xs
xsm
sm
md
lg

"แพทย์ชนบท" วอนภาครัฐเลิกผูกขาด "ฟาวิฯ-โมลนูฯ" ปลดล็อกเอกชนนำเข้าแก้ขาดแคลนได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ชมรมแพทย์ชนบท" แนะภาครัฐเลิกผูกขาด "ฟาวิฯ-โมลนูฯ" และปลดล็อกให้บริษัทยาเอกชนนำเข้าได้ อาจทำให้ยามีพอใช้ หลังขณะนี้ประเทศไทยขาดแคลนอย่างหนัก

จากกรณีก่อนหน้านี้ "ชมรมแพทย์ชนบท" โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก จี้ "องค์การเภสัชกรรม" หา "ฟาวิพิราเวียร์" มาเพิ่ม หลังพบว่าใกล้หมดประเทศแล้ว ชี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทำยาขาดแคลนต้องรับผิดชอบ เหตุจากเป็นผู้ผลิตและการนำเข้าเพียงผู้เดียว หากให้เอกชนผลิตได้หรือนำเข้าได้ ปัญหาคงคลี่คลายไปนานแล้ว

ล่าสุดวันนี้ (19 ก.ค.) เพจ "ชมรมแพทย์ชนบท" ได้ออกมาโพสต์ข้อความอีกครั้ง โดยครั้งนี้ทางชมรมได้มีข้อเสนอให้ภาครัฐเลิกผูกขาดเพื่อจะได้มียาใช้และราคาถูกลง ทั้งนี้ ทางเพจได้ระบุข้อความว่า

"ฟาวิฯ โมลนูฯ ขาดหนัก แพทย์ชนบทมีข้อเสนอ เลิกผูกขาด ยามีพอทันที แถมราคาถูกลง...

รัฐบาลผูกขาดการผลิตและจัดหายาฟาวิฯ ให้แก่องค์การเภสัชกรรม พร้อมขายฝันว่าไทยจะสามารถผลิตยาฟาวิฯ ป้อนให้โรงพยาบาลต่างๆ ได้เพียงพอ ต่อมาก็ขยายการผูกขาดสู่ยาโมลนูพิราเวียร์และแพกซ์โลวิดด้วย และนำมาสู่ปัญหายาขาดตลอดการสู้ภัยโควิด

ในความเป็นจริงทั่วโลกนั้นยาไม่ได้ขาด แต่ที่ประเทศไทยยาขาดเพราะการผูกขาด เพียงกระทรวงสาธารณสุขประกาศยกเลิกการผูกขาดโดยองค์การเภสัชกรรม ให้บริษัทเอกชนสามารถนำเข้าได้ ความขาดแคลนยาจะหายไปในทันที บทเรียนนี้ก็เช่นเดียวกับกรณีวัคซีนโควิดที่รัฐบาลให้องค์การเภสัชกรรมผูกขาดจนวัคซีนขาดแคลน แม้เอกชนสั่งและพร้อมนำโมเดอร์นาเข้ามาช่วย ก็ทำไม่ได้เพราะผูกขาดไว้ การยุติการผูกขาดเท่านั้นที่จะยุติภาวะยาขาดแคลนไปเลย และเอาเข้าจริงๆ องค์การเภสัชกรรมก็ผลิตฟาวิฯ กระพร่องกระแพร่งมากจนแทบจะไม่ได้ผลิต และหันมานำเข้าแทนเพราะถูกกว่า เช่นนี้แล้ว สธ.จะปิดกั้นเอกชนไปทำไม ให้เขานำเข้าด้วย ราคาฟาวิฯ โมลนูฯ จะถูกลง และไม่ขาดแคลนอย่างแน่นอน

จากข่าวที่สภาพัฒน์จะเสนอ ครม.ของบเงินกู้อีก 3,995 ล้านบาทให้องค์การเภสัชกรรมซื้อยาฟาวิฯ นั้น ยิ่งควรเลิกใช้กลไกเก่าที่ปะผุจนชำรุดได้แล้ว เสียดายงบ

ชมรมแพทย์ชนบทเสนอให้เลิกการผูกขาดยาฟาวิฯ โมลนูฯ แพกซ์โลวิด ปลดล็อกให้บริษัทยาเอกชนนำเข้าได้ แล้วให้รัฐกำหนดอัตราการเบิกจ่ายชดเชยคืนแก่โรงพยาบาลในราคาต้นทุน เงินร่วม 4 พันล้านนี้นำไปจ่ายชดเชยให้โรงพยาบาลแทน จะสามารถประหยัดได้กว่ามาก เพราะทันทีที่ยกเลิกการผูกขาด ราคายาจะถูกลงจนสังคมจะตั้งคำถามว่า ทำไมที่ผ่านมาซื้อล็อตใหญ่แต่ราคากลับสูงกว่า กทม. โรงพยาบาลเอกชน ร้านขายยา ขอจัดหาและจ่ายยาฟาวิฯ และโมลนูพิราเวียร์ตามใบสั่งแพทย์ได้ เช่นนี้แล้วก็ควรปลดล็อกให้โรงพยาบาลของรัฐด้วย เพื่อปิดฉากความขาดแคลนฟาวิฯ โมลนูฯ อันเนื่องมาจากการผูกขาดขององค์การเภสัชกรรม รัฐวิสาหกิจที่ทุกโรงพยาบาลรู้ว่าขายยาแพงกว่าบริษัทยาคุณภาพของเอกชน"
กำลังโหลดความคิดเห็น