xs
xsm
sm
md
lg

‘ศราวุธ หมั่นงาน’ บาริสต้าผู้สร้างสรรค์กาแฟและลาเต้อาร์ทด้วยหัวใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



2021 Latte Art Rally Thailand Champion
2020 Lampang Coffee x Latte Art Battle Champion
2019-present PCA certified latte art judge
2018-present CP-Meiji Brand ambassador
2019 Free Pour Latte Art Grand Prix Osaka 7th (Top8)
2019 Tasogare World Latte Art Throwdown Osaka 2nd
2019 TNLAC 2020 Finalist
2019 CP-Meiji speed latte art Thailand 3rd
2019 Free pour latte art grand prix Tokyo 3rd
2019 The 1st ACID latte art championship Champion
2018 PCA latte art grand final Shanghai, China Champion
2018 PCA latte art tournament Penang, Malaysia Champion
2018 Free pour latte art grand prix Osaka Champion
2018 Streamer the battle free pour latte art Osaka Champion
2018 CP-Meiji speed latte art Thailand Champion
2018 Boncafe TCBC Championship round 3rd
2018 Boncafe TCBC Central regions Champion
2018 E-San latte art smackdown Thailand Champion
2018 La Marzocco & ModBar True Artisan Cafe Latte art throwdown Champion
2017 CP-Meiji speed latte art Thailand 3rd
2017 Battlefield of the beat pour latte art Kula Lumpur, Malaysia 2nd
2016 Beeskull latte art smackdown 3rd

คือรายนามรางวัลทั้งหมด ที่ชายคนนี้ ‘แบงค์-ศราวุธ หมั่นงาน’ บาริสต้าหนุ่มฝีมือดีคว้ามาครองได้ แน่นอนว่าการเข้าร่วมแข่งขันแต่ละเวที ย่อมมีจำนวนมากกว่าชัยชนะ ความพ่ายแพ้ย่อมมีบ้าง แต่ทุกครั้งที่แพ้ เขาไม่เคยหยุด 
ไม่เคยย่อท้อ ตรงการข้าม เขาจะมองหาจุดบกพร่องของตนเองแล้วแก้ไข ฝึกฝนซ้ำแล้วซ้ำเล่า
จุดอ่อนคืออะไร อยู่ตรงไหน เขาไม่เคยอายที่จะบอกเล่า และถ่ายทอดประสบการณ์อย่างตรงไปตรงมา
หัวเราะบ่อยครั้งให้กับความพ่ายแพ้ อ่อนเดียงสา ขาดประสบการณ์ของตนเอง


การเดินทางไปแข่งขันต่างจังหวัดครั้งแรกตามลำพัง การใช้เงินเก็บก้อนเดียวที่มีบินข้ามน้ำข้ามทะเลไปแข่งขันต่างประเทศเป็นครั้งแรก บทเรียนมากมายพรั่งพรูอย่างสนุกสนาน จากการตื่นเวที เทลายลาเต้อาร์ทไม่ได้อย่างที่ใจต้องการ สื่อสารภาษาอังกฤษไม่ได้ ซึ่งนับเป็นสิ่งสำคัญในการแข่งขันต่างแดน และเปิดโลกกว้างให้กับเขา
หากต้องการเป็นบาริสต้าที่ชนะใจตนเองให้ได้



ใช่-แต่ละชัยชนะที่ได้มา เขามิได้มุ่งมั่น วาดหวังถึงการเป็น ‘ผู้ชนะ’ เหนือผู้อื่น แต่ทุกรายการที่ลงแข่งขัน เขาทำไปเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ และชนะใจตนเองให้ได้ 

ก้าวข้ามความกลัว ก้าวข้ามขีดจำกัด ชัยชนะคือกำไร ความพ่ายแพ้ก็แค่เสมอตัว แล้วเริ่มต้นใหม่ ค้นหาจุดบกพร่องให้เจอ และเอาชนะตนเองให้ได้ในการแข่งขันครั้งต่อไป

ขณะที่การทำงานเป็นบาริสต้าประจำที่ร้านดังย่านทองหล่อ ก็มิได้ขาดตกบกพร่อง เขายังคงเป็นบาริสต้า ที่สามารถให้แง่คิดสำคัญได้อย่างดี กับคนรุ่นใหม่ ที่มุ่งหวังอยากเป็นบาริสต้า


กาแฟที่ดีคืออะไร วินัย และจรรยาบรรณของบาริสต้าอยู่ตรงไหน


ความรักที่เขามีให้กับการเป็นบาริสต้า สะท้อนผ่านคำบอกเล่าและบทสนทนาที่เปี่ยมด้วยแรงบันดาลใจ
และเหล่านี้ คือเรื่องราวของ ‘แบงค์-ศราวุธ หมั่นงาน’ บาริสต้าเจ้าของถ้วยรางวัลมากมายผู้ทุ่มเทให้กับการทำกาแฟเพื่อผู้คนมายาวนานเกือบทศวรรษ



จุดเริ่มต้นการเป็น ‘บาริสต้า’

ปัจจุบันแบงค์ทำงานเป็นบาริสต้าที่ร้าน Roots at TheCommons แล้วยังมีร้านเล็กๆ ของตัวเองด้วย เปิดมาได้ราวขวบปีแล้ว ชื่อร้านสุขุมวิท คอฟฟี่ (Sukhumvit coffee)
และจะเปิดอีกสาขาเร็วๆ นี้ โดยมีที่ตั้งอยู่สุขุมวิทเช่นกัน

ขอให้ช่วยเล่าย้อนให้ฟังถึงที่มา แรงบันดาลใจ ว่าอะไร ทำให้อยากเป็นบาริสต้า

แบงค์ตอบว่า “จริงๆ แล้ว เหตุผลง่ายมากครับ ผมเป็นเด็กที่ทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย แล้วมีช่วงหนึ่งที่ว่าง เพราะเป็นช่วงพิเศษ ลงเรียนแค่วิชาเดียว เรียนวันอาทิตย์วันเดียว เมื่อมีเวลาว่าง เราก็อยากทำงาน ผมทำงานหลายอย่างมาก กระทั่งมาจบที่ร้านกาแฟร้านหนึ่ง ตอนนั้นก็ประมาณ 8-9 ปีที่แล้ว ทำร้านกาแฟที่ร้านหนึ่ง แล้วรู้สึกว่าสนุกดี เป็นร้านเชนแบรนด์ดังแบรนด์หนึ่งในไทย

กระทั่งเราเริ่มมีเพื่อนในวงการกาแฟ เราก็ไปเห็นเขาทำลาเต้อาร์ต พอเราเห็นเขาทำ เราก็อยากลองทำบ้าง เพราะมันน่าสนใจดี แต่ปรากฎว่า เราก็ทำไม่ได้สักที แล้วด้วยความที่นิสัยเราเป็นคนไม่ยอมแพ้ ก็อยากทำให้ได้ มันจะยากสักแค่ไหนกันเชียว ก็ไปเสิร์ชหาข้อมูล ไปรีเสิร์ชค้นหาว่ามันทำยังไง จะทำยังไงให้ทำลาเต้อาร์ทได้ ยิ่งเราค้นหาข้อมูล เราก็ยิ่งได้เห็นวงการกาแฟกว้างมากขึ้น แล้วเมื่อเราก็อยากทำลาเต้อาร์ตเก่ง เราก็ลาออกจากร้านเดิมไปทำร้านที่เขาซีเรียสเรื่องกาแฟมากขึ้น แล้วมาจบที่ Roots at TheCommons นี่แหละครับ จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ คือลาเต้อาร์ต”

ถามว่าทำลาเต้อาร์ตได้อย่างชำนาญตอนไหน ที่ร้านใด


แบงค์ตอบว่า “ตอนนั้น ก่อนอยู่ที่ Roots ผมอยู่ที่ Roast มาก่อน
ซึ่งร้านเป็นคาเฟ่ในบริษัทเดียวกันนี่แหละครับ ตอนนั้น ก็ได้ทำออเดอร์เยอะ เพราะร้านเปิดใหม่ ลูกค้าส่วนใหญ่จะทานลาเต้ร้อน ตอนนั้นเป็นร้านอยู่ในห้างฯ แล้วในร้านไม่ค่อยมีคนทำลายบนกาแฟได้ แล้วผมก็ทำลายหัวใจแบบง่ายๆ ได้ ก็เลยได้ทำเยอะ เมื่อเราทำซ้ำๆ เรื่อยๆ มันก็เกิดการพัฒนาขึ้น เพราะผมเป็นคนที่เมื่อได้ทำซ้ำแล้วเราก็ลง Detale มากขึ้น ถ้าทำแล้ว มันไม่ได้อย่างที่เราต้องการ เราก็ต้องคิดว่ามันเกิดจากอะไร เราก็ลองปรับแก้ มันก็เกิดการพัฒนาตัวเองขึ้นไปเรื่อยๆ ครับ


แล้วก็ผมค้นเจอว่า ลาเต้อาร์ต มีการแข่งขันทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และต่างประเทศก็มีแข่งขันกัน ด้วยความที่ตั้งแต่เป็นเด็ก ผมชอบอะไรที่มันท้าทาย ก็เลยไปลงแข่ง แล้วก็ฝึกซ้อมๆๆ เพื่อที่จะไปลงแข่งเรื่อยๆ ครับ” แบงค์ระบุถึงจุดเริ่มต้นของการเริ่มเป็นบาริสต้า


อุดมคติที่ยึดถือ

ปัจจุบัน แบงค์เป็นบาริสต้ามาแล้วประมาณ 9 ปี จึงเรียกได้ว่า เขาดินทางอยู่บนวิชาชีพนี้มาเกือบครบทศวรรษแล้ว
ถามว่า อุดมคติหรือสิ่งที่คุณยึดถือในการเป็นบาริสต้าคืออะไร

แบงค์ตอบว่า “จริงๆ แล้ว อีกรูปแบบหนึ่งในงานนี้ที่ผมหลงรัก คืองานบริการ งานบริการที่ผมพูดถึง คือการให้บริการลูกค้าโดยให้ความสำคัญกับ hospitality ไม่ว่าการรับออเดอร์ การชงการแฟให้เขา
สิ่งที่สำคัญมากๆ คือ เราให้ความสำคัญกับ hospitality
ถ้าเป็นการบริการโดยทั่วไป คือ ถ้าลูกค้ามาซื้อกาแฟ เราก็ถาม ‘สวัสดีครับ รับอะไรดีครับ เชิญรอออเดอร์ที่ซ้ายมือ’ แบบนี้คือการบริการโดยทั่วไป


แต่สำหรับผม hospitality คือ เมื่อเขามาครั้งที่สอง ผมก็ถามเขา สวัสดีครับ วันนี้เป็นอย่างไรบ้างครับ เหมือนกับที่เขาถามเราว่าเมนูนี้ เป็นอย่างไร หากเราไม่สามารถอธิบายให้เขาเห็นภาพเดียวกับเราได้ในระยะเวลาอันสั้น ผมก็จะบอกเขาว่า ‘รอแป๊บนะพี่ เดี๋ยวผมกดให้ทานเลย’ แล้วก็ให้เขาชิมดูเป็นแก้วเล็กๆ

สิ่งนี้ ทำให้เราเข้าถึงลูกค้าได้ง่ายมากขึ้น พูดคุยเป็นกันเองมากขึ้น แล้วก็มีเพื่อนใหม่ๆ ลูกค้าบางคนมาที่ร้านจนเราเป็นเพื่อนกัน ผมมองว่าเป็นงานที่มีเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งครับ
ถ้าลูกค้าคนนั้น เป็นลูกค้าประจำ ผมก็ได้พูดคุยกับทั้งลูกค้าชาวไทย และต่างชาติ เพราะสาขาของ Roots at TheCommons มีลูกค้าฝรั่งเยอะ ซึ่งจะคล้ายๆ เวลาที่เราไปเที่ยวต่างประเทศ เราก็อยากกินกาแฟ อยากคุยกับบาริสต้า อยากแลกเปลี่ยน อยากฟังมุมของเขาดูบ้าง ก็คล้ายๆ กันครับ เวลาลูกค้ามาที่นี่ ผมก็อยากคุยกับลูกค้าเยอะๆ จนเป็นเพื่อนกันเลยก็มีครับ ( หัวเราะ )” แบงค์ตอบอย่างอารมณ์ดี


สิ่งที่ยากที่สุดในการเป็นบาริสต้าที่ดี

ถามว่า อะไร คือสิ่งที่ยากที่สุดในการเป็นบาริสต้าที่ดี
แบงค์ตอบว่า “ผมคิดว่าคือความสม่ำเสมอ และรักในสิ่งที่เราทำ ไม่จำเป็นต้องเป็นบาริสต้าก็ได้ ทำอะไรก็ได้ ขอแค่เรารักมันจริงๆ มันจะทำให้เราอยู่กับมันได้นาน เก่งขึ้น ไปเร็วมากกว่าคนอื่น ได้อะไรเยอะมากกว่าคนอื่น ผมว่าคือความสม่ำเสมอครับ” แบงค์ระบุ


แล้วการทำลาเต้อาร์ตให้เป็น ถือว่าสำคัญแค่ไหน สำหรับบาริสต้า


แบงค์ตอบว่า "จริงๆ แล้ว ลาเต้อาร์ตมีหลากหลายแพทเทิร์น แต่ถ้าถามว่า ลาเต้อาร์ต สำคัญมากไหม จริงๆ แล้ว การทำลาเต้อาร์ทแต่ละรูป ไม่ได้หมายความว่า เราจะใช้นมมาเทให้เป็นลายได้เลยทันที
แต่มันขึ้นอยู่กับพื้นฐาน ของการสตีมนม (Steam milk)
ว่าเรา สตีมนมยังไง ให้ออกมาได้ QUALITY มากๆ
ถ้าเราสตีมนม แล้ว QUALITY ออกมาไม่ดี หรือว่าสตีมนมไม่ได้ ก็จะทำลาเต้อาร์ตไม่ได้ นั่นหมายความว่า จริงๆ แล้ว ลาเต้อาร์ต มันบ่งบอกได้ว่า Skill ของบาริสต้ามีหรือเปล่า บาริสต้า มีความรู้หรือเปล่า มี Know How ไหม


ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็คือความใส่ใจครับ ถ้าเราทำได้ หมายความว่าเราสามารถทำเมนูร้อนได้ทั้งหมดเลย
ด้วยการที่เราทำเครื่องดื่มที่มีคุณภาพเสิร์ฟลูกค้าได้ ก็อาจเป็นการสร้าง First impression ที่ดีได้ด้วยครับ”
แบงค์ระบุ



ประสบการณ์การแข่งขันลาเต้อาร์ท

ถามถึงการแข่งขันบาริสต้าบ้าง ทราบว่าคุณลงแข่งบาริสต้ามาหลายเวที คว้าแชมป์มาหลายสมัย อะไรคือสาเหตุที่ทำให้คุณลงแข่ง เวทีแรกคืออะไร ได้แชมป์ไหม รวมถึงประสบการณ์ในเวทีอื่นๆ ที่อยากให้แบ่งปันให้ฟัง
แบงค์เล่าว่า ถ้าจำไม่ผิด เวทีแรกแข่งในงาน THAILAND COFFEE FEST ช่วงปี ค.ศ. 2015-2016 นานมากแล้ว ในงานจะมีนิตยสารเกี่ยวกับกาแฟ เขาก็จัดการแข่งขัน เป็นครั้งแรกที่นิตยสารจัดการแข่งขันขึ้นมา เป็นการแข่งลาเต้อาร์ต แข่งแบบ One on One แพ้คัดออก

“ตอนนั้น ผมไม่มี Know How มาก และไม่ได้เก่งมากหรอกครับ แต่เวลาที่เราอยู่ในร้าน เราก็รู้สึกว่า ตอนอยู่ในร้านก็เก่งประมาณนึง ( หัวเราะ ) ก็เลยสมัคร อยากลอง อยากรู้จริงๆ ว่าจะเป็นยังไง ปรากฏว่าตอนไปแข่งครั้งนั้นก็ตกรอบแรกครับ
คือ ทุกอย่างผม Perform ออกมาได้อย่างติดลบน่ะครับ คือผมพกไป 100% แต่พอไปทำจริงติดลบ 100% เลยครับ” แบงค์บอกเล่าด้วยน้ำเสียงธรรมดาปนหัวเราะเป็นบางคราว เมื่อนึกย้อนถึงตนเองในครานั้น

“มันไม่ใช่แค่ 0 % นะครับ แต่มันคือติดลบเลยครับ ทุกอย่างมันพังจริงๆ
( หัวเราะ ) คือแบบ Routine ที่เราเคยทำตอนอยู่ร้าน พอไปอยู่หน้าเครื่องบนเวที เราแบบลืมหมด ทำอะไรไม่ถูกเลยครับ


มันเกิดจากการที่เราไม่ได้ซ้อมด้วย เพราะเราไม่รู้ว่าการแข่งขันต้องซ้อมแบบไหน ยังไง ด้วยความที่เราไม่เคยลงแข่ง ครั้งนั้นเป็นเวทีแรก ไม่รู้ต้องซ้อมยังไง ผมก็มั่วๆ ไป ผมก็ตกรอบแรกครับ เทไม่ได้ด้วยซ้ำ ตกรอบแรก จากที่เราตั้งใจไว้ว่าจะเทแบบหนึ่ง แต่พออยู่บนเวที เทออกมาเป็นอีกแบบหนึ่ง ดูไม่เป็นรูปด้วยซ้ำ ก็เละเทะตุ้มเป๊ะไปหมดเลยครับ ( หัวเราะ ) จำขึ้นใจเลยครับ ผมจำได้เกือบทุกสถานการณ์ในวันนั้นเลยครับ” แบงค์บอกเล่าอย่างอารมณ์ดี ในทุกรายละเอียดที่เขาจดจำได้ 

สะท้อนถึงความมุ่งมั่นที่เขารู้ตนเองดี ว่าพลาดเพราะอะไร และพร้อมจะเผชิญความท้าทายครั้งใหม่ๆ นับจากนั้น


แบงค์เล่าว่า “จริงๆ แล้ว เวทีแรกที่แพ้ ผมก็ไม่ได้ Down ไม่ได้ Hurt ขนาดนั้น เพราะเรารู้ว่าเราไม่เตรียมตัวเลย เราเป็นคนที่แบบไม่รู้อะไรแล้วขึ้นไปแข่ง ตอนนั้นผมคิดแค่ว่า เข้ารอบคือกำไร
แพ้คือ เสมอตัว เพราะเราไม่ได้เตรียมตัวเลยครับ
เราตั้งใจไปด้วยความอยากรู้อยากเห็น แล้วเมื่อเราแพ้ เราก็ถามตัวเอง ว่า ‘เออ ทำไมเราทำไม่ได้ ทำไมพอไปอยู่ที่ร้านแล้วมันเก่งจังเลย’ ( หัวเราะ )


ตอนนั้น เราก็รู้สึกว่าเราเจ๋งมาก เพราะเราโลกแคบมาก เรายังไม่ได้เข้าไปอยู่ในวงการกาแฟ วงการลาเต้ เราไม่รู้หรอกว่าวงการนี้มีใครบ้าง
จนกระทั่งเราแพ้รายการนั้น เราก็ไปไล่ดูชื่อของคนแข่ง ว่าชื่ออะไร แชมป์รายการนี้ เขาเป็นใคร ชื่ออะไร นั่งไล่ดู หลายๆ คนที่เทสวยๆ เราก็รู้สึกว่า โอ้โฮ! เขาเก่งกันมาก ถ้าเทียบกับเราตอนนั้น เขาเก่งกว่าเรา 10-20 เท่าเลยนะครับ
ทำให้เรารู้ว่า เรานี่มันแค่เศษเสี้ยวของวงการนี้ ไม่มีใครรู้จักเรา เราโนเนม มากๆ

ผมก็กลับมาทบทวน และได้พบข้อดีของการแข่งขันว่า มันทำให้เรารู้ว่าเราบกพร่องอะไรในการแข่งขัน ณ สถานการณ์นั้น จำได้ดีเลยครับ แล้วพอกลับมาที่ร้าน ผมก็กลับมาซ้อมเพื่อกลบข้อบกพร่องตรงนั้น ก็จะซ้อมย้ำอยู่อย่างนั้นแหละครับ จี้ตัวเองอยู่อย่างนั้น จี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะแก้ข้อบกพร่องตรงนั้นได้ กล่าวได้ว่า ปีแรก เราก็ไม่ Fail อะไรมาก
แต่จะ Fail ตอนที่เรา แข่งมา 4-5 เวทีแล้ว แล้วไม่เข้ารอบลึกสักที
แต่ด้วยความที่เราไม่ยอมแพ้อยู่แล้ว เป็นคนที่อยากเอาชนะตัวเอง ว่าทำไมอยู่ร้านเราเทลาเต้อาร์ทได้ แล้วทำไมอยู่บนเวที แค่แก้วเดียวเราก็เทไม่ได้ แต่อยู่ร้านเป็นสิบๆ แก้วเราเทได้

ก็พยายามหาข้อบกพร่องและจุดอ่อนของตัวเองตลอดเวลาครับ คือ ไม่ค่อยมองจุดแข็งของตัวเองเลย จะมองแต่จุดอ่อนแล้วก็แก้ไขมัน ไม่ยอมแพ้ครับ” แบงค์บอกเล่าอย่างชัดถ้อยชัดคำ ก่อนบอกเล่าเพิ่มเติมว่า
หลังจากเวทีแรก ใช้เวลาอีกหนึ่งปี ในการแข่งขันครั้งถัดไป






หาจุดบกพร่องให้เจอ เอาชนะตนเองให้ได้

แบงค์เล่าว่า ในยุคนั้น การแข่งขันบาริสต้า มีเพียงปีละครั้ง ถ้าหากแพ้ครั้งนี้ ต้องรออีก 1 ปีเพื่อที่จะได้ไปแข่งใหม่ ต่างจากปัจจุบัน ที่มีแข่งหลายรายการในแต่ละปี
ในครั้งนั้น จึงทำให้เขาตั้งใจซ้อมหนักมาก เพราะเมื่อขึ้นเวทีไปแล้ว เขาไม่อยากกลับบ้านเร็ว แต่อยากอยู่บนเวทีนั้นให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ ในที่สุด แชมป์แรกก็มาถึง เพื่อตอบแทนความมุ่งมั่นไม่ย่อท้อของเด็กหนุ่มคนนี้
แชมป์แรกของเขา เป็นเวทีเล็กๆ ในงาน THAILAND COFFEE FEST ปี ค.ศ.2018 มีผู้ลงแข่งเพียง 8 คน คล้ายเป็นกิจกรรมของบูธ ทว่า เขาก็ได้ที่ 1 มา แต่ไม่ได้คิดว่าเป็นงานแข่งจริงจังอะไรมากนัก

กระทั่ง หลังจากรายการนี้ เขาลงแข่งอีกครั้งหนึ่ง ในเวทีที่ จ.ขอนแก่น ในครั้งนั้นคือปี ค.ศ. 2018
“เขาแข่งวันอาทิตย์ แล้วผมทำงานไปด้วย เรียนไปด้วย เงินเก็บแทบจะไม่มีเลยครับ มีแต่เงินที่ใช้ไปวันๆ แต่เราก็อยากไปแข่ง เพราะรู้สึกว่า เราเริ่มทำได้ดีมากขึ้นแล้ว ประสบการณ์เราเริ่มเยอะ และเราเริ่มนิ่ง ใน Stage ที่ผ่านมา บ่งบอกว่าเราสั่นน้อยลงแล้ว นิ่งมากขึ้น

เราก็อยากไปพิสูจน์ตัวเอง วันนั้น ผมเลิกงานสี่โมงเย็น ผมก็จองตั๋วรถทัวร์รอบดึกสุดของวันนั้นเลยครับ ประมาณห้าทุ่ม-เที่ยงคืน เพื่อที่จะไปถึงขอนแก่นตอนเช้า
เลิกงานที่ร้านแล้ว ผมก็กลับบ้าน ไปอาบน้ำแล้วไปขึ้นรถทัวร์ที่หมอชิต
ไปลงที่ขอนแก่น ผมไปถึงขอนแก่นตอน 6 โมงเช้าพอดี ก็ต้องนั่งรอครับ เพราะงานแข่งสิบโมงเช้า ผมก็ไปรออยู่ที่ท่ารถถึงแปดโมงเช้า แล้วค่อยนั่งรถสองแถวแดงเข้าเมือง
แล้วก็ต่อรถแบบมั่วซั่วมากครับ ถามคนในพื้นที่ว่าเดินทางยังไง ไปยังไง ในที่สุดก็จับพลัดจับผลูไปถึงที่แข่งขันทันเวลาครับ

แล้ววันนั้น แข่งเสร็จผมก็จองตั๋วรถทัวร์กลับเลย เป็นรอบดึกสุดเหมือนกัน กลับมากรุงเทพฯ เป็นเช้าวันจันทร์ ประมาณ ตี 4 ผมก็นั่งแท็กซี่จากหมอชิต กลับมาบ้าน แล้วก็อาบน้ำอาบท่า แปดโมงเช้าไปทำงานต่อ เป็นอะไรที่แบบ Non Stop มากครับ
แล้วผมได้แชมป์จากรายการนี้ เป็นแชมป์ที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราได้แชมป์จากการแข่งขัน กับคนเก่งๆ คนในวงการ เป็นการแข่งขันลาเต้อาร์ต แบบจริงจังเลย ผมก็แบบภูมิใจมากๆ ถึงแม้จะเป็นงานเล็กๆ ที่ต่างจังหวัดก็ตาม
แต่เราก็จำโมเมนต์วันนั้น ได้ทุกๆ อย่าง ตอนที่เขาชูมือเราว่าเป็นผู้ชนะ มันดีใจแบบบอกไม่ถูกเลยครับ


ครั้งนั้น ก่อนไปแข่ง ก็บอกตัวเองว่า ขอเป็นแชมป์สักรายการเถอะ ไม่ต้องรายการใหญ่ก็ได้ ขอได้ชูถ้วยแชมป์สักรายการเถอะ
แล้วเราก็ได้แชมป์จริงๆ ผมดีใจมากเลยครับ จากนั้น ก็มีคนรู้จักผมมากขึ้น แล้วก็เริ่มมีคนยอมรับฝีมือการเทลาเต้อาร์ตของเรามากขึ้นครับ เป็นจุดๆ หนึ่ง ที่ผลักดันเราให้มาไกลขนาดนี้ได้
มันเป็นโมเมนต์ที่มีความสุขมากๆ และผลักดันเราให้ก้าวต่อไป ซึ่งในปีนั้น ก็มีรายการแข่งเกิดขึ้นเยอะมากครับ มีอีกหลายรายการแข่งติดๆ กัน ผมก็ลงแข่งทุกรายการเลยครับ

ปรากฏว่าปีนั้นเหมือนเป็นปีทองของผมเลยครับ เพราะผมได้ประมาณ 7 แชมป์ครับ แล้วก็อีก 2-3 รองแชมป์น่ะครับ” แบงค์บอกเล่าถึงเส้นทางของการแข่งขันและฝึกฝนกับตนเอง ก่อนจะกล่าวเพิ่มเติมว่า

เมื่อมีรายการที่ได้แชมป์ ก็ทำให้มีไฟ และทำให้กลับมาทบทวนตัวเอง โดยเฉพาะเรื่องวิธีการซ้อม เพราะแบงค์จะเชื่อเสมอว่า คนที่เขาชนะ คนที่เขาได้ที่ 1 เขาทุ่มเทกับมันมากพอ เขาซ้อมมากพอ 

คำว่า ‘มาก’ ในที่นี้ หมายความว่ามากจริงๆ แล้วแบงค์มีความเชื่อว่า ที่เราไม่ได้แชมป์ เพราะเรายังซ้อมน้อย เราอาจบอกว่า เราซ้อมเยอะ แต่ถ้าเราไปเห็นคนอื่นซ้อม เราจะรู้ว่า เราซ้อมได้แค่ 20 % ของเขาเท่านั้น ซึ่งมันไม่มีเหตุผลเลยที่เขาจะแพ้เรา นี่เอง คือจุดที่ทำให้แบงค์เริ่มจัดระเบียบการซ้อมลาเต้อาร์ทมากขึ้นๆ เรื่อยๆ


มี ‘กระรอกน้อย’ เป็น Signature กับประสบการณ์ในโลกกว้าง

ถามว่า ลายที่คุณใช้และชนะมาทุกเวทีคือลาย ‘กระรอกน้อย’ ที่เปรียบเสมือน Signature ของคุณใช่หรือไม่
แบงค์ตอบว่า “ใช่ครับ ปี ค.ศ. 2018 ผมใช้ลายกระรอกแข่งทุกเวทีและชนะทุกเวทีเลยครับ ทั้งในไทย และนานาชาติ”


ถามว่า ลงแข่งมากี่เวทีแล้ว

แบงค์ตอบว่าถ้ารวมที่ลงแข่งขันทั้งหมด มีประมาณ 18 รายการ
นับว่าเยอะมาก ซึ่งทุกวันนี้ เขาก็ยังคงแข่งเรื่อยๆ ปีนี้ก็ลงแข่งอีก ไม่น้อยกว่า 3 รายการ เป็นการแข่งขันในไทย 2 รายการ ที่ญี่ปุ่น 1 รายการ แล้วอีกรายการที่ยังไม่แน่ใจว่าจะได้ไปหรือเปล่า คือที่เกาหลีใต้
สำหรับประสบการณ์การเดินทางไปแข่งขันในต่างประเทศครั้งแรก แบงค์เล่าว่า ในช่วงแรก ๆ จะใช้เงินเก็บของตนเอง กระทั่งได้เซ็นสัญญาเป็น Brand Ambassador ของ CP-Meiji ตั้งแต่ปี ค.ศ.2018 กระทั่งปัจจุบัน CP-Meiji ก็จะร่วมผลักดัน ทั้งยังมีการแข่งขันของ CP-Meiji เองด้วย


แบงค์เล่าว่า เมื่อเขาได้แชมป์ปี ค.ศ. 2018 แล้วก็เซ็นสัญญา เมื่อไปแข่งที่ต่างประเทศ CP-Meiji ก็ช่วยซัพพอร์ต
“คือก่อนหน้านั้น เราไปแข่งเอง ซื้อนมมาซ้อมเองเยอะมากมายมหาศาลมากครับ แต่เมื่อเราได้รับโอกาสนี้ มันทำให้เราไปได้ไกลมากขึ้น” แบงค์ระบุ ก่อนบอกเล่าประสบการณ์แข่งขันในต่างประเทศ เริ่มที่ประเทศแรก คือ มาเลเซีย ที่ทำให้เขาได้ข้อคิดที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ในการมุ่งพัฒนาตนเอง ไม่ใช่แค่เพียงการแข่งขันลาเต้อาร์ท แต่ยังรวมถึงการฝึกฝนภาษาอังกฤษ ให้สามารถสื่อสารพูดคุยกับชาวต่างชาติได้ด้วย

“ย้อนกลับไปตอนแข่งที่มาเลเซีย ปี ค.ศ.2017 การแข่งครั้งนั้น ผมได้ที่สอง เป็นการแข่งต่างประเทศครั้งแรกของผม แล้วความตลกของมันคือ ในครั้งนั้นผมยังเป็นเด็กน้อยที่พูดภาษาอังกฤษไม่เป็นเลยครับ ถึงขั้นที่ หากมีลูกค้าต่างชาติเดินมาที่ร้าน ผมจะเดินหนี ต้องให้พี่ๆ เจ้าหน้าที่คนอื่นมาคุยแทน มันถึงขั้นนั้นเลยครับ คือผมไม่กล้าพูดภาษาอังกฤษเลย แต่การฟังยังพอจับใจความได้ แต่คือถามกลับไปไม่ได้ เรียกว่าเป็นคนที่โง่ภาษาอังกฤษมากๆ เลยครับ ถึงขั้นที่บอกตัวเองว่า ‘เออ ชาตินี้เราคงไม่พูดภาษาอังกฤษหรอก ไม่เห็นเป็นไรเลย ญี่ปุ่นก็ไม่เห็นจะพูดอังกฤษเลย’

แล้วปีนั้น มีงานแข่งที่มาเลเซีย ผมก็ลองส่งเมล์ไปเล่นๆ ปรากฏว่าติด
ซึ่งเมื่อติดแล้ว ผมไม่เคยเดินทางไปต่างประเทศ ไม่เคยทำพาสปอร์ต ต้องตื่นแต่เช้าไปทำพาสปอร์ต ตอนนั้นสงกรานต์ด้วย ผมต้องไปทำพาสปอร์ตให้เสร็จก่อนในรอบเช้า ก่อนสงกรานต์วันเดียว มันฉุกละหุกมาก เขาทำเสร็จปุ๊บ ผมก็นับวันรอแล้วครับ ว่าพาสปอร์ตเราต้องได้ทันวันที่เราไปแข่งนะ เราคำนวณแล้ว เขาใช้เวลาสามวันทำการ เราต้องบินวันเสาร์ ผมก็เช็คพัสดุตลอดเวลา

แล้วไฟลท์บินสุดท้ายคือสี่โมงเย็น ผมก็เข้าไปเช็คในเว็บของไปรษณีย์ไทย พบว่า มาถึงไปรษณีย์แถวบ้านแล้ว เหลือแต่นำจ่าย ผมก็เลยแบบ ‘เอาวะ’ นั่งรถไปที่ไปรษณีย์ครับ แล้วถามเขาว่า มารับด้วยตัวเองได้ไหม
เขาบอกไม่ได้ เพราะพัสดุอยู่ด้านหลัง ยังไม่ได้คัดแยก ผมก็ขอร้องเขา

‘พี่ ผมขอร้องล่ะ ผมต้องไปแข่ง ต้องบินเย็นนี้ การแข่งนี้สำคัญกับผมมากนะครับ’ แล้วเขาก็เหมือนเห็นใจ เขาสงสาร เขาก็ให้ผมเดินไปที่กองเอกสาร แล้วบอกว่า มันอยู่ล็อคนี้ หาดูเอง ซึ่งพัสดุเยอะมาก แต่โชคดี ที่ใส่ซองกระดาษมา ซึ่งพัสดุที่ใส่ซองกระดาษมีไม่เยอะ ในที่สุดก็ค้นเจอ เดินออกมาหน้าไปรษณีย์ แกะซอง ถือพาสปอร์ต แล้วซื้อตั๋วการบินไทยที่หน้าไปรษณีย์วันนั้นเลย ซื้อตั๋ว 11 โมง จากนั้นกลับบ้านไปอาบน้ำ แล้วไปสนามบินเลยครับ โอ้โฮ! ตื่นเต้นมาก บินออกนอกประเทศคนเดียว แล้วพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย

ก็ยังดื้อและดั้นด้นไป ตอนนั้นมีเงินเก็บอยู่แค่หนึ่งหมื่นบาท ไปสามวัน ไปโดยไม่รู้อะไรเลย

ครั้งนั้นไปแข่ง คือ ผมไม่รู้จักใครเลย แต่มีคนที่เขา Follow เราในอินสตาแกรมนะครับ เหมือนกับว่า มีเพื่อนที่มาเลเซียรู้จักผมบ้าง แต่ผมไม่รู้จักเขา เขาก็อยากคุยกับเรา แต่เราพูดไม่ได้ ไม่รู้เรื่องเลย
แข่งไปเรื่อยๆ ผมก็จะอยู่หน้าเวทีไม่ไปไหนเลย เพราะกลัวเขาเรียกชื่อเราขึ้นมา เพราะขนาดชื่อเรา เรายังฟังไม่ค่อยรู้เรื่องเลย
ปรากฏว่าเมื่อไม่รู้จักใคร ทำให้เราไม่กดดันเลย กระทั่งเข้ามาถึงรอบชิง เราตื่นเต้น รอบชิงครั้งแรก แล้วเป็นต่างประเทศด้วย
ก็เทออกมาไม่ดีครับ รอบชิงเป็นรอบเดียวเลยที่เทออกมาไม่ดี แล้วก็นั่นแหละครับ แพ้ตามคาดครับ (หัวเราะ)”
แบงค์เล่าว่า เมื่อแพ้ก็มีสำนักข่าวมาขอสัมภาษณ์ ผู้ที่ได้ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ตามลำดับ

“โอ้โฮ! สัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษ คือ ผมพูดไม่ได้น่ะครับ แล้วมันเป็นเหตุการณ์ที่แบบรู้สึกว่าตัวเองต่ำต้อยที่สุดในชีวิตแล้วครับ ทั้งที่เราได้ที่สองมา และควรจะภูมิใจด้วยซ้ำ เป็นเหตุการณ์ที่เรารู้สึกด้อยค่าตัวเองมาก ตอนนั้น ผม Fail กว่าแพ้อีกครับ
หลังจากเหตุการณ์นั้น กลับมาไทย ก็เริ่มรู้สึกตัวเองว่า ในอนาคตถ้าผมอยากแข่งต่างประเทศ ผมก็ต้องพูดภาษาอังกฤษให้ได้
ไม่ต้องเก่งหรอก แค่สื่อสารได้ก็พอ แล้วมันเป็นแรงผลักดันครับ ให้ผมกลับมาแล้วก็พยายามมากเลยครับ ผมเข้าหาลูกค้าต่างชาติเลย เพราะผมอยากมีเพื่อนเป็นคนต่างชาติ อยากมีเพื่อนเป็นบาริสต้า ทำลาเต้อาร์ตเป็นคนต่างชาติเยอะๆ
ผมอยากสื่อสารกับเขาได้ มีลูกค้าที่ตั้งใจมาหาเราเลยนะ เขาตามมาจากในไอจี อยากมาคุยกับเรา อยากเป็นเพื่อนกับเรา อยากถ่ายรูปกับเรา แล้วเราคุยกับเขาไม่รู้เรื่องมันแบบ โห! เรารู้สึกแย่ เพราะเขาอุตส่าห์มาหา แต่เราพูดกับเขาไม่ได้เลย

ผม FAIL ก็เลยพยายาม สื่อสารภาษากับลูกค้าต่างชาติที่หน้าบาร์ ผมเริ่มสื่อสารแบบมั่วซั่วเลยครับ จนมีวันนึง ลูกค้าเขาก็ชอบนั่งคุยกัน เราก็ฟัง ว่าเขาคุยอะไรกัน แล้วเราก็ลองจับใจความนั้น จับ Reaction เขา แล้วเราก็ลองเอามาใช้มั่วๆ กับลูกค้าคนอื่น เราจะจำคำนั้นไว้ ก็เริ่มมาจากอะไรแบบนี้ครับ หัวหน้างานของผมเขาก็จะพูดเสมอว่า ใครที่กลัว ไม่กล้าคุยกับลูกค้าต่างชาติ ให้ถามแบงค์ เพราะเขาไม่คิดว่าผมจะมีเพื่อนต่างชาติเยอะขนาดนี้ครับ มันเริ่มจากที่การที่ไม่ศรัทธาในตัวเอง มาถึงจุดที่ฮึดสู้ จนพลิกกลับได้” แบงค์ถ่ายทอดประสบการณ์ฝึกฝนภาษาอังกฤษที่น่าสนใจ ไม่น้อยกว่าการแข่งขันลาเต้อาร์ท ในต่างประเทศ ที่การใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารนับว่าสำคัญยิ่ง






ทุกเวที-ประทับใจ

ถามว่า มีการแข่งขันในต่างประเทศที่ไหนบ้าง ที่ประทับใจเป็นพิเศษ
แบงค์ตอบว่า “โอ้โห! ผมประทับใจทุกการแข่งขันที่ผมได้แชมป์ทั้งในและต่างประเทศเลยครับ ผมขอแชร์ สั้นๆ แต่ละรายการที่ประทับใจก็แล้วกันครับ” แบงค์ระบุ และกล่าวว่า

ปี ค.ศ.2017-2018 เป็นตัวอย่างของความพยายาม เนื่องจาก พ่ายแพ้ปี 2017 แล้วก็กลับมาได้แชมป์ในปี 2018 เป็นแชมป์ที่ตั้งใจมากๆ พยายามและซ้อมหนักมากๆ

รายการต่อมา คือการแข่งขันที่ โอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ปี ค.ศ.2018 รายการนี้ ต้องส่งรูปลาเต้อาร์ทเพื่อที่จะไปคัดเลือก ซึ่งมีคนจากทั่วโลกที่ส่งรูปมาเพราะอยากแข่ง แล้วเขาคัดเลือกแค่ 64 คน ปีหนึ่งเขาจะจัดที่โตเกียว กับ โอซาก้า ที่ผ่านมาแบงค์ส่งไป 2 ปี 4 ครั้ง ไม่เคยติดเลย
ไม่แม้แต่จะเป็น 1 ใน 64 ด้วยซ้ำ

“กระทั่งปี ค.ศ. 2018 แบงค์ส่งไปแล้ว ติด Range 1 ความรู้สึกมันแบบ โอโห! ตื่นเต้นมาก เพราะที่ผ่านมาเราเคยเห็นแต่พี่ๆ คนอื่นเขาติดแล้วโพสต์ลงเฟซบุ๊ค แล้วเราก็ไปแสดงความยินดี แล้วก็ไปตื่นเต้นกับเขา แต่ครั้งนี้เราติดเอง ผมทำตัวไม่ถูกเลยครับ
ผมก็ซ้อมหนักมาก ผมคิดวิธีซ้อมแบบใหม่ด้วย เพราะผมคิดว่า ถ้าผมไปแข่ง แล้วไม่เต็มที่กับมันผมจะเสียใจมาก เพราะเราไม่รู้ว่าในอนาคต เราจะได้ไปอีกหรือเปล่า
สำหรับผมรายการนี้เป็นตัวอย่างของคนล่าฝัน เรามีความฝัน แล้วญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ผมชอบมากที่สุดในชีวิตประเทศนึงเลยครับ เราก็อยากไปมากๆ


แล้วเราไปญี่ปุ่นครั้งแรก เราก็ได้ไปแข่งเลย แล้วผมก็คิดว่าเราคงไม่มีโอกาสไปอีกหรอก โดยเฉพาะในฐานะนักแข่ง ถ้าเราไม่ทำรอบนี้ให้ดีเราคงจะไม่ได้มาแล้ว ผมก็เลยเต็มที่กับมัน แล้วก็สร้างลายกระรอกขึ้นมา

ปรากฏว่าไปแข่งแล้ว คือ มีงานใหญ่ กับงานเล็ก งานเล็กเป็นเหมือนงานมีทติ้ง ที่แบบว่าเขาเอาคนที่แข่งงานใหญ่ทั้งหมดนั่นแหละครับ มาซ้อมมือก่อนวันแข่งงานใหญ่
แล้วปรากฏว่าผมได้แชมป์ก่อนเลยในงานมีทติ้งนี้ ก็เรียกความมั่นใจได้ประมาณนึงครับ
เมื่อมีความมั่นใจแล้ว รายการใหญ่ที่เราไปแข่ง ก็ทำให้เรามีความมั่นใจ เพราะเราซ้อมเยอะด้วย และเพิ่งได้แชมป์มาด้วย แล้วปรากฏว่า เราก็ได้แชมป์ในรายการใหญ่อีก โอ้โห! คือ ผมดีใจกับรายการนี้อยู่เป็นปีๆ เลยครับ
ผมก็ดีใจมากครับ ไม่รู้จะพูดออกมายังไง ถึงจะบ่งบอกความรู้สึกนั้นได้
แค่ย้อนกลับไปถึง Feel ตอนนั้น ก็ยังตื่นเต้นอยู่เสมอครับ

หลังจากนั้น ผมก็ไปแข่งที่ปีนัง หลังกลับจากโอซาก้าได้เดือนนึง
เป็นการแข่งขันแบบ Tournament ทั่ว Southeast Asia แล้วเขาก็จะเอาที่ 1 ของแต่ละทัวร์นาเมนต์ ไปแข่งรอบ grand final ที่จีน


คือเขาจะจัดทัวร์นาเมนต์ที่ จีน เวียดนาม มาเลเซีย ไต้หวัน แต่ไม่มีที่ไทย
ผมก็ต้องบินไปแข่งที่ปีนัง มาเลเซีย ปรากฏว่าได้แชมป์ ผมก็ได้ Certify เพื่อที่จะไปแข่งที่จีนต่อ ซึ่งรายการนี้ เป็นรายการที่กดดันมากๆ เพราะคนจีนทุกคนที่ลงแข่ง เก่งมาก เรารู้จักทุกคนเลย แล้วเราก็ตามไอจีเขา เพราะเขาเก่งมากครับ เก่งมากจริงๆ ผมก็เก็บตัวซ้อมหนัก แล้วก็บินไปแข่งที่จีน แล้วทุกอย่างไม่ได้สวยงามเลย
ผมบินจากไทย ไปถึงจีน ตี 3 ออกจากสนามบินไม่ได้ ต้องนอนในสนามบิน ผมไปกับพี่อีกคน ก็นอนที่สนามบินเหมือนนักท่องเที่ยวที่หลงมา ตื่นเช้ามานั่งรถไฟเข้าเมือง ฝนตก อากาศหนาว เป็นหวัด เป็นทุกอย่างที่เป็นได้ในตอนนั้น เป็นทุกอย่างที่ป่วยได้

แล้ววันแรกที่ไปถึงก็ต้องไปซ้อมมือ แล้วตอนที่ผมไปซ้อมมือ คือเทลายไม่ขึ้นลายเลยครับ อายมาก เพราะเป็นนมยูเอชที ซึ่งเราก็ซ้อมยูเอชทีมา แต่ของบ้านเขากับบ้านเรามันไม่เหมือนกัน ผมยังจับจุดไม่ได้ เทไม่ติด ก็อายเขา คือเขามามุงดูแล้วเราเทไม่ได้ โอย! อายมากครับ เขินด้วย
เราก็คิดแล้วแหละ ว่ารายการนี้ เราไม่ได้หรอก ไม่เอาหรอก เพราะทุกคนเก่งมาก ผมก็มีถอดใจเล็กๆ กลับมาห้อง มานอน ตื่นมาด้วยความคิดว่า ชีวิตที่จีนลำบาก อยากกินอะไรก็ยาก จะคุยกับใครก็ไม่รู้เรื่อง ก็เลยคิดว่า ต้องเอาอะไรกลับไปให้ได้สักอย่างแหละ

ปรากฏว่า รอบแรกที่เราแข่ง เราเทได้ดี ก็เรียกความมั่นใจกลับคืนมาครับ แล้วผมเทดีขึ้นเรื่อยๆ จากรอบแรก ไปรอบสอง รอบสาม ทุกๆ รอบ ลายจะคมมากขึ้นๆ ไปจนถึงรอบชิง
แล้วประสบผลสำเร็จ ที่เราได้แชมป์ในรายการที่ค่อนข้างใหญ่มากๆ
เราก็ภูมิใจมากอย่างบอกไม่ถูก เพราะรายการนี้ แชมป์ที่เราได้มา คือ 3 ถ้วย 3 Trophy
ถ้วยแรก ในนามแชมป์มาเลเซีย จากทัวร์นาเมนต์ที่ปีนัง
ถ้วยสอง ในนามรอบ grand final ที่จีน
ถ้วยที่สามคือ เป็นผู้เล่นยอดเยี่ยม เป็นผู้เล่นที่มีพัฒนาการโดดเด่นที่สุดในการแข่งขัน โอ้โห! ดีใจอย่างบอกไม่ถูกเลยครับ คุ้มค่ามากที่ได้ไป และขนของกลับหนักมาก เพราะถ้วยรางวัลหนักมาก ( หัวเราะอย่างมีความสุข ) "











นอกจากประสบการณ์และถ้วยแชมป์ที่ประทับใจแล้ว ยังมีอีกถ้วยรางวัล ที่ทำให้บาริสต้าหนุ่มคนนี้ มีความสุข และอิ่มเอมใจเป็นที่สุด

“ถ้วยสุดท้ายที่ภูมิใจ รู้สึกอิ่มเอมที่สุดในชีวิต คือถ้วยพระราชทาน กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ ครับ ( หมายเหตุ : สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี )

แข่งเมื่อต้นปี ค.ศ. 2019 ถ้วยนี้เป็นถ้วยระดับอาเซียน

แล้วก็มีประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนมาแข่งกัน ซึ่งผมนับถือกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ มาตั้งแต่ผมยังเด็กแล้วครับ เมื่อไปแข่งรายการนี้ แล้วพอได้ชูถ้วยนี้ขึ้นมา ตอนที่ได้ถ้วยนี้มาคือดีใจมากครับ และทุกคนรอบตัวเราก็ดีใจและอิ่มเอมใจไปกับเรา
เป็นถ้วยเดียวที่ผมนำมาตั้งที่ Roots at TheCommons ที่ทองหล่อซึ่งเป็นสาขาที่ผมทำงานอยู่ ภูมิใจมากครับ”





เก็บลาย “กระรอกน้อย” ไว้บนหิ้ง


นอกจากความอิ่มเอมใจที่ฉายชัดจากการคว้าถ้วยพระราชทานแล้ว อดถามไม่ได้ว่า บาริสต้าหนุ่มผู้นี้ยังใช้ลายกระรอกน้อยแข่งขันในทุกรายการ กระทั่งในปัจจุบันหรือไม่

แบงค์ตอบว่า “ในปี ค.ศ. 2018-2019 ผมใช้ทุกรายการเลยครับ
จากนั้น ผมจะเทแพทเทิร์นต่างๆ ไปเรื่อยๆ น่ะครับ
แพทเทิร์นที่มีอยู่แล้ว เราก็เทให้มันคมและสวยขึ้น ก็ใช้แข่งไปเรื่อยๆ เพราะว่าผมไม่อยากใช้กระรอกแข่งแล้ว เพราะว่ากระรอก ไม่เคยแพ้เลย ถึงเวลาที่เราอยากให้เขาขึ้นหิ้งไว้ อย่าลงมานะ ( หัวเราะ )

ก็ใช้ลายอื่นแข่ง ได้แชมป์บ้าง ไม่ได้บ้าง แต่ก็เข้ารอบลึกตลอดครับ
อย่างเช่น ลายใหม่ล่าสุดที่คิดขึ้นมาใหม่ ก็เป็นลายกิ้งก่าครับ
แล้วก็พวกม้า เพกาซัส ใบไม้ ทิวลิป หลากหลายมากครับ เทไปเยอะมาก
ตอนนี้ที่ลองทำอยู่ยังไม่สมบูรณ์ ก็มีหลายแพทเทิร์นครับ” แบงค์ระบุ


‘วินัย’ สิ่งสำคัญในการฝึกซ้อม

ถามว่า ในเวลาฝึกซ้อม ให้ความสำคัญกับอะไรที่สุด
แบงค์ตอบว่า “ให้ความสำคัญกับ ‘วินัย’ ที่สุดครับ เราต้องมีวินัย เราต้องซ้อมเหมือนนักกีฬาเลยครับ แบ่งเวลาซ้อม แบ่งแพทเทิร์นซ้อม มีทีมที่ดี เพราะทีมที่ดี จะพาเราไปสู่ความสำเร็จครับ
เราอาจเป็นคนเก่ง แต่ถ้าเราไม่มีทีมที่ดี เราไม่อาจไปถึงความสำเร็จได้เลย
ผมโชคดีมาก ที่มีทีมที่คอยซัพพอร์ตเราอย่างดีมาก แล้วเราก็รู้สึกขอบคุณทีมตลอด เพราะเขาเป็นส่วนสำคัญในการคว้าแชมป์ของเรา
ถ้าเขาไม่มาช่วยเราซ้อม เราตายแน่

อย่างเช่น ลายกระรอก ที่ตั้งใจไปแข่งที่ญี่ปุ่น ผมใช้เวลาซ้อมสามเดือน ทุกวัน เทวันละไม่ต่ำกว่า 36 แก้ว แบ่งเป็นเซ็ต 5-6 แก้ว แรกๆ มันก็จะเละๆ เท 36 แก้ว สวยแค่ 10 แก้ว
กระทั่ง สองสัปดาห์สุดท้าย ผมเทลายกระรอกลายเดียวเลย แล้วก็วางเรียงกัน 36 แก้ว มันเหมือน Copy – Paste เลยครับ
แล้วเมื่อเราวางเรียงกัน เราจะรู้ว่า เราไม่สามารถเทนมออกมาได้ 100% เหมือนกันทุกๆ ครั้ง
มันอาจจะ 90-95% แล้วเราก็จะรู้ว่า 90% ต้องเทแบบไหนถึงจะสวย คือต้องดูดีเทลขนาดนี้เลยครับ แล้วสิ่งสำคัญที่สุดคือวินัยครับ เรามีแค่ทีมไม่ได้ มีแค่ความเก่งไม่ได้ แต่ถ้าเรามีวินัยแห่งความฝึกซ้อม เราก็จะพัฒนาขึ้น
ในการซ้อม ผมจะแบ่งเป็นเซ็ท 5-6 แก้ว แล้วพัก 5 นาที แล้วเทต่อ เพื่อไม่ให้ล้าเกินไป วินัยเป็นสิ่งสำคัญ ต้องทำต่อเนื่อง เพราะกล้ามเนื้อจะจำ เมื่อกล้ามเนื้อจำก็ง่ายหมดเลยครับ


อดถามไม่ได้ว่า ลายกระรอกน้อยได้แรงบันดาลใจจากอะไร
แบงค์ตอบว่า "ได้แรงบันดาลใจจากสายไฟหน้า The Commons มีกระรอกวิ่งขึ้นทุกเช้าเลยครับ”





แบบไหนคือ ‘กาแฟที่ดี’ และอร่อย

พูดคุย สนทนามาเนิ่นนาน ไม่ถามคงไม่ได้ว่า ‘กาแฟที่ดี’ และอร่อย ในนิยามของคุณต้องเป็นแบบไหน

แบงค์ตอบว่า “จริงๆ แล้ว มันง่ายมากเลยครับ มันคือกาแฟที่เราชอบ ผมจะไม่บอกว่ากาแฟไหนดี กาแฟไหนไม่ดี ทุกๆ อย่างมันมีคุณค่าในตัวของมัน ไม่ว่าจะเป็นกาแฟที่คั่วเข้มมากๆ จนไหม้ แล้วผมเองกินเข้าไปแล้วแบบ ดื่มยากมาก ปวดหัว ดื่มไม่ได้เลย ก็ยังมีกลุ่มลูกค้าที่ชอบกาแฟคาแรกเตอร์แบบนี้

ผมจึงไม่บอกว่ากาแฟไหนดีหรือไม่ดี แต่ผมจะบอกว่า กาแฟที่ดีคือกาแฟที่เราชอบ ไม่จำเป็นต้องเป็นกาแฟที่แพงมากๆ หรือเกรดดีมากๆ ก็ได้ แต่ถ้ามันเป็นกาแฟที่เราชอบที่จะกินและกินมันได้ทุกวัน มันก็เป็นสิ่งที่ดีสำหรับเรา
มันเหมือนต่อให้เราจะมีเสื้อผ้าเยอะแยะแค่ไหน มันก็มีอยู่แค่ไม่กี่ชุดหรอกที่เราชอบมันมากๆ ซึ่งมันไม่จำเป็นต้องถูกหรือแพง”


จรรยาบรรณที่ดีของบาริสต้า

ทุกสิ่งที่ชายคนนี้มีและเป็น ราวกับเขาเกิดมาเพื่อสร้างสรรค์กาแฟที่รสชาติดีและสรรค์สร้างลาเต้อาร์ทที่สวยงาม ด้วยการฝึกฝนอย่างหนัก ไม่ย่อท้อ เช่นนั้นแล้วสำหรับคุณ
จรรยาบรรณของบาริสต้าที่ดีคืออะไร ?

บาริสต้าหนุ่มผู้นี้ตอบว่า “ อืม ผมว่ามันคือความซื่อสัตย์ ทั้งต่อตัวเอง ต่อสิ่งที่เราทำ ต่ออาชีพนี้ แล้วก็ต่อตัวลูกค้าเอง เพราะเมื่อเราชงกาแฟสักแก้วหนึ่ง เรารู้อยู่แล้วล่ะว่ากาแฟแก้วนี้ ที่มันออกมา Quality มันได้หรือไม่ได้ Steam นมไม่ดี ก็เสิร์ฟไม่ได้ ถ้าอะไรไม่ดี เราจะไม่เสิร์ฟ เราจะไม่ทำให้ลูกค้า เราจะซื่อสัตย์ตรงส่วนนี้มากๆ ครับ”

ถามว่า หากเด็กรุ่นใหม่ มีคุณเป็นไอดอล หรืออยากเป็นบาริสต้า คุณมีอะไรที่อยากจะแนะนำพวกเขา
แบงค์ตอบว่า “ผมคิดว่า จริงๆ แล้ว ตอนนี้ร้านกาแฟในประเทศเราเกิดขึ้นเยอะมาก แล้วก็จะมีทั้งร้านที่เปิดมาแล้วอยู่ได้กับร้านที่ปิดไป เทรนด์ของอาชีพนี้กำลังมา และผมอยากทำให้อาชีพนี้มีเกียรติมากๆ เทียบเท่ากับหมอหรือวิศวะได้ก็ดีเลย แต่ว่ามันก็ต้องมีสิ่งที่จะผลักดัน เช่น ที่ออสเตรเลีย เงินเดือนบาริสต้า เท่ากับคนที่จบวิศวะเลยนะครับ มันควรจะเป็นอย่างนั้นนะ
ถ้าถามว่าอยากเป็นบาริสต้า ต้องทำยังไง อย่างแรกที่ผมอยากจะบอกคือ เราต้องรักในอาชีพนี้ ต้องลองทำ แล้วเราก็บอกตัวเองให้ได้ว่าเรารักมันหรือเปล่า พร้อมจะฝากชีวิตไว้กับอาชีพนี้ไหม

ถ้าเรารักในอาชีพนี้ รักในสิ่งที่เราทำได้ ทุกๆ อย่างน่ะครับ เมื่อเจออุปสรรคปัญหา เราจะไม่ยอมแพ้
อย่างเช่น เวลาเป็นบาริสต้าใหม่ๆ Steam นมไม่เป็นเลย บางคนก็ถอดใจ ยอมแพ้ แต่ว่าถ้าเรารักมันจริงๆ เราอยากไปต่อกับมันจริงๆ เราก็ต้องพยายามทุกวิถีทางครับ เพื่อจะทำให้ได้ นี่แหละครับ คือสิ่งที่ผมอยากบอกทุกคน เพราะว่ามันสำคัญมาก ผมยังอยากเป็นบาริสต้าต่อไปเรื่อยๆ แล้วในอนาคตถ้าไม่ทำที่ไทย ก็คงไปเป็นบาริสต้าที่ออสเตรเลียครับ ” 
บาริสต้าหนุ่มระบุทิ้งท้าย


นับเป็นทัศนคติที่สะท้อนให้เห็นได้อย่างแจ่มชัด ว่าเพราะเหตุใดบทหนทางที่เขาเลือกเดิน แม้จะเผชิญกับบททดสอบนานัปการ แต่เขาก็สามารถก้าวผ่าน และเอาชนะได้นับครั้งไม่ถ้วน แม้ในยามที่แพ้ เขาก็ยังมุ่งมั่นต่ออย่างไม่มีวันย่อท้อ
เพราะไม่เพียงเขารักในสิ่งที่ทำ แต่ผู้ที่เขาต้องการเอาชนะไม่ใช่ใครที่ไหน แต่คือตัวเขาเอง 

ด้วยเหตุนั้น เขาจึงก้าวต่อไปอย่างไม่หยุดนิ่ง บนถนนสายที่ท้าทายความสามารถและพิสูจน์หัวใจไปพร้อมๆ กับการทดสอบทักษะ ความสามารถที่แหลมคม ไม่เพียงบนเวทีการแข่งขัน แต่รวมถึงทุกถ้วยที่เขาเสิร์ฟให้ลูกค้าผู้หลงใหลในสิ่งเดียวกัน…
นั่นคือ ‘กาแฟ’ ที่เขาเสิร์ฟทุกถ้วยด้วยความรัก ซื่อสัตย์ และศรัทธาในส่งที่ทำ

จึงไม่แปลกใจว่าเหตุใด ในวงการบาริสต้า ชายหนุ่มคนนี้จึงได้รับการยอมรับไม่น้อยจากเพื่อนพ้องในวงการเดียวกัน

…….

Text by รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
Photo by ศราวุธ หมั่นงาน