ในปี พ.ศ.๒๔๓๔ เจ้าชายนิโคลัส มกุฎราชกุมารของรัสเซีย ได้เดินทางมาประเทศไทยตามคำเชิญของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพักอยู่เมืองไทยในวันที่ ๒๐-๒๔ มีนาคม เป็นเวลา ๕ วัน กล่าวกันว่าพิธีต้อนรับมกุฎราชกุมารของรัสเซียในครั้งนั้นสุดยิ่งใหญ่ เป็นที่ประทับใจของพระราชอาคันตุกะอย่างไม่รู้ลืม ซึ่งนาย อา. เอ็ม. วียวอดเซฟ กงสุลใหญ่รัสเซียประจำสิงคโปร์ ผู้ตามเสด็จเข้ามาด้วย ได้เขียนรายงานไปถึงกระทรวงต่างประเทศรัสเซีย ปรากฏคำแปลอยู่ใน “๑๐๐ ปี ความสัมพันธ์สยาม-รัสเซีย” เอกสารประวัติศาสตร์ของสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความว่า
“ในวันที่ ๒๐ มีนาคม ค.ศ.๑๘๙๑ การเสด็จพระราชดำเนินทางเรือกินเวลา ๔ ชม. แต่ก็ผ่านไปด้วยดี สองฝั่งแม่น้ำสวยงามราวกับภาพจิตรกรรม ในเวล ๑๑ นาฬิกา เรือยอร์ชพระที่นั่ง “อาพอลโล” ได้เข้าจอดท่าเรือส่วนพระองค์ที่บางกอก ท่ามกลางเสียงปืนยิงสลุทและเรือที่ประดับประดาอย่างวิจิตรงดงามและเต็มไปด้วยชาวสยาม พระมหากษัตริย์แห่งสยามได้พบมกุฎราชกุมารแล้วทูลเชิญเสด็จไปยังพระบรมมหาราชวัง ณ ที่นั้นได้พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุด “จักรี” แด่องค์มกุฎราชกุมาร และพระราชทานเครื่องอิสริยาภรณ์ “ช้างเผือก” แด่ปรินซ์กีออกีย์ กรีเชสกี หลังจากที่พระองค์ทรงแนะนำให้รู้จักกับพระราชินีแล้ว ทรงทูลเชิญเสด็จฯมกุฎราชกุมารไปยังวังสราญรมย์ พระตำหนักที่ดีเยี่ยม ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เตรียมจัดไว้เป็นที่ประทับของมกุฎราชกุมารและผู้ตามเสด็จฯ พระตำหนักนี้อยู่ใกล้กับพระบรมมหาราชวัง สิ่งที่ได้รับจากการเสด็จฯทั้งจากองค์พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ เหล่าขุนนาง และประชาชนทั้งมวล ล้วนเป็นไปด้วยความจริงใจและอบอุ่นยิ่ง ทุกคนได้แสดงออกซึ่งความจงรักภักดีและความสนใจที่ได้ใกล้ชิดมกุฎราชกุมารแห่งรัสเซีย
สองวันในบางกอก รัฐบาลสยามได้จัดการรับเสด็จอย่างเอกเกริก และมีพิธีการต่างๆสลับกับการเสด็จฯทอดพระเนตรวัง พิพิธภัณฑ์ วัด และโบราณวัตถุ ซึ่งแสดงถึงร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่คงอยู่ มีการเปลี่ยนแปลงหมายกำหนดการทอดพระเนตรขบวนแห่และการแสดงประเพณีตะวันออก โดยเปลี่ยนเป็นการเสวยพระกระยาหารกลางวันและการดำเนินเพื่อสำราญพระอิริยาบถ มกุฎราชกุมารแห่งรัสเซียแสดงความเห็นหลายครั้งว่า เป็นความประทับใจที่สุดเท่าที่เคยได้รับ และทรงสะดวกสบายอย่างเปี่ยมล้น พระมหากษัตริย์สยามทรงมีพระราชประสงค์ที่แท้จริงที่จะให้พระราชอาคันตุกะทรงลำบากพระทัยน้อยที่สุด ทรงปลูกฝังให้ชาวตะวันออกรักการสวมเครื่องแบบเพื่อออกงานในพิธีต่างๆ หรือแม้แต่การเสวยพระกระยาหารกลางวัน พระองค์ทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบขาว ประดับเหรียญตราบ้างไม่ประดับบ้าง
วันที่ ๒๒ มีนาคมเวลาเช้า มกุฎราชกุมารแห่งรัสเซียเสด็จพระราชดำเนินโดยเรือยอร์ชพระที่นั่ง “อาพอลโล” ไปยังบางปะอิน พระราชฐานชานกรุงของพระมหากษัตริย์สยาม ซึ่งพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินล่วงหน้ามาก่อนแล้ว ทรงรอต้อนรับอย่างสมพระเกียรติอีกครั้งหนึ่ง ณ ที่นี้พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดให้มกุฎราชกุมารแห่งรัสเซียประทับในพระราชวังอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งเพียบพร้อมไปด้วยความสะดวกสบาย หลังพระกระยาหารเช้าที่ลานหน้าพระราชวัง ราษฎรนับหมื่นคนที่อาศัยอยู่ในย่านใกล้เคียง แต่งกายในชุดออกงาน ได้นำผลไม้ใสตะกร้า สัตว์ปีก สัตว์ป่า ผ้า พัด และผลิตภัณฑ์ทุกชนิดที่ผลิตในประเทศมาถวาย ทั้งนี้ด้วยความศรัทธาโดยส่วนตัว และแสดงถึงความจงรักภักดีต่อมกุฎราชกุมารแห่งราชบัลลังก์รัสเซีย นับเป็นภาพที่ยิ่งใหญ่ที่ก่อให้เกิดความประทับใจอย่างลึกซึ้ง เป็นการแสดงให้เห็นถึงศรัทธาอันแรงกล้าของประชาชนที่เต็มไปด้วยไมตรีจิตของโลกตะวันออก พระบรมวงศานุวงศ์ได้ยืนยันกับข้าพเจ้าว่า ยังไม่มีใครเลยนอกจากพระมหากษัตริย์สยามที่จะเป็นที่รักยิ่งของประชาชนและจัดการต้อนรับได้อย่างเอกเกริกเช่นนี้
สองวันถัด มาคือวันที่ ๒๓ และ ๒๔ มีนาคม ได้กำหนดไว้เป็นวันทอดพระเนตรการคล้องช้างที่พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นเมืองหลวงเดิมของสยาม การเสด็จพระราชดำเนินไปพระนครศรีอยุธยาในครั้งนี้ เสด็จพระราชดำเนินโดยเรือกลไฟพระที่นั่ง และเวลาเย็นเสด็จพระราชดำเนินมาประทับที่บางปะอิน การคล้องช้างที่ได้ชมนี้นับว่าเป็นการแสดงที่วิเศษมาก การคล้องช้างป่าด้วยมือต้องอาศัยความชำนาญเป็นอย่างมาก ถึงแม้มกุฎราชกุมารแห่งรัสเซียจะทรงเคยทอดพระเนตรการแสดงเช่นนี้มาแล้วที่ศรีลังกา แต่ที่นั่นมีช้างเพียง ๙ เชือก ส่วนที่นี่มีช้างป่าถึง ๓๐๐ เชือก”
ส่วนเจ้าชายอุคดัมสกี้ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ผู้ตามเสด็จ ได้บันทึกถึงความประทับใจองพระราชอาคันตุกะในช่วงที่เสด็จไปพระราชวังบางปะอินไว้ในหนังสือ “การเดินทางสู่ดินแดนตะวันออกไกล ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช มกุฎราชกุมารแห่งรัสเซีย” มีความว่า
“พระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ทรงพระอุสาหะตามไปส่งเสด็จสมเด็จพระบรมฯของเราจนถึงที่ประทับซึ่งได้รับการจัดถวายเป็นพิเศษ ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมแบบสวิสชาเลต์ที่น่ารักน่าเอ็นดู ตกแต่งอย่างมีรสนิยม ผู้ตามเสด็จก็ได้รับการเชื้อเชิญให้พักในเรือนหลังเล็กๆโดยรอบ พร้อมกันนี้พระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดให้มหาดเล็กหนุ่มๆจากตระกูลขุนนางผู้ดีมาคอยปรนนิบัติดูแลชาวคณะอย่างใกล้ชิด ท่านผู้บังคับการเรือวลาดิเมีย โมโนมาค และพลเรือเอกนาคีมอฟ และคุณหมอธัมบัค ได้พำนักเป็นเรือนครึ่งตึกครึ่งไม้อันสะดวกสบายแบบบ้านพักร้อนตามแหล่งท่องเที่ยวชั้นดีของยุโรป ห้องพักของพวกเราอบอวลด้วยกลิ่นหอมอ่อนๆของพันธุ์พฤกษาและน้ำอบอันรัญจวนใจ ความเป็นเจ้าของบ้านผู้เอื้อเฟื้อของชาวสยามนี้ เราเคยอ่านในบันทึกของนักเดินทางมาบ้าง แต่เพิ่งค้นพบด้วยตัวเองในวันนี้ มันเป็นความประทับใจที่คงลืมไม่ได้ง่ายนัก
ความประทับใจอย่างหนึ่งที่เราได้รับจากที่นี่เกิดขึ้นราว ๕ โมงเย็นวันนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกมาพร้อมด้วยเจ้านายเชื้อพระวงศ์หลายพระองค์ ตลอดจนข้าราชบริพารผู้ใกล้ชิดทั้งหลาย ทุกคนลงไปยังลานกว้างหน้าพระที่นั่ง ตรงลานกว้างด้านหน้ามีประชาชนมารอเฝ้าเป็นจำนวนมาก ถึงจะเป็นการรับเสด็จอย่างเรียบง่าย แต่ทุกคนก็กระทำด้วยน้ำใสใจจริง เป็นการแสดงซึ่งความรู้สึกอันบริสุทธิ์ใจของผู้คนที่ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการเมืองเลย แต่ทุกคนก็แสดงออกซึ่งความเคารพเทิดทูนในองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งเผื่อแผ่ไปยังสหายของพระองค์ด้วย เป็นการแสดงออกที่ไม่ต้องการผลประโยชน์ตอบแทน ไม่ใช่เพราะสินจ้างรางวัล และไม่ต้องการคำสรรเสริญเยินยออย่างใดเลย ซึ่งต่างกับค่านิยมของชาวตะวันตกโดยทั่วไปหรือแม้แต่ชาวรัสเซียเอง ทัศนะคติเช่นนี้เราควรจะเรียนแบบชาวตะวันออก ผู้มีความเจริญทางจิตใจมากกว่าการแสวงหาของนอกกายเพียงอย่างเดียว สัญชาตญาณของชาวสยามผู้มีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ของพวกเขา เป็นอานิสงส์ที่ถูกเผื่อแผ่ไปยังองค์รัชทายาทของรัสเซียด้วย ภาพการพบปะฉันมิตรและการแสดงความรักใคร่เห็นอกเห็นใจที่บางปะอินระหว่างสมเด็จพระบรมฯกับชาวบ้านธรรมดา จะเป็นสักขีพยานให้รำลึกอยู่เสมอว่า มิตรภาพอันบริสุทธิ์ระหว่างเราชาวรัสเซียกับชาวสยาม จะดำรงอยู่สืบไปชั่วกาลนานในความทรงจำของเราและเขาทั้งหลาย”
ในวันสุดท้ายของการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสยามของมกุฎราชกุมารรัสเซีย เจ้าชายอุคดัมสกี้ ยังได้พรรณนาด้วยความอาลัยอาวรณ์ที่ต้องจากสยาม แผ่นดินที่เปี่ยมล้นไปด้วยมิตรภาพและความจริงใจไว้ว่า
“พรุ่งนี้แล้ว ที่พวกเราจำจะต้องกล่าวคำอำลาจากแผ่นดินแห่งความสุขนี้ไป ภาพอันน่าอัศจรรย์และตื่นเต้นมากมายที่เราได้เห็นตลอดสัปดาห์นี้ จะคงอยู่ในความทรงจำตลอดไป การจากประเทศสยามไปในคราวนี้ เหมือนต้องจากเพื่อนสนิทที่เรามักคุ้นมานาน และจะทำให้พวกเราอาลัยมาก”
จากมิตรภาพในครั้งนั้นที่เกิดความประทับใจต่อกัน ส่งผลเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปเยือนรัสเซียในปี พ.ศ.๒๔๔๐ ขณะที่เจ้าชายนิโคลัสขึ้นครองราชย์บัลลังก์รัสเซียเป็นพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ ๒ แล้ว เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงปรับทุกข์ถึงเรื่องที่ถูกอังกฤษฝรั่งเศสคุกคาม พระเจ้าซาร์จึงทรงจัดให้มีการฉายพระรูปคิงจุฬาลงกรณ์จากสยามประทับคู่กับพระเจ้าซาร์แห่งรัสเซีย รับสั่งให้ราชสำนักรัสเซียส่งภาพนี้ไปยังหนังสือพิมพ์ที่ออกในเมืองหลวงของทุกประเทศในยุโรป ทั้งยังทรงเขียนคำอธิบายภาพด้วยพระองค์เองว่า
“สยามเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา หาใช่ประเทศล้าหลังซึ่งมหาประเทศจะอาศัยเป็นมูลเหตุเข้ายึดครองมิได้”
ภาพและคำบรรยายอันสั่นสะเทือนยุโรปนี้ เป็นผลอย่างมากในการเปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งก็เป็นมิตรภาพที่เกิดจากความจริงใจที่ไม่อาจลืมได้เช่นกัน