xs
xsm
sm
md
lg

“เรือนพธำมรงค์” พิพิธภัณฑ์เรื่องเล่า จากเรือนจำหญิงแห่งแรกของไทย จากทัณฑสถาน สู่โอกาสสถาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พาไปชม “เรือนพธำมรงค์” เรือนไม้ทรงไทยโบราณ อายุกว่า 100 ปี ภายในทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ วันนี้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเรื่องราวของผู้ต้องขังหญิง สะท้อนถึงแนวคิดการลงโทษสมัยใหม่ บนหลักการคำนึงถึงความเป็นมนุษย์ พร้อมเปิดใจให้โอกาสผู้ที่เคยทำผิดพลาดได้เริ่มใหม่


รายงานพิเศษ

“สัญลักษณ์ที่เรานำมาใช้ในพิพิธภัณฑ์เรือนพธำมรงค์ ก็คือ ญ หญิง ... ซึ่งถ้าคุณสังเกตลงไปในรายละเอียด คุณถึงจะเห็นว่า ผมตั้งใจออกแบบให้เขียนผิด ตั้งใจทำให้หางด้านล่างของอักษร ญ หญิง หันไปผิดด้าน เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความผิดพลาด ซึ่งเป็นความผิดพลาดที่หากเราไม่ตั้งใจมอง ก็จะมองไม่เห็น เราก็จะเห็นเพียง ผู้หญิงธรรมดาๆ”

ผศ.ดร.ฤทธิรงค์ จุฑาพฤฒิกร คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ผู้ที่นำนักศึกษามาร่วมออกแบบพิพิธภัณฑ์เรือนพธำมรงค์ สถานที่จัดแสดงเรื่องราวของผู้ต้องขังหญิงจากทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ อธิบายถึงแนวคิดการสร้างสัญลักษณ์ “ญ หญิง” โดยเน้นว่า สัญลักษณ์นี้พยายามจะสื่อให้เห็นว่า ผู้ต้องขังหญิง ก็เป็นเพียงผู้หญิงที่เคยทำผิดพลาดมา ซึ่งหากคนทั่วไปเจาะจงมองย้ำไปที่ความผิดพลาดของพวกเธออยู่ตลอด ก็จะหลงลืมไปได้ว่า พวกเธอ ก็เป็นเพียงผู้หญิงธรรมดาๆ

ผศ.ดร.ฤทธิรงค์ จุฑาพฤฒิกร คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ


“เรือนพธำมรงค์” เป็นเรือนไม้ทรงไทยโบราณ อายุมากกว่า 100 ปี ตั้งอยู่ในพื้นที่เรือนจำชั่วคราวกลางเวียง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ถูกดัดแปลงให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเรื่องราวของผู้ต้องขังหญิง โดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ ทำหน้าที่เป็นองค์กรกลางประสานกับกรมราชทัณฑ์และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ โดยนำนักศึกษาและอาจารย์เข้าไปรับฟังเรื่องราวของผู้ต้องขังหญิงที่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ เพื่อนำเนื้อหาที่ได้รับรู้มาออกแบบการจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์

“แนวคิดในการออกแบบของเรา จะมีปลายทางคือคำว่า โอกาส ... ดังนั้นภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เราจะเริ่มต้นทางของการรับชมจากการถูกจองจำ และค่อยๆผ่านความมืดมิดที่ไม่ใช่ภาพของคุก แต่เป็นเรื่องราวประสบการณ์ตรงของผู้ต้องขังหญิง จากนั้นจะค่อยๆพาผู้ร่วมชมผ่านไปถึงแสงสว่างในปลายทาง ดังนั้นสิ่งที่เราจะสื่อสาร คือ เรากำลังเปลี่ยนคำว่า ทัณฑสถาน ไปเป็นคำว่า โอกาสสถาน ... จากพื้นที่สำหรับการจองจำ ไปเป็นพื้นที่ของการให้โอกาส”




ไฮไลท์สำคัญที่ถูกจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ฌรือนพธำมรงค์ ก็คือ พื้นที่ที่ถูกจัดแสดงโดยการนำแก้วน้ำของผู้ต้องขังหญิง มาแขวนเรียงบนผนัง มีสัญลักษณ์เป็นแก้วน้ำสีแดงรูป ญ หญิง

ผศ.ดร.ฤทธิรงค์ อธิบายความหมายของส่วนจัดแสดงชุดนี้ว่า หากดูในภาพรวมก็จะเห็นว่าเป็นการนำแก้วน้ำมาแขวนเรียงกันเป็น รูป ญ หญิง เท่านั้น แต่หากเข้าไปมองใกล้ๆ ก็จะเห็นความหมายที่ซ่อนอยู่ในแก้วแต่ละใบ

“ส่วนจัดแสดงแก้วน้ำเริ่มมาจากความคิดของนักศึกษา เมื่อตอนที่เราพาเขาเข้าไปคุยกับผู้ต้องขังในเรือนจำ นักศึกษาก็สังเกตเห็นว่า แก้วแต่ละใบจะมีการทำสัญลักษณ์เพื่อบ่งบอกความเป็นเจ้าของของผู้ต้องขังแต่ละคนที่แตกต่างกัน บางคนใช้ภาพที่ชอบจากนิตยสารมาจัดแปะ บางคนก็ใช้สี ใช้ปากกาลบคำผิดเขียนบนแก้ว เราก็มาตีความว่า แก้วทุกใบ ก็คือ ตัวตน ของผู้ต้องขังหญิงแต่ละคน และในทางสถาปัตย์ เราจะมองว่า แก้วเป็นภาชนะที่บรรจุน้ำ ซึ่งหมายถึงการบรรจุชีวิตของผู้ต้องขัง”

“เมื่อเราเข้าไปดูงานชิ้นนี้ใกล้ๆ เราก็จะพบความแตกต่าง พบความเป็นตัวตนของผู้ต้องขัง และเมื่อพวกเขาพ้นโทษออกมา เราก็อยากให้เขานำแก้วออกมาด้วย เมื่อเขานำแก้วมาเติมน้ำจากแหล่งใหม่เข้าไป เหมือนการเริ่มต้นชีวิตใหม่ของพวกเขา ซึ่งแน่นอนว่า จะต้องได้รับโอกาสจากสังคมด้วย”

“ถ้าเราไปดูข้อเท็จจริงเปรียบเทียบกับเรื่องแก้วน้ำ จะพบความจริงที่น่าสนใจ ผู้ต้องขังหญิงหลายคนถูกจำคุกเพราะติดร่างแหไปกับเรื่องยาเสพติด หลายคนมีความผิดเพราะทำร้ายสามีเพียงครั้งเดียวหลังจากที่เป็นฝ่ายถูกกระทำมายาวนานหลายปี ซึ่งนั่นคือ ความผิดพลาดที่เราพยายามจะสื่อถึง เราต้องการให้คุณเห็นว่า คนที่อยู่ในเรือนจำ ไม่ใช่ทุกคนที่เป็นคนไม่ดี ไม่ใช่ทุกคนที่เป็นอันตรายต้องถูกกันออกจากสังคม หลายคนไม่ควรจะต้องเข้ามาอยู่ในเรือนจำตั้งแต่แรกด้วยซ้ำ ความผิดพลาดมันมีระดับความรุนแรงหลายระดับที่ต่างกัน แต่เวลาที่พวกเขาเข้ามาแล้ว ก็มักจะถูกมองแบบเหมารวม และเมื่อพ้นโทษก็ยังถูกเลือกปฏิบัติแบบเหมารวม เราจึงมาทำงานตรงนี้ เพื่อสร้างโอกาสสถาน หรือ สถานที่แห่งโอกาสให้กับพวกเขา” ผศ.ดร.ฤทธิรงค์ กล่าว

นางสาวชลธิช ชื่นอุระ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมข้อกำหนดกรุงเทพและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด TIJ


นางสาวชลธิช ชื่นอุระ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมข้อกำหนดกรุงเทพและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด TIJ อธิบายเสริมว่า พิพิธภัณฑ์เรือนพธำมรงค์ ถูกผลักดันให้เกิดขึ้นเพื่อสะท้อนถึงแนวคิดการลงโทษสมัยใหม่ ที่ไม่ได้เน้นการทำให้เกิดความเกรงกลัว ไม่ใช่เพียงการกันคนที่ทำผิดออกจากสังคมเพียงอย่างเดียว แต่ต้องไปมุ่งเน้นให้เกิดกระบวนการแก้ไขฟื้นฟูบุคคลบนหลักการ “คำนึงถึงความเป็นมนุษย์” ดังนั้น TIJ จึงประสานงานเพื่อให้เกิดสถานที่จะสื่อสารกับสังคมว่า พวกเราอาจจะต้องเปลี่ยนมุมมองต่อผู้ต้องขังบางส่วน ต้องดูให้ลึกลงไปถึงสาเหตุเบื้องหลังที่ทำให้คนทำความผิด ไม่ได้ดูแค่พฤติการณ์ความผิดของพวกเขาเพียงเท่านั้น

พิพิธภัณฑ์เรือนพธำมรงค์ ตั้งอยู่ที่เรือนจำชั่วคราวกลางเวียง ถ.ราชวิถี อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เปิดให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้ารับชมการจัดแสดงได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 9.00 -17.00 น. โดยในบริเวณที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์มีบริการอื่นๆด้วยทั้งคาเฟ่ ร้านอาหาร ร้านนวดสปา ซึ่งพนักงานทุกคนในคาเฟ่ ร้านอาหาร สปา และผู้นำชมเนื้อหาในพิพิธภัณฑ์ คือ ผู้ต้องขังหญิงที่ผ่านการฟื้นฟูเยียวยาและอยู่ในกระบวนการเตรียมพร้อมก่อนปล่อย โดยมีผู้คุมคอยดูแลอยู่ด้วย

“คนที่เขาทำความผิดจนต้องถูกจับไปคุมขัง ชีวิตก่อนหน้านั้นของเขาก็แย่อยู่แล้ว พอถูกจับไปขัง ถ้าเขาต้องไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มันแย่มากๆอีก ผมนึกไม่ออกเลยว่า เขาจะฟื้นฟูชีวิตขึ้นมาได้ยังไง ในเมื่อคุกเป็นสถานที่ที่จำกัดอิสรภาพของคนที่ทำความผิดอยู่แล้ว ก็ควรมีสภาพแวดล้อมภายในที่ดี เพื่อเป็นแรงจูงใจให้คนเหล่านั้นอยากจะฟื้นฟูตัวเอง อยากจะกลับมาเริ่มชีวิตใหม่ที่ดีอยู่ในสังคม”

“สำหรับผม คำว่า โอกาสสถาน ไม่ใช่แค่สถานที่ แต่มันคือความคิดที่แฝงอยู่ได้ในทุกพื้นที่ ไม่ว่าเราจะทำอะไร เพียงแค่พวกเราเปิดใจให้โอกาสผู้ที่เคยทำผิดพลาดได้เริ่มใหม่ ที่นั่นก็ถือว่าเป็นโอกาสสถานได้เช่นกัน”
ผศ.ดร.ฤทธิรงค์ กล่าวทิ้งท้าย




















































กำลังโหลดความคิดเห็น