งเศสค้าขายได้ทั่วราชอาณาจักร พ่อค้าฝรั่งเศสเลยขอผูกขาดการซื้อพริกไทย ไม่ให้ใครมาซื้อแข่ง สมเด็จพระนารายณ์ก็ทรงอนุญาต ทำให้ฮอลันดาไม่พอใจ มีข่าวว่าฮอลันดาจะเข้ายึดเมืองบางกอก สมเด็จพระนารายณ์จึงทูลขอให้พระเจ้าหลุยส์ส่งทหารมาช่วยคุ้มครอง ซึ่งพระเจ้าหลุยส์ก็ได้ส่งนายพลเดอฟารจช์มาพร้อมทหาร ๓๖๓ คน โดยมีราชการลับที่ได้รับจากพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ โดยตรงมาด้วย คือ “ให้ยึดเมืองบางกอกและเมืองมะริดไว้ให้ได้”
ความรู้สึกของคนไทยส่วนใหญ่ในยามนั้น ต่างขมขื่นที่เห็นกองทหารต่างชาติมาเบ่งบารมีอยู่ในผืนแผ่นดินไทย ทั้งยังเกรงกันว่าสมเด็จพระนารายณ์จะเปลี่ยนศาสนาไปตามการเกลี้ยกล่อมของฝรั่งเศส จึงพากันเก็บความวิตกและขุ่นเคืองนี้ไว้ในใจ ซึ่งความรู้สึกนี้ตรงกับความคิดของกลุ่มพระเพทราชาและเจ้าพระยาศรีสรศักดิ์ หรือพระเจ้าเสือ เมื่อสมเด็จพระนารายณ์ประชวรหนักสองพ่อลูกจึงชิงอำนาจแล้วส่งทหารเข้าถล่มป้อมวิชเยนทร์ที่ทหารฝรั่งเศสและนายพเดอฟารจช์ประจำอยู่ โดยมีฮอลันดาขอแก้แค้นเข้าช่วยถล่มด้วย
ทหารฝรั่งเศสที่เดินทางมา ๓๖๓ คน ป่วยตายขณะเดินทางเหลือมาถึงเมืองไทยเพียง ๔๙๒ คน อีกจำนวนหนึ่งยังผิดน้ำผิดอากาศ ถูกยุงกัดนอนซมด้วยพิษไข้ จำนวนหนึ่งขึ้นไปลพบุรีเพื่อเป็นทหารรักษาพระองค์สมเด็จพระนารายณ์ อีก ๓๕ คนถูกส่งไปประจำเรือปราบสลัดในอ่าวไทย และเจ้าพระยาวิชเยนทร์ยังให้ส่ง ๑๒๐ คนไปควบคุมเมืองมะริดและเกาะต่างๆในย่านนั้น นายพลเดอฟารจช์จึงเหลือทหารประจำการที่ป้อมวิชเยนทร์อยู่ราว ๒๐๐ คน ขณะที่ป้อมซึ่งสร้างคู่กันทั้งฝั่งธนบุรีและฝั่งตรงข้ามแม่น้ำ ต้องใช้ทหารประจำการไม่ต่ำกว่า ๑,๒๐๐ คน พอถูกทหารไทยร่วมกับฮอลันดาถล่ม นายพลเดอฟารจช์เลยต้องเปิดแนบหนีตายออกจากเมืองไทย แต่ไม่อยากไปมือเปล่า แวะไปปล้นดีบุกจากภูเก็ตติดมือไปด้วย เลยได้ผลตอนเรือเจอพายุ น้ำหนักดีบุกถ่วงเรือจนจม ตายหมดทั้งลำก่อนจะถึงอินเดีย
การเป็นแผ่นดินอินเตอร์จึงปิดฉากลงเมื่อสิ้นรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มาเริ่มเปิดประเทศใหม่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ในรัชกาลที่ ๔ พอรัชกาลที่ ๕ ก็ต้องทรงดำเนินนโยบายถ่วงดุลอำนาจอีกครั้ง เพื่อให้รอดพ้นจากเงื้อมมือฝรั่งเศสและอังกฤษ โดยมีพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ ๒ แห่งรัสเซีย เป็นมหามิตรที่ไม่ต้องการสิ่งตอบแทนใดๆ ทำให้ประเทศไทยรอดพ้นการตกเป็นอาณานิคมได้
ถึงวันนี้โลกกำลังร้อนระอุด้วยการแบ่งฝ่าย ด้วยมีคนจุดชนวนให้เปิดศึกทั่วไปหมดเพื่อขายอาวุธ เราจึงต้องดำเนินนโยบายต่างประเทศที่สำคัญอีกครั้ง ครั้งนี้กลับกัน ไม่ต้องไปชวนใครมาช่วยถ่วงดุลอำนาจ เพียงแต่อย่าแส่ไปชักศึกเข้าบ้าน ใครจะรบกันก็ช่างเขา เราเตรียมข้าวปลาอาหารไว้ขายเขาตอนอดอยากเพราะรบกันดีกว่า