"ต๋อง ศิษย์ฉ่อย" นักสอยคิวระดับตำนานของไทย ออกมาเป็นตัวแทนเรียกร้องไปถึง “สมาคมบิลเลียด” เข้าช่วยเหลือนักสอยคิวชาวไทย หลังไม่ได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายมานานปี
วันนี้ (18 ก.ค.) ผู้ใช้เฟซบุ๊ก “Tong snnooker club” ของ "ต๋อง ศิษย์ฉ่อย" หรือ “วัฒนา ภู่โอบอ้อม” นักสนุกเกอร์ระดับตำนานของไทย ออกมาโพสต์ข้อความร่ายยาวฝากไปถึง “สมาคมกีฬาบิลเลียดแห่งประเทศไทย” ระบุ ทางสมาคมฯ ไม่เคยให้การสนับสนุนนักกีฬา นักกีฬาจะต้องหาเงินไปแข่งขันเอง ซึ่งย้อนแย้งกับถ้อยแถลงของทางสมาคมฯ ว่าจะช่วยสนับสนุน ทั้งนี้ ทางผู้โพสต์ได้ระบุข้อความว่า
“4 ปีที่ผ่านมา กับการบริหารจัดการของสมาคมกีฬาบิลเลียดแห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2562-2565)
การส่งนักกีฬาไปแข่งขันคัดเลือกรายการ Q School เพื่อส่งเสริมให้นักกีฬาไทยก้าวไปสู่ความเป็นเลิศ
พ.ศ. 2562/2563/2564/2565 สมาคมฯ ไม่เคยส่งนักกีฬาไปแข่งขันในรายการ Q School
ส่งผลให้ประเทศไทยไม่มีนักกีฬาสนุกเกอร์อาชีพเพิ่มขึ้น จากที่ในอดีตประเทศไทยมีนักสนุกเกอร์อาชีพหน้าใหม่มาโดยตลอด
พ.ศ. 2565 สมาคมฯ ได้ร่วมกับ WST จัดการแข่งขัน Asian Oceania Q School โดยจัดเก็บค่าสมัครแข่งขันคนละ 400 ปอนด์ มีนักกีฬาลงแข่งขัน 2 Events จำนวน 70 คนไทย
ประเทศไทยได้ตัวแทนนักกีฬาไทยที่ผ่านการคัดเลือกไปแข่งระดับโลกอาชีพ ใน World Ranking Tour 2022/2023 และ 2023/2024 คือ แมน นครปฐม และ แจ็ค สระบุรี ที่ได้สิทธิ์ แต่ไม่ได้งบสนับสนุนจากสมาคมฯ รวมทั้งไม่มีการช่วยเหลือ ประสานงานให้กับนักกีฬาที่ได้สิทธิ์ สรุปคือ นักกีฬาจะต้องหาทุนไปแข่งขันระดับโลกเอง ..
อ้างอิงถึงคำแถลงจากนายกสมาคม ว่าจะช่วยสนับสนุนนักกีฬาอาชีพของประเทศไทย 4-5 คน ได้แก่ หมู ปากน้ำ, เอฟ นครนายก, มิ้งค์ สระบุรี, แจ็ค สระบุรี และแมน นครปฐม คำแถลงดังกล่าวผ่านสื่อมวลชน และเป็นที่ทราบโดยทั่วกันของแวดวงกีฬาสนุกเกอร์ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 จนถึงปัจจุบัน ก็เงียบหายไป ..
ส่วนกรณีของ แมน นครปฐม ที่ถูก WST ตัดสิทธิ์ในการไปแข่งขันอาชีพในครั้งนี้ อันสืบเนื่องมาจากคดีพัวพันการพนันที่ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่ปี 2015
และทางสมาคมฯ ทราบเรื่องราวมาโดยตลอด แต่ทำไมถึงเพิกเฉยจนเวลาล่วงเลยมาถึง 7 ปี และไม่มีมาตรการใดๆ เพื่อป้องกัน หรือลงโทษเด็ดขาดนักกีฬาผู้กระทำผิดให้สมกับความเป็นสนุกเกอร์อาชีพ
2 นักกีฬาอาชีพไทยที่ได้สิทธิ์ เมื่อถูกตัดสิทธิ์ไป 1 ราย คนที่เหลือคือ แจ็ค สระบุรี ยังคงมีภาระอันหนักอึ้ง ที่จะต้องหาทุนไปแข่งขันในระดับโลกอาชีพด้วยตนเอง และทางสมาคมฯ ก็ไม่ช่วยประสานหรือให้การสนับสนุนนักกีฬาแต่ประการใด ดังนั้นแล้วการจัดการแข่งขัน Asian Oceania Q School 2022 นอกจากจะไม่เกิดประโยชน์ แต่ยังส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของสมาคมกีฬาบิลเลียดแห่งประเทศไทยอีกด้วย เพราะเมื่อจัดการแข่งขันขึ้นมาแล้ว แต่ไม่ได้ช่วยผลักดัน ส่งเสริม ให้นักสนุกเกอร์ไทยไปแข่งขันระดับโลกได้จริง จนถึงวันนี้ แจ็ค สระบุรี ยังไม่ได้เดินทางไปแข่งขันตามโปรแกรมของ World Ranking Tour 2022/2023 ซึ่งรายการแรก European Master 2022 จะเริ่มในวันที่ 24 กรกฎาคม 2565 นี้แล้ว ...
อุปกรณ์กีฬาสำหรับแข่งขัน และสนามแข่งขันในรอบคัดเลือก ที่บรรดานักกีฬาทุกระดับได้แจ้งถึงสภาพ คุณภาพของโต๊ะสนุกเกอร์ที่ไม่ได้มาตราฐาน ทางสมาคมฯ เพิกเฉย ไม่จัดตั้งผู้รู้เฉพาะทาง (นักกีฬาระดับแถวหน้าของไทย) มาดูแลตรวจสอบคุณภาพของอุปกรณ์กีฬา เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มาตราฐานของนักกีฬาไทยตกต่ำจากฟอร์มการเล่นของแต่ละคน ..
ซึ่งดูได้จากสถิติการทำเบรก คิดเฉลี่ยทำเบรกได้เกิน 50 แต้ม ในอัตราส่วน 10% ของจำนวนเฟรมที่แข่งขันทั้งหมด
อีกทั้งทาง กกท.มีข้อบังคับในการตั้งเรื่องเบิกงบสำหรับอุปกรณ์กีฬา ที่ทุกสมาคมกีฬาสามารถทำเรื่องขอตั้งเบิกงบดังกล่าวได้
สมาคมฯ เคยเบิกหรือไม่
ถ้าไม่ ... แล้วทำไมถึงไม่ตั้งเรื่องเบิก!!
หรือถ้าเบิก แล้วเงินไปไหน ทำไมไม่นำมาพัฒนา ปรับปรุงอุปกรณ์กีฬาที่ใช้ในการแข่งขัน และการเก็บตัวนักกีฬาทีมชาติ
ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา กับการใช้สนามแข่ง คือ TBC Snooker club แห่งเดียว ข้อมูลและคำร้องขอจากนักกีฬาจำนวนมาก ที่ทุกคนต้องการแข่งขันในโต๊ะที่มีมาตราฐานใกล้เคียงกับระดับนานาชาติ ลูกสนุกเกอร์วิ่งบนโต๊ะไหล..ห่างจากทิศทางที่ควรจะเป็น วิ่งไหลห่างเป็นลูก ชิ่งบางด้านก็ยึด ชิ่งบางด้านก็ยาน ผิดธรรมชาติของโต๊ะสนุกเกอร์ ที่ทำให้มาตรฐานการแข่งขันของนักกีฬาจำนวนมากตกต่ำลง รวมทั้งนักกีฬาทีมชาติที่เก็บตัว (เพราะใช้โต๊ะสนุกเกอร์ชุดเดียว
กัน)
และอุณหภูมิในห้องแข่งขัน ความเย็นไม่เพียงพอ และยิ่งนักกีฬาต้องใส่ชุดแข่ง พร้อมสวมหน้ากากอนามัย ต้องแข่งขัน หรือฝึกซ้อม ในห้องปิดที่อุณหภูมิ (ความเย็น) ไม่เพียงพอ ก็ทำให้มาตราฐานการเล่นของนักกีฬาตกต่ำลง
นักกีฬาได้แจ้งให้ทางสมาคมฯ รับทราบ แต่ก็เพิกเฉย ละเลย ไม่ปรับปรุงแก้ไข
การจัดการแข่งขันกีฬา Cuesports
พ.ศ. 2562/2563/2564
Thailand Ranking Circuit จัดปีละ 7 สนาม
6 แดงชิงแชมป์ประเทศไทย 1 สนาม
บิลเลียดชิงแชมป์ประเทศไทย 1 สนาม
ชิงแชมป์สนุกเกอร์หญิง 1 สนาม
ชิงแชมป์พูล 9 ลูก 1 สนาม
ชิงแชมป์โลก 6 แดง จัดได้ 1 ครั้ง(โควิด19)
พ.ศ. 2565
Thailand Ranking Circuit 7 สนาม
6 แดงชิงแชมป์ประเทศไทย 1 สนาม
บิลเลียดชิงแชมป์ประเทศไทย 1 สนาม
ชิงแชมป์สนุ้เกอร์หญิง 1 สนาม
ชิงแชมป์พูล 9 ลูก 1 สนาม
เพิ่ม Usnooker 6 แดงสนุกเกอร์สะสมคะแนน 5 สนาม
สรุปผ่านมา 3 ปี เพิ่งจะได้ Usnooker มาเพิ่มอีก 5 รายการ ที่เหลือคงเดิม
3 ปีแรก พ.ศ. 2562-2564 ไม่มีการเปลี่ยนแปลง แก้ไข เพิ่มเติม ทั้งจำนวนการแข่งขันและเงินรางวัลที่เพิ่มขึ้น เป็นรายการ World 6 Red Championship 2019 เพียงรายการเดียว ที่เพิ่มจากเดิม 3.5 ล้านบาท เป็น 4 ล้านบาท
และมีคำร้อง และทวงถามเงินรางวัลที่จ่ายใหแก่นักกีฬาระดับโลกล่าช้า ทั้ง Stephen McGuire และ Ding Junhui ในส่วนของความล่าช้ามากเกินไปนี้ ทำให้สมาคมกีฬาบิลเลียดแห่งประเทศไทยถูกดิสเครดิตจากนักสนุกเกอร์อาชีพระดับโลกมากทีเดียว
และสืบเนื่องจากมหกรรมกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ทัพนักกีฬาไทยได้ 1 เหรียญทอง 8 ทองแดง ต้องยอมรับว่าเหรียญทองที่ ต๋อง ศิษย์ฉ่อย ทำได้ไม่ใช่เป้าหมายที่สมาคมฯ ตั้งเป้าไว้ 1 เหรียญ จากที่สื่อมวลชนตั้งคำถามถึงเป้าหมายเหรียญทอง ซึ่งนายก ตั้งเป้าไว้แค่เหรียญเดียว
จากสภาพและคุณภาพของ โต๊ะที่ใช้เก็บตัว ไม่มีการตรวจสอบ ยี่ห้อ เกรด โต๊ะแข่งขันจากประเทศเจ้าภาพ ที่ควรจะนำโต๊ะที่เป็นยี่ห้อหรือเกรดเดียวกันมาให้นักกีฬาทีมชาติได้ฝึกซ้อม..
รวมทั้งไม่มีการว่าจ้างโค้ชต่างชาติ ในกีฬา Cuesports คือ บิลเลียด, พูล , แครอม เพราะในส่วนของการว่าจ้างโค้ช ก็สามารถตั้งเบิกค่าใช้จ่ายในเรื่องนี้จาก กกท.เช่นกัน
ทำไมสมาคมฯ ถึงไม่ดำเนินการเรื่องนี้ คือการว่าจ้างโค้ชต่างชาติ ถ้าอ้างว่างบไม่มี ...
แล้วทำไมถึงไม่ตั้งเบิก หรือว่าตั้งเบิกแล้วงบไปไหน !?!
2 เรื่องสำคัญที่สมาคมฯ ละเลย เพิกเฉย ไม่ใส่ใจมาตลอด 4 ปีที่ผ่านมา
Road Map สำหรับต่อยอดให้นักกีฬา
วงการสนุกเกอร์ เริ่มนิยมแพร่หลายมากว่า 40 ปี รวมทั้ง 4 ปีที่ผ่านมา สมาคมกีฬาบิลเลียดแห่งประเทศไทยยังไม่เคยประกาศ ถึง Road Map เส้นทางต่อยอดให้นักกีฬา Cuesports ทุกประเภท
ยังไม่มีการแยกระดับของนักกีฬา เช่น ระดับอายุจำแนกเพศและวัย ซึ่งทำให้เยาวชนชาย หญิง ไม่มีสนามแข่งขันเฉพาะรุ่น เหมือนนานาประเทศ โดยเฉพาะประเทศต้นแบบคือ อังกฤษ ที่มีการจัดการแข่งขันตั้วแต่รุ่น U10 U12 U14 U16 U18 U21 ซึ่งทำให้นักกีฬาเยาวชนชายหญิงได้แข่งขันกับเพื่อนนักกีฬาในช่วงวัยเดียวกัน ที่จะให้ผลลัพธ์ดีกว่า
4 ปีที่ผ่านมา เด็กๆ เยาวชน อยากลงแข่งหาเวทีและสนามแข่งเฉพาะไม่ได้ ก็ต้องมาลงแข่งรวมกับผู้ใหญ่ และส่วนใหญ่เด็กๆ เยาวชนก็จะแพ้ และการแพ้บ่อยๆ มันบั่นทอนจิตใจ ทำให้คนที่มีแววหลายต่อหลายคน ถอดใจเลิกเล่น แล้วแบบนี้กีฬาสนุกเกอร์จะก้าวต่อไปอย่างไร!?!
รวมทั้งการส่งนักกีฬาไปแข่งขันต่างประเทศ ในนามทีมชาติไทย ตลอดเวลาที่ผ่านมา การคัดเลือกนักกีฬาทีมชาติไทย บางรายการให้สิทธิ์นักกีฬาที่ทำผลงานในประเทศได้ดีที่สุด แต่อีกหลายรายการ ใช้ระบบเลือกโดยบุคคล ซึ่งไม่มีการจัดการแข่งขันเพื่อคัดเลือกนักกีฬา ในส่วนนี้ถือว่านักกีฬาส่วนใหญ่ที่ไม่ได้รับเลือก ไม่ได้รับความเป็นธรรมโดยระบบสากล ที่ควรจะมีการแข่งขันคัดเลือกนักกีฬาทีมชาติมากกว่าการเลือกโดยความพึงพอใจของบุคคลในสมาคมฯ
เรื่องนี้ไม่สร้างเสริมความดึงดูดใจให้กับผู้ที่สนใจกีฬา Cuesports ทุกประเภท
เรื่องนี้สร้างความรู้สึก "ไม่เป็นธรรมต่อนักกีฬา" ซึ่งทุกคนมีโอกาสที่จะก้าวมาเป็นหนึ่งในทัพนักกีฬาทีมชาติไทยโดยความสามารถ
ความโปร่งใส ของการบริหารจัดการด้านการเงิน จริงๆ เป็นหน้าที่ของฝ่ายตรวจสอบบัญชีของต้นสังกัด คือ การกีฬาแห่งประเทศไทย
บางเรื่องที่แฟนคลับและผู้ติดตามตัังคำถาม คือ ..
1) สมัยนายกสินธุ จัดงานแถลงข่าว จะจัดแถลงข่าวตามโรงแรม ทำให้กีฬาสนุกเกอร์ดูดีมีระดับเป็นสง่า แต่ใน 4 ปีที่ผ่านมา ทุกงานแถลงข่าวจัดเลี้ยง ก็จัดที่ร้านอาหาร ดูลดระดับของกีฬาสนุ้กเกอร์มากทีเดียว
2) ทำไมถึงจัดแถลงข่าว และจัดเลี้ยง ที่ร้านโฮคิกเช่น ซึ่งเป็นกิจการของนายกสมาคมและครอบครัว มันถูกต้องชอบธรรมอย่างไร เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจส่วนตัวหรือไม่?
3) สนามแข่งขันรอบคัดเลือก ก็จัดอยู่ที่เดียวคือ TBC ซึ่งมีอุปนายกของสมาคมกีฬาบิลเลียดแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าของ มันมีความถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ มีการเสนอราคาจากหลายๆ รายหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องของรายจ่าย ที่น่าจะมีการประกวดราคาให้ได้ราคาที่ต่ำที่สุด เพื่อรักษาผลประโยชน์ของสมาคมฯ เพราะสมาคมถือว่าเป็นหน่วยงานหนึ่งของแผ่นดิน เงินทุกบาททุกสตางค์ในบัญชีของสมาคมก็คือ "เงินหลวง"
4 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยมีเอกสารสำแดงบัญชีงบดุลบัญชีรายรับ-รายจ่าย ต่อสาธารณชน ซึ่งสมาคมสามารถเผยแผ่ได้ทางเว็บไซต์ของสมาคม รวมทั้งแฟนเพจของสมาคม เพื่อแสดงความถูกต้องโปร่งใส รายจ่ายใดๆ ก็ควรสมเหตุสมผล ยิ่งมีธุรกิจของคณะกรรมการสมาคมด้วยแล้ว ยิ่งจะตัองแสดงความโปร่งใสมากขึ้น
4 ปีที่ผ่านมา ไม่มีการแสดงเรื่องดังกล่าว นอกจากข่าวที่เปรยออกมาจากนายกสมาคม ว่า..ขาดทุน ควักเงินสำรองตั้งเยอะ ขนาดว่ามีสื่อสิ่งพิมพ์ลงข่าวในคอลัมน์ชัดเจน ก็ยิ่งทำให้อดเป็นห่วงไม่ได้ว่า หากท่านนายกควักเงินส่วนตัวสำรองจ่ายมากๆ บ่อยๆ ท่านจะไหวเหรอ
ความโปร่งใส ถูกต้อง ชัดเจน เป็นเรื่องที่ทางสมาคมกีฬาบิลเลียดแห่งประเทศไทย จะต้องแสดงให้สาธารณชนได้รับทราบ เพราะสมาคมถือว่าเป็นองค์กรของประเทศไทย และคนไทยทุกคนที่สามารถทราบนโยบายและการบริหารจัดการของสมาคมฯ
ต่อมาคือ การประชาสัมพันธ์ ตลอดเวลา 4 ปี การประชาสัมพันธ์ข่าวสาร เรื่องราว ที่เกี่ยวข้องกับสมาคม, กีฬาสนุกเกอร์ มีน้อยมากๆ ..
สาระสำคัญในแฟนเพจของสมาคม มี 2 เรื่อง คือ เปิดรับสมัครแข่ง และลงโปรแกรมแข่ง และในส่วนที่สองคือ การถ่ายทอดสด เป็นเรื่องเดิมๆ ที่ทำอย่างสม่ำเสมอ 4 ปี ไม่มีเพิ่มเติม
ดูแค่การจัดแข่ง Asian Oceania Q School ที่จบไปเดือนเศษ มีนักกีฬารวม 70 คน เป็นนักกีฬาไทย 24 คน ต่างชาติ 46 คน ซึ่งน้อยมากค่าสมัคร 400 ปอนด์ กับค่าใช้จ่ายในเมืองไทยที่ถูกกว่าที่อังกฤษหลายเท่าตัว และค่าสมัครที่อังกฤษสูงถึง 1,000 ปอนด์ ค่าโรงแรม ค่าตั๋ว ถ้าไปแข่งที่อังกฤษต้องจ่ายหลายแสน นี่คือข้อด้อยอย่างยิ่งในการประชาสัมพันธ์ที่ต้องปรับปรุงแบบยกแผง
เป็นภาพลักษณ์ที่สำคัญ ที่ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา การเผยแพร่ข่าวสารของสมาคมฯ ทำได้ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่ามาตรฐานมาก
การประสานงานต่างประเทศ
ปัจจุบันทั้ง WST , WWS , IBSF และอีกหลายๆ องค์กรทั่วโลก มีการจัดการแข่งขันกีฬาประเภท Cuesports มากมาย สำหรับ สนุกเกอร์ (หลายรุ่นอายุ, เพศ), พูล 8 ลูก-9 ลูก -10 ลูก, บิลเลียด, แครอมบอล
มีทัวร์นาเนต์มากมาย ให้นักกีฬาไทยไปต่อยอดสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทย ที่ผ่านมา 4 ปีเสียโอกาสไปมาก ทั้งๆ ที่ กกท.มีกฎระเบียบข้อบังคับสำหรับ "ตั้งเบิกงบประมาณ" จากภาครัฐตามรอยตั้งเบิก ที่มีขั้นตอน กระบวนการ วิธีการชัดเจน
แต่สมาคมฯ ไม่ทราบว่าทำอะไรอยู่ ขนาดล่าสุดกรณี นายทวีทรัพย์ คงกิจเชิดชู (โตโต้) คว้ารองแชมป์โลก 2022 U21 ได้สิทธิ์ไปแข่งรายการกีฬา World Games 2022 กลับกลายเป็นนักกีฬาที่ตกสำรวจ ไปแข่งที่อเมริกาแบบต้องหาทุนไปเอง เป็นค่าซ้อม ค่ากิน ..ตัวแทนสมาคมบอกว่า "งานนี้ไม่เกี่ยว ไม่อยู่ในรายการประจำปี" ทั้งๆ ที่ กองทุนกีฬาแห่งชาติ และ การกีฬาแห่งประเทศไทย ให้การสนับสนุนนักกีฬาและเจ้าหน้าที่สู้ศึก World Games 2022 อย่างเต็มที่ !?! (ล่าสุด 15 กรกฎาคม 2565 กกท.ออกสื่อผ่านทางแฟนเพจของ กกท. ว่าจะดูแลโตโต้เรื่องเบี้ยเลี้ยงและค่าใช้จ่ายทั้งหมด)
อ้าว ... สมาคมกีฬาบิลเลียดแห่งประเทศไทยไม่ช่วยประสานให้นักกีฬาเลย มีเวลาตั้ง 5-6 เดือน .. เฮ้อ!!! เพราะแบบนี้ไง 4 ปีที่ผ่านมาตีความได้สองอย่าง คือ แค่อยู่กับที่ กับ ถอยหลังเข้าคลอง
20 กรกฎาคม 2565 วันเลือกตั้ง ...
นายกสมาคมกีฬาบิลเลียดแห่งประเทศไทย ... แฟนคลับเลือกใครกันดี
1) สุนทร (ฮง) จารุมนต์
2) ไชยพงศ์ (เอส) กวรสุรมย์
3)....
4)....
และไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาเป็นเช่นไร
นายกสมาคมและคณะกรรมการที่ได้รับเลือกให้เป็นคณะกรรมการชุดใหม่ ก็ควรทำนโยบายที่ตอบรับความต้องการของนักกีฬาเป็นสำคัญ รวมทั้งการปรับปรุง พัฒนา เพิ่มเติม แก้ไข ฯลฯ เพื่อพัฒนากีฬาและนักกีฬาสนุกเกอร์ให้ก้าวไปสู่ความเป็นเลิศต่อไปในอีก 4 ปีข้างหน้า ..
นายกสมาคมคนใหม่!?! และคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ ไม่ว่าจะเป็นใคร ก็จะมาจากการลงคะแนนจากผู้ทรงเกียรติ 33 ท่าน ...
อยากให้ได้คณะกรรมการที่ทำงานจริงๆ มาร่วมประชุม แสดงความคิดเห็น มีการลงมติในเรื่องต่างๆ พร้อมกันทุกๆ คน ทุกนโยบายทุกเรื่องหากมีการนำเสนอ มีการลงมติเห็นชอบ หรือคัดค้าน อย่างพร้อมเพรียง ย่อมผ่านการกลั่นกรอง คิดพิจารณา ถึงประโยชน์และความถูกต้องให้กับ "นักกีฬา" และ "กีฬาสนุกเกอร์" อย่างแท้จริง
หาก 4 ปีที่ผ่านมา 18 กรรมการบริหารงานสมาคม ได้มีการปรึกษาหารือกันอย่างจริงจังมีการนำเสนอความคิดเห็น มีการลงมติ มีการคัดค้าน ฯลฯ ..
เชื่อว่า บทความและรายละเอียดข้างต้นที่เขียนบรรยายในเช้าวันนี้ จะไม่มีทางเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ...
ติดตามกันครับ .. เพื่อวงการกีฬาสนุกเกอร์ของประเทศไทย และก็คาดหวังว่าในอีก 4 ปีข้างหน้า ไม่ว่าใครจะเป็นคณะกรรมการที่จะเข้ามาบริหารงานสมาคมฯ คงจะไม่เกิดข้อมูลข้างต้นนี้อีก