xs
xsm
sm
md
lg

"ดร.เอ้" เผย 5 สิ่งต้องแก้ไข หลังมีบทเรียน "ไฟไหม้สำเพ็ง" ชี้ "มาตรฐาน" คือทางแก้ทุกปัญหาของเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ โพสต์ข้อความ ระบุ 5 สิ่งที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน หลังเจอเหตุการณ์ไฟไหม้สำเพ็ง ชี้ถึงเวลาผู้มีอำนาจสังคายนาตรวจสอบสายไฟ หม้อแปลง อาคารบ้านเรือน ให้มี "มาตรฐาน"

จากเหตุการณ์ สน.จักรวรรดิ รับแจ้งเหตุเพลิงไหม้ มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บสำลักควันไฟ ภายในบริษัท ราชวงศ์รุ่งเรือง จำกัด เลขที่ 157 ถนนราชวงศ์ แขวงจักรวรรดิ เขตสัมพันธวงศ์ กทม. ต่อมาพนักงานสอบสวนได้รับการยืนยันพบศพจำนวน 2 ราย ติดอยู่ที่ชั้นวางสินค้าด้านล่างของอาคารดังกล่าว 1 ราย ส่วนอีก 1 รายพบอยู่ที่อาคารด้านบน

ล่าสุดวันนี้ (27 มิ.ย.) เจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานลงพื้นที่ตรวจที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ตึกย่านสำเพ็ง เสียชีวิต 2 ราย เบื้องต้นพบอาคารพาณิชย์เสียหาย 4 คูหา มูลค่าไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท ด้าน กฟน.พร้อมเยียวยาหากต้นเหตุเกิดจากหม้อแปลง

ล่าสุดวันนี้ (27 มิ.ย.) ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในนามพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว "เอ้ สุชัชวีร์" โดยได้กล่าวถึงสาเหตุไฟไหม้ที่สำเพ็ง โดยได้ระบุข้อความว่า

"มาตรฐาน คือ ทางแก้ทุกปัญหาของเมือง

ตกใจมาก หลังดูคลิปไฟไหม้ที่สำเพ็ง ผู้เสียชีวิต 2 บาดเจ็บอีกหลายคน ไฟเผาผลาญอาคารห้องแถววอดวายหลายห้อง ตั้งแต่จำความได้ ไฟไหม้ที่ไหน โทษไฟฟ้าลัดวงจรไว้ก่อน จริงอยู่ว่าไฟฟ้าลัดวงจรเกิดได้ง่ายมากในกรุงเทพฯ แต่ปัญหาไฟฟ้าลัดวงจร จนถึงหม้อแปลงระเบิด ไม่จำเป็นต้องทำให้เกิดเพลิงไหม้เสมอไป

แสดงว่ากรณีนี้ "มีจุดอ่อน" และเป็น "ปัญหาที่แก้ไขได้" และดูเหมือนว่าเรื่อง "มาตรฐาน" ความปลอดภัย คือจุดอ่อนของเมือง ขอบคุณข้อมูลจากทุกท่าน กรณีนี้ท่านคิดถึงอะไรบ้าง เรามาแชร์กัน

1. "แผงป้องกันไฟ"
หม้อแปลงขนาดใหญ่ 500 kVA ติดตั้งอยู่ใกล้อาคารมาก ตาม "มาตรฐาน" หากหม้อแปลงอยู่ใกล้ช่องเปิดหรือหน้าต่างของอาคาร ระยะไม่ถึง 6 เมตร ต้องมีแผงป้องกันไฟที่มี "มาตรฐาน" การทดสอบทนไฟ ทำหน้าที่เป็นฉากกั้นไฟ ป้องกันไม่ให้ไฟลามเข้าอาคาร หากหม้อแปลงระเบิด

2. "สายไฟลงดินและหม้อแปลงใต้ดิน"
อย่าเข้าใจผิด ไฟฟ้าก็ลัดวงจรได้ ไฟไหม้ได้ ระเบิดได้เช่นกัน ลองหาดูคลิปดังจากนิวยอร์กเมืองที่สายไฟฟ้าลงดิน หม้อแปลงใต้ดินระเบิด ไฟลุกน่ากลัวมาก แสดงว่าสายไฟฟ้าและหม้อแปลงจะอยู่ตรงไหน ลอยฟ้า บนพื้นดิน หรือใต้ดิน ก็เกิดอันตรายได้ ถ้าไม่มี "มาตรฐาน"

3. "สายไฟ สายสัญญาณ"
รุงรังไปทุกที่ ไม่เว้นแม้ตรงหม้อแปลง ที่เป็นจุดเสี่ยงที่สุด ตาม "มาตรฐาน" ต้องมีระยะห่างปลอดภัย เพราะสายไฟรุงรังอาจทำให้ ไฟฟ้าลัดวงจร และเมื่อเกิดความร้อนสูง ก็ลามตามสายไฟ เกิดไฟไหม้จุดข้างเคียงได้ จากภาพเหตุการณ์จะเห็นสายไฟหลอมละลาย เกิดไฟหยดติ๋ง ลามไปทุกที่

4. "การใช้กระแสไฟฟ้ามากเกิน"
คนไม่กลัวโควิด ใช้ชีวิต ทำงานเป็นปกติ รถติดหนักขึ้น ร้านอาหาร ร้านค้า ได้เปิดเต็มรูปแบบ คนแน่น ต้องเปิดไฟ เปิดแอร์ เปิดเตาไฟฟ้า ต้องใช้ไฟฟ้ามากขึ้นหลายเท่า ยิ่งสายไฟเก่า เชื่อมต่อกันเอง ไม่ได้ "มาตรฐาน" เสี่ยงมาก ที่ผ่านมาเราอาจคิดไม่ถึงหรือไม่คิดถึง ไม่ได้ตรวจสอบความปลอดภัย ก่อนเปิดเมือง

5. "อาคาร ตึกแถวเก่า"
อาคารเก่าในแทบทุกพื้นที่ เป็นจุดเสี่ยงไฟไหม้ แต่ที่อันตรายสุด คือ ไฟไหม้แล้ว ไม่มีทางหนีไฟ คนตาย! อาคารไม่ได้ "มาตรฐาน" การป้องกันไฟไหม้และการหนีไฟ ชาวบ้านอยู่ในอาคารมาตลอดชีวิต คงไม่มีความรู้ทางวิชาการในการปรับปรุงความปลอดภัย เรื่องนี้รัฐต้องช่วย ถือเป็นความปลอดภัยสาธารณะ

ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบทุกหน่วยควรใช้วิกฤตไฟไหม้ เป็นโอกาสสังคายนาตรวจสอบสายไฟ หม้อแปลง อาคารบ้านเรือน ให้มี "มาตรฐาน" อย่าให้เกิดการสูญเสียฟรี และเกิดขึ้นซ้ำซาก

เพราะ "มาตรฐาน" คือหลักเกณฑ์ที่ผ่านการศึกษา การทดสอบ ทั้งด้านปริมาณ และคุณภาพ เป็นที่ยอมรับทางสากล และคือ ทางแก้ทุกปัญหาของเมือง ผมเขียนด้วยความห่วงใยประชาชนครับ ขอบคุณทุกท่านที่ส่งข้อมูล ส่งความรู้ และหากมีข้อสังเกตทางวิชาการเพิ่มเติม ส่งมาเลยนะครับ เพราะเรื่องความปลอดภัยเป็นเรื่องของเราทุกคน เราช่วยกันนะครับ"
กำลังโหลดความคิดเห็น