เพราะเหตุใด โมเดลของกสทช.วิเคราะห์การรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC ไม่สะท้อนความเป็นจริง
ทั้งเรื่องค่าบริการที่ไม่มีทางเป็นได้ที่จะสูงขึ้น เพราะมีเพดานราคาของ กสทช.คุมอยู่ รวมถึงจำนวนผู้เล่นในตลาด ยังมี NT และ MVNOs
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรภวิษย์ บุญศรีเมือง รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ
คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
เป็นไปไม่ได้ที่ค่าบริการมือถือจะสูงขึ้นหลังควบรวม TRUE และ DTAC ตามผลการศึกษา กสทช. เพราะเกินเพดานราคาที่ กสทช. กำหนด
ตามที่ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้นำเสนอผลการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์จากการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC โดยใช้โมเดล Merger Simulation และ Upward Pricing Pressure (UPP) และแบบจำลองดุลยภาพทั่วไป (CGE Model) ระบุว่า หลังควบรวมค่าบริการโทรศัพท์มือถือประเภทเสียงต่อนาทีของผู้ประกอบการทั้ง 3 ค่ายในกรณีที่ไม่มีการฮั้วกันนั้นค่าบริการจะสูงขึ้นโดยเฉลี่ย 10.79% แต่หากมีการฮั้วกัน ค่าบริการจะเพิ่มโดยเฉลี่ยจะเป็น 202.30% จากราคาเดิม
แต่เมื่อมาพิจารณาความเป็นจริงแล้ว ปรากฏว่าเป็นไปไม่ได้โดยสิ้นเชิง เนื่องจากประกาศ กสทช. เรื่องการกำหนดและการกำกับดูแลโครงสร้างอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศปี 2562 กำหนดให้ค่าบริการมือถือประเภทเสียงต้องไม่เกิน 60 สตางค์ต่อนาที ซึ่งปัจจุบันค่าบริการมือถือประเภทเสียงเฉลี่ยอยู่ที่ 55 สตางค์ต่อนาที ซึ่งยังต่ำกว่าราคาเพดานอยู่ 5 สตางค์ต่อนาที หรือคิดเป็นประมาณ 9.76% ของราคาปัจจุบันนั่นเอง พูดง่าย ๆ ว่าราคาค่าบริการจะไม่สามารถเพิ่มขึ้นเกิน 9.76% จากราคาที่เป็นอยู่ได้
สรุปคือ หลังการควบรวม TRUE และ DTAC ค่าบริการโทรศัพท์มือถือจะสูงขึ้นตามผลการศึกษา กสทช. นั้นไม่มีทางเป็นไปได้เลย นอกเสียจากว่า กสทช. จะเป็นผู้ลดอัตราเพดานราคาลงมาเอง ทั้งนี้ค่าบริการจะสูงขึ้นหรือไม่นั้น ไม่ได้เกิดจากการควบรวมเพียงอย่างเดียว แต่เกิดได้จากหลายปัจจัย อาทิ ปัจจัยด้านสังคม ปัจจัยด้านต้นทุน จึงกล่าวได้ว่าผลการศึกษา กสทช. ยังไม่ครอบคลุมรอบด้าน โดยมีผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับราคาค่าบริการโทรคมนาคมหลังการควบรวมที่ได้นำเสนอองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (The Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) จำนวน 10 ผลงาน โดยผลงานวิจัยครึ่งหนึ่งวิเคราะห์พบว่าค่าบริการเพิ่มขึ้นหลังควบรวม แต่ผลงานวิจัยอีกครึ่งหนึ่งกลับพบว่าไม่มีการขึ้นราคาค่าบริการหลังการควบรวม ดังนั้นจึงไม่สามารถฟันธงได้ว่าการควบรวมจะส่งผลต่อการขึ้นราคา แต่ในทางกลับกัน ผลการศึกษางานวิจัยด้านผลของการกระจุกตัวของตลาดต่อการลงทุนทั้งหมดพบว่าเมื่อควบรวม จะส่งผลให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้นทั้งในอุตสาหกรรมและบริษัท นำมาซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยี และการเพิ่มคุณภาพของบริการในอีกทางหนึ่งด้วย
- ผู้เล่นไม่ได้มีแค่สามราย การละเลย NT ทำให้การประเมินผลคลาดเคลื่อน และลดความสำคัญของ NT ลง
การละเลยผู้เล่นเหล่านี้ย่อมส่งผลโดยตรงต่อการคำนวน การคาดการณ์ผลกระทบทางเศรษฐกิจ ราคาค่าบริการ อีกทั้งยังเป็นการละเลยการเร่งพัฒนาบริษัท NT ให้สามารถแข่งขันได้เต็มประสิทธิภาพของตนเอง
ทั้งนี้แม้ว่าบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ NT จะมีสัดส่วนตลาดน้อยเมื่อเทียบกับเอกชนรายอื่น แต่ก็มีความพร้อมทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ความถี่ เงินสด และกำลังคน อีกทั้งในปัจจุบันก็ยังมีรูปแบบการให้บริการด้วยโมเดล MVNO กสทช. ควรออกมาตรการส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของ NT เร่งใช้ศักยภาพที่มีเพราะหากไม่สามารถแข่งขันได้ นั่นหมายถึงการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่นั้นไม่มีประสิทธิภาพ ไม่เกิดการสร้างประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศ ต้นแบบผู้ให้บริการโทรคมนาคมระดับโลกที่มาจากรัฐวิสาหกิจนั้นมีให้เห็นมากมาย เช่น Nippon Telegraph and Telephone (NTT) ของประเทศญี่ปุ่น และ Deutsche Telecom AG ของประเทศเยอรมนี ที่นอกจากจะสามารถแข่งขันได้แล้วยังสามารถเป็นผู้นำตลาดในระดับโลกได้อีกด้วย
กล่าวโดยสรุปคือ การที่ กสทช. ไม่ได้พิจารณาผู้เล่นให้ครบถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ไม่ได้รวม NT เข้ามาอยู่ในการศึกษา ทั้งที่ NT เป็นมีทรัพยากรและศักยภาพในการพัฒนาอย่างมาก ทำให้ผลลัพธ์ของการศึกษาดังกล่าวไม่น่าเชื่อถือ อีกทั้งยังทำให้เกิดข้อสงสัยถึงบทบาทในการผลักดันบริษัทที่ได้ชื่อว่าเป็นบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติให้สามารถแข่งขันได้ ที่ กสทช. ควรทำ กลับถูกมองได้ว่าละเลยไปดัวยกระบวนการคิดผ่านโมเดลการศึกษาของ กสทช.เอง