xs
xsm
sm
md
lg

“ปานเทพ” แย้งแพทย์รามาเรียกร้องปิดสุญญากาศกัญชาเสรี ยันมีกฎหมายดูแลเด็กเยาวชนอยู่แล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ปานเทพ” ยันมีกฎหมายดูแลเด็กเยาวชนอยู่แล้ว วอนแพทย์มองอีกด้านเห็นใจผู้ป่วย แนะควรใช้เวทีคณะกรรมการบูรณาการฯแลกเปลี่ยนความเห็นต่าง

วันที่ 26 ก.ค. 2565 นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต และโฆษกคณะกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์การใช้กัญชาอย่างเข้าใจ กระทรวงสาธารณสุข โพสต์เฟซบุ๊ก "ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์" ระบุว่า ...

จากกรณีที่แพทย์ประจำบ้าน แพทย์ประจำบ้านต่อยอด อาจารย์แพทย์ และศิษย์เก่าแพทย์ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จำนวน 851 รายชื่อ ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2565 เรื่องขอแสดงจุดยืนและเรียกร้องให้ปิดสภาวะกัญชาเสรีในสภาวะสุญญากาศทันที ตามที่ปรากฏเป็นข่าวนั้น[1]

ขอยืนยันว่าข้อห่วงใยต่อเด็กและเยาวชนต่อการเข้าถึงกัญชานั้น เป็นจุดยืนของกระทรวงสาธารณสุขและทุกภาคส่วนตั้งแต่แรก แต่ในขณะเดียวกันการตัดสินใจในการเดินหน้าปลดล็อกยังจำเป็นจะต้องคำนึงอีกด้านหนึ่งในการคุ้มครองสิทธิในการดูแลตนเองของผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ใช้กัญชาทางการแพทย์จากแหล่งผิดกฎหมาย ทั้งต้องถูกจับกุมหรือถูกคุกคามรีดไถจากเจ้าหน้าที่รัฐ แม้กระทั่งการถูกจับกุมแม้เพียงปลูกกัญชาเพียง 1 ต้นในการดูแลรักษาสุขภาพตนเอง และถูกดำเนินคดีการผลิตหรือครอบครองยาเสพติดเพียงเพราะมีทัศนะคติต่างแพทย์แผนปัจจุบันเท่านั้น

โดยตัวอย่างโครงการศึกษาสถานการณ์การใช้กัญชาทางการแพทย์ในประเทศไทย ซึ่งได้จัดทำขึ้นโดยคณะวิจัยจากหลายสถาบันวิชาการ เผยแพร่อย่างเป็นทางการในปี 2564 โดยเว็บไซต์คลังข้อมูลและความรู้ระบบสุขภาพ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ระหว่าง กันยายน 2562- กุมภาพันธ์ 2563 พบว่า ผู้ใช้กัญชาฯเพียงร้อยละ 7.6 เท่านั้นที่ได้รับผลิตภัณฑ์กัญชาจากคลินิกแพทย์ แผนปัจจุบันหรือ แพทย์แผนไทยในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข โดยผู้ใช้กัญชากัญชาทางการแพทย์มากถึงร้อยละ 74 ได้รับกัญชาจากแหล่งผิดกฎหมาย

โดยผลการศึกษาดังกล่าวระบุว่า ประเด็นดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นถึงข้อจํากัดของการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ในระบบสาธารณสุขในช่วงระยะเวลาที่ศึกษา ทั้งในด้านข้อบ่งชี้ของการจ่ายยากัญชา ทัศนคติของแพทย์ และผู้ร่วมงาน จํานวนสถานที่ให้บริการ และการทําให้ผู้ป่วยที่ต้องการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์รู้จักและเข้าถึงแหล่งบริการได้อย่างสะดวก ฯลฯ[2]

โดยปัจจุบันยังคงมีประชาชนส่วนใหญ่ที่ใช้กัญชาทางการแพทย์ด้วยความจำเป็นแต่ผิดกฎหมาย เพราะความต้องการประชาชนจำนวนมากที่ต้องใช้กัญชาทางการแพทย์ไม่สอดคล้องไปกับการต่อต้านหรือกีดกันการจ่ายยากัญชาของแพทย์ในปัจจุบัน เช่น ข้อบ่งของแพทย์อาจไม่สามารถสนองความรับรู้และความต้องการของประชาชนในการใช้กัญชา การกีดกั้นหรือมีข้อจำกัดงานวิจัยการใช้กัญชาในมนุษย์เพราะการจัดกัญชาให้เป็นยาเสพติด การกีดกั้นให้ใช้ยาชนิดอื่นก่อนทั้งๆที่ประชาชนต้องการใช้กัญชาแทน ฯลฯ

ปรากฏผลการสำรวจของนิด้าโพลระหว่างวันที่ 13-15 มิถุนายน 2565 ที่ยืนยันว่ามีประชาชนเคยใช้กัญชาทางการแพทย์แล้วมาถึงร้อยละ 21.06[3] ของกลุ่มประชากรร้อยละ 32.98 ที่เคยมีประสบการณ์ในการใช้กัญชาทางการแพทย์แล้ว[3]

ดังนั้นหากพิจารณาจากกลุ่มสำรวจของประชากรประมาณ 50 ล้านคน หมายความว่าในกลุ่มประชากรที่เคยมีประสบการณ์ในการใช้กัญชาทางการแพทย์มีประมาณ 3.5 ล้านคน ย่อมแสดงให้เห็นว่ากัญชาใต้ดินจำนวนมากได้มีอยู่ในสังคมไทยอยู่แล้ว และประเทศไทยไม่ควรให้กลุ่มประชากรซึ่งเป็นผู้ป่วยมากขนาดนี้ตกอยู่ในฐานะอาชญากรหรือต้องเดือดร้อนต่อไปเช่นกัน

ในขณะเดียวกันกระทรวงสาธารณสุขมิได้ละเลยการคุ้มครองเยาวชน และกลุ่มเปราะบาง จึง ได้ประยุกต์ใช้กฎหมายที่มีอยู่ ประกาศให้กัญชาเป็นสมุนไพรควบคุม เพื่อให้การแปรรูปกัญชาเพื่อจำหน่ายกัญชาเพื่อการค้าจะต้องได้รับอนุญาตก่อน มีข้อห้ามเพิ่มเติมในการจำหน่ายให้กับเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี อีกทั้งยังมีมาตรการอื่นๆนอกเหนือจากกระทรวงสาธารณสุข โดยกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่ห้ามจำหน่ายกัญชา กัญชงในสถานการศึกษา ตลอดจนการช่วยกันเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้กับประชาชน ได้ส่งผลทำให้ “ความรู้” การระมัดระวังในการใช้กัญชาเข้มข้นมากขึ้นกว่าช่วงเวลาการปลดล็อก 9 มิถุนายน 2565 เสียอีก

อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่ปี 2562 ที่มีการใช้กัญชาทางการแพทย์ โดยมีการใช้กัญชาใต้ดินจำนวนมากได้ส่งผลทำให้ปรากฏผลอาการไม่พึงประสงค์เพิ่มขึ้นสูงสุดในเดือนมิถุนายน 2562 ภายหลังต่อมามีการอบรมให้ความรู้ทำให้อาการไม่พึงประสงค์หรืออาการข้างเคียงได้ลดลงตามลำดับ

แม้จะอยู่ในช่วงสุญญากาศทางกฎหมาย และยังไม่มีกฎหมายที่สมบูรณ์ แต่ก็ไม่ได้ทำให้กัญชาเป็นไปอย่างเสรี โดยภายหลังจากการให้ใช้มาตรการทางกฎหมาย การให้ความรู้ ควบคู่ไปกับการทำงานของสื่อมวลชน ปรากฏว่าหลังวันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นเวลา 1 เดือนพบว่าผู้ที่มีอาการไม่พึงประสงค์หรืออาการข้างเคียงจากการใช้กัญชาลงลงต่ำที่สุดในรอบปีงบประมาณ 2565

อย่างไรก็ตาม ด้วยความตระหนักของรัฐบาลต่อปัญหาที่เกิดขึ้น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงได้มีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 120/2565 ได้แต่งตั้งคณะกรรมการบูรณาการนโยบายพืชกัญชากัญชง เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2565 โดยที่มีตัวแทนจากหลายภาคส่วนเป็นกรรมการอยู่แล้ว รวมถึง แพทยสภา, คณบดีแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล, คณบดีแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ฯลฯ [4]

ดังนั้งการแพทย์กลุ่มที่แถลงการณ์ดังกล่าวยังมีข้อห่วงใยหรือข้อเสนออื่นใด ก็สามารถนำเสนอมาตรการเพิ่มเติมสำหรับการดูแลเยาวชนและกลุ่มเปราะบางในระหว่างการรอพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ… ในคณะกรรมการชุดดังกล่าวได้อยู่แล้ว จึงเป็นเวทีที่ได้เปิดโอกาสให้เสนอความเห็น ข้อเสนอแนะ ผ่านกลไกการแลกเปลี่ยนความเห็นที่หลากหลายให้เป็นข้อสรุปที่เป็นรูปธรรมทางกฎหมายได้มากกว่า

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประชุมคณะกรรมการบูรณาการนโยบายพืชกัญชากัญชง วันที่ 9 มิถุนายน 2565 นั้น ยังได้มีการตั้งอนุกรรมการ ถึง 6 ด้านได้แก่ 1) คณะอนุกรรมการด้านการแพทย์และการบำบัดรักษา 2)คณะอนุกรรมการด้านการให้ความรู้แก่เยาวชนและประชาชนเพื่อป้องกันผลกระทบทางสังคม, 3)คณะอนุกรรมการด้านการผลิตทางเกษตรกรรม มีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน, 4)คณะอนุกรรมการด้านการป้องกันการลักลอบนำเข้า การผลิตที่ผิดกฎหมาย มีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นประธาน, 5)คณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย 6)คณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์[5] ยิ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลพร้อมจะรับฟังและแลกเปลี่ยนความเห็นเพื่อให้นโยบายกัญชาสามารถขับเคลื่อนไปเพื่อให้การดูแลกัญชาเป็นไปอย่างปลอดภัยและเกิดประโยชน์สูงสุดรอบด้านอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตามขอเรียนให้ทราบว่าทางคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…. สภาผู้แทนราษฎร ได้นำข้อห่วงใยจากทุกภาคส่วนได้มาบรรจุในกฎหมายอยู่แล้ว และจะพยายามเร่งรัดกฎหมายให้แล้วเสร็จอย่างสมบูรณ์ให้เร็วที่สุดต่อไป

ด้วยจิตคารวะ
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
โฆษกคณะกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์การใช้กัญชาอย่างเข้าใจ กระทรวงสาธารณสุข
25 กรกฎาคม 2565

https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid0XbDMoQq9YyrNoh7tsN8RiQMpETGWhAUrEHcmrCc4PGQkSbShfbe46rrrJESfgn8ql&id=100044511276276

อ้างอิง
[1] แถลงการณ์ แพทย์ประจำบ้าน แพทย์ประจำบ้านต่อยอด อาจารย์แพทย์ และศิษย์เก่าแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, เว็บไซต์ Hfocus, 25 กรกฎาคม 2565
https://www.hfocus.org/content/2022/07/25598

[2] สาวิตรี อัษณางค์กรชัย, กนิษฐา ไทยกล้า, มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ, สุชาดา ภัยหลีกลี้, ศยามล เจริญรัตน์, ดาริกา ใสงาม, โครงการศึกษาสถานการณ์การใช้กัญชาทางการแพทย์ในประเทศไทย, คลังข้อมูลและความรู้ระบบสุขภาพ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) 2564, หน้า 50-51
https://kb.hsri.or.th/dspace/handle/11228/5346?locale-attribute=th

[3] นิด้าโพล,การปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด ระหว่างวันที่ 13-15 มิถุนายน 2565, วันที่อัพเดทล่าสุด : 19 มิถุนายน 2565
https://nidapoll.nida.ac.th/survey_detail?survey_id=579

[4] ประชาชาติธุรกิจ, ประยุทธ์ ลงนามแต่งตั้ง 30 กรรมการ บูรณาการกัญชา-กัญชง, 7 มิถุนายน 2565
https://www.prachachat.net/politics/news-948825

[5] ข่าวรัฐบาลไทย, รองนายกฯ “อนุทิน” นั่งหัวโต๊ะถกบอร์ดบูรณาการนโยบายพืชกัญชาและกัญชงนัดแรก ตั้งอนุฯ 6 ชุดดันภารกิจตามเป้าหมาย ชี้เป็นประวัติศาสตร์และจุดเปลี่ยนให้กัญชา กัญชง สร้างโอกาสใหม่ให้ประเทศ, 9 มิถุนายน 2565
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/55549








กำลังโหลดความคิดเห็น