xs
xsm
sm
md
lg

หลายสถานทูตในไทยผลิตคอนเทนต์เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ 2565

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พบหลายสถานทูตในประเทศไทยผลิตคอนเทนต์เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ 2565 มีทั้งให้เจ้าหน้าที่ชาวต่างชาติทดสอบภาษาไทย อ่านสำนวน บทกลอน ไปจนถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเปรียบเทียบภาษาของตนเอง

วันนี้ (29 ก.ค.) เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ ซึ่งเกิดขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2542 ตามที่คณะกรรมการรณรงค์เพื่อภาษาไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเสนอขอให้รัฐบาลประกาศให้วันที่ 29 ก.ค.ของทุกปี เป็น วันภาษาไทยแห่งชาติ เช่นเดียวกับวันสำคัญอื่นๆ ที่รัฐบาลได้จัดให้มีมาก่อนแล้ว เช่น วันวิทยาศาสตร์, วันสื่อสารแห่งชาติ เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนตระหนักในคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย รวมถึงเพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกให้คนไทยทั้งชาติได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย ตลอดจนร่วมมือกันทำนุบำรุง ส่งเสริม และอนุรักษ์ภาษาไทยให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป

เหตุผลที่เลือกวันที่ 29 ก.ค.ของทุกปีเป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ เพราะวันดังกล่าวตรงกับวันที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ เสด็จพระราชดำเนินไปเป็นองค์ประธาน และทรงร่วมอภิปรายในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2505 ทรงเปิดอภิปรายในหัวข้อ “ปัญหาการใช้คำไทย” โดยพระองค์ทรงดำเนินการอภิปรายและทรงสรุปการอภิปราย ที่แสดงถึงพระปรีชาสามารถและความสนพระราชหฤทัยรวมถึงความห่วงใยในภาษาไทย ซึ่งเป็นที่ประทับใจผู้ร่วมเข้าประชุมในครั้งนั้นเป็นอย่างยิ่ง

สำหรับพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในครั้งนั้น มีใจความตอนหนึ่งว่า “เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหา เฉพาะในด้านรักษาภาษาก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียง คือให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่าวิธีใช้คำมาประกอบประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สามคือความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้… สำหรับคำใหม่ที่ตั้งขึ้นมีความจำเป็นในทางวิชาการไม่น้อย แต่บางคำที่ง่ายๆ ก็ควรจะมี ควรจะใช้คำเก่าๆ ที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก…”

ในวันนี้มีความเคลื่อนไหวของสถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศ ประจำประเทศไทย ที่ออกมาผลิตเนื้อหาลงในสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะวิดีโอคลิป เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ เริ่มกันที่เฟซบุ๊ก U.S. Embassy Bangkok ของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เผยแพร่วิดีโอคลิปเนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ หัวข้อ "พูดไทยในวันภาษาไทย ณ สถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย" โดยให้เจ้าหน้าที่ชาวอเมริกัน 6 คนพูดภาษาไทย พูดถึงเมนูอาหารไทย คำไทยที่ชอบ คำไทยที่พูดยากที่สุด คิดยังไงเกี่ยวกับภาษาไทย และฝากอะไรถึงเพื่อนๆ ชาวไทย

ชมคลิป คลิกที่นี่

ด้านเฟซบุ๊ก Chinese Embassy Bangkok สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ได้เผยแพร่วิดีโอคลิปหัวข้อ "ทูตจีนท้าทายการเล่นเสียงภาษาไทย ฉลองวันภาษาไทยแห่งชาติประจำปี 2565" เช่น ชามเขียวคว่ำเช้า ชามขาวคว่ำค่ำ, ระนอง ระยอง ยะลา, หมู หมึก กุ้ง, ทหารถือปืนแบกปูนไปโบกตึก, หุง อุ่น ตุ๋น ต้ม นึ่ง, รถยนต์ล้อยาง รถรางล้อเหล็ก พร้อมกับตอบคำถามที่ว่า การเรียนภาษาไทยยากหรือไม่ และการเรียนภาษามีส่วนช่วยในการแลกเปลี่้ยนวัฒนธรรมอย่างไรบ้าง

ชมคลิป คลิกที่นี่

ขณะที่เฟซบุ๊ก UK in Thailand ของสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย เผยแพร่วิดีโอคลิป "สุขสันต์วันภาษาไทย" โดยมีเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย และเพื่อนร่วมงานมาแข่งกันตอบคำถาม "แฟนพันธุ์แท้ประเทศไทย" เช่น ชื่ออย่างเป็นทางการของ United Kingdom ในภาษาไทย คืออะไร, ข้อใดไม่ใช่จังหวัด, บอกถนนหรือชื่อซอย 4 สายภายใน 30 วินาที, เกาเหลาคืออะไร, ชื่อสัตว์ภาษาอังกฤษ ภาษาไทยเรียกว่าอะไร และบอกชื่ออาหารในภาษาไทยภายในเวลา 30 วินาที

ชมคลิป คลิกที่นี่

ส่วนเฟซบุ๊ก German Embassy Bangkok ของสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนี ได้เผยแพร่วิดีโอคลิป "สุขสันต์วันภาษาไทยแห่งชาติ" ระบุว่า "วันนี้เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ พวกเราที่สถานทูตเยอรมนีได้มาลองพูดภาษาไทยกันดู หวังว่าคงไม่แย่เกินไปนะ"

ชมคลิป คลิกที่นี่

ด้านเฟซบุ๊ก Australian Embassy, Thailand ของสถานเอกอัคราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย เผยแพร่วิดีโอคลิป "Happy National Thai Language Day 2022! #วันภาษาไทยแห่งชาติ" นำโดย แองเจลา แมคโดนัลด์ (Angela Macdonald) เอกอัคราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย โดยมีนักการทูตชาวออสเตรเลีย 3 คน ได้แก่ เจน ราแคนคอจ (Jane Racancoj), เดวิด บาร์น (David Braun) และ อเล็กซานเดอร์ วิลล์ (Alexander Wills) มาวัดระดับภาษาไทย ทั้งสำนวนและบทกลอนต่างๆ

ชมคลิป คลิกที่นี่

ขณะที่เฟซบุ๊ก Israel in Thailand ของสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย เผยแพร่วิดีโอคลิป "สุขสันต์วันภาษาไทยแห่งชาติ 2565" โดยมีนางออร์นา ซากิฟ เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย แนะนำสำนวนไทยที่หลายคนอาจคุ้นเคย เช่น พลิกหน้ามือเป็นหลังมือ ทำให้ทะเลทรายกลายเป็นสีเขียว จนอิสราเอลเป็นผู้นำโลกด้านการเกษตร

ชมคลิป คลิกที่นี่

ส่วนเฟซบุ๊ก Embassy of Sweden in Bangkok ของสถานทูตสวีเดนประจำกรุงเทพฯ โพสต์ข้อความระบุว่า ภาษาไทยเป็นหนึ่งในภาษาที่มีการเรียนการสอนในโรงเรียนทั่วสวีเดน เป็นเวลากว่าสี่สิบปีนับตั้งแต่ทศวรรษ 1960 มาแล้วที่รัฐบาลสวีเดนได้เล็งเห็นถึงสิทธิของเด็กที่จะรักษาอัตลักษณ์ดั้งเดิมและความสำคัญของการศึกษาภาษาต่างๆ จึงได้จัดให้มี “การศึกษาภาษาแม่” หรือที่เรียกกันทั่วไปในภาษาสวีเดนว่า “Hemspråk” (ภาษาบ้าน) ซึ่งหนึ่งในแอดมินของเพจก็เรียนภาษาไทยที่สวีเดนผ่านโปรแกรมนี้เช่นกัน พร้อมกับข้อความเขียนด้วยลายมือว่า "วันภาษาไทย"

อ่านโพสต์ต้นฉบับ คลิกที่นี่

อีกด้านหนึ่ง เฟซบุ๊ก Embassy of Japan in Thailand/สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย โพสต์ข้อความหัวข้อ "ตัวอักษรภาษาญี่ปุ่น" ระบุว่า ในประเทศไทย วันที่ 29 กรกฎาคม เป็น “วันภาษาไทย” โดยเมื่อราวศตวรรษที่ 13 พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐ์ตัวอักษรพยัญชนะไทยขึ้น ตัวอักษรไทยมีจำนวน 44 ตัว แต่ในปัจจุบันตัวอักษร “ฃ” และ “ฅ” เลิกใช้ไปแล้ว จึงทำให้เหลือตัวอักษรไทยใช้โดยทั่วไปเพียง 42 ตัว

ในอีกด้านหนึ่ง ปัจจุบันภาษาญี่ปุ่นมีการใช้ตัวอักษร 3 ประเภท ประกอบไปด้วย “ตัวอักษรคันจิ” “ตัวอักษรฮิรางานะ” และ “ตัวอักษรคาตาคานะ” สำหรับตัวอักษร “คันจิ” ที่ใช้ในภาษาญี่ปุ่น เป็นตัวอักษรภาพ ที่ตัวอักษรแต่ละตัวมีความหมาย โดยมีตัวอักษรคันจิที่ใช้ทั่วไปประมาณ 1,945 ตัวอักษร ซึ่งจำเป็นจะต้องรู้สำหรับการอ่านหนังสือพิมพ์ภาษาญี่ปุ่น

สำหรับตัวอักษรแสดงเสียง มี 2 ประเภท ประเภทแรก “ตัวอักษรฮิรางานะ” มีจำนวน 48 ตัว ใช้สำหรับเขียนในคำภาษาญี่ปุ่นแท้ แสดงเสียงของคำช่วย และเสียงท้ายของคำกริยา สำหรับประเภทที่สอง “ตัวอักษรคาตาคานะ” มีจำนวน 48 ตัวเช่นเดียวกันกับ “ตัวอักษรฮิรางานะ” ใช้สำหรับเขียนคำที่มาจากภาษาต่างประเทศ สำหรับเน้น และชื่อทางวิทยาศาสตร์ เช่น ชื่อของพันธุ์ไม้ เป็นต้น

อ่านโพสต์ต้นฉบับ คลิกที่นี่

นอกจากนี้ เฟซบุ๊ก Embassy of the Republic of Korea in Thailand ของสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลี ยังได้เผยแพร่วิดีโอคลิป สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีร่วมสืบสานและอนุรักษ์ภาษาไทย อีกด้วย โดยได้เผยแพร่ผ่านทางยูทูบ Korean Cultural Center in Thailand (ศูนย์วัฒนธรรมเกาหลี) โดยนายมุน ซึง ฮยอน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย กล่าวเป็นภาษาไทยว่า "ตอนนี้ประเทศเกาหลีกำลังเตรียมเสนอเมืองปูซานเป็นเจ้าภาพงาน 2030 World Expo อยู่นะครับ" ซึ่ง น.ส.ลี จองจู ทูตเศรษฐกิจ กล่าวว่า "2030 World Expo เป็นงานนิทรรศการที่ใหญ่ที่สุดในโลก" ก่อนที่นายมุนจะกล่าวว่า "ขอให้คนไทยให้ความสนใจและส่งกำลังใจให้เกาหลีได้เป็นเจ้าภาพงานนี้ด้วยนะครับ" พร้อมกับพูดพร้อมกันว่า "สู้ สู้"

ชมคลิป คลิกที่นี่
กำลังโหลดความคิดเห็น