ชาวตะวันตกที่เข้ามาเมืองไทยในสมัยอดีต และบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคสมัยนั้นนำไปพิมพ์เผยแพร่ในยุโรปมีอยู่หลายเล่ม เล่มหนึ่งได้รวบรวมจากจดหมายหลายฉบับซึ่งเขียนขึ้นระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๒๓๑-พฤศจิกายน พ.ศ.๒๒๓๒ ซึ่งอยู่ในช่วงต้นรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา ในชื่อ “รายงานเรื่องการปฏิวัติครั้งใหญ่ที่ล่วงมาแล้วในกรุงสยาม และการขับไล่ฝรั่งเศสออกนอกประเทศ” ซึ่งพิมพ์ขึ้นที่กรุงลอนดอนในปี ๒๒๓๓ แจ้งว่าเอกสารนี้ไม่เคยตีพิมพ์มาก่อนในภาษาใดๆ บัดนี้ได้พิมพ์เป็นภาษาอังกฤษแล้ว และในหน้าแรกได้อธิบายเนื้อหาในหนังสือไว้ว่า
“รายละเอียด และ ถูกต้อง เกี่ยวกับการปฏิวัติอันยิ่งใหญ่และมหัศจรรย์ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ในพระราชอาณาจักรสยาม ซึ่งอยู่ในหมู่เกาะอินเดียตะวันออก แจ้งรายละเอียดโดยเฉพาะเกี่ยวกับการจับกุมและปลงพระชนม์พระเจ้าแผ่นดินในพระบรมโกษฐ์ และการถวายราชสมบัติแด่พระเจ้าอยู่หัวองค์ใหม่ นอกจากนี้ยังมีเรื่องการปลงพระชนม์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เดียว พระราชบุตรบุญธรรมซึ่งนับถือคริสศาสนา พร้อมด้วยพระอนุชาสองพระองค์ การประหารชีวิตเมอร์ซิเออร์คองสตังซ์ อัครมหาเสนาบดี และผู้ซึ่งโปรดปรานชาวฝรั่งเศส และยังมีเรื่องการขับไล่บาทหลวงเยซูอิตนักบวชผู้สอนศาสนา ข้าราชการพลเรือนและทหารชาวฝรั่งเศสออกนอกพระราชอาณาจักร เพราะคนเหล่านี้ได้พยายามที่จะทำให้ราชอาณาจักรนั้นตกอยู่ในบังคับฝรั่งเศส”
นั่นก็คือเรื่องราวประวัติศาสตร์ไทยที่บันทึกไว้โดยคนร่วมสมัยตามที่ได้รับรู้กัน ซึ่งทำให้เราได้รู้เหตุการณ์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมากกว่ายุคใด
ในการบันทึกประวัติศาสตร์ไทยนั้น ที่เกี่ยวกับองค์พระมหากษัตริย์จะกล่าวถึงพระราชจริยวัตรเท่านั้น ไม่กล่าวถึงเรื่องส่วนพระองค์ โดยเฉพาะพระวรกาย แต่ในบันทึกนี้ทำให้เราเห็นภาพของสมเด็จพระนารายณ์ได้แจ่มชัดขึ้น โดยกล่าวว่า
“...คำพรรณนาเกี่ยวกับพระราชจริยวัตรและอัชฌาสัยซึ่งตีพิมพ์เป็นภาษาฝรั่งเศสนั้น ล้วนแล้วไปด้วยการสรรเสริญยิ่งนัก คนฝรั่งเศสกล่าวเป็นเสียงเดียวสอดคล้องกันว่า ทรงเป็นพระมหากษัตราธิราชยิ่งใหญ่ที่สุดของพระราชอาณาจักรสยาม พระวรกายค่อนข้างจะย่อมกว่าคนขนาดปานกลาง แต่สะโอดสะองและทรงงามได้รูป พระราชอิริยาบถเป็นที่ตรึงใจ อ่อนหวานและกรุณา โดยเฉพาะแก่ผู้ที่เป็นแขกเมือง พระราชกิริยาอาการแคล่วคล่องว่องไว ทรงเป็นปฏิปักษ์ต่อความเกียจคร้านและเฉื่อยชา ซึ่งดูเหมือนจะเป็นพระลักษณะตามธรรมชาติของบรรดากษัตริย์ในบุรพทิศ และทรงเห็นว่าเป็นพระราชอำนาจพิเศษอันสูงส่งที่สุดแห่งราชบัลลังก์ แต่ในทางตรงกันข้าม พระมหากษัตราธิราชเจ้าพระองค์นี้ มักจะเสด็จประพาสป่าเพื่อทรงคล้องช้างเป็นนิจ คราใดที่ไม่เสด็จประพาสคล้องช้าง พระองค์ก็จะทรงปฏิบัติพระราชกิจของพระราชอาณาจักรในพระบรมมหาราชวัง พระองค์ไม่โปรดการสงคราม เพราะสงครามนำความพินาศมาสู่ไพร่ฟ้าประชากรซึ่งพระองค์ทรงเมตตารักใคร่ แต่ถ้าหากข้าแผ่นดินคนใดก่อการกบฏ หรือกษัตริย์ในอาณาจักรใกล้เคียงกระทำย่ำยีพระราชอาณาจักร แม้แต่น้อยนิด หรือได้การทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแล้วไซร้ ไม่มีกษัตริย์พระองค์ใดในบุรพทิศที่จะทรงกระทำการล้างแค้นอย่างสาหัสเห็นได้ชัดแจ้งเท่าเทียมกับพระองค์ ไม่มีกษัตริย์พระองค์ใดที่จะสำแดงพระราชปรารถนาต่อพระเกียรติอันรุ่งโรจน์เท่าเทียมพระองค์ พระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะเรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง ด้วยเหตุที่ทรงมีพระปรีชาสามารถหลักแหลมและพร้อมบริบูรณ์อยู่แล้ว จึงทรงเรียนรู้สิ่งที่ตั้งพระทัยจะรู้ได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว พระองค์ทรงมีพระราชหฤทัยเลิศล้ำ ประกอบด้วยพระเมตตา กรุณา และทรงเป็นมิตรที่ซื่อตรงดังใจใฝ่ฝัน พระคุณลักษณะอันประเสริฐนี้ยังให้พระองค์ทรงเป็นที่เคารพนับถือแก่ราชอาณาจักรใกล้เคียง เป็นที่ยำเกรงแก่ราชศัตรู เป็นที่นับถือและเป็นที่รักใคร่ของไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน ซึ่งถวายความบูชาสรรเสริญอย่างเต็มเปี่ยม พระองค์มิได้ทรงเสพความชั่วร้ายทั้งปวงซึ่งได้ครอบงำกษัตริย์ในบุรพทิศ ตรงกันข้าม พระองค์มักจะทรงลงโทษเสนาบดีผู้เป็นที่เคารพอย่างสูงสุดและบรรดาข้าราชบริพารชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งหลงมัวเมาในความเพลิดเพลินต่างๆ ดังนั้นความรักใคร่ลุ่มหลงในอิสตรีจนเกินประมาณ อันเป็นอุปสรรคที่เอาชนะได้ยากที่สุด ในการเปลี่ยนศาสนาของบรรดากษัตริย์อินเดียผู้สักการบูชาเทวรูป จึงไม่มีในพระมหากษัตริย์พระองค์นี้”
“...มีหลักฐานอันเห็นได้ชัดที่สุดในพระราชดำรัส อันมิอาจจะหาคำมากล่าวชมเชยให้พอเพียงได้ พระราชดำรัสนี้ได้พระราชทานแก่มองซิเออร์คองสตังซ์ ตอบบันทึกทูตฝรั่งเศสกราบบังคมทูลเร่งรัดให้ทรงนับถือคริสศาสนา เนื่องด้วยพระราชดำรัสนี้มีค่ามหาศาล ข้าพเจ้าคิดว่าคงไม่เป็นการออกนอกบทเกินไปนัก ถ้าหากว่าขออัญเชิญมาลงพิมพ์ไว้ในที่นี้ตามที่ปรากฏในหนังสือเล่ม ๕ หน้า ๓๐๙ ของบันทึกองคุณพ่อตาร์ชารด์ เรื่อง “การเดินทางไปราชอาณาจักรสยาม” ฉบับพิมพ์ที่กรุงปารีส ขนาดแปดหน้ายก แปลเป็นภาษาอังกฤษมีข้อความดังนี้
ในการตอบคำของท่านเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส เจ้าจงบอกแก่เขาด้วยคำของเราว่า เราคิดว่า เราสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส พระเจ้าเหนือหัวของท่านเอกอัครราชทูตเป็นอันมาก เราได้ประจักษ์ในพระราชไมตรีของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผู้ทรงเป็นคริสตศาสนิกชนอย่างที่สุดนั้นแล้ว พระเกียรติยศซึ่งพระมหากษัตราธิราชเจ้าพระองค์นั้นได้พระราชทานแก่เรา ได้เป็นที่แจ้งประจักษ์แก่คนทั้งปวงทั่วบุรพทิศแล้ว เรามิอาจจะกล่าวพรรณนาถึงพระราชอัธยาศัยไมตรีให้เป็นการเพียงพอได้ แต่เรารู้สึกลำบากใจมาก ที่สมเด็จพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสพระสหายที่ดีแห่งเรา ได้ทรงเสนอสิ่งอันกระทำได้ยากยิ่งแก่เรา ในสิ่งที่เรามิได้รู้จักคุ้นเคยเลยแม้แต่น้อย ขอให้เขากราบทูลให้ทรงทราบว่า เรายอมมอบตัวเราให้อยู่ใต้พระปรีชาสามารถของพระองค์ผู้ทรงเป็นศาสนิกชนที่เคร่งครัดที่สุด ขอให้พระองค์ทรงโปรดวินิจฉัยถึงความสำคัญและความยากลำบากอันจะเกิดขึ้นในเรื่องที่ละเอียดอ่อน เช่น การเปลี่ยนศาสนา ซึ่งเราได้นับถือและดำเนินตามตลอดทั่วราชอาณาจักรแห่งเรา เป็นระยะเวลายาวนานสืบเนื่องไม่ขาดตอนถึงสองพันสองร้อยยี่สิบเก้าปีแล้ว
นอกจากนี้ เรามีความพิศวงเป็นล้นพ้น ในการที่พระเจ้ากรุงฝรั่งเศส ผู้เป็นพระสหายที่ดีแห่งเรา จะทรงเป็นพระธุระมากมายในเรื่องซึ่งเกี่ยวข้องกับพระเป็นเจ้า เรื่องซึ่งดูเหมือนว่าพระเป็นเจ้าจะไม่ทรงสนพระทัยเลยแม้แต่น้อย แต่ให้ปล่อยเป็นดุลพินิจแห่งเรา เพราะว่าพระเป็นเจ้าแท้จริง ซึ่งทรงสร้างสวรรค์และพิภพ ทรงสร้างสิ่งทั้งปวงในภพทั้งสองให้ผิดแผกแตกต่างกัน ทั้งในด้านธรรมชาติและความโน้มเอียง ให้แก่ร่างกายและจิตใจมนุษย์นั้น ถ้าพระองค์ทรงปรารถนาแล้วไซร้ ก็คงจะพอพระทัยที่จะดลบรรดาลให้มนุษย์เกิดความจรรโลงใจที่จะนับถือศาสนาเดียวกัน ให้กระทำการเคารพสักการะในศาสนาซึ่งพระองค์ทรงรับรอง และทำให้มนุษยชาติทั้งปวงมีชีวิต และสิ้นชีวิตไปในกรอบแห่งบทบัญญัติทางศาสนาเดียวกันทั้งหมด กระนั้นมิใช่หรือ
ระเบียบวินัยในหมู่มนุษย์ และเอกภาพในทางศาสนา ย่อมอยู่ในพระหัตถ์ของพระเป็นเจ้าผู้สูงส่งและศักดิ์สิทธิ์ พระองค์อาจนำมันมาสู่โลกนี้ได้อย่างง่ายดาย เช่นเดียวกับที่ทรงบันดาลให้เกิดมีศาสนาและนิกายต่างๆขึ้นมากมายในโลกนี้ ฉะนี้แล้ว ควรหรือไม่ที่เราจะคิดว่าพระเป็นเจ้าผู้เที่ยงแท้ได้ทรงตั้งพระทัยในการที่จะให้เกิดมีศาสนาและพิธีกรรมต่างๆหลายอย่าง ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมพระเกียรติยศให้รุ่งโรจน์ยิ่งขึ้น โดยมีผู้ถวายสักการะเป็นจำนวนมากมาย และต่างก็เคารพบูชาโดยวิธีแตกต่างกันไปตามแบบฉบับของแต่ละหมู่เหล่า ความงามและความผิดแผกแตกต่างกัน ซึ่งเรานิยมชมชื่นที่ได้เห็นความเป็นไปในธรรมชาตินั้น ถ้าจะนับว่าเป็นไปโดยอำนาจเหนือมนุษย์แล้ว จะกลายเป็นสิ่งน่านิยมน้อยไป หรือนับว่าไม่คู่ควรแก่พระปรีชาญาณองพระเป็นเจ้า อย่างนั้นหรือ?
(แล้วพระองค์ก็รับสั่งต่อไปว่า) อย่างไรก็ดี เราทราบแล้วว่าพระเป็นเจ้าทรงเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของโลกนี้ และเราก็ยอมเชื่อว่าไม่มีสิ่งใดที่จะเกิดขึ้นได้หากไม่เป็นพระประสงค์ เราจึงได้ยอมถวายตัวของเราและพระราชอาณาจักรของเราให้อยู่ในพระเมตตากรุณาของพระผู้ศักดิ์สิทธิ์ เราได้มอบดวงใจของเรา เสาะแสวงหาพระปรีชาญาณอันหาที่สุดมิได้ ทั้งนี้สุดแท้แต่พระประสงค์และพระอัธยาศัย”
นี่ก็เป็นคำตอบที่ลึกซึ้งของกษัตริย์ผู้มีพระวรกายค่อนข้างจะย่อมแห่งตะวันออกพระองค์หนึ่ง ต่อกษัตริย์ผู้ประเสริฐแห่งตะวันตก ที่มีพระราชประสงค์จะให้กษัตริย์อีกซีกโลกหนึ่งเปลี่ยนจากการนับถือศาสนาที่ยึดถือมาแต่บรรพบุรุษ ไปตามพระปรารถนาของพระองค์ เพื่อกระเดื่องพระเกียรติ
การปฏิวัติอันยิ่งใหญ่และมหัศจรรย์ในพระราชอาณาจักรสยาม จึงไม่ได้เกิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนศาสนาของประเทศสยามที่นับถือสืบเนื่องมาแต่ครั้งบรรพชนได้ มีแต่การชิงอำนาจเพื่อขับไล่ชาวตะวันตกและสมุน รวมทั้งคนไทยที่หลงนิยมศัตรูของชาติ ผู้พยายามจะทำให้พระราชอาณาจักรนี้ตกอยู่ในบังคับของฝรั่งเศส