อาจารย์เจษฎ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เตือนอย่าหลงเชื่อโฆษณา "สายรัดประหยัดน้ำมัน" พบเกินจริง โดยการอ้างหลักวิทยาศาสตร์ลวงโลก เจอมีดารารุ่นใหญ่ร่วมโปรโมต
วันนี้ (8 ก.ค.) เพจ"อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์" หรือ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ โดยระบุข้อความว่า" ในช่วงกระแสน้ำมันแพง ในโลกโซเชียลกำลังมีการพูดถึง "สายพลังงานประหยัดน้ำมัน" โดยมีการว่าจ้าง นักแสดงรุ่นใหญ่ มาร่วมโปรโมตสินค้า เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ โดยอ้างว่า แค่ติดตั้งสายพลังงานดังกล่าวที่สายส่งน้ำมันไปหัวฉีด สายพลังงานนี้ จะแยกโมเลกุลน้ำมันให้เล็กลง ทำให้การใช้น้ำมันลดลงถึง 20-30 เปอร์เซ็น เกี่ยวกับเรื่องนี้ อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ หรือ อาจารย์เจษฎ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เตือนให้ระวัง อย่าหลงเชื่อโฆษณาหลอกขาย อุปกรณ์ประหยัดน้ำมัน ระบุว่า ในช่วงที่ราคาน้ำมันสูงขึ้นมากอย่างตอนนี้ ก็มีอุปกรณ์ที่อ้างว่าสามารถทำให้ยานพาหนะประหยัดการใช้พลังงานขึ้นได้ ออกมาจำหน่ายมากมายหลายยี่ห้อเลย ซึ่งหลักๆ แล้ว ก็มักจะเป็นอุปกรณ์ที่แอบอ้างหลอกลวง หรือโฆษณาเกินจริงด้วยการใช้คำพูดเชิง pseudo science วิทยาศาสตร์ลวงโลก มาทำให้ดูน่าเชื่อถือ แล้วตามด้วยการอ้าง "ผู้ใช้" มาบอกต่อกันว่าประหยัดจริงๆ อย่างนั้น อย่างนี้ (ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นอุปาทานไปกันเอง เพราะไม่ได้ใช้เครื่องมือวัดที่ถูกต้อง หรือว่าเป็นหน้าม้าร่วมด้วย)
1. อย่างภาพโฆษณาของสินค้าเก่าที่พอจะหาภาพเจอ (ขายในปี พ.ศ. 2558) อันนี้ ที่เอาไปพันกับท่อในเครื่องยนต์แล้วอ้างว่าประหยัดน้ำมันได้ ก็เป็นตัวอย่างที่ดีในการอธิบายถึงการหลอกขายได้ เช่น
- อ้างเรื่องพลังงานที่ไม่มีอยู่จริง คือ พลังงานสเกล่าร์ ซึ่งอ้างว่าเป็นพลังงานธรรมชาติจากหินลาวาภูเขาไฟ ทำให้ร่างกายสมดุล มาผลิตเป็นเครื่องประดับ (ซึ่งถ้าใครจำได้ มันคือเรื่อง "เหรียญควอนตัม" หลอกลวง นั่นแหละครับ) ซึ่งก็ชัดเจนว่าไม่ได้
- อ้างเรื่องที่มีอยู่จริง คือ แม่เหล็ก แต่เอาไปเคลมแบบมั่วๆ ว่าเป็นพลังงานที่เอาไปใช้เสริมสร้างร่างกาย รักษาโรคได้ ทำให้สมดุลร่างกายดีขึ้น (ซึ่งก็ไม่จริงนะ เป็นเรื่องอ้างมั่วๆ กันมานานแล้ว) ดังนั้น เมื่อเอามาใช้กับเครื่องยนต์ จะทำให้เครื่องยนต์เกิดสมดุลขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น (เชื่อมโยงกันยังไงเนี่ย สมดุลในร่างกายคน กับสมดุลในเครื่องยนต์รถ)
- อีกเรื่องที่มีอยู่จริง แต่มาอ้างมั่วๆ คือ ฟาร์ อินฟราเรด ซึ่งจริงๆ ก็เป็นแค่ช่วงคลื่นของแสงที่อยู่เหนือช่วงอินฟราเรด (ช่วงคลื่นของแสงที่ตามองไม่เห็น และทำให้เกิดความร้อน) ขึ้นไป ซึ่งมีคนเยอะเลยที่ชอบเอามาอ้างกันเกินจริง ว่ามีผลดีต่อสุขภาพอย่างนั้นอย่างนี้ ทำให้โมเลกุลของน้ำแตกตัว เล็กลง นำออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายเร็วขึ้น ฯลฯ (ซึ่งก็ไม่จริงนะ อ้างกันมั่วๆ) แล้วเอามาเชื่อมโยงกับน้ำมันรถยนต์ อ้างว่าทำให้โมเลกุลน้ำมัน หรือแก๊สแตกตัว เล็กลง เผาไหม้สมบูรณ์ขึ้น (ซึ่งทั้งไม่จริง และทั้งเชื่อมโยงได้มั่วมาก)
- จากนั้น ก็ตามด้วยการเอา "ผู้ใช้" มาอ้างว่าใช้แล้วประหยัดน้ำมันขึ้น ซึ่งเราไม่มีทางรู้ว่าเป็นเรื่องจริง หรือเป็นการหลอกโดยหน้าม้า หรือว่าเป็นแค่อุปาทานของคนนั้นคิดไปเอง ซึ่งการจะรู้ได้ว่าประหยัดน้ำมันแค่ไหนจริง แต่ผ่านการทดสอบด้วยผู้เชี่ยวชาญ และอุปกรณ์เฉพาะ
2. จริงๆ เรื่องพวกนี้ ก็มีการเตือนกันมานานแล้ว ซึ่งจากประสบการณ์ในรอบ 20 ปีที่ทำงานด้านนี้มา พบว่ามีสินค้าที่อ้างว่าช่วยประหยัดน้ำมันได้จะมีอยู่ 2 กลุ่มใหญ่
- กลุ่มแรก ได้แก่เป็นอุปกรณ์เสริมติดตั้งในรถยนต์ (เช่น แม่เหล็กแรงสูง นำไปรัดติดกับท่อน้ำมันก่อนเข้าสู่เครื่องยนต์, ท่อเพิ่มพลังงาน ติดตั้งโดยการตัดท่อเข้ากับท่อส่งน้ำมัน, ท่อช่วยรีดดูดไอเสีย ประกอบด้วยครีบโลหะภายใน ติดตั้งที่ปลายท่อไอเสีย, เครื่องเพิ่มออกซิเจน ฯลฯ )
- กลุ่มที่ 2 เป็นประเภทสารเคมี "หัวเชื้อ" สำหรับเติมลงในน้ำมันเชื้อเพลิงหรือน้ำมันหล่อลื่น
จึงอยากขอเตือนว่า ผู้บริโภคที่ใช้อุปกรณ์เสริมและสารเคมีที่ช่วยประหยัดน้ำมันนี้ ไม่สามารถประหยัดน้ำมันได้ตามที่มีการอ้างสรรพคุณ เนื่องจากผู้ที่อ้างตัวเป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้นส่วนใหญ่ เป็นผู้ที่ไม่มีพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ หรือวิศวกรรมอย่างเป็นทางการ และไม่สามารถหาข้อมูลของแหล่งผลิตที่อยู่ในรูปบริษัทที่เป็นตัวตนได้ ประกอบกับคำบรรยายสรรพคุณของสินค้า ไม่มีหลักทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์สนับสนุน แหล่งต้นตอของสินค้าประเภทนี้ ส่วนใหญ่จะมาจากทางไต้หวันและญี่ปุ่น และคนไทยได้ทำเลียนแบบหรือดัดแปลงขึ้น
- อีกทั้งการทดสอบการประหยัดน้ำมันตามที่อวดอ้าง จะเป็นวิธีการของผู้ทำหรือผู้ขายเอง ไม่ใช่วิธีการที่เป็นมาตรฐานสากลที่ทางอุตสาหกรรมยานยนต์ยอมรับกันอยู่ในปัจจุบัน
3. ในอดีตนานแล้ว (ปี พ.ศ. 2547) ก็เคยมีกรณีของสินค้าที่แอบอ้างว่าประหยัดน้ำมันได้ ซึ่งเคยเป็นข่าวใหญ่ เพราะดันผ่านการรับรอง แนะนำ โดยหน่วยงานของรัฐอย่าง สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) แต่มาถูกเปิดโปงพิสูจน์ได้ภายหลังว่าไม่ได้ประหยัดน้ำมันจริง
4. คำแนะนำสำหรับ การขับรถให้ประหยัดน้ำมัน จาก ปตท. คือ ไม่เหยียบเบรกกะทันหัน, ขับรถด้วยความเร็วคงที่ ไม่ช้าเกินไป หรือเร็วมากเกิน, เปลี่ยนน้ำมันเครื่องและตรวจเช็กเครื่องยนต์ตามระยะทาง, บรรทุกของเท่าที่จำเป็น และจัดของที่จะบรรทุก บนรถกระบะ ให้สมดุล ไม่อยู่ด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป นอกจากนี้ ก็ไม่ควรจะขับรถเร็ว ควรวิ่งชิดเลนซ้าย ใช้ความเร็วสม่ำเสมอ ประมาณ 80-90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก็จะช่วยประหยัดน้ำมันได้มากถึง 15-20% เลยทีเดียว"
คลิกโพสต์ต้นฉบับ