xs
xsm
sm
md
lg

หยุดยาว ๕ วัน..อาสาฬหบูชาต่อด้วยเข้าพรรษา! แถมด้วย “วันงดดื่มสุราแห่งชาติ”!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



วันที่ ๑๓-๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๕ นี้ จะเป็นวันหยุดยาวในรอบปีอีกครั้ง เพราะเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา ๒ วันติดต่อกัน และยังมีวันหยุดกรณีพิเศษอีก ๑ วันเพื่อให้เชื่อมต่อกับเสาร์อาทิตย์ รวมเป็น ๕ วัน

วันสำคัญทางพุทธศาสนาวันแรกก็คือ วันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๘ ซึ่งตรงกับวันที่ ๑๓ กรกฎาคม เป็นวันอาสาฬหบูชา วันต่อไป แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ก็จะเป็นวันเข้าพรรษา ซึ่งยาวไป ๓ เดือนจนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ตรงกับวันที่ ๑๐ ตุลาคม จึงออกพรรษา

วันอาสาฬหบูชา ก็คือวันที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา “ธมมจักกัปปวัตตนสูตร” แปลว่า “พระสูตรแห่งการหมุนล้อธรรม” โปรดปัญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน อันเป็นการเริ่มประกาศพระศาสนา หรือการเทศนากัณฑ์แรก ทำให้พระอัญญาโกณทัญญะเห็นธรรม ขออุปสมบทเป็นพระภิกษุ พระโกณฑัญญะจึงเป็นพระสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนา ต่อมา พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ และพระอัสสชิ ก็ได้เห็นธรรม และอุปสมบทตาม เกิดมีพระอริยสงฆ์ครบถ้วนเป็น “พระรัตนตรัย”
อาสาฬห แปลว่า เดือน ๘ ฉนั้นอาสาฬหบูชา จึงเป็นวันบูชาเหตุการณ์สำคัญซึ่งเกิดขึ้นในเดือน ๘ นี้

ส่วนวันเข้าพรรษามีขึ้นตั้งแต่สมัยพุทธกาลเช่นกัน พรรษา หมายถึง ฤดูฝน ส่วน จำพรรษา หมายถึง การพักอยู่ในช่วงฤดูฝน ทั้งนี้ตามประวัติกล่าวว่า วันหนึ่งในฤดูฝน พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในกรุงราชคฤห์ ในฤดูนี้ยังมีพระภิกษุพากันจาริกไปมา ได้เหยียบข้าวกล้า ต้นไม้ และสัตว์ทั้งหลายตายเป็นจำนวนมาก ประชาชนจึงพากันวิจารณ์ว่า พวกพ่อค้าและเดียรถีกับปริพาชก คือนักบวชในนิกายอื่นๆก็ต่างพากันหยุดพักไม่ออกสัญจรในฤดูนี้ แม้แต่นกก็ยังรู้จักทำรังเพื่อพักหลบฝน แต่ไฉนพระสมณศากยบุตรยังสัญจรไปมา เมื่อความทราบถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงทรงบัญญัติเป็นธรรมเนียมให้พระภิกษุสงฆ์อยู่จำพรรษาในที่แห่งเดียวตลอด ๓ เดือน ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ จนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ห้ามพระภิกษุไปค้างคืนที่อื่น หากมีธุระจำเป็นอันชอบด้วยพระวินัยจึงไปได้ แต่ต้องกลับมายังที่พักเดิมภายใน ๗ วัน นอกนั้นห้ามเด็ดขาด

การจำพรรษานั้นเป็นการเปิดโอกาสให้พระภิกษุทั้งหลายได้สนทนาธรรมแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ซึ่งกันและกัน เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์ยิ่งขึ้น มีเวลาทำใจให้หยุดนิ่งประพฤติปฏิบัติธรรม ให้บรรลุถึงเป้าหมายในการเข้ามาบวชในบวรพระพุทธศาสนา
 
ส่วนพุทธศาสนิกชนก็จะทำบุญตักบาตรกัน ๓ วัน คือในวันขึ้น ๑๔-๑๕ ค่ำและวันแรม ค่ำ เดือน ๘ นำสิ่งของจำเป็นที่พระภิกษุจะใช้ในระหว่างจำพรรษาไปถวาย ในสมัยก่อนที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ของสำคัญอย่างหนึ่งที่ต้องนำไปถวายพระก็คือ เทียน ชาวบ้านจะนำเทียนมาหลอมรวมกันเป็นเทียนต้นใหญ่เพื่อให้พระภิกษุได้ใช้ในกิจการต่างๆในระหว่างเข้าพรรษา แม้เมื่อมีไฟฟ้าแล้วเทียนก็หมดความสำคัญลง แต่การหลอมรวมเทียนก็เป็นการหลอมรวมจิตใจของชาวบ้าน และการแห่เทียนไปวัดก็เป็นความบันเทิงที่ให้ทั้งความสนุกสนานและความสามัคคี จึงเป็นประเพณีที่ยึดถือกันตลอดมา
 
เทศกาลเข้าพรรษานี้ถือกันว่าเป็นเทศกาลที่พุทธศาสนิกชนจะฟังเทศน์ทุกวันพระ ตั้งใจทำความดี ละเว้นความชั่ว เลิกอบายมุขต่างๆ เช่นเล่นการพนันและดื่มสุรา รัฐบาลจึงได้ประกาศให้วันเข้าพรรษาเป็น “วันงดดื่มสุราแห่งชาติ” มาตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ และห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วราชอาณาจักรในวันเข้าพรรษา
 
นักดื่มบางคนถือโอกาสนี้งดดื่มเหล้าตลอดเข้าพรรษาเพื่อให้ร่างกายได้พักฟื้นและทดสอบความเข้มแข็งของจิตใจ ซึ่งนักดื่มหนักหลายคนก็ทำได้อย่างน่านับถือ แต่ก็แปลกใจที่เคยเห็นนักดื่มหนักหลายคนถือวันเข้าพรรษาได้เคร่งครัดเหมือนพระ หยุดดื่มได้ถึง ๓ เดือน แต่ไหง๋พอวันออกพรรษากลับฉลองหนักคุ้มที่อดมา ๓ เดือนเสียเลย
เข้าพรรษาปีนี้ใครจะเป็นผู้นำในการตั้งอธิษฐานที่จะถือโอกาสเอาวันเข้าพรรษาเป็นวันหยุดดื่มเหล้าตลอดไป เพื่อจะได้มีชีวิตอยู่ดูโลกได้นานขึ้น




กำลังโหลดความคิดเห็น