xs
xsm
sm
md
lg

“ทุ่ม-โมง-ยาม” มีความเป็นมาอย่างไร! ทำไมคนไทยไม่นิยมใช้คำว่า “นาฬิกา” ตามแบบสากล!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



ในสมัยรัชกาลที่ ๖ นอกจากจะโปรดเกล้าฯให้ใช้ “พุทธศักราช” แทน “รัตนโกสินศก” แล้ว ยังให้ใช้คำว่า “นาฬิกา” แทน “ทุ่ม-โมง” ที่คนไทยเรานิยมใช้มาแต่โบราณด้วย เพื่อให้สะดวกในการติดต่อกับต่างประเทศ แต่ในทุกวันนี้คำว่านาฬิกาเป็นคำที่ใช้กันเป็นทางการเท่านั้น แต่ในคำพูดเรายังนิยมใช้ทุ่ม โมง กันอย่างเดิม ซึ่งคำเหล่านี้มาจากไหน

ในสมัยโบราณเรายังไม่มีนาฬิกาใช้กันอย่างทุกวันนี้ จึงต้องมีสัญญาณบอกให้รู้เวลา โดยเฉพาะกำหนดเปลี่ยนเวรยาม และเพื่อให้รู้ว่าเวลาที่บอกนั้นเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืน จึงใช้อุปกรณ์ที่บอกให้แตกต่างกัน โดยการบอกเวลากลางวันใช้ฆ้อง ส่วนกลางคืนใช้กลอง ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของการเรียกขานเวลาตามเสียงสัญญาณที่บอก เสียงฆ้องก็เป็น “โมง” เสียงกลองก็เป็น “ทุ่ม”

ส่วนการเปลี่ยนจากกลางวันเป็นกลางคืน กลางคืนเป็นกลางวัน ก็จะรัวเสียงสัญญาณให้รู้ว่าเป็นช่วงต่อของกลางวันกับกลางคืน โดยตอน ๖ นาฬิกาก็ย่ำรัวสัญญาณบอกว่าเป็นเวลา “ย่ำรุ่ง” พอ ๑๘ นาฬิกาก็รัวอีกครั้งบอกว่าเป็นเวลา “ย่ำค่ำ”

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีประกาศใช้ทุ่มโมงยาม มีความว่า

“มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า วิธีนับทุ่มโมงยามเปนการใช้กันมาแต่โบราณในประเทศสยาม มักมีคนใช้ผิดเพี้ยน เมื่อในรัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษาคราวหนึ่งแล้ว ครั้นมาในบัดนี้ มีผู้ใช้ทุ่มโมงยามผิดเพี้ยนขึ้นอีก คือ ใช้ว่า ๖ โมงเช้าบ้าง ๖ โมงเย็นบ้าง ๓ ทุ่มบ้าง ๖ ทุ่มบ้าง ๙ ทุ่มบ้าง แต่นี้ต่อไป ผู้ใดจะกราบบังคมทูลพระกรุณาด้วยวาจาก็ดี จะใช้ในหนังสือกราบบังคมทูลพระกรุณาฤๅใช้ในหนังสือราชการก็ดี ให้ใช้ให้ถูกต้อง ดังต่อไปนี้ คือ ย่ำรุ่ง, โมงเช้า ฤๅเช้าโมงหนึ่ง ๒ โมงเช้า ๓ โมงเช้า ๔ โมงเช้า ๕ โมงเช้า เที่ยง ฤๅย่ำเที่ยง บ่ายโมง ฤๅบ่ายโมงหนึ่ง บ่าย ๒ โมง บ่าย ๓ โมง บ่าย ๔ โมง บ่าย ๕ โมง ย่ำค่ำ ทุ่มหนึ่ง ๒ ทุ่ม ยามหนึ่ง ๔ ทุ่ม ๕ ทุ่ม ๒ ยาม ๗ ทุ่ม ๘ ทุ่ม ๓ ยาม ๑๐ ทุ่ม ๑๑ ทุ่ม ฤๅตี ๑๑ ย่ำรุ่ง ให้ใช้ให้ถูกต้องดังนี้

ประกาศมาณวันที่ ๒๓ กรกฎาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๙ เปนวันที่ ๑๑๕๗๗ ในรัชกาลปัตยุบันนี้”

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้อธิบายคำศัพท์ที่เกี่ยวกับการนับเวลาของไทยไว้ดังนี้

โมง หมายถึง วิธีนับเวลาตามประเพณีในเวลากลางวัน ถ้าเป็นเวลาก่อนเที่ยงวัน ตั้งแต่ ๗ นาฬิกา ถึง ๑๑ นาฬิกา เรียกว่า โมงเช้า ถึง ๕ โมงเช้า ถ้าเป็น ๑๒ นาฬิกา นิยมเรียกว่า เที่ยงวัน ถ้าหลังเที่ยงวัน ตั้งแต่ ๑๓ นาฬิกา ถึง ๑๗ นาฬิกา เรียกว่า บ่ายโมง ถึง บ่าย ๕ โมง ถ้า ๑๘ นาฬิกา นิยมเรียกว่า ๖ โมงเย็น หรือ ย่ำค่ำ

ทุ่ม หมายถึง วิธีนับเวลาตามประเพณีสำหรับ ๖ ชั่วโมงแรกของกลางคืน ตั้งแต่ ๑๙ นาฬิกา ถึง ๒๔ นาฬิกา เรียกว่า ๑ ทุ่ม ถึง ๖ ทุ่ม แต่ ๖ ทุ่ม นิยมเรียกว่า สองยาม

ตี หมายถึง วิธีนับเวลาตามประเพณีในเวลากลางคืน หลังเที่ยงคืน ตั้งแต่ ๑ นาฬิกา ถึง ๖ นาฬิกา เรียกว่า ตี ๑ ถึง ตี ๖ แต่ตี ๖ นิยมเรียกว่า ย่ำรุ่ง

แต่ในวันนี้ นอกจากภาษาพูดเราจะไม่ใช้คำว่านาฬิกากันแล้ว ยังใช้กันคลาดเคลื่อนจากประกาศในสมัยก่อนอีก อย่าง ๑๐ นาฬิกา ตามประกาศในรัชกาลที่ ๕ ต้องเรียกว่า “๔ โมงเช้า” แต่ก็นิยมเรียกกันว่า “๑๐ โมงเช้า” เวลา ๘ นาฬิกา ต้องเรียกว่า “๒ โมงเช้า” แต่ก็เรียกกันว่า “๘ โมง”

จะเรียกอะไรก็ตาม เอาที่เขานิยมตามสมัยก็แล้วกัน ไม่งั้นคงไปตามนัดไม่ตรงกันแน่


กำลังโหลดความคิดเห็น