ก้าวย่างสู่ปีที่ 5 หรือกว่ากึ่งทศวรรษที่ผ่านมา ‘ตุ๊กตา’ จาก ‘โครงการตุ๊กตาวิเศษ’ ทุกตัว ล้วนทำขึ้นด้วยสองมือและหัวใจทุกดวงจากสมาชิกและจิตอาสาของโครงการตุ๊กตาวิเศษ ซึ่งตุ๊กตาทุกตัวที่ทำขึ้นล้วนมีส่วนอย่างยิ่ง ในการช่วยถ่ายทอดสิ่งที่เด็ก เยาวชน และผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศมิอาจเอื้อนเอ่ย ทั้งในขณะเดียวกัน ก็มีส่วนในการบำบัดและเยียวยาจิตใจเด็กๆ ไปพร้อมกัน
แน่นอน เธอรู้ดี ว่าโลกแห่งความเป็นจริง มิได้สวยงามอย่างเทพนิยายของเหล่าเจ้าหญิงดิสนีย์ที่เธอโปรดปราน แต่ ‘มะปราง-วรินทร์ลดา โชคไพบูลย์’ ก็วาดหวังให้โครงการตุ๊กตาวิเศษที่เธอและเพื่อนๆ เป็นอาสาสมัคร ได้เป็นตุ๊กตา ‘วิเศษ’ อย่างที่วาดหวัง
ในความคิดของมะปราง…หากเทพนิยายดิสนีย์มี ‘กระจกวิเศษ’ ที่บอกเล่าหรือสะท้อนเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ เช่นนั้นแล้ว ในโลกแห่งความเป็นจริงอันโหดร้ายที่สร้างบาดแผลและความบอบช้ำทางจิตใจให้แก่ผู้ถูกกระทำชำเรา หรือถูกล่วงละเมิดทางเพศ เหตุใด พวกเขาจะมี ‘ตุ๊กตาวิเศษ’ บ้างมิได้...
ตุ๊กตาที่สร้างขึ้นด้วยสองมือและหัวใจ มีอวัยวะที่สามารถถ่ายทอดการละเมิดได้โดยปกป้องผู้ถูกกระทำจากความบอบช้ำที่ต้องบอกเล่าเรื่องราวเหล่านั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในกระบวนการสืบสวนสอบสวน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหยื่อที่เป็นเพียงเด็กเล็ก เยาวชน หรือผู้ได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจอย่างหนัก ‘ตุ๊กตาวิเศษ’ ที่มะปราง และเพื่อนๆ รวมทั้งอาจารย์ที่เคารพรักและผู้มีจิตอาสาทุกคนร่วมกันสร้างขึ้น จึงได้รับการยอมรับจากทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและนักจิตวิทยาที่นำตุ๊กตาวิเศษไปใช้ในกระบวนการสืบสวนสอบสวน ว่ามีคุณูปการอย่างยิ่ง
ในหลายกรณี ‘ตุ๊กตาวิเศษ’ ยังถูกนำไปใช้ประกอบการพิจารณาคดีในศาลเด็ก หรือศาลเยาวชนและครอบครัว
ทั้งยังมีคุณครู โรงพยาบาล และผู้สนใจติดต่อสอบถามเพื่อขอตุ๊กตาไปใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนหรือเพื่อใช้เป็นวัตถุสัญลักษณ์ ถ่ายทอดกรณีที่เด็กไม่สามารถบอกเล่าเหตุการณ์ที่ถูกล่วงละเมิดได้
แม้แต่นักจิตวิทยายังชื่นชมที่ตุ๊กตามีส่วนอย่างยิ่งในการเป็นเครื่องมือที่สามารถใช้บอกเล่าแทนคำพูดทั้งยังมีส่วนช่วยบำบัดจิตใจเด็กและเยาวชนผู้ถูกกระทำชำเรา
ด้วยคุณูปการอันน่าชื่นชม ‘ผู้จัดการออนไลน์’ จึงสัมภาษณ์พิเศษ‘มะปราง-วรินทร์ลดา โชคไพบูลย์’ อาสาสมัครสมาชิกโครงการตุ๊กตาวิเศษ ที่ดำเนินมาถึงกึ่งทศวรรษ ส่งต่อตุ๊กตามากกว่า 100 คู่ ให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐและหน่วยงานที่ต้องการเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการสืบสวนคดีรวมทั้งคุณครูที่ต้องการนำไปใช้เป็นสื่อการเรียนการสอน
จากจุดเริ่มต้นที่สมาชิกโครงการเดินกล่องขอรับบริจาค กระทั่งปัจจุบัน โดยส่วนใหญ่แล้ว พวกเขาล้วนใช้งบประมาณส่วนตน เพื่อทำงานนี้ด้วยจิตอาสาโดยแท้ ขณะเดียวกัน ก็ขยายภาคีเครือข่ายไปในหลายภาคส่วนของสังคม
อุดมคติ ความมุ่งหวัง ประเด็นปัญหา อุปสรรคและความท้าทาย กระทั่ง ความวาดหวังที่มีต่อสังคม
ทั้งหลายทั้งปวงคือสิ่งที่หญิงสาวอาสาสมัครโครงการตุ๊กตาวิเศษผู้นี้ บอกเล่าไว้ได้อย่างน่าขบคิดยิ่ง
ริเริ่ม ผลักดัน ก่อตั้งโครงการ
ถามย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นว่า เมื่อได้รับฟังประเด็นปัญหา จากผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อลิชา ตรีโรจนานนท์ อาจารย์คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เล่าถึงปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศและปัญหาด้านการสื่อสารของผู้ตกเป็นเหยื่อแล้ว มะปรางและเพื่อนเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครโครงการตุ๊กตาวิเศษขึ้นด้วยวิธีใด
มะปรางตอบว่า ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อลิชา ตรีโรจนานนท์ เป็นอาจารย์ในคณะสื่อสารมวลชนที่มะปรางได้มีโอกาสเรียนกับอาจารย์ แล้วก็ได้มีโอกาสได้รู้เรื่องราวนี้จากอาจารย์ อาจารย์ก็ถามว่าสนใจที่จะมาทำตุ๊กตานี้ด้วยกันไหม
“อาจารย์ท่านชวนไปทำตุ๊กตาค่ะ แต่พวกหนูในกลุ่ม รู้สึกว่าเรื่องนี้มันยิ่งใหญ่ เป็นประเด็นปัญหาที่ควรจะผลักดันให้ทุกคนตระหนักมากกว่านี้ ก็เลยไปหาทุนกันเอง ก็เดินกล่องกัน และริเริ่มทำเป็นโครงการตุ๊กตาวิเศษขึ้น ตอนนั้นมะปรางเรียนอยู่ปี 3 ค่ะ เราได้เห็นว่าอาจารย์ท่านเป็นคนที่ทุ่มเทมากๆ คือท่านทำเรื่องนี้มาโดยตลอด และคอยประชาสัมพันธ์ให้คนอื่นๆ ทราบ แต่พวกหนูเข้าไปร่วมอย่างจริงจังกับท่าน ก็เลยได้เห็นว่าอาจารย์ทุ่มเทมาก คือการทำงานนี้เป็นจิตอาสา ทุกอย่างเราออกงบประมาณกันเองหมด ซึ่งเราก็อยากให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหานี้จริงๆ ตุ๊กตาวิเศษของเรา ถ้าพูดถึงกระทั่งปัจจุบันนี้ ก็ยังมีจากทั่วประเทศโทร.ติดต่อมาที่แฟนเพจเฟซบุ๊คเรา ว่าอยากได้ตุ๊กตาไปใช้ มีให้ไหม มีขายไหม มีโรงงานไหม ซึ่งเราไม่ได้ทำตุ๊กตาขายค่ะ คือ โครงการนี้เราอยากสร้างเครือข่าย ว่าปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศมีแบบนี้นะ เราอยากจะลดปัญหา และการที่เรามาทำตุ๊กตา ก็คือเพื่อเป็นการสื่อสารทางอ้อมค่ะ เพื่อให้คนรู้และตระหนักถึงปัญหานี้ ตุ๊กตานี้เราต้องทำด้วยมือเองในช่วงแรกๆ ด้วยค่ะ” มะปรางบอกเล่าอย่างเห็นภาพนับแต่แรกเริ่ม กระทั่งวันนี้ เป็นระยะเวลา 5 ปีแล้ว นับแต่เริ่มก่อตั้งโครงการตุ๊กตาวิเศษ
ความหวังสูงสุด ของ ‘ตุ๊กตาวิเศษ’
ถามว่าตราบจนถึงวันนี้ โครงการตุ๊กตาวิเศษยังมีอะไรที่อยากจะพัฒนาต่อไป หรือมีอุปสรรคอะไรบ้าง มีสิ่งใดที่อยากแบ่งปันและบอกเล่า
มะปรางตอบว่า “จังหวะแรกของเราคือการทำโครงการให้เป็นรูปเป็นร่างก่อน เริ่มต้นว่าเราจะทำโครงการด้วยวัตถุประสงค์อะไร ดำเนินการยังไง ไปสิ้นสุดตรงไหน เราก็วางแพลนกันว่า การที่เราทำตุ๊กตานี้ เราไม่ต้องการให้ตุ๊กตานี้มีอยู่ คือจะพูดยังไงดีคะ มะปรางหมายความว่า เราทำเพื่ออยากให้ตุ๊กตาตัวนี้ ไม่ได้ทำเพื่อดำเนินคดี แต่ความหวังสูงที่สุดของโครงการนี้คือ เราอยากให้ตุ๊กตานี้ สร้างแค่ความสุขกับรอยยิ้มของเด็กๆ ก็พอค่ะ ไม่อยากให้ตุ๊กตาต้องถูกนำมาใช้ดำเนินคดีอีก นี่คือสิ่งที่เราแพลนกันไว้
เมื่อสมาชิกทุกคนเห็นตรงกัน ตุ๊กตานี้ มะปรางก็เลยเสนอให้ตั้งชื่อว่า ‘ตุ๊กตาวิเศษ’ ดีมั้ยเพราะว่ามะปรางชอบดูการ์ตูนดิสนีย์ ก็เลยเอาไปเชื่อมกับ ‘กระจกวิเศษ….บอกข้าเถิด’ อะไรแบบนี้ค่ะ คือเหมือนกับ ‘ตุ๊กตาวิเศษ’ จะสามารถช่วยบ่งบอกออกมาได้ว่าเกิดเรื่องราวอะไรขึ้นกับพวกเขาบ้าง
เมื่อเราวางเป้าหมายไว้แล้ว เราก็เริ่มหาแพทเทิร์นทำตุ๊กตา ทำอาร์ตเวิร์ค
ทำโบรชัวร์ประชาสัมพันธ์ โดยเริ่มในจังหวัดเชียงใหม่ก่อน เราเริ่มที่ตัวเมือง โดยไปติดโบรชัวร์ประชาสัมพันธ์ ตามสถานที่ต่างๆ ที่เขาจะให้เราทำตุ๊กตา แล้วก็รวบรวมคนได้ จากนั้นเราก็เปิดกล่องรับบริจาค แล้วมาช่วยกันทำ” มะปรางระบุและเล่าเพิ่มเติมว่า
กระทั่งมีโครงการทูตความดีแห่งประเทศไทย ภายใต้แนวคิด ปลุกพลัง Gen A (Empower Active Citizen) “พลังพลเมืองจิตอาสาเปลี่ยนประเทศ” โดยศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ (ศรร.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิธรรมดี กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันแห่งประเทศไทย บริษัท โสสุโก้ แอนด์ กรุ๊ป (2008) จำกัด และบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) จัดงานประกาศผลรางวัลรอบชิงชนะเลิศการประกวดเฟ้นหาโครงการจิตอาสาเปลี่ยนประเทศประจำปี 2559 ในโครงการทูตความดีแห่งประเทศไทย ปี 5 ภายใต้แนวคิด Gen A (Generation Active) “พลังพลเมืองจิตอาสาเปลี่ยนประเทศ” (Empower Active Citizen)
ซึ่งโครงการตุ๊กตาวิเศษ สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศสุดยอดโครงการจิตอาสาต้นแบบประจำปี 2559 ได้รับรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ( สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี )
“เราตัดสินใจนำโครงการตุ๊กตาวิเศษเข้าไปร่วมโครงการทูตความดีแห่งประเทศไทย เพื่อที่เขาจะได้รู้ว่าเราทำโครงการนี้อยู่ ถ้าเราได้งบประมาณมา เราก็จะได้ดำเนินโครงการต่อไปด้วย ก็เลยเข้าไปประกวดตรงนี้ แล้วประสบความสำเร็จ คือ ชนะเลิศและได้ได้รับรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ( สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ) และทำให้เราได้เห็นปัญหาหลากหลายในประเทศ และจากต่างมหาวิทยาลัยด้วยค่ะ” มะปรางระบุ
พัฒนาตุ๊กตาให้มีอวัยวะเสมือนจริงยิ่งขึ้น
มะปรางกล่าวว่า เมื่อทำตุ๊กตาไปได้ระยะหนึ่ง
จากเดิมทีที่ตัวตุ๊กตาใช้ผ้าธรรมดา
มะปรางและเพื่อนๆ ก็เรียนรู้ที่จะใช้ผ้าสแปนเด็กซ์ (spandex )ที่ยืดและงอดีกว่า
“เมื่อผ่านมาได้สัก2-3 ปี
อาจารย์กับอาสาสมัครรุ่นใหม่ ก็ทำให้ตุ๊กตาของเรา มีขนาดที่ต่างกัน มีทั้งขนาดเล็ก พกพาได้ หรือมีขนาดใหญ่
รวมถึง ทำเป็นข้อต่อตุ๊กตาค่ะ เพื่อให้ขยับได้ละเอียดขึ้น ขยับได้กระทั่งนิ้วค่ะ
เพราะเวอร์ชั่นแรก ตุ๊กตาของเราทำได้แค่ยืน นั่ง นอน เมื่อมีอาสาสมัครรุ่นใหม่ๆมาช่วยทำตุ๊กตา
ก็สามารถทำข้อต่อ ตุ๊กตาก็สามารถงอเข่า งอแขน ทำท่าทางให้ละเอียดได้มากขึ้น
สมจริงมากขึ้น แต่ก็ยังคงความที่สามารถใช้ดำเนินคดีได้อยู่ค่ะ”
มะปรางบอกเล่าถึงจังหวะก้าวของโครงการและพัฒนาการของตุ๊กตาวิเศษได้อย่างน่าสนใจ
และบอกเล่าเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน อาสาสมัครแต่ละคนก็ยังช่วยกันทำโครงการตุ๊กตาวิเศษอยู่
เพียงแต่ทำคนละหน้าที่ บางคนก็เป็นตากล้อง ตัดต่อ คลิป ทำอาร์ตเวิร์ค ช่วยกัน
หลายๆ หน้าที่ แต่ก็ยอมรับว่า ปัจจุบัน ค่อนข้างรวมตัวกันยากขึ้น
เนื่องจากแต่ละคนเมื่อจบการศึกษาแล้วต่างก็ทำงานประจำ แต่หากถามว่า
ยังคงทำโครงการตุ๊กตาวิเศษอยู่ไหม
มะปรางยืนยันว่ายังคงช่วยกันทำเท่าที่แต่ละคนมีเวลาสามารถช่วยได้
และในแฟนเพจเฟซบุ๊ค ‘ตุ๊กตาวิเศษ-Magic Dolls’ ซึ่งเป็นช่องทางสื่อสารของโครงการก็ยังคงมีความเคลื่อนไหวอยู่
‘ตุ๊กตาวิเศษ’ อีกเครื่องมือสำคัญของเจ้าหน้าที่ตำรวจ-นักจิตวิทยา
ถามว่าการที่ตุ๊กตาจากโครงการตุ๊กตาวิเศษ ถูกนำไปใช้ในกระบวนการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือนักจิตวิทยาจะนำไปใช้สอบถามผู้ที่เป็นเหยื่อการล่วงละเมิดทางเพศนั้น มีกระบวนการเชื่อมต่อ ติดต่อกันอย่างไร กับหน่วยงานเหล่านี้ เพื่อที่เขาจะได้นำตุ๊กตาไปใช้เพื่อเอาช่วยให้เหยื่ออธิบายเหตุการณ์ได้ดีขึ้น
มะปรางตอบว่ามีการติดต่อกับสารวัตรตำรวจภูธรภาค 5 จังหวัดเชียงใหม่ โดยเมื่อ 2 ปีที่แล้ว มะปรางก็ได้นำตุ๊กตาไปมอบให้ พร้อมด้วยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อลิชา ตรีโรจนานนท์ อาจารย์คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเพื่อนๆ โดยสารวัตรจะติดต่อผ่านผู้ใหญ่ เช่นผ่านอาจารย์ แล้วก็จะร่วมกันดำเนินการด้วยนำตุ๊กตาไปมอบให้พร้อมๆ กัน ซึ่งปัจจุบัน ตำรวจภูธรภาค 5 จังหวัดเชียงใหม่ ก็ยังคงใช้ตุ๊กตาจากโครงการตุ๊กตาวิเศษ
โดยตุ๊กตาแต่ละชิ้นที่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานต่างๆ ไป ให้ไปถาวรเพื่อให้เจ้าหน้าที่นำไปใช้ประจำได้
ดังนั้น ตุ๊กตาของโครงการตุ๊กตาวิเศษจึงต้องมีการผลิตออกมาเรื่อยๆ เพื่อนสมาชิกในโครงการและผู้ที่สนใจเป็นจิตอาสาจึงต้องช่วยกันทำตุ๊กตาออกมาเรื่อยๆ
ไม่เพียงเท่านั้น มะปรางเล่าว่า ได้รับเสียงตอบรับหรือ Feedback กลับมา จากนักจิตวิทยาและเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เป็นผู้รับผิดชอบคดีล่วงละเมิดทางเพศ ที่ทำคดีเสร็จแล้ว ว่าตุ๊กตาจากโครงการตุ๊กตาวิเศษ ช่วยเด็กๆ ได้มาก ไม่เพียงช่วยถ่ายทอดเหตุการณ์สะเทือนใจ แต่ในอีกแง่หนึ่ง ยังช่วยชำบัดและเยียวยาจิตใจเด็กๆ ด้วย
มะปรางเล่าว่า ตุ๊กตาทุกตัวของโครงการตุ๊กตาวิเศษ เธอและเพื่อนๆ รวมทั้งผู้ที่เป็นจิตอาสา ทำกันเองด้วยมือทุกตัว
“เราทำตุ๊กตากันเองค่ะ โดยคง concept เดิม คือ เราต้องทำตุ๊กตาที่ช่วยให้ใครสักคนได้ตระหนักถึงปัญหานี้ นอกจากนั้น เราต้องมีการไปทำ workshop ข้างนอกด้วย ซึ่งในช่วงที่มีสถานการณ์ Covid-19 ก็ค่อนข้างลำบาก การทำ workshop ของเราก็อาจหายๆ ไป แต่ก็ยังมีการแจก Pattern ตุ๊กตาอยู่นะคะ ผ่านทางทางช่องทางออนไลน์ซึ่งจะมีคนทักมาทางแฟนเพจเฟซบุ๊คของโครงการตุ๊กตาวิเศษ บอกว่าสนใจเข้าร่วมเป็นจิตอาสา แต่ไม่สะดวกเดินทางมาที่จังหวัดเชียงใหม่ เราก็จะแจก Pattern ตุ๊กตาให้เขาเย็บและส่งมาให้เราได้ค่ะ” มะปรางระบุ และบอกกล่าวเพิ่มเติมว่า
การแจก Pattern ตุ๊กตาของโครงการตุ๊กตาวิเศษนั้น ใช่ว่าจะแจกให้กับใครก็ได้ ค่อนข้างเข้มงวด ในการพิจารณาให้
ดังนั้น ที่ผ่านมา ผู้ที่ขอรับPattern ตุ๊กตา โดยส่วนใหญ่แล้ว จึงเป็นนักจิตวิทยา รวมทั้งคุณครูที่นำไปสอนเพศศึกษา เพื่อให้เด็กๆ เข้าใจด้วยการบอกเล่าและถ่ายทอดผ่านตุ๊กตาที่ช่วยประกอบการเรียนการสอนในเรื่องดังกล่าวและเพื่อสอนให้เด็กๆ รู้จักระมัดระวังและป้องกันตนเอง
สร้างสรรค์ตุ๊กตาแล้วไม่น้อยกว่า 100 คู่
นับตั้งแต่ก่อตั้งโครงการตุ๊กตาวิเศษมากระทั่งถึงวันนี้ มะปรางเล่าว่าผลิตตุ๊กตามาแล้วไม่ต่ำกว่า 100 คู่
ไม่เพียงผลิตเพื่อนำไปใช้ในจังหวัดเชียงใหม่เท่านั้น แต่ยังมีจังหวัดอื่นๆ ขอตุ๊กตาไปใช้ด้วย โดยเมื่อเร็วๆ นี้ โรงพยาบาลสระบุรี ก็ได้รับตุ๊กตาจากโครงการตุ๊กตาวิเศษไป 20 ตัว หรือ 10 คู่ คือชาย 10 ตัว หญิง 10 ตัว
มะปรางเน้นย้ำว่า หากมีผู้สนใจ ต้องการขอรับบริจาคตุ๊กตาจากโครงการตุ๊กตาวิเศษบ้างเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ ก็สามารถติดต่อได้ทางแฟนเพจเฟซบุ๊ค ‘ตุ๊กตาวิเศษ-Magic Dolls’ และในอนาคต ทีมงานตั้งใจจะพัฒนารูปแบบเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของโครงการตุ๊กตาวิเศษด้วย
ในความเห็นของมะปราง โครงการตุ๊กตาวิเศษถือว่าเป็นโครงการที่ดีมากๆ เพราะทุกครั้งที่เธอและเพื่อนๆ สมาชิกในโครงการ ได้ออกไป workshop ที่ไหนก็ตาม ตุ๊กตาวิเศษจะได้รับเสียงตอบรับอย่างดีมากทุกๆ ครั้ง จากทุกคนที่เข้ามาร่วมด้วยความตั้งใจ บางคนก็พาลูกมาช่วยทำตุ๊กตาด้วย แม้แต่เด็กๆ ก็มาช่วย
ขยายภาคีเครือข่าย
สิ่งที่คาดหวังต่อไปในอนาคต มะปรางอยากจะให้โครงการตุ๊กตาวิเศษได้รับการสนับสนุนมากกว่านี้
เพราะทุกอย่างที่ทำ สมาชิกในโครงการช่วยออกงบประมาณกันเอง ดำเนินการค่อนข้างลำบาก เนื่องจาก วัสดุที่ใช้ค่อนข้างเยอะ
“เรายังคงความตั้งใจของพวกเราไว้ ถ้าเป็นไปได้ ก็อยากให้ผู้หลักผู้ใหญ่ สนับสนุนโครงการของเราอยู่ เพราะว่าช่วงแรก ก็ยังดีอยู่ค่ะ มันทำให้คนรู้สึก ว้าว! แต่เมื่อนานๆ ไป เราก็ไม่ได้อยู่ในสปอร์ตไลท์แล้ว
เรียกได้ว่าเป็นจิตอาสาที่ใช้ทุนตัวเองมากี่ 2-3 ปีแล้วค่ะ ทุกวันนี้ก็ยังทำอยู่โดยใช้ทุนตัวเอง” มะปรางระบุ ก่อนกล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตาม โครงการตุ๊กตาวิเศษยังขยายไปยังภาคีเครือข่ายที่ให้ความสนใจ
ณ วันนี้ ได้ร่วมงานกับทั้งทางภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน รวมทั้งภาคประชาชนด้วย ปัจจุบัน ร่วมกับพนักงานสอบสวนหญิงพื้นที่ตำรวจภูธรภาค 5, มูลนิธิเพื่อความเข้าใจเด็ก และอยู่ระหว่างการเตรียมขอความร่วมมือกับสถาบันเพื่อความยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) โดยทางสถาบันฯ อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ หากตกลงที่จะร่วมเป็นภาคีเครือข่าย ก็จะเริ่มดำเนินงานที่ทัณฑสถานหญิง โดยอาจให้มะปรางและเพื่อนๆ สมาชิกทีมงานโครงการตุ๊กตาวิเศษ นำวัสดุอุปกรณ์เข้าไปเย็บตุ๊กตากับผู้ต้องขังในเรือนจำได้ เพื่อให้พบปะพูดคุยกับผู้ต้องขังและมีกิจกรรมจิตอาสาเย็บตุ๊กตาวิเศษ
อุดมคติที่มุ่งหวัง-สนับสนุนความปลอดภัยทางเพศ
อดถามไม่ได้ว่าในมุมมองของมะปรางที่บอกว่าชื่นชอบเจ้าหญิงดิสนีย์นั้น โลกของดิสนีย์ เป็นโลกที่สวยงามมาก ขณะที่ตุ๊กตาของโครงการตุ๊กตาวิเศษที่ทำขึ้นมา เพื่อให้เด็กสามารถอธิบายได้ว่าเขาถูกกระทำชำเราอย่างไร โลกสองด้านที่ดูตรงข้ามกันนี้ เชื่อมโยงอย่างไรกับโลกที่สวยงาม อุดมคติที่มะปรางมุ่งหวังจักสามารถเยียวยาพวกเขาได้อย่างไรบ้าง
มะปรางตอบว่า “ใช่ค่ะ คือเมื่อพูดถึงตุ๊กตา มันเป็นสิ่งที่สื่อความหมายมายาวนานแล้วว่า ถ้าเด็กๆ ได้เห็นตุ๊กตา เขาจะรู้สึกมีความสุข แล้วเขาก็รู้สึกสบายใจ แต่ตุ๊กตาของเรา ถ้าพูดถึงวัตถุประสงค์ที่เราทำ คือมันยังสามารถใช้บ่งบอกในสิ่งที่เขาไม่สามารถบ่งบอกได้ด้วยค่ะ
เมื่อใช้ตุ๊กตาบ่งบอกออกมาแล้ว มันทำให้เขาสบายใจ ไม่ต้องพูดในสิ่งที่เขาถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำอีก เพราะนักจิตวิทยาบอกว่า ‘ยังไงก็ต้องถาม ถามซ้ำๆ ไปอย่างนี้’ แต่ถึงที่สุดแล้ว ตุ๊กตา ไม่ว่าอย่างไรก็คือตุ๊กตา เมื่อเด็กเขาเห็นตุ๊กตา เขาก็ยังคงมีความสุข และทางโครงการของเรายังขอรับบริจาคตุ๊กตาอื่นๆ ด้วยค่ะ ไม่ใช่ตุ๊กตาที่เราทำนะคะ แต่เป็นตุ๊กตาอะไรก็ได้ที่สภาพดี เพื่อที่ว่า เมื่อเด็กๆ เค้าได้ผ่านพ้นช่วงนี้ไปแล้ว เราจะขอให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ มอบตุ๊กตาให้เขา เขาก็จะยิ้มกลับบ้านกันค่ะ
แต่ตุ๊กตาของโครงการเราไม่ได้จบแค่ตอนสืบสวน เพราะทางนักจิตวิทยาก็ยังคงให้เด็กที่เขาโดนกระทำชำเรา เขาสามารถใช้ตุ๊กตาของเราในการบำบัดเยียวยาได้ ซึ่งตุ๊กตาของเราก็ไม่ได้แสดงออกในด้านที่รุนแรง ดังนั้น นักจิตวิทยาจึงยังนำมาใช้ในการบำบัดจิตใจเด็กๆ ได้ด้วยค่ะ” มะปรางถ่ายทอดได้อย่างลึกซึ้งและกล่าวเพิ่มเติมว่า
ปัจจุบัน โครงการตุ๊กตาวิเศษ มีการเติบโตตามลำดับ มีการปรับปรุงมากมาย ปัจจุบันนี้ก็ขยายไปถึงการบำบัด หรือ THERAPY ด้วย
“เรายังคงสนับสนุนความปลอดภัยทางเพศ ไม่ว่าจะเพศไหน คำถามนี้ มีตั้งแต่เราก่อตั้งโครงการแล้ว ใครๆ ก็ถามว่าทำไมต้องมีตุ๊กตานี้ มันไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาทางด้านล่วงละเมิดทางเพศเลย แต่เราอยากให้เขารู้ว่า ที่เราทำ เพื่อที่ทุกคนจะได้ตระหนักถึงปัญหานี้ แล้วทุกคนช่วยๆ กัน ต้องช่วยกัน ถ้าทุกคนช่วยกัน ปัญหาที่ทำให้เด็กต้องใช้ตุ๊กตานี้ ก็ไม่ควรจะเกิดขึ้นแล้ว” มะปรางเน้นย้ำ
วาดหวังสังคมมนุษยธรรม-สอนเด็กๆ
ให้รู้จัก เข้าใจ และป้องกันตนเองมิให้ถูกล่วงละเมิดทางเพศ
เมื่อถามถึงสิ่งที่วาดหวังต่อประเด็นปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ
มะปรางกล่าวว่า
“ทุกคนย่อมต้องเคยเป็นเด็กและผ่านวัยเด็กมา
อยากให้คิดว่า ทุกๆ คนที่ได้พบเจอไม่ว่าเป็นเด็กหรือใครก็ตาม
อยากให้คิดว่าเขาเหล่านั้นเป็นครอบครัวเรา
ไม่อยากให้มีเรื่องการละเมิดกับเด็กคนไหน หรือครอบครัวไหน
อยากให้ทุกคนคิดถึงมนุษยธรมเยอะๆ
ไม่อยากให้เกิดเรื่องของการล่วงละเมิดเลยค่ะ ซึ่งที่ผ่านมาก็เคยมีผู้ที่ขอตุ๊กตาเราไปเพื่อไปสอนให้เด็กๆ
รู้จักการป้องกันไม่ให้ถูกล่วงละเมิดค่ะ ส่วนใหญ่จะเป็นทางโรงเรียนค่ะ
มีคุณครูเอาไปใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนเพื่อสอนเด็กๆ ว่า ‘ถ้าเป็นแบบนี้ไม่ได้นะ’
แต่โรงเรียนที่ขอตุ๊กตาจากเราไปก็ยังมีค่อนข้างน้อยนะคะ มีเพียงแค่2-3 โรงเรียนเท่านั้นค่ะ” มะปรางระบุ
ก่อนฝากทิ้งท้ายอย่างน่าสนใจว่า
“จริงๆ แล้ว
ในความเห็นของมะปราง ประเด็นหลักคือเรื่องของเพศศึกษาค่ะ
ซึ่งเมืองไทยยังค่อนข้างปิดกั้นเรื่องนี้ ทำให้อาจรู้สึกว่าพูดไปแล้วดูไม่ดี
แต่มะปรางคิดว่าถ้าเราสอนเด็กให้รู้ตั้งแต่แรก ว่าเขาไม่ควรจะถูกกระทำแบบนี้
มันก็คงจะดี
มะปรางคิดว่า
ไม่จำเป็นต้องใช้ตุ๊กตาของมะปรางเลยก็ยังได้ ใช้อย่างอื่นก็ได้
เพียงแค่อยากให้ปรับทัศนคติมากกว่า เพราะว่ากรณีที่เด็กถูกกระทำชำเรา
บางอย่างที่เป็นเรื่องเพศ เด็กก็ไม่สามารถสื่อสารได้ บางอย่างที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ
หรือนักจิตวิทยาถามเรื่องเกี่ยวกับชื่ออวัยวะเพศ เด็กก็ยังไม่รู้ด้วยซ้ำ ตอบไม่ได้
เพราะที่บ้านไม่ได้สอนเรียกแบบนี้ ที่บ้านอาจจะอายมาก ไม่กล้าใช้คำนี้ ใช้คำอื่น
ทำให้เด็กเขาไม่รู้เรื่องรู้ราวในสิ่งที่เขาต้องเผชิญ”
เป็นแง่คิดที่ตรงไปตรงมาและสะท้อนสังคมในแทบทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
‘ตุ๊กตาวิเศษ’
เหล่านี้ จึงไม่มีวันหยุดก้าวเดิน แม้ความหวังสูงสุดของผู้ก่อตั้งโครงการ
ไม่ต้องการให้มีผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศอีกแม้แต่คนเดียว
ทว่าในความเป็นจริง
เมื่อบาดแผลเหล่านี้ยังคงไม่หมดไปจากสังคม ตราบนั้น ‘ตุ๊กตาวิเศษ’ จึงจักยังคงอยู่เคียงคู่เด็ก
เยาวชน และผู้คนที่บอบช้ำจากการถูกล่วงละเมิดไปอีกตราบนาน
เพื่อบำบัดและเยียวยาจิตใจ
นอกเหนือไปจากการเป็นวัตถุสัญลักษณ์ที่ถ่ายถอดเรื่องราวแทนถ้อยคำซึ่งยากจะเอื้อนเอ่ยออกมา
…….
Text by รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
Photo by วรินทร์ลดา โชคไพบูลย์