xs
xsm
sm
md
lg

ต่างชาติเลื่องลือลูกเสือไทย! อังกฤษขอใช้ชื่อ ““กองลูกเสือในพระเจ้าแผ่นดินสยาม” ติดตราช้างเผือก!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๔๕๔ หรือ ๑๑๑ ปีที่แล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสถาปนากิจการลูกเสือไทยขึ้น เป็นประเทศที่ ๓ ของโลกที่มีลูกเสือ จึงได้ถือเอาวันที่ ๑ กรกฎาคมของทุกปี เป็น “วันลูกเสือแห่งชาติ”

ลูกเสือได้ถือกำเนิดขึ้นในประเทศอังกฤษเมื่อปี ๒๔๕๐ โดยลอร์ดบาเดน เพาเวลล์ ต่อมาในปี ๒๔๕๑ ก็แพร่ไปถึงอเมริกาเป็นประเทศที่ ๒

ลอร์ดบาเดน เพาเวลล์ได้เขียนหนังสือเป็นคู่มือสำหรับการฝึกอบรมลูกเสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง มีชื่อว่า “Scouting for Boy” ซึ่งคำว่า “Scout” ที่ใช้เรียกลูกเสือมาจากคำว่า

S ย่อมาจาก Sincerity หมายความว่า ความจริงใจ
C ย่อมาจาก Courtesy หมายความว่า ความสุภาพอ่อนโยน
O ย่อมาจาก Obedience หมายความว่า การเชื่อฟัง
U ย่อมาจาก Unity หมายความว่า ความเป็นใจเดียวกัน
T ย่อมาจาก Thrifty หมายความว่า ความประหยัด

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯครั้งทรงพระเยาว์ ได้เสด็จไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ ระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่นั้นทรงทราบเรื่องกำเนิดลูกเสือในอังกฤษ เมื่อเสด็จนิวัติประเทศไทยจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ประกาศใช้ข้อบังคับลักษณะปกครองลูกเสือฉบับแรกในวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๔๕๔ เพื่ออบรมให้เด็กไทยดำเนินชีวิตในทางดีงาม เพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และบรรพบุรุษไทย ตลอดเพื่อนร่วมชาติในทางที่ถูกที่ควร และพระราชทานคำขวัญให้ลูกเสือยึดถือปฏิบัติว่า “เสียชีพอย่าเสียสัตย์” ทรงรับสั่งว่า “คติประจำใจนี้ไม่ใช่ยึดถือแต่ในขณะแต่งเครื่องแบบลูกเสือเท่านั้น ลูกเสือทุกคนจะต้องยึดถือเป็นคติประจำใจไม่ว่าจะอยู่ในเครื่องแต่งตัวอย่างไร”

เมื่อประเทศสยามก่อตั้งกิจกรรมลูกเสือขึ้นนั้น ได้เลื่องลือไปในนานาประเทศว่าพระเจ้าแผ่นดินสยามทรงใฝ่พระทัยในกิจการลูกเสือจนเป็นประเทศแรกในตะวันออก กองลูกเสือที่ ๘ ของอังกฤษได้มีหนังสือมาขอพระราชทานนามลูกเสือกองนี้ว่า “กองลูกเสือในพระเจ้าแผ่นดินสยาม” ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานตามที่ขอ กองลูกเสือของอังกฤษกองนี้ ยังติดเครื่องหมายช้างเผือกที่แขนทั้ง ๒ ข้างของเครื่องแบบด้วย

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแก่กิจการลูกเสือทั้งในส่วนของลูกเสือไทย ลูกเสือโลก และลูกเสือภาคพื้นเอเชีย – แปซิฟิก รวมถึงส่งเสริมความสัมพันธ์กับคณะลูกเสือนานาชาติจนเป็นที่ประจักษ์ องค์การลูกเสือโลกจึงทูลเกล้าถวายเครื่องหมายวูดแบดจ์ ๔ ท่อนกิตติมศักดิ์ ซึ่งเป็นวุฒิชั้นสูงสุดของผู้กำกับลูกเสือ พร้อมทูลเกล้าถวายตำแหน่งองค์อุปถัมภ์กิตติมศักดิ์ขององค์การลูกเสือโลก และทูลเกล้าถวายเหรียญสดุดีลูกเสือโลกด้วย นับว่าเป็นเกียรติประวัติของลูกเสือไทยอย่างยิ่ง

วัตถุประสงค์ของคณะลูกเสือแห่งชาติ พระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ.๒๕๕๑ มาตรา ๘ กำหนดไว้ว่า
คณะลูกเสือแห่งชาติมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาลูกเสือทั้งทางกาย สติปัญญา จิตใจ และศีลธรรมให้เป็นพลเมืองดี มีความรับผิดชอบและช่วยสร้างสรรค์สังคมให้เกิดความสามัคคีและมีความเจริญก้าวหน้า ทั้งนี้เพื่อความสงบสุขและความมั่นคงของประเทศชาติ ตามแนวทาง

๑. ให้มีนิสัยในการสังเกต จดจำ เชื่อฟัง และพึ่งตนเอง
๒. ให้ซื่อสัตย์สุจริต มีระเบียบวินัย และเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
๓. ให้รู้จักบำเพ็ญตนเพื่อสาธารณประโยชน์
๔. ให้รู้จักทำการฝีมือ และฝึกฝนให้ทำกิจการต่างๆตามความเหมาะสม
๕. ให้รู้จักรักษาและส่งเสริมจารีตประเพณี วัฒนธรรม และความมั่นคงของประเทศชาติ

ในขณะเดียวกันก็ทรงจัดตั้งกองลูกเสือสำหรับเด็กหญิงในปี ๒๔๕๗ พระราชทานนามว่า “เนตรนารี” ซึ่งเนตรนารีกองแรกคือ เนตรนารีของโรงเรียนกุลสตรีวังหลัง วิชาที่เรียนคือ

วิชาพฤกษศาสตร์ เป็นวิชาเพาะเมล็ดพันธุ์ผัก พันธุ์ดอกไม้ เช่น มันฝรั่ง และหัวหอม

วิชาปฐมพยาบาล สำหรับช่วยคนเป็นลม วิธีใช้ผ้าพันแผล เข้าเฝือก และการชะล้างบาดแผล

วิชาหุงข้าว ทำกับข้าว วิชานี้ต้องผลัดเวรกันไปตลาดกับทำกับข้าว

การเรียนและฝึกกฎของเนตรนารีจะเน้นที่ความงามในความประพฤติ สุภาพอ่อนโยน โอบอ้อมอารี หาความรู้เพื่อเป็นประโยชน์ส่วนตนและส่วนรวม อดทนในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม

หลักสูตรปัจจุบันของทั้งลูกเสือและเนตรนารี ได้รับการปรับปรุงให้เหมาะสมกับสภาพของสังคม เพื่อให้เยาวชนของชาติพัฒนาทั้ง กาย ใจ สติปัญญา และศีลธรรม ที่มีความรับผิดชอบและสร้างสรรค์ อยู่ร่วมในสังคมอย่างมีความสุข และเป็นอนาคตที่สดใสของประเทศชาติ




กำลังโหลดความคิดเห็น