คำนำหน้าชื่อคนไทยในสมัยก่อน นอกจากจะบอกเพศแล้วยังบอกสถานะทางสังคมได้ชัดเจนด้วย เช่นผู้ชายใช้คำว่า นาย ส่วนผู้หญิงที่ยังไม่มีสามีให้เรียกชื่อตัวเฉยๆ ไม่มีคำนำหน้า เมื่อมีสามีแล้วจึงใช้คำว่า อำแดง ส่วนคนที่มีสถานะทางสังคมต่ำสุด เช่นเป็นทาส หรือตกเป็นนักโทษในคดีฉกรรจ์ ผู้ชายให้ใช้คำว่า อ้าย ผู้หญิงใช้คำว่า อี คนที่บวชเรียนแล้วสึกออกว่าใช้คำว่า ทิด ที่ถูกจับสึกเพราะปราชิกใช้ว่า สมี ส่วนที่รับราชการก็มีคำเรียกที่บอกบรรดาศักดิ์ เช่น เจ้าคุณ คุณพระ คุณหลวง ท่านขุน เป็นต้น
ในสมัยรัชกาลที่ ๖ มีประกาศ พระราชกฤษฎีกาให้ใช้คำนำนามสตรี ลงวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๔๖๐ เพื่อให้เป็นไปตามสากลนิยม กำหนดให้หญิงที่มีสามีแล้วใช้คำนำหน้าชื่อว่า นาง ที่ยังไม่มีสามีใช้คำว่า นางสาว และใน พ.ศ.๒๔๖๔ ได้มีพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยคำนำหน้าเด็ก กำหนดให้เด็กที่มีอายุต่ำกว่า ๑๕ ปีลงมา ใช้คำว่า เด็กชาย และ เด็กหญิง
ต่อมาใน พ.ศ.๒๕๐๕ สมัยรัชกาลที่ ๙ ได้มีประกาศพระราชบัญญัติชื่อบุคคล กำหนดให้คู่สมรสใช้ชื่อสกุลของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็ได้ตามแต่จะตกลงกัน หรือจะใช้นามสกุลเดิมของตนต่อไปก็ได้
ต่อมาใน พ.ศ.๒๕๕๑ กำหนดให้หญิงที่มีอายุ ๑๕ ปีขึ้นไป และยังไม่ได้จดทะเบียนสมรส ให้ใช้คำนำหน้านามว่า นางสาว ส่วนที่จดทะเบียนสมรสแล้ว จะใช้ นาง หรือ นางสาว ก็ได้ตามใจสมัคร ทั้งนี้เพื่อความเท่าเทียมในทางเพศ ทำให้ผู้หญิงมีสิทธิไม่แตกต่างจากผู้ชายในการใช้คำนำหน้าชื่อและนามสกุล
สรุปในปัจจุบันเป็นว่า
ชายที่มีอายุ ๑๕ ปีขึ้นไปให้ใช้คำนำหน้านามว่า "นาย"
หญิงที่มีอายุ ๑๕ ปีขึ้นไป และยังไม่ได้สมรส ให้ใช้คำนำหน้านามว่า "นางสาว"
หญิงที่จดทะเบียนสมรสแล้ว จะใช้คำนำหน้านามว่า "นาง" หรือ "นางสาว" ได้ตามความสมัครใจ
และหญิงที่จดทะเบียนสมรสแล้ว และเปลี่ยนคำนำหน้านามภายหลังการสมรสเป็น "นาง" เมื่อจดทะเบียนหย่า จะใช้คำนำหน้านามว่า "นาง" หรือ "นางสาว" ได้ตามความสมัครใจ
แต่ในสังคมยุคนี้ไม่ได้มีแต่เพศชายและเพศหญิงเท่านั้น ยังมี “คนข้ามเพศ” ความจริงเรื่องนี้เป็นความผิดพลาดของธรรมชาติ ที่สร้างร่างกายมาให้อยู่ในเพศหนึ่ง แต่ทางด้านจิตใจกลับใส่อีกเพศหนึ่งมาให้ ไม่ตรงกับอวัยวะเพศของร่างกาย คนเหล่านี้จึงอยู่ในสังคมอย่างอึดอัดใจไม่เหมือนคนธรรมดาทั่วไป ต่อมาวิทยาการด้านการแพทย์สามารถช่วยแปลงเพศให้ได้ตามความประสงค์ บางคนก็แนบเนียนจนดูไม่ออก แต่ก็ยังเกิดปัญหาในการดำเนินชีวิตอีกจนได้ อย่างการสมัครเข้าทำงาน โดยเฉพาะงานที่รับสมัครเฉพาะสตรี เมื่อเดินเข้าไปสมัครก็ตรงตามสเปคทุกอย่าง แต่พอยื่นหลักฐานกลับเป็นผู้ชายซะงั้น หรือเดินทางไปต่างประเทศ เพศสภาพไม่ตรงกับเพศที่ระบุในพาสปอร์ต บางประเทศก็ไม่ยอมให้เข้า
ด้วยเหตุนี้คนข้ามเพศจึงเรียกร้องขอเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อให้ตรงกับเพศที่ได้รับการผ่าตัดมา เพื่อจะได้ใช้ชีวิตอย่างคนทั่วไปได้ ให้สิทธิชายที่ผ่าตัดแปลงเพศเป็นหญิงแล้ว ใช้คำนำหน้านามว่า "นางสาว" และหญิงที่ผ่าตัดแปลงเพศเป็นชายแล้ว ใช้คำนำหน้านามว่า "นาย" ให้ตรงตามเพศที่กำหนดได้ ไม่ต้องยึดเพศที่กำเนิดไปตลอดชีวิต
ซึ่งขณะนี้หลายประเทศก็ยอมตามคำเรียกร้องนี้แล้ว บางประเทศไม่ถึงกับต้องผ่าตัด แค่มีใบรับรองของจิตแพทย์ก็เปลี่ยนได้ บางประเทศก็ไม่ต้องมี อยากเปลี่ยนก็เปลี่ยนได้ตามใจ
แต่เรื่องนี้ไม่ง่ายสำหรับประเทศไทย แม้จะมีคนเห็นใจเพิ่มขึ้นมาก แต่ก็ยังมีคนไม่เห็นด้วย ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยเมื่อมีผู้ร้องเรื่องนี้ไว้ว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นโรคความผิดปกติของเอกลักษณ์ทางเพศ ซึ่งเป็นสภาวะของจิตใจไม่ตรงกับเพศที่ถือกำเนิด การรักษาโดยวิธีผ่าตัดแปลงเพศก็เพื่อแก้ไขสภาวะความผิดดังกล่าว และเพื่อให้ผู้ฟ้องคดีใช้ชีวิตได้สอดคล้องกับสภาพจิตใจที่เป็นผู้หญิงของผู้ฟ้องคดีเท่านั้น หาใช่เป็นการแก้ไขความบกพร่องของร่างกายกรณีเพศกำกวมแต่อย่างใด
ความจริงขณะนี้ก็มีคนที่เปลี่ยนคำนำหน้าชื่อจาก นาย เป็น นางสาว มาแล้วเมื่อ ๑๐ ปีก่อน คือ นายเสกสรร โคตรพัฒน์ ตอนนั้นอายุ ๒๕ ปี ได้รับการยอมรับให้เปลี่ยนชื่อในบัตรประจำตัวประชาชนเป็น นางสาวสิริลดา โคตรพัฒน์ ที่โชว์บัตรประชาชนใหม่กับเก่าในภาพประกอบเรื่องนี้
นางสาวสิริลดาเกิดมามีอวัยวะเพศทั้ง ๒ เพศ เวลาถ่ายปัสสาวะจะออกมาทางช่องขับถ่ายบริเวณอวัยวะเพศหญิง ซึ่งไม่มีช่องคลอด มีเพียงรังไข่ขนาดเล็ก แต่ก็ฝ่อตัวเมื่อโตขึ้น ส่วนอวัยวะเพศชายเป็นองคชาตเล็กๆ และไม่มีอัณฑะ บิดาอยากให้เป็นผู้ชายเลยแจ้งเกิดว่าเป็นเด็กชาย แต่เมื่อโตขึ้นจิตใจกลับเป็นผู้หญิง เพราะมีฮอร์โมนเพศหญิงมากกว่าฮอร์โมนเพศชาย
นางสาวสิริลดาได้เป็นผู้ป่วยในพระบรมราชานุเคราะห์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชชนนีพันปีหลวงมาตั้งแต่อายุ ๑๒ ถูกส่งตัวเข้ารับการตรวจอาการที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จังหวัดขอนแก่นบ้านเกิด ได้รับการผ่าตัดที่ขอนแก่น ๒ ครั้งและที่กรุงเทพฯอีกครั้งหนึ่ง ตกแต่งอวัยวะเพศเป็นหญิง
ในวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๕๕ นพ.แท้จริง ศิริพานิช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้นำนายสิริลดา โคตรพัฒน์พร้อมบิดามารดายื่นความประสงค์ขอเปลี่ยนคำนำหน้านามจาก “นาย” เป็น “นางสาว” พร้อมสำเนาสูติบัตร ทะเบียนบ้าน หนังสือผู้ป่วยในพระบรมราชานุเคราะห์ หนังสือรับรองของแพทย์โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ขอนแก่น และหนังสือขอเปลี่ยนคำนำหน้านามจากกรมการปกครอง เป็นหลักฐานยื่นต่อสำนักงานเขตหนองจอก ระบุว่า “มีอวัยวะเพศกำกวม” ถูกแจ้งเกิดให้เป็นผู้ชายตามความต้องการของบิดา เมื่อโตขึ้นกลับมีจิตใจเป็นผู้หญิง
ขั้นตอนนี้เจ้าหน้าที่ใช้เวลา ๓ เดือน นายสิริลดา โคตรพัฒน์ก็ได้รับบัตรประชาชนใหม่ในชื่อ นางสาวสิริลดา โคตรพัฒน์
เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการคนที่มีอวัยวะเพศไม่ตรงกับสภาพจิตใจ ซึ่งทางการแพทย์ช่วยแก้ไขให้ได้ แต่กฎหมายยังไม่ยอมรับ จึงต้องเรียกร้องกันต่อไป
ส่วนการเครื่องแปลงเพศให้ตรงกับสภาพทางจิตใจ และแปลงได้อย่างแนบเนียนจนแก้ปัญหาให้คนข้ามเพศได้อย่างดี ก็เคยเป็นปัญหาชีวิตถึงขั้นรุนแรงเช่นกัน อย่างเคยเป็นข่าวว่า ชายชาวเบลเยี่ยมคนหนึ่งพบรักกับสาวอินโดเนเซีย และพยายามเดินเรื่องทางศาลอยู่หลายปีจนทำให้เธอสามารถอยู่ในเบลเยี่ยมได้อย่างถูกกฎหมาย ทั้งคู่ตัดสินใจที่จะไม่มีลูกด้วยกัน เพราะฝ่ายชายมีลูก ๒ คนแล้วจากภรรยาคนก่อน และใช้ชีวิตคู่กับเธอมาถึง ๑๘ ปีด้วยความรู้สึกว่าเธอเป็นผู้หญิงมีเสน่ห์มาตลอด ไม่ระแคะระคายแม้แต่ตอนมีเซ็กซ์กัน จนฝ่ายชายอายุล่วงเข้าวัย ๖๔ ส่วนเธอก็อายุ ๔๘ ฝ่ายชายได้รับคำบอกจากเพื่อนว่าภรรยาของเขานั้นเป็นสาวประเภทสอง จึงสืบเสาะหาความจริงจนทราบว่าเธอเป็นเช่นนั้นจริง และเมื่อไปคาดคั้นถาม เธอก็ยอมรับว่าได้ผ่านการแปลงเพศมาหลายครั้ง แต่ที่ไม่ได้บอกก็เพราะไม่อยากจะพูดถึงอดีตที่อยากจะลืม
เรื่องนี้ทำเอาฝ่ายชายแทบช็อก ถึงกับต้องถูกนำตัวไปบำบัดจิต แม้แต่ลูกทั้งสองของเขาที่เติบโตมาจากการดูแลของเธอก็มีอาการไม่ต่างไปจากพ่อ ในที่สุดเขาก็ต้องร้องศาลอีกครั้ง ขอให้การแต่งงานของเขาและเธอเป็นโมฆะ
นี่ก็เป็นเรื่องวุ่นๆของเพศที่เป็นความผิดพลาดของธรรมชาติ คนทุกคนไม่ว่าจะเกิดมาในสภาพไหน ก็ต้องการที่จะใช้ชีวิตให้เหมือนคนธรรมดาทั่วไปทั้งนั้น จึงต้องหาทางแก้ไขความผิดพลาดของธรรมชาติในเรื่องนี้กันต่อไป