"สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย" โพสต์ข้อความชื่นชม ผู้ว่ากทมฯ คนล่าสุด ว่าเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจจากการทำงาน ชี้ งานสุจริต มีประโยชน์ต่อใครบางคนเสมอ
จากกรณี เด็กสาวรายหนึ่งเป็นโรคซึมเศร้าแล้วได้เข้าไปดูไลฟ์สดของนายชัชชาติ แล้วกล่าวว่า ทำให้ตนเองมีกำลังใจลุกขึ้นมาทำงาน ทำให้ชีวิตเขาขับเคลื่อนไปได้
ล่าสุดวันนี้ (24 มิ.ย.) เพจ "สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย" ได้ออกมาโพสต์ข้อความชื่นชม นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ โดยได้ระบุข้อความว่า
"แรงบันดาลใจที่กระเพื่อมถึงกัน
ชื่อโรค "ซึมเศร้า" ชวนให้หลายคนเข้าใจผิดว่ามันคือโรคที่ทำให้เศร้ามาก ร้องไห้บ่อยผิดปกติ ... ซึ่งเป็นความจริง แต่ #เพียงส่วนหนึ่ง มากไปกว่านั้น มันทำให้บุคคล สูญเสียความสามารถในการมีความสุข นอกจากทุกข์ถี่ทุกข์นานเกินเหตุแล้ว
ยังเบื่อหน่ายแม้กระทั่งสิ่งที่เคยชอบ งานอดิเรกที่เคยเพลิดเพลิน (anhedonia) ไม่รู้สึกรู้สาอะไร ไม่ยินดียินร้าย เหมือนไม่รู้สึกอะไรเลย (emotional numbness)
สูญเสียความสามารถในการคิด ไม่ว่าจะเป็นสมาธิ ความจำใช้งาน ความจำระยะสั้น การตัดสินใจ ความเข้าใจ การใช้ภาษา
สูญเสียแรงกาย_พลังใจ หลายคนนอนเกือบทั้งวันในวันหยุด อาจจะหลับบ้างไม่หลับบ้าง บางคนหลับกลางคืนแล้วก็หลับกลางวันได้อีก บางราย work from home ในท่านอน(ประชุม)เกือบทั้งวัน
สูญเสียความหวัง ไม่ว่าจะเป็นความหวังที่จะหลุดพ้นจากความเจ็บปวดทางใจ มองไปไม่เห็นอนาคต (hopeless)หรือความเชื่อว่าตนเองสามารถที่จะจัดการสถานการณ์ปัจจุบันที่รู้สึกว่าเป็นปัญหาได้ (helpless)
วันก่อน อ. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้เล่าว่า
ไปเจอน้องคนหนึ่ง มาถ่ายรูปด้วยกัน บอกเป็นกำลังใจให้ผมนะ น้องผู้หญิงเขาบอกว่าเป็นซึมเศร้า แต่พอเขาดูไลฟ์เรา เขาก็มีกำลังใจลุกขึ้นมาทำงาน มาทำอะไรต่อ ทำให้ชีวิตเขาขับเคลื่อนไปได้ ผมฟังแล้วผมก็เลยปลื้มใจนะ จริง ๆ แค่น้องคนนี้คนเดียวก็เป็นเหตุผลที่เพียงพอแล้วที่เราจะลุกขึ้นมาไลฟ์ให้คนดูแล้ว ถึงแม้มันไม่ใช่เรื่องงานนะ แต่อย่างน้อยถ้ามันสร้างกำลังใจให้คนบางคนได้ ให้ออกไปทำงาน ให้ออกไปสู้ชีวิตได้ ผมว่าแม้กระทั่งคนเดียวก็มีค่าควรแก่การไลฟ์แล้ว ...
งานสุจริตใดใด ไม่ว่าจะมีคนมองเห็นมากหรือน้อยแค่ไหน มีประโยชน์ต่อใครบางคนเสมอ
ความทุ่มเทและตั้งใจในการทำงาน นอกจากเป็นการให้เกียรติตนเองแล้ว ยังสร้างแรงบันดาลใจกระเพื่อมถึงผู้อื่นด้วย
คนไข้โรคซึมเศร้าได้กำลังใจจากการทำงานของ อ.ชัชชาติ อาจารย์ก็ได้กำลังใจในการทำงานเช่นกัน จิตแพทย์เองก็รู้สึกมีกำลังใจ เวลาเห็น แววของความหวัง ในดวงตาของคนไข้ค่ะ"