xs
xsm
sm
md
lg

กรมส่งเสริมวัฒนธรรมปั้นสินค้าดีไซน์สุดเก๋จากรากวัฒนธรรมชนเผ่า ยกระดับคราฟต์ไทยให้ไปไกลสู่ต่างประเทศภายใต้โครงการ The Tribal Project ชนเผ่าเล่าคราฟต์ ชู Soft Power เชื่อมไทยสู่โลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ร่วมกับไอคอนคราฟต์ สนับสนุนผู้ประกอบการ จัดทำโครงการ เดอะไทรเบิล โปรเจค เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการนำความคิดสร้างสรรค์มาใช้สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยเน้นกลุ่มชนเผ่าในประเทศไทยที่ถือเป็นชนกลุ่มน้อยแต่มีรากวัฒนธรรมที่แข็งแรงให้สามารถยกระดับวัฒนธรรมที่มีอยู่เดิมโดยพัฒนาต่อยอดเป็นสินค้าดีไซน์ร่วมสมัยที่ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน พร้อมทั้งทำการตลาดส่งเสริมการขาย เพื่อให้สินค้าชนเผ่าสามารถขยายสู่ตลาดคนรุ่นใหม่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ สร้างอาชีพทางเลือกและรายได้ที่เพิ่มขึ้น นำไปสู่การรักษาทุนวัฒนธรรมที่แข็งแรงของชนเผ่า


วันนี้ (16 ก.ค.) คุณชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวถึง โครงการ เดอะ ไทรเบิล โปรเจค ว่า เป็นความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กับไอคอนคราฟต์ วัตถุประสงค์เพื่อพัฒนายกระดับสินค้าของกลุ่มชนเผ่าโดยต่อยอดจากวัฒนธรรมที่มีอยู่เดิมให้กลายเป็นสินค้าดีไซน์ใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภค ในยุคปัจจุบัน โดยโครงการนี้เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มกิจการเพื่อสังคม นักออกแบบ มาร่วมกันคิดร่วมกันดีไซน์สินค้าโดยทำงานคู่กับชนเผ่าที่เป็นเจ้าของวัฒนธรรม พร้อมทั้งมีการถ่ายทอดองค์ความรู้และวิธีคิดในการพัฒนาสินค้าให้กับกลุ่มชนเผ่า นำไปสู่เป้าหมายสูงสุดของโครงการ คือการนำเอาวัฒนธรรมที่แข็งแรงมาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างรายได้ และสามารถเป็นอาชีพทางเลือกให้กับกุล่มชนเผ่า ซึ่งโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากกรมฯ เพราะตรงกับหน้าที่หลักของเรา คือ สืบสาน รักษา ต่อยอด เผยแพร่มรดกทางวัฒนธรรมไทยสู่ระดับนานาชาติ นำไปสู่การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันตามนโยบายโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG เพื่อสร้างโอกาส และความเสมอภาคทางสังคมให้กับเจ้าของทุนวัฒนธรรม และยังสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจวัฒนธรรมใหม่ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ที่มีแนวคิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนพื้นฐานของการใช้องค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) และ การใช้ทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual property) ที่เชื่อมโยงกับรากฐานทางวัฒนธรรม ผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และ Soft Power ไทยซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายของประเทศที่สนับสนุนเรื่องนี้อย่างเต็มที่

สำหรับหัวใจหลักของโครงการนี้คือการนำเสนอวัฒนธรรมผ่านการพัฒนาสินค้าให้สามารถนำออกสู่ตลาดได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างยั่งยืน โครงการจึงให้ความสำคัญกับกระบวนการทำความเข้าใจเจ้าของทุนวัฒนธรรม และเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภค โดยเริ่มจากการทำ Research ข้อมูลเทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาสินค้า และมีกระบวนการเลือกชนเผ่าที่มีความพร้อม มีวัตถุดิบวัฒนธรรมที่มีศักยภาพในการต่อยอดและมีความสนใจในการร่วมพัฒนาสินค้า ในขณะเดียวกันก็ต้องมีความสามารถในการรองรับการผลิตที่เหมาะสมกับการขาย และพบว่า 4 กลุ่มชนเผ่าที่มีความพร้อมทำงานร่วมกันในโปรเจกต์นี้ ได้แก่ ชนเผ่าไทลื้อ จังหวัดลำพูน, ชนเผ่ากระเหรี่ยงโปว์ จังหวัดอุทัยธานี, ชนเผ่าปกาเกอะญอ จังหวัดลำพูน และชนเผ่าลัวะ จังหวัดแม่ฮ่องสอน จากนั้นเราลงพื้นที่เพื่อไปทำความรู้จักวัฒนธรรม วิถีชีวิต ความเชื่อของชนเผ่าเหล่านั้น และถอดรากวัฒนธรรมนั้นออกมาเป็นอัตลักษณ์ เป็นดีไซน์ ผ่านการจัดกิจกรรม Workshop โดยชวนนักการตลาด นักออกแบบ และชนเผ่า มาร่วมกันพัฒนาสินค้า โดยทุกกระบวนการ ชนเผ่าจะเป็นผู้ร่วมคิดและเป็นผู้สร้างงานในโครงการร่วมกับดีไซนเนอร์ สามารถเข้าไปดาวน์โหลด Look Book เพื่อสั่งซื้อสินค้าได้ที่ (QR) หรือ เข้าไปติดตามได้ที่ facebook : HelloLocalThailand

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ยังมีแผนในการส่งเสริมสินค้าของชนเผ่าอยู่หลายด้านเพื่อให้ประชาชน หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ได้รับรู้และนำไปต่อยอด ช่วยสนับสนุนที่ผ่านมาเรามีการจัดกิจกรรมออนไลน์ Business Pitching โดยเชิญหน่วยงานภาคเอกชนและภาครัฐกว่า 50 ราย อาทิ คิงพาวเวอร์ วันสยาม ไทยเบฟเวอเรจ SCG นารายาและกลุ่มแพลตฟอร์มออนไลน์ อาทิ LAZADA ไปรษณีย์ไทย Thai Post Mart เป็นต้น ที่ถือว่าเป็นตัวแทนของ Buyer / Distributor และเป็นช่องทางการขายสินค้าที่มีศักยภาพสูงในประเทศไทยเข้ามารับฟังความน่าสนใจของสินค้าที่ถูกพัฒนาขึ้น รวมทั้งเรามีแผนในการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อเข้าถึงคนรุ่นใหม่ การใช้กลุ่มเซเลปและอินฟลูเอนเซอร์ที่มีชื่อเสียงมาช่วยประชาสัมพันธ์มีการจัดแถลงข่าวเชิญสื่อมวลชนมาช่วยเป็นกระบอกเสียง รวมไปถึงทำตลาดผ่านสื่อต่างประเทศโดยเน้นประเทศจีน ไต้หวัน สหรัฐ และยุโรป โดยมีช่องทางการขายผ่านเว็บไซต์ทั้งไทยและต่างประเทศอีกด้วย ส่วนถ้าใครสนใจอยากเห็นสินค้าของจริงก็สามารถไปดูได้ที่โซน ICONCRAFT ชั้น 4 ศูนย์การค้าไอคอนสยาม

คุณชาย ยังกล่าวถึงแผนการต่อยอดงานศิลปวัฒนธรรม Soft Power ในปี 2566 ว่า เนื่องจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรมมีหน้าที่หลักในการสืบสานต่อยอดและขับเคลื่อนงานด้านวัฒนธรรม ทั้งในระดับท้องถิ่นระดับชาติและระดับนานาชาติ แน่นอนประเทศไทยมี “ของดี” หรือวัฒนธรรมที่น่าสนใจมากมายในระดับสากล ล่าสุดประเทศไทยถูกจัดอันดับให้ติด 1 ใน 7ของประเทศที่ร่ำรวยมรดกทางวัฒนธรรมมากที่สุดในโลกในปี 2564 ซึ่งสร้างความภาคภูมิใจให้กับคนไทยทั้งประเทศและได้มีการนำเอามรดกทางวัฒนธรรมขึ้นทะเบียนกับ UNESCO อีกหลายรายการ

ในฐานะที่เราเป็นองค์กรหลักที่มีหน้าที่รับผิดชอบมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเราได้กำหนดวิสัยทัศน์ ในการพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ภายใต้นโยบาย Soft Power และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศนโยบายสนับสนุนเรื่องนี้อย่างเต็มที่ คำว่า Soft power มีความแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ แต่หลักการคือการนำเอาวัฒนธรรมของตนมาสร้างชื่อเสียงที่ดีให้กับประเทศ นำไปสู่การอยากไปท่องเที่ยว หรือสนับสนุนสินค้า และบริการ ของประเทศนั้นๆ Soft Power จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศในหลายมิติ ซึ่งกรมฯ เองก็ได้รับนโยบายในการยกระดับงานวัฒนธรรมโดยนำ “อัตลักษณ์ท้องถิ่น” เข้ามาใช้ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม โดยเน้นวัฒนธรรม 5F ได้แก่ Food Film Fashion Fight and Festival ของไทยให้กลายเป็นสินค้าส่งออกทางวัฒนธรรมที่แข็งแรง สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทยให้เราเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวและการสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญและทรงอิทธิพลของโลก










กำลังโหลดความคิดเห็น