xs
xsm
sm
md
lg

“ทรู-ดีแทค” เคลียร์ทุกข้อกล่าวหา ยันศึกษากรณีการควบรวมธุรกิจอย่างรอบด้าน ทำถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทรู-ดีแทคโต้ทุกประเด็น เคลียร์ทุกข้อกล่าวหา ยันศึกษากรณีการรวมธุรกิจมาอย่างรอบด้านและดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกประการ สวนเอไอเอสอย่ายกประเด็นควบรวม 3BB มาเทียบ เพราะเป็นคนละเรื่อง

วันนี้ (2 ส.ค. 2565) มีรายงานข่าวปรากฏในสื่อบางกอกโพสต์ เรื่อง “AIS presses NBTC on mega merger” ระบุถึงการรวมธุรกิจระหว่างทรูกับดีแทค ว่าอาจขัดต่อกฎหมายและจำเป็นต้องมีการขออนุญาตจากสำนักงาน กสทช. รวมทั้งยังมีการเปรียบเทียบกับการซื้อกิจการในกลุ่มธุรกิจโทรคมนาคมนั้น ทรู-ดีแทคขอชี้แจงรายละเอียดว่า

• การรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมในไทยเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่มีประกาศ กสทช. ปี 2561 มีผลบังคับใช้ในปี 2561 มีการรวมธุรกิจเกิดขึ้นมาแล้วกว่า 9 กรณี ซึ่ง กสทช.ก็ได้ดำเนินการตามประกาศเรื่องการรวมธุรกิจฯ ปี 2561 มาโดยตลอด โดยมีมติ รับทราบการรายงาน การรวมธุรกิจในทุกกรณีที่ผ่านมาเท่านั้น และไม่เคยมีการพิจารณาอนุมัติหรือปฏิเสธ และอาศัยอำนาจตามประกาศ กสทช. ปี 2549 มาประกอบการพิจารณาเลยทั้ง 9 กรณี ซึ่งเชื่อว่า กสทช. จะมีความเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ เป็นการเฉพาะกับกรณีการพิจารณารวมธุรกิจของทรูกับดีแทคในครั้งนี้

• การอ้างถึงกฎระเบียบในอุตสาหกรรมอื่น (ทั้งอุตสาหกรรมพลังงาน และอุตสาหกรรมการเงินธนาคาร) และนำมาใช้กดดันการดำเนินงานในต่างอุตสาหกรรมนั้น จะทำให้เกิดความสับสนและไม่ถูกต้อง เพราะแต่ละอุตสาหกรรมมีหน่วยงานกำกับดูแลการควบรวมและกฎระเบียบที่แตกต่างกัน จึงควรยึดกฎระเบียบและแนวทางตามอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่เอกชนทุกรายในอุตสาหกรรมฯ ยึดถือในการดำเนินธุรกิจ โดยในกรณีของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมนั้น กสทช.มีอำนาจในการออกมาตรการตามที่กฎหมายกำหนดให้อำนาจไว้ ซึ่งเป็นไปตามประกาศ กสทช. ปี 2561 ที่ออกมาเพื่อกรณีของการควบรวมในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมโดยเฉพาะ ซึ่งทรูและดีแทคได้ปฏิบัติตามขั้นตอนในการรวมธุรกิจในครั้งนี้อย่างครบถ้วนในทุกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านการกำกับดูแลโดย กสทช. และ พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด

• การอ้างถึงกรณีเอไอเอสเข้าซื้อกิจการ 3BB (Acquisition) เป็นกรณีที่แตกต่างกับการควบรวมระหว่างทรูกับดีแทค (Amalgamation) อย่างสิ้นเชิง ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ เพราะกฎหมายและระเบียบของ กสทช.ได้เขียนไว้ในประกาศต่างฉบับกัน กล่าวคือ
- ประกาศ กสทช. ปี 2549 เรื่อง การเข้าซื้อกิจการ ซื้อขายหุ้นและทรัพย์สินที่มีนัยสำคัญจากกันและกัน ซึ่งกรณีที่เอไอเอส เข้าซื้อกิจการของ 3BB เป็นไปตามประกาศ กสทช. ปี 2549 ที่มีการระบุถึงกรณีผู้รับใบอนุญาตเข้าซื้อหุ้นและทรัพย์สินของผู้รับใบอนุญาตอีกราย จำเป็นต้องขออนุญาตจาก กสทช.
- ส่วนการรวมธุรกิจระหว่างทรูกับดีแทคนั้นเป็นการควบบริษัท (Amalgamation) จึงต้องพิจารณาตามประกาศ กสทช. ปี 2561 เรื่องการควบรวม ซึ่งได้ออกมายกเลิกประกาศ กสทช. ปี 2553 ดังนั้น การนำประกาศ กสทช. ปี 2553 ขึ้นมาอ้างอิงจะทำให้เกิดความสับสน เพราะเป็น ประกาศที่ได้มีการยกเลิกไปแล้ว

• กรณีที่ นายสมชัย ผู้บริหาร AIS ได้กล่าวในสื่อบางกอกโพสต์ว่า ผู้ถือหุ้นต่างชาติของทั้งสองบริษัทมีความเข้าใจระเบียบและกฎหมายไทยเพียงพอหรือไม่นั้น ขอยืนยันว่า ทรู-ดีแทค ตลอดจนผู้ถือหุ้นของสองบริษัทให้ความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจโดยยึดมั่นในหลักบรรษัทภิบาลอย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด นอกจากนี้ เรายัง ให้เกียรติคู่แข่ง คู่ค้า และยึดมั่นหลักการแข่งขันอย่างเป็นธรรมและมีธรรมาภิบาล และเคารพในกฎระเบียบและกฎหมายของทุกประเทศที่เข้าไปดำเนินกิจการเป็นอย่างดี ไม่เคยท้าทายกฎหมายเหล่านั้น ขอยืนยันว่า การควบรวมในครั้งนี้ได้มีการศึกษาทุกกฎระเบียบของไทยอย่างรอบคอบและดำเนินการตามกฎหมายของไทยอย่างถูกต้องทุกขั้นตอน

• บริษัท ลิ้งค์เลเทอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ที่ปรึกษากฎหมายของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ปรึกษากฎหมายของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ให้ความเห็นทางกฎหมายเกี่ยวกับการรวมธุรกิจระหว่างทรูกับดีแทคที่ได้ให้กับบริษัททั้งสองในครั้งนี้ว่า
- “เมื่อพิจารณาจากแนวปฏิบัติของ กสทช.ในการพิจารณาการควบรวมกิจการหรือการรวมธุรกิจที่ผ่านมา จะพบว่าภายหลังจากที่ประกาศเรื่องการรวมธุรกิจฯ ปี 2561 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2561 มีผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมไม่น้อยกว่า 9 รายดำเนินการแจ้งการรวมธุรกิจภายใต้ประกาศดังกล่าว ซึ่ง กสทช.ก็มีมติเพียง “รับทราบ” การแจ้งการรวมธุรกิจเหล่านั้นเท่านั้น โดยมิได้ออกคำสั่ง “อนุญาต” และมิได้อาศัยอำนาจตามประกาศเรื่องมาตรการป้องกันการผูกขาดฯ ปี 2549 มาประกอบการพิจารณาแต่อย่างใด”
- “ถึงแม้ กสทช.จะไม่มีอำนาจในการอนุญาตหรือไม่อนุญาต แต่ กสทช.มีอำนาจในการกำกับดูแลตามข้อ 12 แห่งประกาศเรื่องการรวมธุรกิจฯ ปี 2561 ในการกำหนดเงื่อนไขหรือนำมาตรการเฉพาะสำหรับผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญในตลาดโทรคมนาคมที่เกี่ยวข้องมาบังคับใช้เพื่อป้องกันความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะได้”

ทรู-ดีแทค ขอยืนยันว่า การควบรวมในครั้งนี้ ทั้งสองบริษัทได้ดำเนินการทุกอย่างตามขั้นตอน ทั้งผ่านการพิจารณาอนุมัติจากคณะกรรมการของทั้งสองบริษัทให้ดำเนินการ และได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้นของทั้งสองบริษัท รวมทั้งผู้บริหารก็ได้ดำเนินการตามกระบวนการเรื่องนี้อย่างครบถ้วนแล้ว และเชื่อมั่นว่าเราจะขับเคลื่อนบริษัทเทคโนโลยีใหม่นี้ เพื่อสร้างประโยชน์และคุณค่าเพิ่มให้แก่ผู้บริโภคประชาชนชาวไทย ภาคธุรกิจ สังคมและประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน


กำลังโหลดความคิดเห็น