xs
xsm
sm
md
lg

EA โอนธุรกิจสมาร์ทบัส-เรือไฟฟ้าให้ไทยสมายล์บัส ครองรถเมล์กรุงเทพฯ 118 เส้นทาง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ที่ประชุมบอร์ดพลังงานบริสุทธิ์ (EA) อนุมัติส่งบริษัทย่อยเข้าลงทุนหลักทรัพย์บียอนด์ และไทยสมายล์บัส หวังเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ และสร้างยอดขายรถโดยสารไฟฟ้าเพิ่ม อีกทั้งโอนบริษัทย่อยที่ดูแลสมาร์ทบัสและเรือไฟฟ้า 3 เส้นทางไปให้ไทยสมายล์บัส ส่งผลทำให้มีเส้นทางเดินรถปรับอากาศอยู่ในมือมากถึง 118 เส้นทาง

วันนี้ (1 ก.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ได้ทำหนังสือแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ลงวันที่ 30 มิ.ย. ระบุว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติให้ บริษัท อีเอ โมบิลิตี โฮลดิง จำกัด (EMH) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย เข้าลงทุนใน บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BYD, บริษัท เอช อินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (ACE) และบริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด (TSB) โดยการเข้าซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่บุคคลในวงจำกัด หรือ PP ที่ออกโดยบริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ สัดส่วน 23.63% ของทุนชำระแล้วภายหลังการเพิ่มทุน

พร้อมกันนี้ ยังอนุมัติให้ บริษัท อี ทรานสปอร์ต โฮลดิง จำกัด (ETH) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย โอนกิจการทั้งหมดให้แก่ไทย สมายล์ บัส เป็นผลทำให้บริษัทย่อยทั้ง 9 บริษัท และบริษัทร่วม 1 บริษัทที่อยู่ภายใต้การถือหุ้นของ ETH สิ้นสภาพการเป็นบริษัทย่อยและบริษัทร่วม โดย EA จะได้หุ้นบริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำนวน 990.80 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 7.062 บาท คิดเป็นมูลค่ารวม 6,997.02 ล้านบาท ผ่านการถือครองของบริษัท อีเอ โมบิลิตี โฮลดิง และจะได้รับเงินจากการโอนกิจการทั้งหมดของ อี ทรานสปอร์ต โฮลดิง จำนวนทั้งสิ้น 6 พันล้านบาท โดยทั้งสองรายการบริษัทฯ จะใช้เงินรวมทั้งสิ้น 997.02 ล้านบาทเศษ


รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด (TSB) ประกอบธุรกิจหลักในการให้บริการรถโดยสารไฟฟ้าประจำทางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยมีบริษัท เอช อินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (ACE) ถือหุ้น 100% โดยบริษัทดังกล่าว บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ (BYD) ถือหุ้น 49% และบุคคลอื่น 51% การเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัท อีเอ โมบิลิตี โฮลดิง (EMH) ในเครือ EA จะทำให้เป็นผู้ถือหุ้นทางอ้อม โดยหลังเข้าทำรายการ EMH จะถือหุ้นใน BYD 23.63% บุคคลอื่น 76.37% ทำให้ได้มาซึ่งพันธมิตรทางธุรกิจ เนื่องจากจะทำให้บริษัทฯ มีโอกาสในการสร้างยอดขายรถโดยสารพลังงานไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น

ส่วนการโอนบริษัท อี ทรานสปอร์ต โฮลดิง (ETH) ไปให้บริษัท ไทย สมายล์ บัส (TSB) พบว่ามีบริษัทย่อย 9 บริษัท และบริษัทร่วม 1 บริษัท ได้แก่ บริษัท สมาร์ทบัส จำกัด ผู้ให้บริการรถโดยสารสาธารณะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ถือหุ้นในบริษัทผู้ให้บริการรถโดยสารประจำทาง 6 บริษัท ได้แก่ บริษัท บางกอกยูเนียนเซอร์วิส 524 จำกัด, บริษัท มหาชนยานยนต์ จำกัด, บริษัท สาย 25 ร่วมใจ จำกัด, บริษัท ไบร์ท สตาร์ซัพพลาย (1999) จำกัด, บริษัท รวีโชค จำกัด, บริษัท ธรรมนัส ทรานสปอร์ต จำกัด และบริษัทร่วม ได้แก่ บริษัท เบลี่ เซอร์วิส จำกัด ผู้ให้บริการซ่อมรถโดยสาร NGV ให้กับสมาร์ทบัส โดยสัญญามีระยะเวลา 14 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค. 2563

ส่วนบริษัท อี สมาร์ท ทรานสปอร์ต จำกัด ให้บริการเรือโดยสารไฟฟ้าในแม่น้ำเจ้าพระยา (MINE Smart Ferry) โดยถือหุ้นบริษัท เจ้าพระยา ริเวอร์ ไลน์ จำกัด ผู้ให้บริการเรือท่องเที่ยว Hop on Hop off Boat 4U

สำหรับบริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด (TSB) มีเส้นทางเดินรถ 10 เส้นทางที่เดินรถภายใต้ใบอนุญาตของผู้ประกอบการรายเดิม โดยซื้อรถโดยสารไฟฟ้า 112 คัน นำมาให้เช่าซื้อแก่บริษัทย่อยของไทยสมายล์บัสที่ได้สิทธิเดินรถ 8 เส้นทาง ทำการเดินรถครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2564 เช่น สาย 35 สามแยกพระประแดง-สายใต้ใหม่, สาย 6 พระประแดง-บางลำพู, สาย 7 โรงเรียนศึกษานารีวิทยา-หัวลำโพง, สาย 120 สมุทรสาคร-แยกบ้านแขก, สาย 39 รังสิต-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, สาย 80 หนองแขม-สนามหลวง, สาย 56 วงกลมสะพานกรุงธน-บางลำพู และสาย 133 เคหะบางพลี-พระโขนง ไม่รวมอีก 2 สาย คือรถร้อนสาย 132 เคหะบางพลี-พระโขนง และสาย 365 ปากน้ำ-บางปะกง ยังคงใช้รถประจำทางรูปแบบเดิม

ต่อมาเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2565 คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง อนุมัติให้ไทยสมายล์บัสรับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง 71 เส้นทาง โดยต้องนำรถเข้าจดทะเบียนและพร้อมเดินรถภายใน 180 วัน นับตั้งแต่วันที่รับใบอนุญาต ภายในเดือน ต.ค. 2565 ส่งผลทำให้ไทย สมายล์ บัส มีเส้นทางเดินรถอยู่ในมือถึง 81 เส้นทาง เมื่อเทียบกับสมาร์ทบัส 37 เส้นทาง องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) 137 เส้นทาง และผู้ให้บริการรายอื่น 8 เส้นทาง อย่างไรก็ตาม ไทยสมายล์บัสมีแผนที่จะใช้ลงทุนจัดซื้อรถโดยสารไฟฟ้า ราคา 6.9 ล้านบาทต่อคัน ประกอบด้วย 10 สายในปัจจุบัน 225 คัน 71 สายใหม่ 2,130 คัน รวม 16,249.50 ล้านบาท รวมทั้งลงทุนสร้างอู่จอดรถ สำนักงาน และระบบการดูแลรักษา 100 ล้านบาท และโครงการทำระบบตั๋วร่วม 200 ล้านบาท รวมประมาณการมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 16,549.50 ล้านบาท

ส่วนบริษัท สมาร์ทบัส จำกัด ผู้ก่อตั้งมาจากอดีตผู้บริหารกลุ่มขนส่งมวลชนและบริษัทโฆษณา เริ่มต้นให้บริการเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2562 นำรถโดยสารปรับอากาศยี่ห้อซันลอง (Sunlong) ที่ซื้อจากบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด มาให้บริการ 2 เส้นทางแรก คือสาย 104 ปากเกร็ด-หมอชิตใหม่ และสาย 150 ปากเกร็ด-บางกะปิ แทนผู้ประกอบการรายเดิม ต่อมาเมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2565 บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) นำบริษัทย่อย คือ อีทรานสปอร์ต โฮลดิง เข้าซื้อหุ้นสามัญของสมาร์ทบัส จากผู้ถือหุ้นเดิม 99.99% ด้วยมูลค่าเกือบ 100 ล้านบาท เมื่อ อี ทรานสปอร์ต โฮลดิง โอนกิจการทั้งหมดให้แก่ไทย สมายล์ บัส จะทำให้ไทยสมายล์บัส มีเส้นทางเดินรถปรับอากาศอยู่ในมือมากถึง 118 เส้นทาง และเส้นทางเดินเรือไฟฟ้า MINE Smart Ferry อีก 3 เส้นทาง

แฟ้มภาพ

แฟ้มภาพ

แฟ้มภาพ
กำลังโหลดความคิดเห็น