xs
xsm
sm
md
lg

เปิดตำนาน ๑,๐๐๐ ปีเตาอั้งโล่ ก่อนเป็น “เตามหาเศรษฐี”! ทั้งลาว อเมริกัน ไทย ร่วมพัฒนา!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



เตา เป็นอุปกรณ์สำคัญในการประกอบอาหาร ทุกบ้านจึงขาดเตาไม่ได้ แต่จะใช้เตาแบบไหนก็ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและความเหมาะสม ในยุคโบราณไม่ว่าตะวันตกหรือตะวันออกต่างก็ใช้เตาฟืนกันทั้งนั้น ต่อมามีการพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ จนปัจจุบันใช้เตาแก๊สกันอย่างแพร่หลาย เพราะสะดวกสบายและไม่มีปัญหาเรื่องควัน ฉะนั้นในเมืองทุกวันนี้จึงนิยมใช้เตาแก๊สหรือเตาไฟฟ้า แต่แม่ครัวที่พิถีพิถันการปรุงอาหารก็ยังเลือกเตาถ่าน ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้อาหารมีรสชาติดีกว่าเตาแก๊ส แม้แต่แม่ครัวระดับมิชลินก็ยังใช้เตาถ่าน

แต่อย่างไรก็ตาม ในชนบทก็ยังใช้เตาฟืนและเตาถ่านกันอีกมาก เพราะมีความเหมาะสมมากกว่า และนอกจากการทำอาหารแล้วยังใช้ให้ความอบอุ่นในฤดูหนาวได้อีกด้วย
 
จากการสำรวจการใช้เตาหุงต้ม ๒,๑๔๙ ครัวเรือนชนบทใน ๕๐ หมู่บ้านทั่วประเทศไทยในปี ๒๕๒๕ พบว่า ยังใช้เตาหิน ๓ ก้อน คือใช้หินวางกับพื้นดินรองรับภาชนะที่ตั้งแล้วใส่ฟืนข้างใต้ ๓๙๒ ครัวเรือน เป็นอันดับ ๒ รองจากการใช้เตาอั้งโล่

เตาอั้งโล่ซึ่งเป็นเตายอดนิยมนั้น เชื่อกันว่าต้นแบบมาจากเมืองจีน เพราะคำว่า “อั้งโล่” เป็นภาษาแต้จิ๋ว แปลว่าดินแดง ซึ่งเป็นดินที่ใช้ทำเตาของจีน แต่ไทยเราใช้ดินเหนียวผสมถ่านแกลบ สันนิษฐานว่าเตาอั้งโล่มาเมืองไทยในสมัย ๑,๐๐๐ ปีมาแล้วตั้งแต่เริ่มค้าขายกับจีน หรือราว ๑๐๐ ปีที่ผ่านมาเมื่อมีสงครามกลางเมือง คนจีนได้อพยพมาเมืองไทยกันมาก

เตาอั้งโล่เป็นเตาที่ใช้กันแพร่หลายในสมัยก่อนมีเตาแก๊ส ทุกบ้านในกรุงเทพฯก็ใช้มีเตาอั้งโล่กันทั้งนั้น การพัฒนาเตาอั้งโล่จึงเป็นงานระดับชาติ ในปี ๒๕๑๖ ประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจจากการขึ้นราคาน้ำมันของโลกเช่นเดียวกับปัจจุบัน ทำให้ต้องเสียงบประมาณไปกับการขึ้นราคาน้ำมันถึงปีละเป็นหมื่นล้าน คณะรัฐมนตรีจึงเร่งรัดทำแผนพัฒนาพลังงานทดแทนในประเทศ แต่ในช่วงนั้นเกิดวิกฤตทางการเมืองต้องเปลี่ยนรัฐบาลบ่อย จนในปี ๒๕๒๒ จึงมีการร่วมมือระหว่างกรมป่าไม้ สำนักงานพลังงานแห่งชาติ และสำนักงานยูเสด ของสหรัฐ ปรับปรุงเตาหุงต้มในชนบทให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยฝ่ายสหรัฐให้เงินมา ๕ ล้านเหรียญ ไทยสมทบอีก ๓.๑๕ ล้านเหรียญ เป็นงบประมาณในการพัฒนาเตาหุงต้มในขณะนั้น และคิดค้นเตาออกมาหลายรูปแบบ แต่ก็ได้รับความนิยมในระดับหนึ่ง

ในปี ๒๕๔๖ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งได้พัฒนาเตาหุงต้มมาอย่างต่อเนื่อง ได้พัฒนาเตาที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าเก่าขึ้นมา และอบรมโรงงานผลิตเตาให้ผลิตขึ้นทั่วประเทศ จากนั้นในปี ๒๕๔๖ ที่มีการประชุมผู้นำว่าด้วยยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิระวดี-เจ้าพระยา ที่สหภาพพม่า ได้มีการลงนามคำแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างไทยกับ สปป.ลาว ซึ่งเผชิญปัญหาราคาแก๊สหุงต้มสูงเช่นกัน ต่อมาในปี ๒๕๔๗ จึงได้ร่วมมือกันผลิตเตาประสิทธิภาพสูงนี้ใช้กันทั้งสองประเทศ

เรื่องเตาอั้งโล่จึงไม่ใช่เรื่องเล็ก คนลาวก็ยังใช้เตาถ่านและฟืนหุงข้าวกันอยู่ ส่วนคนไทยในวันนี้ก็ยังใช้เตาอั้งโล่กันไม่ต่ำกว่า ๑๐ ล้านครัวเรือน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในชนบท

เมื่อเกิดสงครามรัสเซียกับยูเครน ทำให้ราคาน้ำมันและแก๊สหุงต้มพุ่งขึ้นทั่วโลก แต่คนไทยเรายังโชคดีกว่าคนยุโรปและคนอเมริกัน บางกลุ่มยังมีทางเลือกให้ใช้เตาฟืนเตาถ่าน และคนกลุ่มนี้หลายล้านครัวเรือน กระทรวงพลังงานเลยชักชวนให้คนที่ใช้เตาอั้งโล่ใช้เตามหาเศรษฐีที่มีประสิทธิภาพดีกว่าแทน ที่กลัวว่าจะไปตัดไม้มาเผาป่าจนหมดก็ไม่น่าวิตก คนมีหน้าที่ดูแลป่าก็มีอยู่ และในชนบทก็ยังหาไม้ฟืนไม้เผาถ่านในที่ครอบครองได้ไม่ยาก หรือจะปลูกไม้โตเร็วมาเผาถ่านเป็นอาชีพ อย่าง มะขามเทศ กระถิน ยูคาลิป หรือขี้เหล็ก ก็โตทัน
 
ความจริง “เตามหาเศรษฐี” ก็คือ “เตาซุปเปอร์อั้งโล่” เมื่อ ๑๐ ปีก่อนนั่นเอง เกิดจากความคิดพบกันครึ่งทางระหว่างผู้รักษาป่ากับคนต้องการใช้ถ่านใช้ฟืน เป็นความร่วมมือของกรมป่าไม้ กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน กับผู้ผลิตเตาหุงต้ม ซึ่งตอนนั้นได้ผลิตเตาหุงต้มออกจำหน่ายถึงเดือนละ ๕๔๐,๐๐๐ ใบอยู่แล้ว จนปัจจุบันเห็นว่าเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จึงได้ชักชวนให้ใช้กันอีก แต่ที่ชื่อใหม่หวือหวานี้ได้รับคำชี้แจงว่า ในวันที่ออกบูธ พระภิกษุผู้ใหญ่รูปหนึ่งไปดูแล้วบอกว่าเตาแบบนี้ประหยัดดี คนใช้จะทุ่นเงินได้มาก เลยตั้งชื่อให้ว่าเตามหาเศรษฐี

เตาซุปเปอร์อั้งโล่ หรือเตามหาเศรษฐี มีคุณสมบัติที่ดีกว่าเตาอั้งโล่ทั่วไปก็คือ

-มีลักษณะเพรียวและน้ำหนักเบากว่า
-ให้ความร้อนสูง อุณหภูมิกลางเตาประมาณ ๑,๐๐๐-๑,๒๐๐ องศาเซลเซียส โดยปกติเตาทั่วไปจะอยู่ที่ ๕๐๐-๖๐๐ เซลเซียส
- ประหยัดถ่านกว่าเตาอั้งโล่ท้องตลาด ๓๐-๔๐ เปอร์เซ็นต์ โดยมีอัตราสิ้นเปลืองถ่านอยู่ที่ ๕๒๘ กก./ปี ขณะที่เตาอั้งโล่ทั่วไปอัตราการสิ้นเปลืองถ่านจะอยูที่ประมาณ ๗๓๐ กก./ปี
-วางภาชนะหุงต้มได้ ๙ ขนาด ตั้งแต่หม้อเบอร์ ๑๖-๓๒
-ขณะหุงต้มไม่มีควันและก๊าซพิษเกิดขึ้น เนื่องจากเผาไหม้สมบูรณ์
-อายุการใช้งานเฉลี่ยมากว่า ๒ปีส่วนอั้งโล่ทั่วไปเฉลี่ย ๑ ปี
ด้วยเหตุนี้เสียงตอบรับ จึงทำให้ซุปเปอร์อั้งโล่ หรือเตามหาเศรษฐีกลายเป็นของหาซื้อยากอยู่ในขณะนี้ และเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของคนใช้เตาถ่าน แต่ไม่หมายความว่าจะชวนให้คนที่ใช้เตาแก๊ส เตาไฟฟ้า ไมโครเวฟหันมาใช้เตาอั้งโล่แทน หรือจะใช้แก้ปัญหาน้ำมันขึ้นราคาได้ทั้งหมด




กำลังโหลดความคิดเห็น