xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อไร้ผู้คนสนใจ ฟื้นฟูทะเลระยองก็แค่สร้างภาพ คำทำนายที่แม่นยำของชาวประมง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“เมื่อไร้ผู้คนสนใจ การฟื้นฟูทะเลระยองก็จะเป็นแค่การสร้างภาพ” คำทำนายที่แม่นยำของ “ชาวประมง” หลังน้ำมันรั่วรอบสอง จากท่อส่งน้ำมันของบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง ผ่านไป 6 เดือน บัดนี้ทะเลยังไม่ฟื้น


รายงานพิเศษ

“เมื่อคราบน้ำมันหายไปจากสายตา เดี๋ยวความสนใจก็หายสาบสูญไปเอง”

นี่เป็นข้อความที่ บรรเจิด ล่วงพ้น ชาวประมงพื้นบ้าน วัย 65 ปี ทำนายไว้เมื่อ 6 เดือนก่อน เมื่อเขาเห็นภาพสารเคมีอย่างสารช่วยกระจาย หรือ ดิสเพอส์แซนต์ (Dispersant) ถูกโปรยลงไปบนคราบน้ำมันที่กำลังลอยอยู่บนพื้นผิวทะเลระยองอย่างต่อเนื่อง เพราะนั่นเป็นภาพเดียวกับที่เขาเคยเห็นมาแล้วเมื่อปี 2556

บรรเจิด ล่วงพ้น
เหตุการณ์น้ำมันรั่วจากท่อส่งน้ำมันใต้ทะเลของ บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2565 ผ่านมาเป็นเวลาเกือบ 6 เดือนเต็มแล้ว คำทำนายของชาวประมงวัย 65 ปี ดูจะแม่นยำราวกับเป็นหมอดูเลื่องชื่อ

เพราะเพียงไม่กี่วันหลังคราบน้ำมันถูกทำให้จมลงไปอยู่ใต้ท้องทะเล แทนที่จะลอยอวดสายตาประชาชนอยู่บนผิวน้ำหรือชายหาด แสงไฟที่เคยสาดส่องมาที่อ่าวระยองก็ดับลงอย่างรวดเร็ว แทบไม่มีใครสนใจว่า เหตุการณ์ต่อไปภายหน้าจะเป็นอย่างไร

“รอบที่แล้ว (น้ำมันรั่วปี 2556) ผ่านมา 9 ปี ทะเลยังไม่ฟื้นเลย”

“ถามว่า เขาให้เราได้พูดบ้างมั้ย ?? … ไม่กี่วันมานี้ ทางจังหวัดเขาเรียกเราไปประชุม ให้กลุ่มประมงพื้นบ้านส่งตัวแทนที่เป็นผู้นำของพื้นที่ต่างๆ ไปประชุม แต่เขาไม่ได้เรียกเราไปให้ความเห็นว่าเราต้องการให้แก้ไขฟื้นฟูทะเลยังไงนะครับ เขาบอกว่าเขาจะเริ่มขั้นตอนฟื้นฟูแล้วนะ ให้ตัวแทนชาวประมงเลือกว่าจะเอาแบบไหนบ้าง ปล่อยปลา ปล่อยสัตว์น้ำวัยอ่อน หรือ ทำบ้านปลา ซึ่งทั้งหมดที่เขาบอกมา เป็นสิ่งที่เคยทำไปแล้วหลังปี 2556 แต่มันไม่ได้ผลครับ เพราะเรายังไม่รู้เลยว่า จริงๆแล้วอ่าวระยอง ทะเลระยอง เสียหายแค่ไหน มีสารเคมี มีคราบน้ำมันตกค้างอยู่อย่างไรบ้าง เที่ยวนี้เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่า น้ำมันที่รั่วออกมามีปริมาณเท่าไหร่กันแน่ แต่จะมาปล่อยปลา ปล่อยสัตว์ลงไป ปล่อยไปร้อยล้ายตัว มันก็ตายหมดร้อยล้านตัวครับ”

“ถ้าเรานำเด็กอนุบาล เด็กเนอสเซอรี่ ไปปล่อยทิ้งไว้ในป่าดงดิบ เขาจะรอดมั้ยครับ ในอ่าวมันมีน้ำมันจมอยู่ ฝังอยู่ในหาด ในปะการัง ลูกปลา ลูกปู ไม่เคยมีภูมิต้านทานอะไรเลยจะรอดได้ยังไง แต่เขาเลือกใช้วิธีที่เขากำหนดเอง ... มันไม่ได้ผล แต่มันได้ภาพ ก็แค่นั้น” ... บรรเจิดกล่าว






ข้อเท็จจริงที่พบจากการสอบถามกับชาวประมงพื้นบ้านมากมาย ซึ่งจอดเรือประมงเป็นแหล่งขายอาหารทะเลสด ที่หาดสวนสน อ.แกลง จ.ระยอง ก็คือ พวกเขาหาจับสัตว์น้ำทุกชนิดได้ในปริมาณที่น้อยลงมาก แม้ว่าหลายคนจะไม่กล้ายืนยันว่า เป็นเพราะเหตุน้ำมันรั่วหรือไม่ แต่ปรากฎการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนหลังเกิดเหตุ

และหากย้อนกลับไปเมื่อปี 2556 (9 ปีก่อน) ชาวประมงระยอง บอกตรงกันว่า หลังผ่านเหตุการณ์น้ำมันรั่วไปประมาณ 5-6 เดือน ปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้ในเขตหากินของประมงพื้นบ้านมีปริมาณลดลงอย่างน่าใจหาย จึงสันนิษฐานว่า สัตว์น้ำที่จับได้ในช่วงแรก คือ สัตว์น้ำที่ยังค้างอยู่ในอ่าว แต่หลังจากนั้น ไม่มีสัตว์น้ำที่เข้ามาในอ่าว เพราะทะเลมีพิษ โดยเฉพาะ “กุ้งเคย” ที่เป็นแหล่งอาหารอย่างดีของสัตว์ผู้ล่า หายไปจากทะเลระยองนับแต่นั้น ทำให้สัตว์อื่นๆ หายตามไปด้วย

“ถามว่า บ่อปลาที่มีมลพิษใครจะเข้ามา โรงแรมที่สวยหรูแต่มันเหม็น ไม่สะอาด ใครจะมาอยู่”

“ที่เห็นได้ชัดเลย หลังน้ำมันรั่วปี 56 กุ้งเคยหายไป เมื่อปี 58-59 ก็เหลือมาประปราย มาแล้วก็ไม่อยู่นาน ปัจจุบันหายสาบสูญไปเลย ก็เลยมั่นใจได้เลยว่า น้ำมันรั่วเป็นสาเหตุหลัก แต่เราก็ไม่มีความรู้ด้านเคมีนะ”

คำทำนายของ บรรเจิด ชายชราผู้ใช้ชีวิตของเขาอยู่กับเรือประมงเพื่อหากินในอ่าวระยองมาอย่างยาวนาน บ่งบอกให้เห็นว่า หากปัญหาถูกปล่อยให้ผ่านไปแบบเงียบๆเช่นนี้ วิธีการแก้ปัญหาด้วยวาทกรรม “ฟื้นฟู” แบบเดิมๆ ก็จะกลับมาอีกครั้ง แม้จะไม่ได้ช่วยทำให้ “ความสกปรก” จากคราบน้ำมันและสารเคมีในทะเลหมดไป

ไพบูลย์ เล็กรัตน์
ไพบูลย์ เล็กรัตน์ คือชาวประมงอีกหนึ่งคนที่อยู่ในกระบวนการต่อสู้ทางกฎหมายมาตลอด 9 ปี ตั้งแต่เกิดน้ำมั่นรั่วครั้งแรก ยืนยันเจตนารมณ์ของเขาเช่นเดียวกันว่า จำเป็นต้องสำรวจเพื่อค้นหา “ความเสียหายต่อทะเลที่แท้จริง” ให้ได้ก่อน จึงจะไปสู่ขั้นตอนการฟื้นฟูให้ตรงจุด แต่ปัญหาใหญ๋ที่เกิดขึ้นเหมือนเดิมจากเหตุการณ์ทั้ง 2 ครั้ง ก็คือ “ชาวประมง” ไม่ได้ถูกมองเป็นหนึ่งในผู้มีส่วนได้เสียที่ควรจะมีสิทธิหรือควรจะมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทาง

“ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาหวังแต่ภาพ จับต้องผลของมันไม่ได้ เช่น น้ำมันรั่ว สารเคมีเต็มทะเล จะไปปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ ปล่อยปู ปล่อยปลา ผมว่า มันเหมือนเราไปทำบาปเพิ่มนะ เราน่าจะไปดูก่อนมั้ยว่า น้ำมันที่จมลงไปในทะเลจะไปอยู่ตรงไหน เราต้องลองไปบริหารจัดการก่อน พอเรารู้แล้วว่า มันเสียตรงไหน สกปรกตรงไหน จะแก้ยังไง จะทำได้หรือไม่ได้ ค่อยมาคุยกัน”

“ความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับการกำจัดคราบน้ำมัน” กับ “ความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับระบบนิเวศของทะเล” กลายเป็นข้อถกเถียงที่สำคัญ ในการกำหนดว่า “ใครบ้าง” ควรจะมีบทบาทในการตัดสินใจกำหนดวิธีการฟื้นฟูทะเลระยอง






ไพบูลย์ มองว่า ชาวประมงพื้นบ้านที่ออกหากินในทะเลระยองมาหลายชั่วอายุคน ล้วนรู้จักแต่ละพื้นที่ของทะเลบริเวณนี้เป็นอย่างดี สามารถบอกได้ว่าจุดไหนสำคัญอย่างไร จุดไหนเป็นแหล่งหลบภัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน จุดไหนเป็นแหล่งอาหาร ราวกับการหลับตานึกภาพจุดที่วางข้าวของเครื่องใช้ในบ้านของตัวเอง

แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องตัดสินใจว่าจะใช้สารเคมีหรือไม่ หรือต้องตัดสินใจว่าจะฟื้นฟูทะเลอย่างไร กลับไม่เคยมีใครมารับฟังความเห็นของพวกเขา แต่ไปให้ค่ากับความเห็นของนักวิชาการที่เพิ่งลงมาทำการศึกษา และเกือบทั้งหมด เป็นการศึกษาผ่านการสนับสนุนงบประมาณจากเอกชนผ็ที่ทำให้เกิดเหตุรั่วไหล

“ชาวบ้าน ชาวประมงที่อยู่กับพื้นที่ใช้ทะเลทำมาหากิน หน่วยงานรัฐอย่าไปมองว่าเราไม่รู้เรื่อง เพราะพวกเรามีประสบการณ์อยู่ในทะเลนี้กันมานาน เพียงแต่ว่า เวลาที่พวกเรานำเสนอ เราไม่ใช่นักพูด ไม่ใช่คนที่นำเสนอบ่อยๆ ก็อาจจะไม่ปะติดปะต่อบ้าง แต่คุณไปฟังนักวิชาการที่ใช้คำว่า ผู้เชี่ยวชาญ”

“เราก็ต้องถามกลับไปว่า เชี่ยวชาญจริงมั้ย อย่างนักวิชาการที่มาสำรวจผ่านงบประมาณของบริษัทที่ก่อเหตุ เขาไปเบิกความที่ศาลแล้วบอกว่า ... เมื่อกำจัดคราบน้ำมันออกจากผิวน้ำแล้ว มองไม่เห็นแล้ว ก็แปลว่าไม่มีคราบน้ำมันเหลืออยู่แล้ว ... แบบนี้ชาวบ้านเราฟังแล้วยังคิดว่า มันไม่เป็นวิทยาศาสตร์เลย ถ้ามันจริงอย่างที่เขาว่า แล้วที่เราพบก้อนน้ำมันขึ้นที่ชายกหาดบ่อยๆคืออะไร มีเหตุการณ์ที่สัตว์น้ำลอยขึ้นมาตายอีกตั้งหลายครั้งคืออะไร เพราะก่อนน้ำมันรั่ว มันก็ไม่เคยมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นเลย”






เห็นได้ชัดว่า ตลอด 9 ปีที่ผ่านมา ผ่านเหตุการณ์น้ำมันรั่วครั้งใหญ่มาแล้ว 2 ครั้ง “ผู้ที่ได้รับกระทบอย่างรุนแรงอย่าง” อย่างประมงพื้นบ้าน กลับเป็นได้แค่กลุ่มคนที่ต้องรอรับเงินเยียวยาอันน้อยนิดซึ่งเทียบไม่ได้เลยกับอาชีพที่พวกเขาสูญเสียไป และยังไม่เคยมีสิทธิร่วมในการตัดสินใจสำคัญๆเลยแม้แต่ครั้งเดียว

ในเวลาเดียวกัน “ผู้ก่อมลพิษ” อย่างภาคอุตสาหกรรมกลับกลายเป็นผู้เล่นสำคัญ ที่สามารถกำหนดวิธีการให้หน่วยราชการต่างๆต้องเดินตามแทบจะทุกย่างก้าว เพียงเพราะเป็นผู้จ่ายเงินค่ากิจกรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้น (ทั้งที่ต้องจ่ายอยู่แล้ว)

“ความยุติธรรม” ในการจัดการภัยพิบัติที่เกิดขึ้นจาก “กลุ่มทุนขนาดใหญ่ในภาคอุตสาหกรรม” จึงอาจกลายเป็นประเด็นใหญ่ที่แทบไม่เคยถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นวาระการพูดคุยอย่างจริงจัง ว่าแท้จริงแล้ว หน่วยราชการ จะต้องกำหนดบทบาทของผู้มีส่วนได้เสียให้เกิดความเท่าเทียมมากกว่าที่เคยทำมาได้อย่างไร

“มันเหมือนกับมีใครมาทำลายอาชีพเรา แล้วก็เอาเศษเงินมาฟาดหัวเรา แล้วบอกว่า จบแล้วนะ ถามว่าแบบนี้มันยุติธรรมมั้ยครับ จริงๆมันไม่ยุติธรรม เงินมันไม่สำคัญกับเรา ถ้าไม่มีเหตุการณ์แบบนี้ เราก็ไม่ได้ต้องการเงินจากอุตสาหกรรมเลย ถ้าสภาพทะเลยังหากินได้ดี เราหากินได้มากกว่านี้ ใช้เวลาน้อยกว่าด้วย” ... ไพบูลย์ แสดงความรู้สึกของเขาจากการต่อสู้ทางกฎหมายมาตลอด 9 ปี

“ทำไมคุณไม่ปกป้องเราเลยล่ะ เกิดเหตุการณ์ขนาดนี้ ทำไมคุณไม่ฟ้องแทนชาวบ้าน ฟ้องให้ชดเชยความเสียหายสิ่งแวดล้อมแทนเราสิ ทำไมหน่วยงานต่างๆถึงปล่อยให้ชาวบ้านต้องฟ้องเอง มันแปลกมั้ยครับ ... ผมอยากฝากไว้ว่า สมัยก่อนมีคำกล่าวว่า 1 พระยา ใหญ่กว่า 10 พ่อค้า ... แต่สมัยนี้ผมว่า 1 พ่อค้า ใหญ่กว่า 10 พระยาซะอีก จริงๆ ก็ไม่แปลกนะ แต่เราจะอยู่กับมันยังไงล่ะ”

บรรเจิด ทิ้งท้ายไว้ ก่อนที่บทสนทนาจะจบลง.






กำลังโหลดความคิดเห็น