UNESCO ชี้หากรัฐบาลไม่เร่งฟื้นฟูประเทศด้านการศึกษา-พัฒนาคน จะสูญเสียคนรุ่นนี้ไปทั้งเจเนอร์เรชั่น ระบุประเทศไทย ตั้ง กสศ. เป็นกลไกอิสระ ปฏิรูปการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ ที่เป็นตัวแบบนานาชาติได้
วันนี้ (29 มิ.ย.) สเตฟาเนีย จีอันนินี ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ด้านการศึกษา แห่งองค์กรการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) กล่าวระหว่างเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 2 กับคณะผู้สื่อข่าวไทยถึงเทรนด์การศึกษาของโลกหลังวิกฤตยุคโควิด-19 ว่า การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น เป็นปัญหาใหม่ที่ทั่วโลกเผชิญหน้าพร้อมกัน แต่ก็มีแนวทางการรับมือที่ต่างกันออกไป รวมถึงนโยบายทิศทางด้านการศึกษา
สเตฟาเนีย กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่อยากให้มองคือ วิกฤตที่เกิดขึ้นกลายเป็นโอกาสที่จะได้ปฏิรูปเปลี่ยนผ่านระบบการศึกษาของรัฐบาลแต่ละประเทศ โควิด-19 ทำให้ตระหนักว่าการศึกษาสำคัญอย่างไร และมองเห็นว่าการศึกษาของแต่ละชาติมีปัญหาอยู่ตรงไหน ดังนั้น อย่าปล่อยให้ความตื่นตัวนี้หายไป และใช้ความพยายามให้มากขึ้นในการผลักดันการศึกษาที่มีคุณภาพ ปัญหาที่น่ากลัวหลังยุคโควิด คือ คนยากจนจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น ดังนั้นการปฎิรูประบบการศึกษาจึงต้องคำนึงปัจจัยดังกล่าว โดยแนวทางปฎิบัติไม่เพียงแต่ต้องมุ่งเน้นให้เด็กทุกคนได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาเท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงทักษะทางอารมณ์สังคม ช่องว่างความเหลื่อมล้ำ และผลกระทบระยะยาวที่ต้องเฝ้าระวังและติดตาม
ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ด้านการศึกษาฯ กล่าวว่า ทั้งนี้ กุญแจหลักของการวางแนวทางแก้ปัญหาตามความเห็นของสเตฟาเนีย ประกอบด้วยคำ 3 คำด้วยกัน คือ 1) Recovery การฟื้นฟูผลกระทบจากความเสียหายของไวรัสโควิด-19 2) Resilience คือการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และ 3) Change การปรับเปลี่ยนมุมมองแนวคิด และวิธีการในการแก้ไขปัญหา
นอกจากนี้อีกหนึ่งประเด็นที่สเตฟาเนียกล่าวถึงคือ โอกาสในการจัดการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล เพื่อการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่เสมอภาคกัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสร้างความเสมอภาคทางด้านการศึกษา จึงอยากให้มองว่าห้วงเวลานี้คือการเปลี่ยนผ่าน (Transform) และจังหวะของการลงมือทำเพื่อยกระดับพัฒนา
ในส่วนภูมิภาคอาเซียน นับได้ว่าค่อนข้างรับมือกับปัญหาด้านการศึกษาได้ดีระดับหนึ่ง แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดที่ต้องจัดการก็คือ โอกาสในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและระบบสารสนเทศที่ไม่เท่ากัน ซึ่งรัฐบาลยังจำเป็นต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงให้มากขึ้น “กสศ.เป็นหนึ่งในจุดแข็งของอาเซียนและเป็นตัวอย่างการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ให้นานาประเทศได้เรียนรู้”
ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ด้านการศึกษาฯ กล่าวว่า อาเซียนก็มีจุดแข็งที่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ การที่ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับการปฏิรูปการศึกษา ทั้งในแง่ของการยกระดับการเข้าถึงการศึกษาถ้วนหน้าเพื่อความเสมอภาค และการพัฒนาระบบการศึกษาให้มีคุณภาพ (inclusive, equity and quality)
ส่วนประเด็นด้านการศึกษาในอาเซียนที่อยากให้เน้นย้ำ คือการปรับหลักสูตรที่หลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองโลกมากขึ้น ขณะที่ในการฟื้นฟูการศึกษาจากโควิด-19 อยากเน้นว่าอย่าปิดโรงเรียน เพราะสิ่งสำคัญของการศึกษาคือการที่ครูและนักเรียนได้อยู่ในพื้นที่เดียวกัน ขณะเดียวกัน การเปิดโรงเรียนก็ต้องคำนึงถึงการสวมหน้ากากอนามัย และปฏิบัติตามมาตรการด้านสุขอนามัยอย่างเคร่งครัดและการศึกษานับต่อจากนี้ จะเป็นไปภายใต้สภาพแวดล้อมใหม่ ๆ ที่ต้องมีการเตรียมตัววางแผนให้ดี
“จุดแข็งของประเทศไทย คือการที่มีทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เข้มแข็ง และให้ความสำคัญกับการศึกษาอย่างจริงจัง มีองค์กรอย่าง กสศ. คอยทำหน้าที่อำนวยการศึกษาให้เข้าถึงเด็กทุกคน ซึ่งสเตฟาเนียเชื่อว่า กสศ. และประเทศไทย จะเป็นหนึ่งตัวอย่างของความสำเร็จในเรื่องการดำเนินงานเพื่อสร้างความเสมอภาคทางด้านการศึกษา ให้นานาประเทศได้เรียนรู้ต่อไป” สเตฟาเนีย กล่าว
สเตฟาเนีย กล่าวเสริมอีกว่า สิ่งสำคัญที่ลืมไม่ได้คือการยกระดับการศึกษาภายใต้เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ต้องทำให้คนทุกคนเข้าถึงการศึกษาคุณภาพอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน
ต่อข้อซักถามที่ว่าอะไรคือกุญแจสำคัญในเวลานี้ สเตฟาเนียตอบว่า กุญแจของการจัดการปัญหาด้านการศึกษาในขณะนี้ คือการนำหลักการที่วางไว้ทั้งหลายมาลงมือทำ และเดินหน้าทุ่มเทความพยายามให้ต่อเนื่อง ไม่ลดละหรือผ่อนแรงเด็ดขาดให้ความสำคัญกับ ‘คน’ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ให้มาก เพราะว่าคนเหล่านี้เอง ที่จะเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต หลังยุคโควิด ‘คนเจเนอร์เรชั่นหนึ่งที่จะหายไปทั้งรุ่น’ ถ้ารัฐบาลไม่เร่งลงทุนในด้านการศึกษาอย่างจริงจัง
สเตฟาเนีย กล่าวอีกว่า ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจถดถอยและปัญหาเงินเฟ้อทั่วโลก ซึ่งทำให้รัฐบาลนานาประเทศต้องจัดการอย่างเร่งด่วน สเตฟาเนียกล่าวว่า รัฐบาลไม่ควรละเลยเรื่องการศึกษา โดยต้องให้น้ำหนักด้านการศึกษาเท่าเทียมกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของประชาชน แน่นอนว่าการทำให้คนอยู่ดีกินดี พัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเป็นสิ่งที่ควรทำ แต่ในฐานะตัวแทนของยูเนสโก จุดยืนที่ยูเนสโกพูดมาตลอดคือการวางสมดุลระหว่างการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการพัฒนาการศึกษา เพราะเศรษฐกิจทำให้สังคมขับเคลื่อนต่อไปได้ แต่การศึกษาคือการวางรากฐานที่จะสร้างความมั่นคงยั่งยืนต่อไปในอนาคต ดังนั้นหากว่ารัฐบาลไม่เร่งลงทุนในด้านการศึกษาอย่างจริงจัง จะมี ‘คน’ คุณภาพรุ่นต่อไปมาพัฒนาอนาคตของประเทศได้อย่างไร และสิ่งที่จะสูญเสียไปก็คือ ‘คนเจเนอร์เรชั่นหนึ่งที่จะหายไปทั้งรุ่น’
ทั้งนี้ไม่ได้บอกว่าเศรษฐกิจไม่สำคัญ แต่อยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการศึกษา เหมือนกับที่ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจ เพราะแม้ผลลัพธ์ของการศึกษาคุณภาพและเสมอภาคอาจไม่เห็นผลในทันที แต่อย่างไรก็ถือว่าเป็นการลงทุนในระยะยาวที่ยั่งยืนและคุ้มค่า