xs
xsm
sm
md
lg

"ประกิต สิริวัฒนเกตุ" เผยไทยโดนโจมตีค่าเงิน ห่วงบาทอ่อนรุนแรง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ประกิต สิริวัฒนเกตุ" เผยไทยโดนโจมตีค่าเงิน ห่วงบาทอ่อนรุนแรงสุดในเอเชีย แต่คาดสถานการณ์จะดีขึ้นปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า แนะถือดอลลาร์เป็นการลงทุนที่น่าสนใจสุดในตอนนี้



วันที่ 12 ก.ค. 2565 นายประกิต สิริวัฒนเกตุ กรรมการผู้จัดการ บลจ.เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ จำกัด ให้สัมภาษณ์ในรายการ "คนเคาะข่าว" ออกอากาศทางสถานีโททัศน์ผ่านดาวเทียม ช่อง "นิวส์วัน"

โดย นายประกิต กล่าวถึงสถานการณ์ดอลลาร์แข็งค่าว่า สภาวะที่เป็นอยู่ตอนนี้เรียกว่า SELL OFF คือขายทุกสิ่งทุกอย่างแล้วไปซื้อดอลลาร์ ถือดอลลาร์ไว้นี่คือสินทรัพย์ที่ดีที่สุดในตอนนี้ สินทรัพย์อื่นที่เหลือส่วนใหญ่ติดลบ ตอนนี้น้ำมันก็เริ่มลงจึงตัดออกไป

เมื่อดอลลาร์แข็ง สกุลอื่นก็ต้องอ่อนตามไปด้วย แต่ว่าอ่อนมากอ่อนน้อยขึ้นกับโครงสร้างการเงิน โครงสร้างการค้า ว่าของใครแข็งแกร่ง อ่อนแอ ไปวัดกันอีกทีนึง เราจะได้เห็นว่ากลุ่มประเทศที่มีความอ่อนแอเรื่องการค้า หนี้สาธารณะสูง เงินทุนสำรองระหว่างประเทศต่ำ พวกนี้โดนหนัก

แต่โดยภาพใหญ่แล้วก็โดนกันหมด ในเอเชียเฉพาะสกุลเงินหลัก ๆ ตั้งแต่ต้นปี อ่อนค่ามากสุดคือเงินเยนญี่ปุ่น ลดไป 16 เปอร์เซ็นต์ อันดับสอง เงินเปโซฟิลิปปินส์ อ่อนค่า 10 เปอร์เซ็นต์ สาม เงินวอนเกาหลี 9.5 เปอร์เซ็นต์ และ สี่ ไทย ลดไป 8 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าหนัก เพราะปีที่แล้วเงินบาทอ่อนไป 10 เปอร์เซ็นต์แล้ว ปีที่แล้วอ่อนมากที่สุดเมื่อเทียบกับสกุลหลักในเอเชีย แล้วยังมาซ้ำในปีนี้อีก

"ฉะนั้น 2 ปี ชัดเจนแล้วว่าไทยโดนถล่ม สามารถเรียกได้ว่าเจอโจมตีค่าเงิน (Currency Attack) กลาย ๆ ได้เลย"

นายประกิต กล่าวอีกว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยบอกบาทอ่อนยังไม่น่ากังวล ถ้ามองแบบนี้คือผิด เพราะ ก.ค. อ่อนค่ามากที่สุดในเอเชีย อีก 2.8 เปอร์เซ็นต์ ตามด้วยฟิลิปปินส์ 2.5 เปอร์เซ็นต์ และที่น่าตกใจคือ เกาหลีอ่อนแค่ 1.3 แปลว่าอันดับหนึ่งอย่างไทยต่างกันเท่าตัว อย่างนี้ไม่ปกติแล้ว

สาเหตุที่บาทอ่อนค่าแล้วดูรุนแรง เหมือนโดนโจมตีค่าเงิน อย่างแรกอัตราดอกเบี้ยแท้จริงของบ้านเรา คือเอาอัตราดอกเบี้ยหักด้วยเงินเฟ้อ มันติดลบหนักที่สุด เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทย อยู่ในระดับที่ต่ำมาก

สอง สถานะด้านการเงิน การค้า บ้านเราเริ่มมีกลิ่น มีความเสี่ยง ขาดดุลการค้าหนัก การขาดดุลแฝด คือขาดดุลงบประมาณ และขาดดุลบัญชีเดินสะพัด

ขาดดุลงบประมาณ ไทยขาดอยู่แล้วทั้งปีทั้งชาติ เราเคยเกินดุลและใช้งบประมาณแบบสมดุลอยู่แค่ 2 ยุค ในตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมา ก็คือสมัย นายทักษิณ และ นายอภิสิทธิ์ ส่วนขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ก็มาจากการขาดดุลการค้า เศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว ส่งออกเราโครงสร้างการแข่งขันไม่ค่อยดี และดุลบริการ การโอนเงิน แลกเปลี่ยนเงิน ก็ยังไม่ดีมากพอ เพราะนักท่องเที่ยวยังเข้ามาไม่เยอะมาก

เป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และสูงถึง 3.5 พันล้านเหรียญฯ เลวร้ายสุดรอบเกือบ 10 ปี ยังไม่พอ ดุลบัญชีการชำระเงิน เป็นดุลที่ใหญ่สุดของประเทศ ซึ่งประกอบด้วยดุลบัญชีเดินสะพัดบวกด้วยดุลบัญชีทุน ติดลบหนักถึงระดับ 6.5 พันล้านเหรียญฯ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ จึงไม่น่าแปลกใจ ก.ค. บาทอ่อนค่าหนัก

นอกจากนี้สปีดในการใช้นโยบายตึงตัวบ้านเรามันช้ามาก ปัญหาใหญ่ที่ทำให้ช้าคือเศรษฐกิจไทยยังไม่พร้อม แล้วถ้าขึ้นดอกเบี้ยตอนนี้จะกระทบภาคครัวเรือน การขยับตัวของ กนง. ปีนี้ ติดกับดักเรื่องการประชุมที่มีน้อยเกินไป

นายประกิต กล่าวว่า เมื่อทิศทางทุกอย่างเป็นใจ ราคาพลังงานเริ่มลดลง การนำเข้าเบาลง ขาดดุลการค้าก็จะเบาลง จำนวนนักท่องเที่ยวเริ่มมีมากขึ้น ดุลบัญชีบริการจะดีขึ้น การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจะเบาลง บวกกับดอลลาร์โดนเทขายทำกำไร บาทจะชะลอการอ่อนค่าลงได้

การแทรกแซงค่าเงินตอนนี้เริ่มมีบ้าง ดูได้จากทุนสำรองของประเทศ มันลดลง 3 หมื่นกว่าล้านเหรียญฯ น่าจะมีการขายดอลลาร์เพื่อซื้อบาท

ทิศทางการถล่มค่าเงินบาทไม่ได้หนักถึงขั้นเอาตาย โครงสร้างการเงินของประเทศไม่ได้มีจุดอ่อนเหมือนปี 40 หนี้สาธารณะต่อจีดีพีก็ไม่ได้สูงจนน่าเกลียด ประมาณ 60 กว่าเปอร์เซ็นต์ มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูง และทิศทางภาพรวมดุลบัญชีเดินสะพัดกำลังจะดีขึ้น กำลังซื้อ จีดีพี ยังไม่มีแนวโน้มติดลบ จึงไม่จำเป็นต้องห่วงค่าบาทซะจนใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศเข้ามาอุ้ม อาจใช้แค่นโยบายการเงินเรื่องอัตราดอกเบี้ย ไม่ให้มันมีส่วนต่างมากเกินไปเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ เพื่อไม่เป็นแรงบีบให้เงินไหลออกไป ปัจจุบันไม่ได้เห็นกระแสเงินไหลออกอย่างรุนแรง เชื่อว่าแบงก์ชาติคงใช้ยาเบา เช่นการขึ้นดอกเบี้ย

เมื่อถามว่าดอลลาร์จะหยุดแข็งค่าเมื่อไหร่ นายประกิต กล่าวตอบว่า เมื่อสถานการณ์โลกเริ่มสงบลง ปัจจัยสำคัญคือพบจุดต่ำสุด ดอลลาร์ก็ชะลอการแข็ง สินทรัพย์ต่าง ๆ จะพ้นจุดต่ำสุดเมื่อไหร่ ให้ดูที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ตอนนี้ 3 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าสูงมาก เมื่อไหร่ก็ตามเริ่มคว่ำลงมา คือขายพันธบัตรฯ ทิ้งดอกเบี้ยขึ้น แต่เมื่อมีเงินกลับเข้าพันธบัตรฯ ดอกเบี้ยลง การที่อยู่ดี ๆ เงินจะกลับเข้าพันธบัตรฯ ซึ่งพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ สภาพคล่องสูงที่สุด หมายความว่าทุกคนต้องกลัวอะไรบางอย่าง เงินถึงโถมกลับเข้าพันธบัตรฯ ได้อย่างมหาศาล

สอง เมื่อทุกอย่างหนักมาก เงินเฟ้อผ่านจุดพีก เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว เฟดไม่ขึ้นดอกเบี้ยแล้ว อันนั้นก็เป็นจุดนึงที่ดอลลาร์ฯ จะอ่อนลง

สาม กำไรบริษัทจดทะเบียนสหรัฐฯ ถูกปรับลดลงมาอย่างรุนแรง ทุกวันนี้ยังไม่ปรับลดเลย แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตาม เริ่มดิ่งลงมา แล้วตลาดหุ้นดิ่งลงมาก่อนล่วงหน้า เขาบอกว่าตลาดหุ้นจะพ้นจุดต่ำสุดก่อนที่กำไรบริษัทจดทะเบียนจะพ้นจุดต่ำสุดล่วงหน้า 6 เดือน แปลว่าราต้องเห็นกำไรบริษัทจดทะเบียนเริ่มลง ถึงเป็นสัญญาณว่าตลาดจะเริ่มตอบรับการลงของกำไร สินทรัพย์ต่าง ๆ อาจจะลงถึงขีดสุดแล้ว เราก็ต้องรอวันนั้น

เห็น recession กลาย ๆ ซึ่งคาดว่าเกิดปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ถึงจุดสุกงอมดอลลาร์ฯ หยุดแข็ง บาทหยุดอ่อน

นายประกิต ยังกล่าวด้วยว่า การลงทุนช่วงนี้กระจายความเสี่ยงสำคัญสุด เปิดบัญชีเงินฝากต่างประเทศบ้าง ถือดอลลาร์ในพอร์ตบ้าง หรือเงินเยนหรือเงินสกุลอื่นก็ได้ กระจายไว้ก็ดี ส่วนทองไม่น่าเล่น แม้น่าสนใจในแง่ป้องกันความเสี่ยงเรื่องค่าเงิน ราคาในประเทศลงไม่มากเพราะได้บาทช่วย แต่เมื่อเงินเฟ้อผ่านจุดพีกทองเลยไม่น่าสนใจในตอนนี้ กระจายไปซื้อดอลลาร์ฯ ดีกว่า


กำลังโหลดความคิดเห็น