พระพุทธรูป คือสัญลักษณ์แทนองค์พระพุทธเจ้า สร้างขึ้นมาไม่ว่าองค์เล็กหรือองค์ใหญ่ ก็เพื่อเป็นที่กราบไหว้สักการะของพุทธศาสนิกชน แต่เมื่อผู้สร้างมีแรงศรัทธาสูงต้องการแสดงความเคารพต่อพระพุทธศาสนา และเชื่อว่าการสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่นั้นจะได้อานิสงส์มาก จึงมีการสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่กันมาก และพระพุทธรูปไม่ใช่รูปเหมือนของพระพุทธเจ้า การสร้างพระพุทธรูปในแต่ละสมัย แต่ละสกุลช่าง จึงมีศิลปะแตกต่างกันไป เป็นเครื่องแสดงถึงพุทธศิลป์ของยุคสมัยนั้นๆ
นอกจากพระพุทธรูปองค์ใหญ่โตโอฬารจะเป็นที่ตื่นตาตื่นใจของผู้ไปกราบไหว้บูชาแล้ว ภายในวัดยังมีศิลปะที่งดงาม มีความสงบร่มเย็น และหลายวัดยังมีภูมิประเทศรอบด้านสวยงาม จึงดึงดูดให้นักท่องเที่ยวให้เข้าชมมาก โดยเฉพาะพระพุทธรูปองค์ใหญ่เป็นจุดที่เรียกความสนใจได้มากที่สุด ด้วยเหตุนี้ไม่ว่าแดนพุทธศาสนาอย่างประเทศไทย หรือประเทศจีน แผ่นดินคอมมิวนิสต์ ก็แข่งขันกันสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว
มีการจัดอันดับพระพุทธรูปสูงที่สุดในโลก ๑๐ อันดับเมื่อไม่นานมานี้ ปรากฏผลคือ
อันดับ ๑ “พระใหญ่จงหยวน” แห่งวัดฟัวเฉวียน ในเมืองหลู่ซัน มณฑลเหอหนาน หล่อด้วยทองแดงมีความสูง ๑๒๘ เมตร หนัก ๑,๐๐๐ ตัน อยู่บนฐานดอกบัวสูง ๒๐ เมตร และอยู่บนอาคารสูง ๒๕ เมตร สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๑ มานี่เอง โดยนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ด้วยเงิน ๑,๒๐๐ ล้านหยวน หรือราว ๖,๕๐๐ ล้านบาท
อันดับ ๒ “อุชิคุไดบุตสึ” พระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ องค์พระพุทธรูปสูง ๑๐๐ เมตร ฐานสูง ๒๐ เมตร สร้างเสร็จในปี พ.ศ.๒๕๓๓ มีลิฟท์ให้ขึ้นจากชั้น ๒ ถึงชั้น ๕ และมีหน้าต่างให้ชมทิวทัศน์รอบๆได้ บริเวณโดยรอบจะมีสระน้ำ สวนดอกไม้ และการแสดงของสัตว์ ให้ผู้ไปกราบไหว้ได้เพลิดเพลินเหมือนไปท่องเที่ยว
อันดับ ๓ “พระพุทธรูปเลจุน เซจาร์” เมืองโมนยวา ประเทศพม่า ห่างจากเมืองมัณฑะเลย์ ๑๒๕ กิโลเมตร ซึ่งมีทั้งพระพุทธรูปยืนและพระพุทธไสยาสน์อยู่ที่เดียวกัน พระพุทธรูปยืนสูง ๑๑๕.๘ เมตร ส่วนพระพุทธไสยาสน์มีความยาว ๑๗๐ เมตร เริ่มสร้างมาแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๙ ใช้เวลา ๑๒ ปีจึงแล้วเสร็จ พ.ศ.๒๕๕๑
อันดับ ๔ “พระพุทธมหานวมินทร์ศากยมุนีศรีวิเศษชัยชาญ” หรือ “หลวงพ่อใหญ่” เป็นพระพุทธรูปสูงที่สุดของประเทศไทย อยู่ที่วัดม่วง ต.หัวสะพาน อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง หน้าตักกว้าง ๓๖.๐๕ เมตร สูงจากฐานองค์พระถึงยอดเกศา ๙๕ เมตร
วัดม่วงเป็นวัดที่สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ถูกทำลายลงเมื่อครั้งเสียกรุงจนกลายเป็นวัดร้าง ต่อมาหลวงพ่อเกษม อาจารสุโภ หรือพระครูวิบูลอาจารคุณ ได้ธุดงค์มาพบ เห็นว่าเป็นสถานที่น่าปฏิบัติธรรม จึงบอกบุญให้ช่วยกันบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้น ต่อมาผู้มีจิตศรัทธาได้ร่วมกันสร้างหลวงพ่อใหญ่เพื่ออุทิศแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหารช บรมนาถบพิตร เริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๓๔ แล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๐ ใช้ทุนทรัพย์ในการสร้าง ๑๐๔,๒๖๑,๐๘๙.๖๕ บาท และพระครูวิบูลอาจารคุณได้ถวายนามว่า “พระพุทธมหานวมินทรศากยมุนีศรีวิเศษชัยชาญ”
ส่วนโบสถ์วัดม่วงนั้นก็งามแปลกตา ล้อมรอบด้วยกลีบบัว ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังพุทธประวัติ บริเวณรอบวัดมีจำลองเมืองนรกและสวรรค์เป็นคติสอนใจ รวมทั้งคติความเชื่อของลัทธิต่างๆ และเรื่องราวประวัติศาสตร์
คนที่ไปนมัสการหลวงพ่อใหญ่มีความเชื่อกันว่า ถ้าได้สัมผัสปลายพระหัตถ์ของท่านที่พอเอื้อมถึงนั้น ท่านจะประทานพรให้ตามปรารถนา
อันดับ ๕ “พระใหญ่หลิงซานต้าฝอ” พระใหญ่องค์นี้อาจเป็นจุดบันดาลใจให้เกิดมีการสร้างพระใหญ่อีกหลายองค์ขึ้นในประเทศจีนขณะนี้ เพราะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมอันดับสูงสุดของประเทศจีน ดึงดูดนักท่องเที่ยวราว ๔ ล้านคนให้มาเยือนในแต่ละปี สร้างรายได้กว่า ๑,๒๐๐ ล้านหยวน หรือราว ๖,๕๐๐ ล้านบาท
พระใหญ่หลิงซานต้าฝอเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของเมืองอู๋ซี มณฑลเจียงซู ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของทะเลสาบไท่หู หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์สูง ๘๘ เมตร มีฐานดอกบัว ๙ เมตร หนัก ๗๐๐ ตัน หันพระพักตร์ไปทางทะเลสาบ มีลักษณะยิ้ม มองดูคล้ายคอยดูแลปกป้องปวงชน สร้างขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๓๙ เป็นความคิดริเริ่มของ จ้าวผู่ชู อดีตประธานสมาคมพุทธศาสนาแห่งประเทศจีน จากความคิดที่จะให้มี ๕ พระพุทธรูปใน ๕ ทิศ ซึ่งมีอิทธิพลอย่างยิ่งในการพัฒนาพุทธศาสนาของจีนในปัจจุบัน นั่นก็คือ พระใหญ่หลิงซานต้าฝอทางตะวันออก พระใหญ่เทียนถาน ทางใต้ในฮ่องกง พระใหญ่เล่อซาน ทางตะวันตก พระใหญ่อวิ๋นกัง ทางตอนเหนือ และพระใหญ่หลงเหมิน ทางตอนกลาง
วัดหลิงซานเป็นวัดที่มีบริเวณกว้างขวาง สวยงามร่มรื่น มีภูเขาล้อมรอบถึงสามด้าน มีทะเลสาบขนาดใหญ่อยู่เบื้องหน้า นอกจากพระใหญ่แล้วยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกหลายอย่าง เช่น ฝ่ามือของพระใหญ่จำลองในขนาดเท่ากันไว้ให้นักท่องเที่ยวได้กราบไหว้บูชา ใกล้ๆกันยังมีรูปปั้นพระสังกัจจายน์องค์ใหญ่ ที่เชื่อกันว่าเป็นเทพแห่งโชคลาภ ความร่ำรวย และมีเด็กปีนป่ายล้อมรอบองค์ ทำให้เชื่อกันว่าถ้าใครได้บูชา จับพุง จับตัวเด็ก และทำการเวียนเทียน ๓ รอบจะทำให้สมหวังในการมีบุตรด้วย
นอกจากนี้ทางเชิงเขาหลิงซานยังมีวังกบิลพัสดุ์จำลอง อันเป็นสถาปัตยกรรมที่สวยงามด้วยการแกะสลักไม้ และจิตรกรรมฝาผนังสีน้ำมันขนาดใหญ่
การเข้าชมวัดหลิงซานนี้ไม่ใช่เดินเข้าชมได้เหมือนวัดไทย แต่ต้องซื้อบัตรเข้าชมในราคาประมาณ ๑๒๕ บาท และมีรถบริการเนื่องจากพื้นที่กว้างขวาง เที่ยวได้ทั้งวัน
อันดับ ๖ “พระพุทธโชค วัดเขาวงพระจันทร์” อยู่ใน ต.ห้วยโป่ง อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี ยอดเขาวงพระจันทร์สูงจากระดับน้ำทะเล ๖๕๐ เมตร วัดเขาวงพระจันทร์อยู่เชิงเขา แต่พระพุทธโชคอยู่สูงขึ้นไปเกือบถึงยอดเขา มีบันไดจากเชิงเขาขึ้นไป ๓,๗๙๙ ขั้น เป็นระยะทาง ๑,๖๘๐ เมตร ตลอดสองข้างทางเป็นป่าไม้ ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๒-๓ ชั่วโมง
พระพุทธโชค เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสมัยเชียงแสน แรกเริ่มโครงการก่อสร้างใช้ชื่อว่า "พระเชียงแสน" องค์พระก่อด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาดหน้าตักกว้าง ๔๕ เมตร สูง ๗๕ เมตร เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๓ เสร็จสมบูรณ์เมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๕๖๑ มีการจัดพิธีถวายพระนามใหม่ว่า “พระพุทธโชค” และมีพิธีสมโภชเมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ.๒๕๖๑
วัดเขาวงพระจันทร์ยังเป็นแหล่งสะสมพระพิมพ์ต่างๆมากมาย เพราะหลวงปู่ฟัก อดีตเจ้าอาวาส เป็นนักสะสมพระเครื่องมาก่อนที่จะบวช มีการจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้ชมพร้อมกับของแปลก คือ ควาย ๓ เขา และงาช้างสีดำ
อันดับ ๗ “พระใหญ่เล่อซาน” ประดิษฐานอยู่ที่เขาเล่อซาน เมืองเล่อซาน มณฑลเสฉวน สร้างมาตั้งแต่ พ.ศ.๑๒๕๖ ในสมัยฮ่องเต้เสวียนถังจง แห่งราชวงศ์ถัง ตามประวัติกล่าวว่า มีหลวงจีนไห่ทง เดินทางมาพบว่าเขาเล่อชานตั้งอยู่ตรงทางบรรจบของแม่น้ำสามสาย มักเกิดอุบัติเหตุเรือล่มทำให้มีผู้คนเสียชีวิตบ่อยๆ จึงตั้งใจสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ขึ้นตรงจุดนี้เพื่อให้พระคุ้มครองแก่ผู้เดินทาง ต่อมามีชาวพุทธผู้มีจิตศรัทธาใช้ความพยายามและใช้เวลาถึง ๗๐ ปีขุดเจาะแกะสลักหินเป็นองค์พระขึ้นที่หน้าผา สร้างพระพุทธรูปองค์นี้จนสำเร็จ พระเศียรสูงเท่าภูเขา มีความสูง ๘๘ เมตร ไหล่กว้าง ๒๐ เมตร องค์พระแกะสลักอย่างประณีต ได้สัดส่วนเหมือนคนจริงๆ อยู่ในอิริยาบถนั่ง พระหัตถ์วางคว่ำบนพระชานุ พระบาทอยู่ชิดริมน้ำ มีลักษณะน่าเกรงขาม พระพักตร์หันออกทะเลสาบ สร้างความมั่นใจให้ชาวเรือที่ต้องต่อสู้กับความเชี่ยวกรากของกระแสน้ำ
การสร้างพระเล่อซานนอกจากจะสะท้อนถึงความยิ่งใหญ่และความรุ่งเรืองในสมัยราชวงค์ถังแล้ว ยังแสดงถึงความชาญฉลาดของคนจีนในสมัยนั้น เช่นเม็ดพระศก หรือขมวดปุ่มผมบนพระเศียรซึ่งมีถึง ๘ แถว จำนวน ๑,๐๕๑ เม็ดนั้น ได้วางระบบระบายน้ำให้ไหลลงทางหลังพระกรรณ เพื่อลดการสึกกร่อนจากน้ำฝน อีกทั้งพระกรรณและพระนาสิกก็สร้างจากไม้ แล้วใช้ปูนโบกทับสนิทเป็นเนื้อเดียวกัน
องค์กรยูเนสโกแห่งสหประชาชาติได้ขึ้นทะเบียนให้พระใหญ่เล่อซาน เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๔
อันดับ ๘ “พระพุทธรัตนมงคลมหามุนี” หรือ “หลวงพ่อใหญ่” วัดบูรพาภิราม ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด เป็นพระพุทธรูปปางประทานพร มีความสูงจากพระเศียรถึงพระบาท ๕๙.๒๐ เมตร ถ้ารวมฐานด้วยจะเป็น ๖๗.๗๕ เมตร สร้างโดยพระราชปรีชาญาณมุนี (พุทธา สิริวุฑโฒ) เจ้าอาวาสรูปที่ ๕ ของวัดบูรพาภิราม และอดีตเจ้าคณะจังหวัดร้อยเอ็ด ก่อสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ติดกระเบื่องโมเสกสีเนื้อ ใช้เวลาก่อสร้าง ๘ ปี สิ้นค่าก่อสร้าง ๗ ล้านบาท ส่วนพุทธลักษณะที่ผิดสัดส่วนของพระพุทธรูปทั่วไปนั้น สันนิษฐานว่าออกแบบก่อสร้างโดยช่างท้องถิ่นที่สร้างด้วยแรงศรัทธาต่อพระพุทธศาสนามากกว่าความสวยงามขององค์พระ
พระพุทธรูปองค์นี้เป็นสัญลักษณ์สำคัญหนึ่งของจังหวัดร้อยเอ็ด ดังปรากฏในคำขวัญจังหวัดว่า
“สิบเอ็ดประตูงาม เรืองนามพระสูงใหญ่ ผ้าไหมสาเกตุ บุญผะเหวดประเพณี มหาเจดีย์ไชยมงคล งามน่ายลบึงพระลานชัย เขตกว้างไกลทุ่งกุลา โลกลือชาข้าวหอมมะลิ”
อันดับ ๙ “หลวงพ่อสัจจธรรม” นับเป็นพระพุทธรูปอยู่สูงที่สุดในโลก ประดิษฐานอยู่ที่กรุงทิมพู ประเทศภูฏาน ดินแดนแห่งเทือกเขาหิมาลัย เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ประทับนั่งสมาธิอยู่บนเนินเขา องค์พระมีความสูง ๕๑.๕๐ เมตร ใช้เงินสร้าง ๔๗ ล้านเหรียญดอลลาร์ โดยรัฐบาลภูฏานได้รับความร่วมมือจากเศรษฐีชาวสิงคโปร์ ส่วนก่อสร้างโดยฝีมือช่างไทย และได้รับแรงบันดาลใจมาจากพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ในสถูป พุทธคยา ประเทศอินเดีย ภายในองค์พระบรรจุพระพุทธรูปขนาดเล็ก มากกว่า ๑,๐๐๐ องค์ ส่วนฐานองค์พระเป็นห้องโถงขนาดใหญ่สำหรับนั่งสมาธิ ตกแต่งภายในด้วยจิตรกรรมศิลปะทิเบต นอกจากจะมีความงามแล้วยังสื่อความหมายถึงคติธรรมการตรัสรู้ขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า
อันดับ ๑๐ “พระพุทธรูปใหญ่ แห่งพุทธอุทยาน โฝ กวง ซาน” เป็นสวนทางด้านพุทธศาสนานิกายมหายานของไต้หวัน ตั้งอยู่ชานเมืองเกาสง มีบริเวณที่กว้างใหญ่อลังการมาก ครอบคลุมพื้นที่หลายร้อยไร่ สร้างขึ้นโดยพระอาจารย์ซิงหยุนและลูกศิษย์ สถาปัตยกรรมส่วนหนึ่งนั้นได้รับแรงบันดาลใจมาจากพุทธศิลป์ของอินเดีย จุดเด่นจะเป็นพระพุทธรูปใหญ่หล่อด้วยทองสำริด สูง ๕๐ เมตรแล้ว ยังมีเจดีย์ขนาดใหญ่เรียงรายอยู่ ๒ ข้างทาง มีพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับพุทธศาสนา เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ฉากหลังเป็นภูเขา เปิดให้ชมครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๕๕๔ ปัจจุบันเป็นหนึ่งในแลนด์มาร์คของไต้หวัน ที่มีนักท่องเที่ยวมาชมเป็นจำนวนมากตลอดทั้งปี
อันดับทั้ง ๑๐ องค์พระพุทธรูปสูงที่สุดในโลกนี้ อาจจะต้องเปลี่ยนแปลงไป หรือวันนี้อาจจะเปลี่ยนไปแล้วก็ได้ เนื่องจากมีการสร้างพระพุทธรูปใหญ่เกิดขึ้นตลอด โดยเฉพาะในประเทศจีน โดยจุดมุ่งหมายเพื่อการท่องเที่ยว เนื่องจากปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวสนใจวัดกันจำนวนมาก ในขณะที่พุทธศาสนากำลังได้รับความสนใจและแพร่หลายขึ้นทั่วโลกในขณะนี้