สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จัดทำภาพอินโฟกราฟิก แนะ 4 วิธีดูแลป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากโรคฝีดาษลิง หลังปรากฏข่าวมีผู้ติดเชื้อในประเทศไทย 1 ราย และหลบหนีไปจากโรงพยาบาล
จากกรณีพบผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง ในประเทศไทยรายแรกแล้วที่ จ.ภูเก็ต เป็นเพศชาย สัญชาติไนจีเรีย อายุ 27 ปี โดย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุพบผู้ป่วยฝีดาษวานร มีประวัติเดินทางมาจากประเทศไนจีเรีย ให้ข้อมูลการป่วยว่าเมื่อ 1 สัปดาห์ก่อนมีไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูก มีผื่นแดง ตุ่มนูนแดง ตุ่มหนอง เริ่มจากอวัยวะเพศลามไปใบหน้า ลำตัว แขน เก็บตัวอย่างส่งตรวจหาเชื้อก่อโรค เบื้องต้นผลการตรวจ PCR พบเชื้อ Monkeypox virus โดยห้องปฏิบัติการที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (TRC-EIDCC) และต่อมายืนยันโดยห้องปฏิบัติการพบผู้ป่วยสงสัยโรคฝีดาษวานรรายแรกในประเทศไทย
ล่าสุดวันนี้ (22 ก.ค.) มีรายงานแจ้งว่า ผู้ป่วยชาวไนจีเรีย ซึ่งเข้ารักษาใน รพ.แห่งหนึ่ง ได้หายออกจากโรงพยาบาลที่ทำการรักษาตัว อย่างไรก็ตาม รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข จัดกำลังล่าตัวผู้ป่วย “ฝีดาษลิง” หลบหนี เล็งเผยแพร่ภาพทั่วประเทศ พร้อมขู่ใช้กฎหมายสูงสุด อาจถึงขั้นเนรเทศ
นอกจากนี้ เพจ สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) ได้เผยแพร่ 4 วิธีป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากโรคฝีดาษลิง ซึ่งสามารถติดได้จากสัตว์สู่คน เลือด สารคัดหลั่ง ตุ่มหนองของสัตว์ รวมทั้งติดโรคจากคนสู่คน โดยสัมผัสสารคัดหลั่ง สัมผัสแผลหรือใช้ของร่วมกันกับผู้ติดเชื้อโดยตรง และสามารถแพร่เชื้อจากหญิงตั้งครรภ์สู่ทารกในครรภ์ได้
โดยแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่
ระยะฟักตัว จะไม่แสดงอาการช่วง 5-44 วันหลังจากได้รับเชื้อ
ระยะไข้ 1-4 วัน มีอาการปวดศีรษะ เจ็บคอ หนาวสั่น อ่อนเพลีย และต่อมน้ำเหลือง
ระยะผื่น 1-2 สัปดาห์ จะเริ่มจากผื่นแบน ผื่นนูน ผื่นมีน้ำใสใต้ผื่น โดยผื่นมักจะขึ้นที่บริเวณใบหน้า แขน และขา มากกว่าที่ลำตัว โดยลักษณะของผื่นจะเริ่มจากจุดแดงๆ กลม ๆ หลังจากนั้นผื่นจะกลายเป็น ตุ่มน้ำใส และกลายเป็นตุ่มหนอง และกลายเป็นสะเก็ด เป็นช่วงระยะเวลาที่สามารถแพร่เชื้อได้สูงสุด
ระยะฟื้นตัว ใช้เวลาหลายวันจนถึงหลายสัปดาห์
สำหรับวิธีการป้องกันตนเองจากฝีดาษลิง
- หลีกเลี่ยงสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง และตุ่มหนองของสัตว์
- รับประทานเนื้อสัตว์ปรุงสุก
- หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยแอลกอฮอล์ 70% ขึ้นไป
- ไม่ควรรับปนะทานเนื้อสัตว์ป่าหรือนำสัตว์ป่ามาเลี้ยง
- สวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อผ่านละอองฝอยขนาดใหญ่
หากเราพบผู้ติดเชื้อ หรือผู้ที่สงสัยติดเชื้อ จะต้องแยกผู้เสี่ยงติดเชื้อออกจากผู้อื่น เป็นเวลา 21-28 วัน จนกว่าผื่นจะตกสะเก็ด ในกรณีที่เป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดกันกับผู้เสี่ยงติดเชื้อ (อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน, เป็นสามีภรรยากัน, มีความสัมพันธ์กัน) ให้สังเกตอาการของตนเอง และแยกตัวเองออกจากผู้อื่นเช่นเดียวกัน
สำหรับโรคฝีดาษลิง (Monkeyopox) เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Poxviridae จัดอยู่ในจีนัส Orthopoxvirus มีลักษณะคล้ายคลึงกับไวรัสไข้ทรพิษ ส่วนใหญ่มักพบในพื้นที่ป่าของแอฟริกากลางและตะวันตก ทำให้มี 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ Congo Basin พบอัตราการเสียชีวิต 10% และสายพันธุ์ West African พบอัตราการเสียชีวิต 1% ซึ่งปัจจุบันไม่มีวัคซีนเฉพาะสำหรับป้องกันโรคฝีดาษลิง แต่วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษในคนสามารถใช้ป้องกันได้