xs
xsm
sm
md
lg

"มาตรฐานควบคุมต่ำ เกิดที่ไหนก็สูญเสียเยอะ" ครูสอนดับเพลิง สะท้อน 13 ปี จากซานติก้า ถึง เมาท์เทน บี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รายงานพิเศษ

"เหตุการณ์นี้ยังไม่ใช่ Backdraft ผมเรียก Backdraft ว่าเป็นมัจจุราชเงียบ เพราะถ้าเป็น Backdraft มันจะเกิดระเบิดออกมาจากอากาศที่เข้ามา ทำให้ควันที่คุกรุ่นอยู่จากกองถ่านรับอากาศ แล้วเกิดเป็นแรงอัดระเบิดออกมาเลย คล้ายกับเวลามีแก๊สรั่ว แล้วมีคนเปิดหน้าต่างให้อากาศเข้ามา ซึ่งเกิดขึ้นได้ไม่ง่าย แต่ที่เมาท์เทนบี มีลักษณะคล้ายมังกรพ่นไฟมากกว่า"

"ฉาดเฉลียว บุนนาค" หรือ "ครูเด่น" ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกดับเพลิงภายในอาคาร CFBT-Thailand อธิบายถึงสาเหตุที่เพลิงไหม้ในสถานบันเทิงที่ชื่อว่า เมาท์เทน บี ต.พลูตาหลวง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 5 ส.ค. ปรากฎภาพเปลวไฟพุ่งเป็นทางยาวขนาดใหญ่ออกมาจากอาคาร จนทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ทำไมเปลวไฟถึงมีลักษณะเช่นนั้น

ครูเด่น แสดงความเห็นว่า เหตุการณ์ที่สัตหีบ ยังไม่จัดเป็นการเกิดเพลิงไหม้แบบ Backdraft ซึ่งหมายถึง การระเบิด เพราะมีอากาศวิ่งเข้าหาเชื้อเพลิง ที่เป็นเปลวไฟหรือกลุ่มควัน ที่ยังไม่ติดไฟหรือไฟใกล้ดับแล้ว แต่จากภาพที่เห็นจะพบว่า ในระหว่างที่เกิดเปลวเพลิงพุ่งออกมา เรายังเห็นควันไฟเป็นสีดำทะมึน ซึ่งหมายความว่ายังมีส่วนที่ติดไฟอยู่ในอาคารเยอะมาก


เมื่อมีความพยายามที่จะเปิดหน้าต่างหรือกระจกเพื่อหนีออกมา ทำให้อากาศจากภายนอกเข้าไปในอาคาร และความร้อนจากภายในเกิดการขยายตัวอย่างฉับพลัน หากพิจารณาองค์ประกอบร่วมไปด้วยว่า อาคารมีทางออกให้เปลวเพลิงอยู่ไม่กี่ทางเท่านั้น จึงกลายเป็นเปลวเพลิง ที่มีลักษณะคล้าย "มังกรพ่นไฟ"

"เราอาจจะบอกกันได้ว่า ถ้าไม่อยากให้เกิดเปลวเพลิงพุ่งเป็นทางยาวแบบนี้อีก ก็ไม่ควรทุบ หรือเปิดช่องให้อากาศเข้าไปข้างในอาคารที่กำลังลุกไหม้ แต่ในความเป็นจริง เราก็รู้กันว่า ในอาคารแบบผับ-บาร์ มีคนอยู่ด้านในเป็นจำนวนมาก ทุกคนหวาดกลัวและต้องการหาทางออกจากอาคารเร็วที่สุด จึงเป็นไปได้ยากที่จะไม่เกิดความพยายามหาทางออกอื่นๆนอกจากประตูแคบๆที่มีอยู่ทางเดียว ดังนั้น บอกได้เลยว่า ถ้าเกิดเหตุแบบเดียวกันซ้ำอีกในลักษณะอาคารที่ปิดคล้ายกัน ก็จะเกิดเปลวเพลิงในรูปแบบนี้อีก และมีความสูญเสียเยอะเช่นเดิม" ครูเด่น กล่าว


ครูเด่น ยกตัวอย่างว่า ลักษณะของเพลิงไหม้ที่สัตหีบ มีความเหมือนกับเหตุการณ์ไฟไหม้ซานติก้าผับ เมื่อ 13 ปีก่อนแทบจะทั้งหมด คือ อยู่ในอาคารที่ปิดทึบ มีคนอยู่ในอาคารหนาแน่นเกินไป และมีวัสดุติดไฟง่ายจำนวนมากอยู่ในอาคาร จึงบอกได้ว่า ตลอด 13 ปีที่ผ่านมา แทบไม่มีกฎหมายหรือมาตรฐานใดเลยที่ถูกปรับปรุงไปจากโศกนาฏกรรมครั้งก่อน

ในสายตาของครูเด่น เหตุการณ์นี้ยังคล้ายกับเหตุเพลิงไหม้โรงหนัง เมเจอร์ ปิ่นเกล้า เมื่อปลายเดือน มิ.ย. 2559 คือ เกิดไฟไหม้ในอาคารปิด ที่มีวัสดุติดไฟเป็นเชื้อเพลิงจำนวนมากอยู่ด้านใน จนกลายเป็นเพลิงไหม้ระดับสูงสุด แต่เนื่องจากครั้งนั้น หลังคาของโรงหนังถล่มลงมาก่อน ทำให้ความร้อนมีทางระบายออก ต่างจากเมาท์เทน บี ผับ ที่หลังคายังคงปิดทึบอยู่

"สถานบันเทิงอย่างผับ ซึ่งอาจบอกได้ว่า เกือบทุกแห่ง เป็นสถานที่ที่มีความเสี่ยงสูญเสียสูงอยู่แล้วเมื่อเกิดไฟไหม้ เพราะเป็นพื้นที่ปิด มีคนอยู่จำนวนมาก มีระบบรักษาความปลอดภัยกันคนเข้า-ออกอย่างเข้มงวด ซึ่งจริงๆ แล้ว ยิ่งการรักษาความปลอดภัยสูง ยิ่งทำให้ความปลอดภัยหลังเกิดไฟไหม้ต่ำลงไปด้วย และหากในสถานบันเทิงเหล่านั้น ใช้อุปกรณ์ที่ไม่ใช่วัสดุต่อต้านการลุกลามไฟ ก็ยิ่งจะเสี่ยงมากขึ้น เพราะจะเต็มไปด้วยเชื้อเพลิง" ครูเด่น อธิบายถึงความเสี่ยงเมื่อเกิดเพลิงไหม้ในสถานบันเทิง


ครูเด่น ยังพูดถึงโอกาสที่เป็นไปได้มากที่จะเกิดไฟไหม้ในผับ โดยมองว่า มักเกิดจากการระบบไฟฟ้า เพราะเป็นสถานที่ที่ใช้ไฟมาก ทั้งแอร์ ทั้งแสง ทั้งเครื่องดนตรี ดังนั้นการวางระบบข้อต่อของสายไฟในอาคารเช่นนี้ จึงต้องมีวิศวกรระบบไฟฟ้า เป็นผู้ตรวจและลงชื่อรับรอง ซึ่งหมายความว่า ต้องเป็นผู้รับผิดชอบเมื่อเกิดเหตุด้วย แต่ก็ต้องตั้งคำถามใหม่ต่อไปด้วยว่า กฎหมาย ได้ระบุให้อาคารเหล่านี้ต้องผ่านการตรวจอย่างเข้มงวดนี้หรือไม่

"ถ้ามาดูกฎหมายควบคุมอาคาร ที่ใช้กับสถานบันเทิงแบบผับ-บาร์ เราจะเห็นว่า มีหลัก 3 ข้อ ที่เขาจะตีความว่าเป็นการก่อสร้างสถานบันเทิง คือ ต้องมีพื้นที่มากกว่า 1 หมื่นตารางเมตร, มีความสูง 23 เมตรขึ้นไป และมีคนใช้งานมากกว่า 400-500 คน ถ้าเข้าเกณฑ์ก็จะต้องไปถูกกำหนดให้วางระบบไฟอย่างไร สายไฟหนาขนาดไหน หรือกำหนดให้ต้องใช้อุปกรณ์ต่อต้านการลุกไหม้

แต่พอมาดูในความเป็นจริง ก็จะพบว่า อาคารที่เปิดเป็นผับ-บาร์ ซึ่งไม่รู้ได้รับอนุญาตได้อย่างไร หรือไม่รู้ว่าเปิดได้อย่างไรถ้าไม่มีใบอนุญาต ส่วนใหญ่มีเนื้อที่ไม่ถึง 1 หมื่นตารางเมตร ความสูงก็ไม่ถึง 23 เมตร ทำให้ไม่เข้าเกณฑ์ที่จะต้องไปวางระบบไฟต่างๆ หรือระบบป้องกันไฟให้เป็นไปตามมาตรฐาน แต่กลับมีคนเข้าไปใช้บริการแน่น เกินกว่าศักยภาพของเนื้อที่ที่จะรองรับให้อพยพออกมาอย่างปลอดภัยได้"



เมื่อกติกาเป็นเช่นนี้ ครูเด่น จึงมองว่า ตั้งแต่เกิดเหตุที่ซานติก้าผับเมื่อ 13 ปีที่แล้ว ก็เพราะกติกาเป็นแบบนี้ และวันนี้ก็ยังเป็นแบบเดิม จึงต้องถามกลับไปยังหน่วยงานต่างๆ ว่า การจะปรับปรุงกฎหมายให้คนไปใช้บริการมีความปลอดภัยขึ้น มันไปติดขัดตรงไหน นอกจากแค่ทำให้การเปิดสถานบันเทิงมีต้นทุนสูงขึ้น เพราะอุปกรณ์ต่างๆ จะมีราคาสูงกว่าที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน แต่ปลอดภัยกว่ากันมาก

"เหตุการณ์แบบที่สัตหีบ หากไปเกิดขึ้นที่ผับอื่นๆ ผมก็คิดว่าจะมีผลไม่ต่างกัน ยังไม่ต้องนับว่า แค่กฎหมายที่มีอยู่ ก็ไม่ทำตามกันอยู่แล้ว ทั้งที่ลำพังกฎหมายที่ใช้อยู่ ก็ควรต้องปรับปรุงให้ดีขึ้นด้วยซ้ำ โดยเฉพาะเรื่องการวางระบบไฟ และการใช้วัสดุที่มีคุณสมบัติต่อการการลุกไหม้ ควรถูกกำหนดเป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่จะเลี่ยงไม่ได้ โดยต้องมีวิศวกรลงชื่อรับรองอย่างจริงจัง พร้อมมีผลให้ผู้ลงนามต้องมีความรับผิดชอบด้วย หากวัสดุที่ใช้จริงไม่เป็นไปตามที่รับรองไว้" ครูเด่น กล่าวทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น