xs
xsm
sm
md
lg

จาก “เสือป่าพรานหลวง” สมัย ร.๖ มาเป็น “ทหารพราน”! นักรบชุดดำผู้ไว้ทุกข์ให้ตัวเอง!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสหัวเมืองชายทะเลภาคใต้โดยเรือพระที่นั่งจักรีในเดือนเมษายน ๒๔๕๔ ขณะนั้นในภาคนี้ไทยต้องถอนทหารออกทั้งหมด ไม่สามารถมีกองทหารไว้รักษาแผ่นดินได้ ตามเงื่อนไขในสัญญาเงินกู้จากอังกฤษเพื่อสร้างทางรถไฟสายใต้ในสมัยรัชกาลที่ ๕ อีกทั้งทางชายแดนภาคตะวันออกที่ติดกับลาวและเขมร ก็ถูกบีบจากฝรั่งเศสให้เป็นเขตปลอดทหาร ทำให้ไม่มีกองกำลังรักษาอธิปไตยในย่านนี้เช่นกัน จึงทรงมีพระราชดำริที่จะตั้งกองกำลังอาสารักษาดินแดนฝ่ายพลเรือนขึ้น โดยให้ประชาชนในท้องที่ซึ่งมีความชำนาญในพื้นที่อยู่แล้วจัดตั้งเป็นกองกำลังเพื่อรักษาความมั่นคงในพื้นที่ของตัวเอง เมื่อทรงปรึกษาผู้ใกล้ชิดหลายท่านแล้วการจัดตั้ง “กองเสือป่า” จึงเกิดขึ้นบนเรือพระที่นั่งจักรีในครั้งนั้น พร้อมรูปแบบของกองกำลังหน่วยนี้ก็ถูกวางขึ้นทันที

การใช้ชื่อว่า “เสือป่า” ทรงอธิบายว่า เป็นชื่อเก่าที่ปรากฏมาแต่โบราณ มีหน่วยทหารที่เรียกว่า “เสือป่า” คู่กับ “แมวเซา” หรือ “แมวมอง” ที่เรียกกันในกองทัพว่า “ผู้สอดแนม”

ทรงมีพระบรมราชโองการลงวันที่ ๑ พฤษภาคมต่อมาตั้งกองเสือป่าขึ้น โดยมีพระองค์ทรงเป็นสมาชิกหมายเลข ๑ ดำรงตำแหน่งนายกองใหญ่ และมีสมาชิกเริ่มก่อตั้ง ๑๖ คนซึ่งเป็นข้าราชบริพารที่ใกล้ชิด เพื่ออบรมข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน และพลเรือนให้ได้รับการฝึกวิชาทหาร มีระเบียบวินัยและเสียสละ มีหน้าที่ช่วยเจ้าหน้าที่รักษาความสงบของบ้านเมือง
ต่อมาในปี ๒๔๕๗ โปรดเกล้าฯให้ยก “กองทหารกระบี่หลวงรักษาพระองค์” ขึ้นเป็น “กรมเสือป่าพรานหลวง” ทำหน้าที่เช่นเดียวกับหน่วยทหารราบเบาของอังกฤษ ซึ่งเป็นหน่วยทหารที่ฝึกการรบแบบเคลื่อนที่เร็ว ที่พระองค์เคยประจำการมาแล้วหลังจากสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยแซนเฮิรสต์ พร้อมกันนั้นก็โปรดเกล้าฯให้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนทหารกระบี่หลวงและกองนักเรียนกระบี่หลวง เป็น “โรงเรียนพรานหลวง” และ “กองนักเรียนพรานหลวง” ทำการฝึกการรบแบบกองโจรทั้งกลางวันและกลางคืนที่พระราชอุทยานสราญรมย์และพระราชวังสนามจันทร์
 
ในสมัยต่อมาระหว่างปี พ.ศ.๒๕๑๙-๒๕๒๔ ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาการขัดแย้งภายในประเทศจากลัทธิคอมมิวนิสต์ และมีการคุกคามจากกองกำลังต่างประเทศทางด้านชายแดนไทย-กัมพูชา จนทหารตำรวจมีภาระอย่างหนักในการรักษาความสงบ กองทัพบกจึงจัดตั้งหน่วยอาสาสมัครขึ้นจากประชาชนในท้องที่ เป็น “โครงการชุดปฏิบัติการพิเศษทหารพรานชายแดนไทย-กัมพูชา” ทหารพรานเหล่านี้จะได้รับการฝึกเข้มข้นเป็นเวลา ๓๐ วัน แล้วส่งกลับไปยังหมู่บ้านของตน เพื่อปฏิบัติการต่อสู้กับกองกำลังคอมมิวนิสต์

โครงการนี้ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๒๑ กองทัพบกจึงถือว่า วันที่ ๑๘ กรกฎาคมของทุกปีเป็น “วันทหารพราน”

คุณสมบัติของผู้สมัครเป็นทหารพรานจะต้องมีสัญชาติไทย มีอายุ ๑๘-๓๐ ปี และมีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่ามัธยมปีที่ ๓ แม้ทหารพรานจะไม่มีเงินเดือนและมีเบี้ยเลี้ยงค่าตอบแทนน้อย แต่ในการเปิดรับสมัครแรกๆนั้น แม้แต่ละหน่วยจะเปิดรับในจำนวนไม่ถึงร้อย แต่ก็มีผู้สมัครหลายพัน ในจำนวนนี้นอกจากจะเป็นผู้ต้องการรับใช้ชาติ หรือเห็นความโก้เก๋ที่จะเป็นทหารพรานแล้ว ยังมีผู้หลบหนีคดีเข้ามาด้วย เพราะอยู่ในค่ายทหารพรานจะปลอดภัยจากตำรวจ รุ่นต่อๆมาก็มีโอกาสได้คัดคนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมมาเป็นทหารพรานได้มากขึ้น

ทหารพรานจึงมาจากคนหนุ่มหลากหลายอาชีพ ซึ่งคุณสมบัติส่วนใหญ่ก็มีความห้าวหาญกันทั้งนั้น การฝึกแม้ในระยะเวลาสั้นแต่ต้องฝึกกันหนักและเข้มข้น อาวุธที่ใช้ฝึกก็ล้วนเป็นของจริง ทั้งกระสุนปืนและระเบิดมือ หากพลาดพลั้งก็ถึงตายหรือพิการ แม้จะมีครูฝึกดูแลอย่างใกล้ชิด ครูฝึกบางคนก็ต้องรับเคราะห์ไปด้วย เมื่อผ่านการฝึกไปแล้วสู่สนามรบแล้ว ชีวิตของทหารพรานยังต้องเฉียดความตายอยู่ตลอด ทำให้บางคนเกิดความเครียดถึงกับควบคุมตัวเองไม่ได้ ต้องเตลิดหนีเข้าป่าไป ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าทางหน่วยจะไม่ติดตาม ปล่อยให้ไปสงบสติอารมณ์ในป่าสักพักก็จะกลับออกมาเอง แต่ห้ามเด็ดขาดที่จะนำอาวุธประจำตัวไปด้วย หากฝ่าฝืนกฎข้อนี้จะถูกตามล่าทันที เพื่อไม่ให้ไปก่อเรื่องรุนแรงขึ้น

ทหารพรานใช้เครื่องแบบสีดำเช่นกับเสือป่าพรานหลวง กล่าวกันว่าเป็นการไว้ทุกข์ให้ตัวเอง พร้อมจะตายได้ทุกเมื่อเพื่อความสงบร่มเย็นของประเทศชาติ

ผลงานของทหารพรานปรากฏว่าสามารถยับยั้งการขยายตัวของกองกำลังคอมมิวนิสต์ได้อย่างดี ลดระดับการต่อสู้ของผู้ก่อการร้ายลงได้จนเป็นที่พอใจ เมื่อปัญหาภายในประเทศเรื่องนี้หมดไป กองทัพบกจึงมอบหมายให้หน่วยทหารพรานร่วมกับทหารประจำการเข้าป้องกันประเทศตามชายแดนทั่วทุกภาค จนขยายจำนวนทหารพรานเข้าแทนที่ทหารประจำการได้ถึง ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบันยังมีทหารพรานหญิงด้วย ได้ฉายาว่า “ดอกไม้เหล็ก” และกองทัพเรือก็มีทหารพรานนาวิกโยธินทั้งผู้ชายและผู้หญิง

ปัจจุบันมีอาสาสมัครทหารพรานทั้งชายและหญิงกระจายกันปฏิบัติหน้าที่ “ปิดทองหลังพระ” อยู่ตามชายแดนทั่วทุกภาค ทั้งผู้ก่อการร้าย ขบวนการขนยาเสพติด และผู้หลบหนีเข้าประเทศ ไม่ว่าจะเข้ามาจุดไหน ก็จะต้องเผชิญกับนักรบชุดดำซึ่งอาสามาเป็นรั้วบ้าน ให้เกิดความสงบสุขภายในบ้าน

นี่คือหน้าที่ของนักรบชุดดำ นักรบประชาชนผู้พร้อมเสมอในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อความสงบสุข โดยไว้ทุกข์ให้ตัวเองไว้แล้ว






กำลังโหลดความคิดเห็น